"แม่" พระในบ้าน ...


"ความกตัญญู เป็นเครื่องหมายของคนดี" ... วันแม่คงไม่ใช่วันพรุ่งนี้เพียงวันเดียว แต่ทุก ๆ วันก็เป็นวันแม่ของลูกทุก ๆ คน

บทความในหนังสือพิมพ์ "มติชน" ฉบับวันพรุ่งนี้ อันเป็น "วันแม่" ของคนไทย

ได้พูดเรื่องราวของ "แม่" พระในบ้าน เขียนโดย กฤษณา  พันธุ์มวานิช

จึงขอนำเสนอบทความนี้ลงบันทึก สำหรับลูกทุกคนในวันมหามงคล ดังนี้

 

"แม่ของลูก โลกว่า มารดาโลก
เพราะมวลโชค โลกได้ อาศัยแม่
โลกมีชัย เพราะอาศัย คุณแม่แท้
โลกจึงแปล้ ด้วยบุญ คุณแม่เอย"


"แม่" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำนิยามว่า หมายถึง หญิงในฐานะผู้ให้กำเนิดแก่ลูก หรือคำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน

ตามคำนิยามวรรคแรก คือ หญิงในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูกนั้น มาจากศัพท์บาลีว่า "มาตา" ซึ่งแปลได้ 2 นัย คือ
- แปลว่า มารดา หมายถึง ผู้นับ
- แปลว่า มารดา หมายถึง ผู้ให้ดื่มนม

ชีวิตของเราที่ประกอบด้วยรูปและนาม หรือ ร่างกายกับจิตใจนั้น เราถือกำเนิดมาจากแม่ ถ้าไม่มีแม่ชีวิตของเราจะอุบัติมาในโลกไม่ได้เลย และคำแรกที่มนุษย์เราพูดได้คือคำว่า "แม่"

คำว่าแม่นี้จะซึ้งอย่างไรนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อเราไม่มีแม่สำหรับไว้ร้องเรียกกันต่อไป คือ เมื่อท่านได้ตายจากไปแล้ว ลูกที่ยังมีแม่ไว้ร้องเรียกอยู่อาจจะยังไม่รู้จักซาบซึ้งในคำว่า "แม่" ทั้งนี้ ก็เพราะจิตของลูกถูกบดบังด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความมืดบอด้วยอวิชชา อันเกิดมาจากความรักความห่วงใยของแม่ที่ปรารถนาให้ลูกของท่านมีความสุข ความเจริญ และความดี

ความปรารถนาดีของแม่บางครั้งจึงถูกตีความจากลูกว่าเป็นความจู้จี้ขี้บ่นรำคาญ ทั้งนี้ เพราะแม่ที่ปรารถนาดีต่อลูกย่อมไม่ละเลย ไม่ปล่อยให้ลูกทำอะไรตามใจตัว จะคอยดุด่าว่าบ่นแนะนำสั่งสอนตลอดเวลา บางครั้งก็ลงอาญาทำโทษก็มีด้วยความปรารถนาดี

เช่นนี้จึงทำให้ลูกตีความปรารถนาดีของแม่ผิดไปกว่าลูกเหล่านั้นจะทราบ จะเห็นความสำคัญของผู้เป็นแม่ก็ต่อเมื่อไม่มีแม่สำหรับไว้ดุด่า บ่นอีกต่อไปแล้ว เมื่อนั้นลูกเหล่านั้นจะมีความว้าเหว่ ขาดความเป็นอบอุ่นในชีวิตและรู้สึกอิจฉาคนที่มีแม่ไว้ร้องเรียก

อย่างดีก็เรียกร้องหาแม่ด้วยใจเท่านั้น

 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสยกย่องผู้เป็นแม่ไว้ว่า พรหมาติ มาตาปิตโร ปุพพาจริยาติ วุจจเร อาหุเนยยา จ ปุตตาน ปชาย อนุกมุปภาฯ

แปลว่า  มารดาบิดา บัณฑิตกล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ เป็นผู้ควรแก่วัตถุที่ควรบูชา เป็นผู้อนุเคราะห์แก่บุตร

มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร เป็นบูรพาจารย์ เป็นอาหุเนยยบุคคลแล้ว บางแห่งพระพุทธองค์ยังยกย่องว่า เป็นเทพเจ้าของลูก เป็นบุพการีของลูก ที่ว่าเทพเจ้านั้น หมายถึง เป็นเทพประจำบ้านที่ลูกควรบูชา ที่ว่าเป็นบุพการีก็เพราะแม่ได้อุปการะลูกมาก่อนใคร ๆ ทั้งหมด อุปการคุณของแม่นี้ลูกทุกคนควรระลึกถึงเพราะในสังคม ปัจจุบันลูกบางคนก็เห็นคนอื่น เห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่าแม่ของตนเอง

ลูกบางคนรักเพื่อนมากกว่าแม่
รักทรงผมมากกว่ารักแม่
รักสิ่งเสพติดมากกว่ารักแม่

จะเห็นได้จากพฤติกรรมของลูกในปัจจุบันไม่น้อยที่แม่คอยตักเตือนว่ากล่าวไม่ให้คบเพื่อนชั่วลูกจะไม่เชื่อฟัง เห็นว่า เพื่อนเป็นคนดี และก็ดีกว่าแม่ของตนเสียอีก เมื่อแม่ว่ากล่าวหนัก ๆ เข้าก็หนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน

บางคนไว้ผมยาวสกปรกรุงรัง แม่ตักเตือนให้ไปตัดให้สั้น ลูกก็ไม่ปฏิบัติตาม เห็นว่า ผมบนศีรษะสำคัญกว่าแม่ ยอมออกจากบ้าน ไม่ให้แม่เห็นหน้าอีก เพราะหวงทรงผมของตน ลูกบางคนรักยาเสพติด รักกัญชา รักผงขาว รักการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ รักสนุกที่จะเที่ยวกลางคืนมากกว่ารักแม่ของตน

ลูกบางคนรักเมียรักผัวมากกว่ารักแม่ของตน ถึงกับทอดทิ้งเพราะเห็นว่าเมียหรือผัวสำคัญกว่าก็มี ลูกที่กล่าวมานี้ เป็นลูกที่ทำให้แม่ผิดหวัง เกิดทุกข์โทมนัสใจย่อมหาความสุขความเจริญในชีวิตได้ยาก

อุปมาว่า บุญคุณของแม่นั้นเป็นเสมือนแผ่นฟ้ากว้าง ถ้าเราจะนำแผ่นดินทั้งหมดนี้มาม้วนเข้าแทนปากกา เอาน้ำในมหาสมุทรทั้งหมดแทนน้ำหมึก แล้วจดจารึกพระคุณของแม่ก้ไม่สามารถจะจดได้หมด

ลูกที่ดีพึงปฏิบัติต่อแม่ด้วยการกตัญญูกตเวที

 

อันความกตัญญู คือ รู้บุญคุณ กตเวที่คือตอบแทนบุญคุณของผู้เป็นแม่นั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า ลูกทุกคนควรบูชาแม่ของตนด้วยควรปฏิบัติตามหลัก 5 ประการ ดังนี้

1. ท่านเลี้ยงเรามาก่อน เราต้องเลี้ยงท่านตอบ  ลูกทุกคนต้องระลึกถึงถึงเสมอว่า มารดาบิดาได้เลี้ยงเรามาก่อน การเลี้ยงลูกจนกว่าจะเจริญเติบโต มีการศึกษา มีความสามารถประกอบกิจการต่าง ๆ ได้นั้น ต้องลำบากมาก่อน ต้องคอยประคมประหงม อาบน้ำ ชำระร่างกาย ยามป่วยไข้ต้องอดหลับอดนอน คอยเฝ้าดูแล ฉะนั้น เมื่อเราเจริญเติบโตขึ้นสามารถทำกิจการต่าง ๆ ได้แล้วท่านแก่เฒ่าลงต้องเลี้ยงดูท่านเป็นสุข อย่าให้มารดาบิดาต้องเดือดร้อนในการหาเลี้ยงชีพ เวลาท่านเป็นเจ็บป่วยต้องตั้งใจรักษาพยาบาลป้อนข้าว ป้อนน้ำ นวดเฟ้น ปรนนิบัติท่านดุจท่านเคยปฏิบัติเรามาก่อนเพื่อให้ท่านเป็นสุข

2. ช่วยทำกิจของท่าน คือ มารดาบิดามีกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งกิจภายในบ้านก็ตาม เราควรช่วยทำกิจของท่านให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย โดยท่านไม่ต้องหนักใจหรือห่วงใยในกิจกรรมนั้น ๆ

3. ดำรงวงศ์สกุล คือ จะต้องปฏิบัติตนดำรงตระกูลให้ยั่งยืนถาวร สร้างความเจริญให้แก่วงศ์ตระกูลด้วย คุณสมบัติและวัตถุสมบัติ เป็นที่นิยมนับถือของคุณสมบัติและวัตถุสมบัติ เป็นที่นิยมนับถือของประชาชน อย่าให้ตระกูลของตนเสื่อมหรือถูกติฉินนินทาในทางชั่วร้าย วงศ์ตระกูลเคยบำเพ็ญตน เคร่งครัดในศาสนาหรือบุญกุศลมาอย่างไร บุตรธิดาก็ควรปฏิบัติอย่างนั้น ตลอดจนรักษาจารีตประเพณี ทรัพย์สินมรดกของท่านให้คงอยู่

4. ปฏิบัติตนให้เป็นผู้ควรรับทรัพย์มรดก ผู้ที่ควรแก่การเป็นทายาทสืบวงศ์สกุลนั้น ต้องประพฤติตนดีสุภาพเรียบร้อย ไม่เป็นคนหมกหมุ่นอยู่ในอบายมุข อันเป็นทางผลาญทรัพย์สมบัติของท่านให้หมดต่อไป

5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ควรทำบุญอุทิศให้ บุตรธิดาจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า มารดาบิดาท่านเป็นผู้ให้เราก่อนเริ่มแต่ให้เลือดเนื้อชีวิต ความรู้แก่เรา บางท่านให้ทรัพย์มรดกมากมาย อุปการคุณเหล่านี้บุตรธิดาจะต้องระลึกถึงเสมอแม้ว่า ท่านจะล่วงลับไปแล้วก็ต้องทำบุญอุทิศให้ท่านตลอดไปด้วยความกตัญญูกตเวทีตามกำลังของเรา

 

แม่เปรียบเหมือนพระในบ้านที่ควรเคารพบูชา ในวันแม่แห่งชาตินี้ ขอเชิญชวนให้ลูกทุกคนดูแลแม่ทั้งที่มีชีวิตอยู่ หรือแม่ที่ล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญไปให้ท่าน เพราะแม่เปรียบเสมือนพระในบ้านของลูกทุก ๆ คน

 

:) ............................................................................................................................... (:

 

"ความกตัญญู เป็นเครื่องหมายของคนดี" ... วันแม่คงไม่ใช่วันพรุ่งนี้เพียงวันเดียว แต่ทุก ๆ วันก็เป็นวันแม่ของลูกทุก ๆ คน ... ไม่ต้องบอกอะไรใช่ไหมครับว่า คนที่เป็นลูกทุกคนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร :)

 

 


แหล่งอ้างอิง

กฤษณา  พันธุ์มวานิช.  แม่พระในบ้าน.  มติชน (12 สิงหาคม 2551) : หน้า 6.

 

หมายเลขบันทึก: 200207เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ลูกบางคนรักเพื่อนมากกว่าแม่
    รักทรงผมมากกว่ารักแม่
    รักสิ่งเสพติดมากกว่ารักแม่

  • มาบอกอาจารย์ว่า

  • รักแม่ทุกวัน อิอิๆๆ

  • แต่แม่ชอบมีคำถามที่ตอบไม่ได้

  • ฮือๆๆๆๆๆๆๆๆ

ขอบคุณอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ... ลูกที่ดีคนหนึ่งของประเทศไทย

แม่อาจารย์ถามว่า "เมื่อไหร่ อาจารย์จะมีแฟนสักที ?" หรือเปล่าครับ อิ อิ :)

ไม่ใช่ครับอาจารย์ แม่จะถามว่า เมื่อไร จะแต่งงานเสียที ฮือๆๆๆๆๆๆๆ

อ้าว "เมื่อไหร่จะมีแฟนสักที ?" เป็นคำถามแรก

คำถามต่อมาก็ต้อง "เมื่อไหร่จะแต่งงานสักที ?" ครับ

ส่วนคำถามที่สาม ก็ต้อง "เมื่อไหร่จะมีลูกสักที ?" อิ อิ

อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ... อยู่ในระดับสองแล้วหรือครับ อิ อิ โอ้ ไม่น่าเชื่อ ๆ พระเจ้าช่วยกล้วยปิ้ง :)

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับ

ขอบคุณครับ คุณ กวิน ... ยินดีรับการลงชื่อไว้ก่อน ครับ :)

  • ณ วันนี้ แม่อยู่ในใจตลอดเวลา
  • ลูกทำผิดอย่างไร แม่ให้อภัยลูกได้เสมอ ... แม่เป็นพรหมของลูก
  • แม่...พระในบ้าน
  • ขอบคุณค่ะ

              

  • ธุ อาจารย์ค่ะ..

ต้อมรักแม่ค่ะ  ^^  แต่เป็นรักที่ไม่แสดงออกเสียด้วย   คงเพราะคุ้นชินกับการไม่ค่อยพูด-ไม่ค่อยคุยกันหรือเปล่าก็ไม่รู้   

และวันแม่ของต้อมก็มีอยู่ทุกๆ วัน ^^

  • วันนี้บอกรักแม่ทางโทรศัพท์
  • และทางตัวเลขในบัญชีเรียบร้อยแล้วค่ะ
  • อิอิ
  • อาจารย์เสือสบายดีนะคะ
  • คิดถึงจังค่ะ
  • (^__^)

มาลงทะเบียนไว้ค่ะ อิอิ

วันแม่คือทุกๆวันค่ะ

ขอขอบคุณ ท่านทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ ...

คุณครูจุฑารัตน์ NU 11 ...

หนูต้อม เนปาลี ...

คุณ ครูปู ...

คุณ ครูเอ ...

เรื่องราวของแม่ ... พูดได้ไม่ยาว เพราะยาวจนพูดไม่หมด มันอยู่ในใจของลูกทุกคน

ขอบคุณมาก ๆ ครับ ทุกท่าน :)

ผมฝาก จูจุ๊บ แม่ผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อวานแล้วครับ

คิดถึงบ้าน คิดถึงแม่ แต่ภาระยังมี ก็ยังต้องอยู่ สู้กันไป

ขอบคุณมากครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร  :) ..

ความกตัญญู เป็นเครื่องหมายของคนดี ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท