สถานการณ์มันสำปะหลังปี 2551 ไม่สดใสอย่างที่คาดหมาย


ผลผลิตหัวมันสดล้นตลาด เอทานอลประสบปัญหา

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ไปร่วมสัมมนาเรื่อง การเพิ่มผลผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลัง  ภายใต้โครงการนำร่องเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตร  จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีผู้เกี่ยวข้องมาร่วมงานมากกว่า 500 คน เลยจะนำสาระที่ได้จากงานดังกล่าวมาเล่าให้ฟังนะคะ

  1.      ผลผลิตหัวมันสด ขณะนี้มากกว่าความต้องการ เพราะราคาในปีที่ผ่านมาสูงกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดแรงจูงใจเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่

  2.      ดร.วีระวุฒ  วัจนะพุกกะ จากสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอล  ที่ใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังท่านเล่าสถานการณ์ของเอทานอลล้นตลาดว่า จากนโนบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลเรื่องของการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิง E ต่างๆกับรถยนต์ทำให้ทางโรงงานไม่แน่ใจ  ไม่กล้าที่จะกำหนดเป้าหมายการผลิตรวมถึงแผนการลงทุนต่างๆ   ขณะนี้ก็เกิดปัญหากับเอทานอลที่ผลิตได้แล้ว ( ผลผลิตจาก 11 โรงงาน ที่ได้เดินเครื่องแล้ว)  การส่งออกที่ติดขัด  เนื่องจากข้อกฎหมายบังคับวุ่นวาย  ไม่ชัดเจน ทำให้มีแนวโน้มลดกำลังการผลิต  โรงงานบางแห่งประสบปัญหาการเงิน หรือกำลังถูก take overโดยบริษัทจากสิงค์โปร์ ที่กำลังไล่ล่าเข้าควบกิจการบริษัทที่ผลิตพลังงานเขียว..

  3.      ทางด้านความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์  นั้นก็มืดมนเพราะตั้งแต่ต้นปี 2551 นี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อมันเม็ดมาจากทวีปยุโรป หรือ จากจีนแต่อย่างใด  ปริมาณการส่งออกเป็นไปตามคำสั่งซื้อที่ทำสัญญากันไว้ในปีที่แล้วเท่านั้น   จึงเป็นสัญญานบอกว่า ความต้องการเพื่อการส่งออกลดลง..

 

       ข้อมูลเหล่านี้  เมื่อเราได้รับฟัง..ก็เริ่มคิด.. ราคาผลผลิตมันสำปะหลังปลายปีนี้จะเป็นอย่างไร..คงไม่ถึง 2 บาทอย่างที่ผ่านมา  แล้วเกษตรกรจะทำอย่างไร..

 

       การสัมมนาคุยกันถึงเรื่อง..ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ได้..  การเพิ่มผลผลิตแบบถล่มทลาย..แต่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตเป็นจำนวนมาก  ต้นทุนสูง  เช่น มัน 30 ตัน หรือทำมันคอนโด จะคุ้มค่ากันหรือไม่

       การปรับปรุงบำรุงดินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง   ต้องหันมามองปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นเช่น ขี้หมู   ขี้ไก่  หรือการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อไถกลบเป็นพืชปุ๋ยสด เช่น ถั่วพร้า  ปอเทือง   

      ต้องปลุกแนวคิดของเกษตรกรให้  ลดต้นทุนการผลิต  ให้ได้รับกำไรต่อหน่วยลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ..

 

 

     

หมายเลขบันทึก: 200116เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

จำนวนมันที่เพิ่มขึ้นมากจนล้นตลาดและในช่วงที่อาจมีการเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกันจะมีการปรับราคา ประกันมันสำปะหลังของรัฐบาลหรือเปล่าครับ (รัฐบาลประกันที่ 1.5:กิโล)และในการสัมมนาที่จบไปแล้วมีข้อสรุปเป็นอย่างไรบางในกรณีการช่วยเกษตรกรมันสำปะหลัง

ผมสนใจที่จะปลูกมันคอนโด ช่วยแนะนำหน่อยครับว่าจะหาข้อมูลเพิมเติมได้จากที่ไหน และในช่วงนี้เหมาะแกการลงทุนหรือไม่

ขอบคุณมากครับ

เรียน คุณเต็ก

ขอบคุณคะที่สนใจ ในการสัมมนาวันนั้นไม่มีข้อสรุป..เป็นการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้เราได้ทราบและตัดสินใจเอง... การลงทุนแบบถล่มทลาย เช่น กระแสมันสำปะหลัง 30 ตัน ที่จังหวัดชัยภูมิ ทำได้แต่ต้องลงทุนปรับปรุงดินและทำปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้เงินลงทุนประมาณไร่ละ 1 หมื่นบาท..น่าจะเสี่ยงเกินไป หรือไม่คุ้ม ถ้าพื้นที่เรามีสภาพดินและปริมาณน้ำที่แตกต่าง..

การทำมันคอนโด หลายคนประสบผลสำเร็จ หลายคนประสบความล้มเหลว.. แต่ที่แน่ๆ คือ ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่จะเฉือนตาก่อนปลูกสูงมากนะคะ.. ดิฉันเคยอ่านข้อเขียนของ ดร.โอภาส บุญเส็ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมันสำปะหลังอยู่ที่ศุนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ท่านเขียนไว้ละเอียดมาก (ลองค้นใน google นะคะ)สรุปคือ ท่านไม่เห็นด้วย

ส่วนตัวดิฉัน.ตอนนี้ทดลองปลูกอยู่ 4 ไร่..ทุกอย่างจ้างหมด..ดิฉันเน้นแต่การให้ไถเตรียมดินให้ลึกที่สุด.. ใสปุ๋ยผสมอินทรีย์+เคมี+แอปซ่า..ตอนนี้อายุ 3 เดือน ..งามมาก กำลังลุ้นว่าจะลงหัวมากแค่ไหน...ต้นปีหน้าเก็บเกี่ยว..ถ้าได้ผลดีจะนำวิธีการมาเล่าในบล็อกนี้คะ

ขอบคุณครับ ข้อมูลน่าสนใจมากครับ.

อย่างนี้เท่ากับว่า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรู้แล้ว ว่าน่าจะเกิดปัญหามันสัมปหลังราคาตกต่ำในปลายปีนี้ อยากทราบว่า มีการสรุปหรือให้ความเห็นให้หน่วยงานใดไปทำการบ้านเพื่อแก้ปัญหาหรือเปล่า ? หรือว่า ประชุมเพื่อแจ้งให้ทราบครับ.

ผมก็เหมือนคุณอ้อ ขก. ครับ เห็นรัฐบาลกำลังเฮโล มาทางเอทานอล ก็แอบไปทดลองปลูกกะเค้าเหมือนกัน.

เรียน คุณ อาหมง

ขอบคุณคะ ที่สนใจมันสำปะหลัง.. ถามว่าหน่วยงานของรัฐรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วทำอะไรต่อบ้าง.. อยากจะเรียนว่า..ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองนั้นทำได้เพียงนำเรื่องนี้เข้าประกอบการพิจารณาในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการประจำปีของจังหวัดเท่านั้นคะ เพราะเราเป็นเพียงหน่วยงานในระดับจังหวัด ที่ดิฉันเขียนบันทึกเรื่องนี้ก็เพื่อจะเผยแพร่ข้อมูลนี้แหละคะ.. แต่ข้อมูลนี้หลายคนไม่เชื่อนะคะ..ไม่เชื่อว่าราคามันจะตก.. ก็แล้วแต่จะคาดคะเนกันไป อนาคตไม่แน่..

เมื่อวานมีเกษตรกรโทรมาคุยกับดิฉันเรื่อง จะทำมันคอนโด ดีหรือไม่..ดิฉันก็แนะนำไปว่า ถ้าทำเองไม่ต้องจ้าง ก็น่าจะลองดู เฉือนตาตอนกลางคืน(ดูทีวีไปด้วยเฉือนตาไปด้วย) แล้วนำไปปลูกตอนกลางวัน แต่มีดต้องคมเฉียบเหมือนมีดหมอเลยนะ ..ซัก 5-10 ไร่ เปรียบเทียบดูเองเลย ว่ายากง่ายแค่ไหน ถ้าได้ผลผลิตมากขึ้น..คุ้มค่า ในปีต่อๆไปก็ทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก้แล้วกัน แต่อย่าโหมลงทุนมากในปีแรก..

เรื่องราคา ขณะนี้ราคาที่ตลาดรับซื้อ ตำบลท่าพระขอนแก่น กกละ 1.50 บาท ซึ่งในช่วงฤดูฝนปริมาณแป้งต่ำ ราคาหัวมันสดมักจะตกต่ำทุกปี.. เกษตรกรรายนี้บอกว่า 1.50 บาทเนี่ยถือว่าดีแล้วนะ บางปีแค่ 90 สตางค์เท่านั้น..

อยากทราบรายละเอียดการทำมันคอนโด ตั้งแต่การเตรียมแปลงสาธิต เช่น 1 ไร่ ปริมาณพันธุ์ ชนิดพันธ์ การเตรียมแปลงปลูก ลักษณะใด ระยะห่าง กว้าง ยาว วิธีการปลูกที่สามารถปฏิบัติได้อย่างละเอียด ผลผลิต เป็นอย่างไร (มีใครศึกษาอย่างละเอียดไว้บ้างรบกวนตอบเป็นวิทยาทานด้วย)เปิดดูทุกที่ก็มีลักษณะเป็นข่าวทั่วๆ ไป ไม่ละเอียด

สวัสดีคะ คุณคนอยากทำ รายละเอียดการทำมันคอนโด..ขอเวลานะคะ เพราะที่ขอนแก่นมีเกษตรกรปฏิบัติที่อำเภอเขาสวนกวาง ดิฉันได้ประสานไปให้สำนักงานเกษตรอำเภอไปถ่ายภาพ ทำสกู๊บให้แต่ต้องใช้เวลาหน่อยเพราะท่านเป็นวิยากรเกษตร คิวไปบรรยายในที่ต่างๆเต็ม.. ตอนนี้ดิฉันจะ copy ข้อเขียนของ ดร.โอภาส บุญเส็ง ที่เขียนลงวารสารเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อปีที่ผ่านมานะคะ

..เทคนิคการใช้ท่อนพันธุ์ปลูก โดยสร้างจุดขายของการปลูกมันสำปะหลัง ให้ออกหัวแบบคอนโดฯ แบบคอนโดฯ สามเหลี่ยม และแบบคอนโดฯ พวงร้อย เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ให้คิดว่าวิธีการปลูกแบบดังกล่าวเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ สามารถนำพาไปสู่การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ให้ได้ 30 ตัน ต่อไร่ได้ ผู้เขียนได้ศึกษารายละเอียดวิธีการปลูกทั้งสามแบบ โดย

   แบบที่ 1 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโดฯ ใช้ท่อนพันธุ์ส่วนที่เป็นลำต้นตัดแบบโคนตรง ปกติเกษตรกรมักตัดแบบโคนเฉียง 45 องศา โดยเฉือนเอาตาข้างท่อนพันธุ์จากด้านล่างออก 7 ตา เพื่อหวังให้ได้หัวที่เกิดจากฐานรอบโคน 9 หัว และข้างลำต้นที่เฉือนเอาตาออกอีก 7 หัว เรียงเป็นชั้นคล้ายคอนโดมิเนียมในเมืองหลวง ส่วน

แบบที่ 2 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโดฯ สามเหลี่ยม ใช้ท่อนพันธุ์ส่วนที่เป็นลำต้นที่มีกิ่งสามง่ามแรก (primary branch) ติดอยู่ด้วยปลูก โดยเฉือนเอาตาข้างท่อนพันธุ์จากด้านล่างออก 7 ตา และเฉือนเอาตาข้างส่วนที่เป็นกิ่งออก กิ่งละ 2 ตา เพื่อหวังให้ได้หัวที่เกิดจากตาข้างกิ่งเพิ่มขึ้นอีก 6 หัว เรียงเป็นชั้นคล้ายคอนโดมิเนียมสามเหลี่ยม

แบบที่ 3 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโดฯ พวงร้อย ใช้ท่อนพันธุ์คล้ายกับการปลูกแบบคอนโดฯ สามเหลี่ยม แต่เป็นลำต้นที่มีกิ่งสามง่ามที่สอง (secondary branch) ติดอยู่ด้วยปลูก โดยมีความเชื่อว่าส่วนที่เป็นกิ่งสามง่ามที่สองอยู่ใกล้ยอด เป็นกิ่งที่อ่อนกว่ากิ่งสามง่ามแรกของลำต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วและให้ผลผลิตดีกว่า

      การปลูกทั้งสามแบบใช้ท่อนปลูกยาว 40 เซนติเมตร ปลูกปักตรง โดยให้ส่วนที่เฉือนตาออกทั้งส่วนที่อยู่ด้านข้างลำต้นและกิ่งอยู่ใต้ดิน

ข้ออธิบาย

       ในทางพฤกษศาสตร์นั้น รากฝอย (adventitious roots) ของท่อนปลูกมันสำปะหลัง จะเกิดขึ้นที่เพอริไซเคิล (pericycle) อยู่บริเวณรอยแผลระหว่างเปลือกกับเนื้อไม้ของท่อนปลูก

     นอกจากนี้ รากฝอยยังเกิดที่ตาของท่อนปลูกอีกด้วย รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนของท่อนปลูกมีมากกว่า 50 ราก ส่วนรากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่ตามีน้อยมากเมื่อเปรียบกับรอยแผลที่โคนของท่อนปลูก

    ดังนั้น การที่รากฝอยงอกออกมา จะพัฒนาเป็นหัวสะสมแป้งเป็นจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนย้ายน้ำตาลและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะความแน่นของดินที่ใช้ปลูก รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนท่อนปลูกจะพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารได้ดีกว่ารากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่ตา หัวที่เกิดจากรอยแผลที่ตาจะมีขนาดเล็กกว่าหัวที่เกิดจากรอยแผลที่โคนท่อนปลูกมาก และเสี่ยงที่จะเป็นหัวที่ลอยโผล่พ้นพื้นดิน เป็นหัวแคระแกร็นไม่โต มีแป้งน้อย

     ในกรณีที่เกิดปัญหาหัวเน่า รากฝอยที่เหลือสามารถพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารขึ้นมาใหม่ได้อีก ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเฉือนเอาตาข้างของลำต้นและตาข้างของกิ่งสามง่ามออกเพื่อทำให้เกิดหัวสะสมอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการยากต่อการปฏิบัติและการปลูกในสภาพไร่ที่มีความชื้นในดินเป็นปัจจัยจำกัดต่อการงอกของท่อนปลูกมันสำปะหลัง รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนของท่อนปลูกก็มีมากเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารได้ นอกจากนี้ หัวที่เกิดจากโคนท่อนปลูกจะออกรอบโคน สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และหัวขาดยากเมื่อมีการขุดถอนหัวมันสำปะหลัง...

     นี่แหละคะ  ข้อเขียนของท่าน  ผู้ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้   ส่วนของเกษตรกร ผู้ปฏิบัติแล้วได้ผล   งวดหน้านะคะ

อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการรับจำนำมันสำปะหลัง

และผลดี-ผลเสียที่เกิดขึ้นด้วยยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

เรียนคุณเกษตรศาสตร์

การรับจำนำมันสำปะหลัง เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำของรัฐบาลคะ ทำมาหลายปีแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ.. ปีนี้ก็เช่นเดียวกันไม่ทราบว่าจะสำเร็จหรือไม่..

ขั้นตอนการรับจำนำนะคะ

1. ช่วงเวลาที่เปิดรับจำนวน ระหว่าเดือนพฤศจิกายน 2551- เมษายน 2552

2. เกษตรกรต้องจดทะเบียนเป็นผู้ปลูกมันสะปะหลังและขอเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีตัวแทนคือสำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งที่แปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรอยู่( เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการปลูกมันฯจริง)

ขั้นตอนนี้ เกษตรกรต้องไปที่สำนักงาเกษตรอำเภอนะคะ เจ้าหน้าที่จะมีแบบฟอร์มให้กรอก ประกอบด้วย ชื้อ -ที่อยู่ พื้นที่ปลูก ปริมาณผลผลิตและคาดหมายว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาในเดือนใด

3. ขอรับหนังสือรับรองเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมปริมาณผลผลิตของตนเอง กรณีเป็นลูกค้า ธกส. ให้ขอกับ ธกส. แต่ถ้าไม่ใช่ลูกค้า ธกส ให้ขอกับเกษตรอำเภอ ( ตอนไปลงทะเบียนขั้นตอนที่ 2 ก็ขอใบรับรองนี้ด้วยเลย )

4. เมื่อถึงเวลาที่แจ้งว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ทำการเก็บเกี่ยวหัวมัน ตามปกติ เหมือนที่เราจะนำไปขายโดยทั่วไป คือ มีการตัดรากเหง้า ทำความสะอาดเอาดินออก และบรรทุกหัวมันสดไปยังจุดที่รับจำนำมัน

สำหรับจุดรับจำนำมันสำปะหลัง นี้ ต้องประสานขอทราบรายชื่อลานมัน/โรงแป้งที่ร่วมโครงการกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือเกษตรจังหวัดนะคะ แต่ละจังหวัดจะมีไม่กี่แห่ง เช่นที่ขอนแก่นได้ทราบว่า มี 2 แห่ง คือ ลานมัน ส.ศิริ อยู่ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง และโรงแป้งมันฯแก่นเจริญที่อำเภอกระนวน

5. ลานมันที่ร่วมโครงการ จะตีราคา ชั่งน้ำหนักและวัดคุณภาพผลผลิต (ดูเปอร์เซนต์แป้ง / ความสะอาด) พร้อมกับออกใบประทวนให้

6. นำใบประทวนไปขึ้นเงินที่ ธกส.

นี้หละค่ะขั้นตอนการรับจำนำ

ปัญหาที่พบนะคะ

1. มีลานมัน /โรงแป้งร่วมโครงการน้อย ทำให้เป็นอุปสรรคแก่เกษตรกรผู้ปลูก เพราะถ้าอยู่ไกล ก็ไม่คุ้มค่าขนส่ง

2. จะเห็นว่ามีหลายหน่วยงานร่วมทำงาน บางครั้งก็เกิดปัญหาการไม่ประสานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ทำให้การติดต่อของเกษตรกรไม่ได้รับความสะดวก..

ทางแก้ก็คือ ถ้าเราคิดว่าการจำนำคุ้มค่า..และแปลงปลูกของเราอยู่ไม่ไกลจากจุดรับจำนำ เมื่อจะถึงวันนำผลผลิตไปจำนำก็โทรศัพท์ไปยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะโรงแป้ง/หรือลานมันนั้นๆ

เก็บเกี่ยวได้แล้วผลเป็นยังไงบ้างครับ

แล้วคุณอ้อใช้วิธีแบบไหนครับ ขอความรู้หน่อยครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

คือมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่สามรถหาข้อมูลได้เลย คือ

อยากทราบข้อมูลที่เป็นสถิติปริมาณการรับจำนำในแต่ละปี ของไทยนะค่ะ

ไมทราบว่าจะสามรถหาได้จากไหนบ้างค่ะ่

คุณเกษตรศาสตร์

สถิติการรับจำนำมันสำปะหลังเท่าที่ผ่านมา ไม่น่าจะมีนะคะ เพราะที่ขอนแก่นเท่าที่ทราบเปิดรับจำนำก็จริงแต่ราคารับจำนำไม่ต่างจากพ่อค้าลานมันซักเท่าไร เกษตรกรคิดว่าการขนส่งหัวมันไปจำนำไกลๆ จึงไม่คุ้มค่าขนส่ง.. จึงไม่มีใครมาจำนำ (ดิฉันอ่านจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำกับการรับจำนำ) ปีนี้เป็นปีแรกที่เกษตรกรนำผลผลิตไปรับจำนำ ที่ขอนแก่นล่าสุดเปิดรับที่จุดเดียวที่กระนวน ส่วนที่ท่าพระ ยกเลิก

ถ้าต้องการสถิติ จริงๆ ลองค้นจากเว็บไซค์ สำนักงานการค้าภายใน หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนะค เพราะเป็นหน่วยงานเลขาของคณะกรรมการฯ

ฟ้าใหม่ ท่าขุนราม

สวัสดีคุณเกษตรอ้อ

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากลองปลูกมันคอนโด เหมือนคุณอ้อ, คุณอ่อนศรี, คุณวิยล แต่อยากได้ข้อมูลที่คุณเกษตร ได้ทดลองปลูกแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 จนถึงปัจจุบัน เมษายน 2552 ก็ได้ 10 เดือนแล้ว และได้ผลผลิตคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ และต้นทุนต่าง ๆ ตกไร่ละเท่าไหร่ครับ

การทดลองปลูกมันของ คนทำงานเกษตร

หลายคนสนใจมากว่า ผลเป็นอย่างไร หุหุ..ตอนนี้ยังไม่เก็บเกี่ยวคะ เพราะราคาไม่ดี อยู่ที่ กกละ 1 บาทเอง ไม่จูงใจ..

1. ลงทุนปลูก 4 ไร่ หมดเยอะ..เพราะจ้างหมด เริ่มตั้งแต่ ซื้อท่อนพันธุ์ 4,000 บาท จ่ายค่าไถปรับดิน(ชั่วโมงละ 600 บาท) แล้วไถเตรียมดิน ไถดะ 2 ครั้ง (ไร่ละ 350 บาท/ครั้ง) ไถยกร่อง 1 ครั้ง(ไร่ละ 350 บาท/ครั้ง) รวมจ่ายประมาณ 5,000 บาท จ้างเหมาแรงงานปลูก 2500 บาท จ้างแรงงานดายหญ้า 3,000 บาท จ้างแรงงานใส่ปุ๋ย 300 บาท ( ค่าปุ๋ยอินทรีย์ โดโลไมท์ ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 ค่าแอปซ่า รวม 10,000 บาท)

2. มันที่ปลูกเป็นพันธุ์เกษตรศาสตร์ จะให้ผลผลิตสูงเมื่ออายุมากกว่า 12 เดือน

ลองไปขุดดู เมื่ออายุ 8 เดือน ผิดหวัง มันไม่ลงหัวมากดังใจหวัง และหัวเล็ก

3.ตอนแรก หวังว่าจะขุดเดือนเมษายน คะ ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้ว ขุดไปคงไม่คุ้มค่าแรงขุดที่เราต้องจ่าย.. เลยจะทิ้งไว้ในแปลงนั่นแหละ เพราะข้อมูลทางวิชาการ ดร.โอภาส บอกว่า มันจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่ออายุ 18 เดือน กะว่าจะขุดประมาณเดือนพฤศจิกายนหน้า รอราคาด้วย.เห็นว่าตอนนี้ราคาเอทานอลในตลาดโลกเริ่มปรับราคาสูงขึ้นมาก อาจจะทำให้ราคาในประเทศสูงขึ้นมาหน่อย..เฮ้อ..นี่แหละ เจ้าหน้าที่ทำสวนเอง..

อยากทราบถึงว่าการปลูกมันสำปะหลังเนี่ย มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

เช่น แหล่งนำ คุณภาพอากาศ ดินฯลฯ

ขอแนวทางแก้ปัญหาด้วยนะคะ

ขอบคุณมากๆๆคะ

สวัสดีครับคุณอ้อ

การทดลองปลูกมัน วิธีการแบบต่าง มันคอนโด มันน้ำหยด มันนา มัน6เดื่อน ปลูกระยะชิด ปลูกระยะห่าง น้ำหมัก ทดลองทำหมด หาทุกวิธีการที่จะเพิ่มผลผลิต การเพิ่มผลผลิตพันธุ์ไหนหัวแรงแป้งดีหามาทดลองปลูก เช่น สายพันธุ์ระยอง5.7.72.9 CMR35-22-196 ห้วยบง60 ห้วยบง80 ตอนนี้ผมทำแปลงท่อนพันธุ์ปลอดโรคเพลี้ยแป้งที่กำระบาด วิธีการที่ปลูกไร่ ท่อนพันธุ์ดีปลอดโรค กำจัดวัชพืชทำแปลงให้สะอาด ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลผลิตที่ได้อยู่ที่7-10ตัน/ไร่ขุดมันอายุ8-10เดือน ต้นทุนที่5000บาท รวมค่าขุดค่ารถด้วย ต้นทุน0.62/ก.ก

มันคอนโด ผมทดลองปลูกปีที่ผ่านมา ต้นทุนกับผลผลิตมันส่วนทางกันมาก ต้นทุนสูงมาก แต่ผลผลิตที่ได้แตกต่างจากวิธีอื่น ยังมากไม่พอกับต้นทุน เวลา ที่ไร่ผมทำได้สูงสุด 30ก.ก/ต้น ยังไม่ถึง30ตัน/ไร่ ต้องทดลองทดสอบกันต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท