'กินสมอง' สยองสังคม 'คลั่งเกม-ก่อคดี' แก้ที่ 'วาระแห่งบ้าน'


ผมลองสอบถามนักเรียนที่ผมสอนว่านักเรียนเคยเล่นเกมนี้บ้างหรือเปล่า มีคำตอบที่ทำให้ผมตกใจเลยคือ นักเรียนชายส่วนมากเคยเล่นเกมนี้ 90% ขึ้น บางห้อง 100 % เลยครับ

          บันทึกนี้เกิดจากความเป็นห่วงเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์และนักเรียนวัยลูกศิษย์ของผมทุกคน เหตุผลเพราะว่าจากข่าวที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้ มีนักเรียนฆ่าผู้อื่นโดยเจ้าตัวบอกว่าเขาเลียนแบบเกมที่เรียกว่า เกม GTA ผมลองสอบถามนักเรียนที่ผมสอนว่านักเรียนเคยเล่นเกมนี้บ้างหรือเปล่า มีคำตอบที่ทำให้ผมตกใจเลยคือ นักเรียนชายส่วนมากเคยเล่นเกมนี้ 90% ขึ้น บางห้อง 100 % เลยครับ สว่นนักเรียนหญิงมีเล่นบ้าง แต่ละห้องไม่เกิน 10%  ซึ่งเกมนี้แนะนำว่าผู้เล่นควรมีอายุ 18+ แต่ลูกศิษย์ของผมอายุแค่ 10-12 ปีเท่านั้นเอง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เป็นห่วงมากครับ

          จาก นสพ.เดลินิวส์ฉบับ วันที่ 5 สิงหาคม 2551 แฉ 10เกมอันตรายห้ามซื้อให้ลูกเล่น

          นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สำหรับเกมจีทีเอ เป็น 1 ใน 10 เกมที่อัยการประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมาว่า ให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการซื้อให้ลูกเล่น ประกอบด้วย 1.แกรนด์ เทฟต์ ออโต (GTA-Grand Theft Auto) 2.แมนฮันต์ (Manhunt) 3.สการ์ เฟซ (Scarface) 4.ห้าสิบเซ็นต์ : บุลเลตพรูฟ (50 Cent : Bulletproof) 5.สามร้อย : เดอะวิดีโอ เกม (300 : The Video Game) 6. เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (The Godfather) 7.คิลเลอร์ 7 (Killer 7) 8.เรสซิเดนต์ อีวิล 4 (Resident Evil 4) 9.ก็อด ออฟ วอร์ (God of War) และ 10.ฮิตแมน : บลัด มันนี่ (Hitman : Blood Money) ดังนั้นคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีการจัดอันดับเกมที่รุนแรง หรือจัดเรตติ้งเกม ต่อไป เนื่องจากการเล่นเกมที่มีความรุนแรงติด ต่อกันนาน ๆ ในทางจิตวิทยา อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ไม่ได้เป็นทุกคน คนที่มีพฤติกรรมตามเกม คงเพราะแยกไม่ออกระหว่างชีวิตจริงกับเกม ไม่มีวุฒิภาวะ หลงไปในโลกไซเบอร์ ถึงเวลาหรือยังที่โรงเรียนจะสอนทักษะชีวิตให้กับเด็ก
 
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเยาวชนที่ก่อเหตุพบว่า มีความสอดคล้องกับที่เขาให้สัมภาษณ์ว่า ภาพในเกมมีผลต่อความคิดช่วงที่ก่อเหตุ คือเกมมีผลต่อความคิดของเขา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเลียนแบบเกมจนไปทำร้ายผู้อื่น พ่อแม่ควรฝึกวินัยเด็กโดย 1.ไม่ให้เล่นมากเกินวันละ 1 ชม. 2.ควรเล่นเกมหลากหลายไม่หมกมุ่นอยู่กับเกมรุนแรง 3.เข้าไปคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กปรับตัวเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง โดยวิธีที่จะทำให้ลูกยอมลดการเล่นลงได้ คือ พูดคุยกับลูกด้วยท่าทีนุ่มนวล สุภาพ แต่จริงจัง และควรกำหนดกติการ่วมกันว่าวันหนึ่งจะให้เล่นได้นานเท่าใด
 
นายสมพรต สาระโกเศศ โฆษกประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ปัญหาเด็กติดเกม ไม่ใช่แก้วันนี้แล้วพรุ่งนี้จะตอบได้ ต้องอาศัยเวลา และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒน ธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวง    ไอซีที และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กเยาวชนและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาลด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่สหรัฐอเมริกา ก็เกิดเหตุการณ์เด็กเลียนแบบพฤติกรรมจากเกม  จีทีเอ เด็กขโมยรถแล้วถูกตำรวจจับ จนแย่งชิงปืนตำรวจและฆ่าตำรวจตาย 3 ศพ ศาลพิพาก ษาประหารชีวิต ขณะที่ทนายพ่อแม่เด็กเห็นว่าการกระทำของเด็กเกิดจากอิทธิพลของเกมจึงแนะนำ ให้ฟ้องร้องบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เกมที่ว่า จน ศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวเด็กเป็นเงินกว่า 100 ล้านเหรียญฯ เรื่องนี้ต้องมองถึงกฎหมายต่างๆ ว่าจะเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะร้านเกมอินเทอร์เน็ตที่เป็นแหล่งมั่วสุมของเยาวชน
 
ด้านนายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ออกแถลงการณ์เรื่อง “จัดระเบียบเกมอันตราย กรณีเกมแกรนด์ เทฟต์   ออโต” ว่า จากการตรวจสอบพบว่า เกมดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อเดือน ส.ค. 2550 ดังนั้นเครือข่ายครอบครัวขอเรียกร้องไปยังกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ออกใบอนุญาต ให้ถอนใบอนุญาตเกมดังกล่าว รวมถึงเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรงทางพฤติกรรมและทางเพศที่ไม่เหมาะสม ออกจากร้านเกมอินเทอร์เน็ต ตลอดจนร้านค้าที่จำหน่ายเกม เพราะในต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายแจก และนำเข้าเกมดังกล่าว แม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ ยังกำหนดช่วงอายุของการเข้าถึงเกมที่ไม่เหมาะสม และขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้กวาดล้างจับกุมเกมที่ไม่เหมาะสม อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตกต่อเด็กและเยาวชน
 
ขณะที่นายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวถึงมาตรการการดูแลปัญหาเด็กติดเกม และเกมออนไลน์รุนแรงว่า การแก้ปัญหาเด็กติดเกมควรเริ่มที่การจัดเรตติ้ง เนื่องจากปัจจุบันการอนุญาตให้จำหน่าย หรือนำเข้าเกม ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานชัดเจน ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ไม่ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) มีอำนาจทางกฎหมายให้ดำเนินการ หรือควบคุมเกมออนไลน์ ซึ่งทุกวันนี้ทำได้แค่ออกใบอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น กฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จะระบุเรื่อง การจัดเรตติ้งเกมออน ไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ และการนำเข้าเกม จำหน่ายเกมขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมและป้องกันบริษัทผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ให้นำเกมออกมาจำหน่ายอย่างเหมาะสม
 
ด้านนายนิติธรรม ปัญญางาม ผจก. บริษัท นิวอีร่า อินเตอร์ แอคทีฟ มีเดีย จำกัด สาขาประเทศไทย ผู้นำเข้าเกมจีทีเอ เปิดเผยว่า หลังมีเหตุนักเรียนชั้น ม.6 ฆ่าปาดคอแท็กซี่ สาเหตุจากเลียนแบบเกมดังกล่าว ทางบริษัทได้หยุดการจำหน่าย พร้อมทั้งแจ้งให้ร้านค้าที่เป็นผู้แทนจำหน่าย นำแผ่นซีดีเกมดังกล่าวออกจากชั้นวางสินค้า และยกเลิกการจำหน่ายแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้พิจารณาจะไม่นำเกมจีทีเอ ภาค 4 ซึ่งมีเนื้อหารุนแรงกว่าภาคแรก ๆ มาขายในประเทศไทยด้วย
 
พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ จริตเอก รอง ผบช. ประจำ ตร. ในฐานะรองโฆษก ตร.กล่าวถึงมาตรการป้องกันปัญหาร้านเกมและเกมออนไลน์ ว่าเรื่องนี้ทาง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ตระหนักถึงปัญหาจึงมอบหมายให้ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ระดมหน่วยงานใน ตร. ที่เกี่ยวข้อง หารือมาตรการแก้ปัญหา โดยสั่งการให้ตำรวจทุกพื้นที่ดำเนินการ 3 มาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว และรายงานผลให้ทราบภายใน 7 วัน คือ 1.ประสาน วธ. ตรวจสอบร้านเกมที่เปิดให้เล่น และจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ประสานกระทรวงไอซีที ตรวจสอบการแพร่เกมเหล่านี้ทั้งทางอินเทอร์เน็ต ซีดีและเกมว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่มอมเมาเยาวชนหรือไม่ และขยายผลบล็อกเว็บไซต์ที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และ 3.กวดขันให้ตำรวจพื้นที่ บช.น. บช.ภ.1-9 และสำนักงานเทคโนโลยีและการสื่อสาร (สทส.) ระดมตรวจสอบร้านค้าอินเทอร์เน็ตที่จำหน่ายเผยแพร่เกมลามก มีความรุนแรง ขัดศีลธรรม
 
นายนพพล เหลาโชติ ผอ.โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริยาราม กล่าวยอมรับว่า นายพลวัฒน์เป็นนักเรียนของโรงเรียน เท่าที่ดูพฤติ กรรมของนายพลวัฒน์ ซึ่งเข้าศึกษามาเป็นเวลา 6 ปี พบว่า เป็นเด็กเรียนดี เรียบร้อย ตั้งใจเรียนหนังสือ โดยเรียนอยู่สายวิทย์-คณิต มีผลการเรียนเฉลี่ย 2.79 และเป็นเด็กที่ชอบเข้าร่วมกิจกรรม ล่าสุดได้ร่วมกิจกรรมการเป็นนักข่าวของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมบ่งชี้เลยว่าจะเป็นเด็กไม่ดี แต่ชอบเก็บตัว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจึงทำให้ครูทุกคนรู้สึกช็อก เพราะเด็กคนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มดี ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บ้านของนายควร โพธิ์แข็ง โชเฟอร์แท็กซี่โชคร้าย ที่ จ.มหาสารคาม ว่าเป็นไปด้วยความโศกเศร้า โดยญาติพี่น้อง และลูกหลานนำศพนายควรไปบำเพ็ญกุศลที่วัดมะมายน้อย ต.หนองกรุง อ.แกดำ ทาง กระทรวงมหาดไทย มอบทุนช่วยเหลือจากกองทุน “พงศ์โพยม วาศภูติ” 2 หมื่นบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงานศพ มีนางหัด โพธิ์แข็ง ภรรยาของนายควรเป็นผู้รับมอบ
 
ที่ จ.ชลบุรี เมื่อเวลา 02.30 น. วันเดียวกัน พ.ต.อ.นภดล วงษ์น้อม ผกก.สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.ภาสกร ไพจิตต์ สว.สป. นำกำลัง เข้าตรวจสอบร้านเกมออนไลน์ชื่อ “ฟาสท์อินเตอร์เน็ต” ตั้งอยู่เลขที่ 20/406 ซอย 17 ถนนพัทยาสาย 3 หมู่ 7 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง พบเด็กและเยาวชน ซึ่งบางคนอยู่ในวัยเรียน รวม 9 คน กำลังนั่งเล่นเกมอย่างเมามัน นำตัวไปตรวจหาสารเสพติดพบปัสสาวะสีม่วง 4 คน นำตัวไปทำประวัติ ที่เหลือเรียกผู้ปกครองมารับทราบและรับตัวกลับ นอกจากนี้ ยังจับกุมตัวนายไตรภพ บุญพาส่ง อายุ 37 ปี เจ้าของร้าน ข้อหาเปิดบริการให้เล่นเกมออนไลน์เกินเวลา และยุยงส่งเสริมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่น พ.ต.อ.นภดล เปิดเผยว่า หลังข่าวนักเรียนก่อคดีสังหารคนขับรถแท็กซี่ เพราะเลียนแบบเกม พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิตติวัฒน์ ผบช.ภ.2 จึงได้สั่งการให้กวดขันจับกุมร้านให้บริการอินเตอร์เน็ตและเกมออนไลน์ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เยาวชนเข้าไปเล่นเกมจนหมกมุ่น.

 

และจาก สกู๊ปหน้า 1 ของนสพ.เดลินิวส์ฉบับ  วันที่ 6 สิงหาคม 2551 กล่าวถึงเร่องนี้ว่า

 

หาก “เกมออนไลน์” มีส่วนทำให้เด็กวัยรุ่นชายรายหนึ่งก่อคดีจี้-ฆ่าแท็กซี่จนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อวันก่อนจริง นี่ก็จะเป็นอีกภาพสะท้อน ที่ฉายชัดถึง “ปัญหาเด็กไทยติดเกม” ที่นับวันจะส่งผลร้ายต่อสังคมไทยมากขึ้น อันสืบเนื่องจาก “พฤติกรรมเลียนแบบเกม” ที่มีเนื้อหาในทาง “ร้าย ๆ” ที่มีมากมาย...
 
“ติดเกม” คำนี้ดูจะธรรมดาไปเสียแล้วในตอนนี้...
 
“คลั่งเกม-เกมกลืนสมอง” คำนี้แหละที่ “น่ากลัว !!”
 
ก่อนหน้าจะเกิดคดีสะเทือนขวัญล่าสุด ที่ผู้ก่อคดีเป็นเด็กวัยรุ่น และมีการกล่าวอ้างถึงการเลียนแบบเกมอันที่จริงกรณีปัญหาเด็กไทยติดเกมก็ เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ มีการพูด-มีการวางแนวทางแก้ปัญหากันมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งกับปัญหานี้ฝ่ายที่จะเป็น “ด่านแรกที่จะสกัดได้” ก็คือ “พ่อแม่ผู้ปกครอง” ของเด็ก ๆ  
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กับปัญหานี้...มีการให้คำแนะนำผู้ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองว่า “ข้อสังเกตว่าลูกติดเกมแล้วหรือยัง ? ลูกติดเกมเข้าขั้นต้องแก้ไขแล้วหรือยัง ?” ให้ดูว่าลูกอยู่ในข่ายต่อไปนี้ หรือไม่ กล่าวคือ.....
 
ใช้เวลาเล่นเกมครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง เล่นหามรุ่งหามค่ำ, ความรับผิดชอบลดลง ทั้งเรื่องการเรียน ผลการเรียนตก เรื่องชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ยอมนอน ไม่ยอมเรียน ไม่ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ไม่ทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ฯลฯ, มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเกม เช่น ใช้เงินไปกับการซื้อเกมหรือเล่นเกมมากขึ้น
 
มีพฤติกรรมก้าวร้าวแสดงอารมณ์หรือแสดงความไม่พอใจ หงุดหงิด วิตกกังวล เมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม, ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำเป็นกิจวัตร เช่น เลิกเล่นกีฬา เลิกดูทีวี เลิกดูหนัง ไม่ไปเที่ยวกับเพื่อนหรือคนในบ้าน, สัมพันธภาพกับเพื่อนและคนในครอบครัวเปลี่ยน ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นเกมมากกว่าจะพูดคุยกัน, ควบคุมตัวเองไม่ได้ที่จะเข้าไปเล่นเกม, คิดถึงแต่เรื่องเล่นเกม ปิดบังหรือโกหกเกี่ยวกับการใช้เวลาเล่นเกม
 
พฤติกรรมดังที่ว่ามาถือว่า “ติดเกม” ถึงขั้น “ต้องแก้ไข”
 
ต้อง “รีบตัดไฟแต่ต้นลม” ก่อนจะลุกลาม-เกิดเรื่องร้าย !!
 
กับแนวทางแก้ไข หรือที่จริงคือ “แนวทางในการช่วยเหลือลูกให้พ้นภัยติดเกม” คำแนะนำคือ...พูดคุยตกลงกำหนดกติการ่วมกันกับลูกว่าเล่นเกมได้เวลาใดบ้าง กำหนดรางวัลเมื่อทำได้และกำหนดการลงโทษเมื่อทำไม่ได้ โดยกติกายืดหยุ่นตามความเหมาะสม, จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทดแทนเพื่อสนับ สนุนให้ลูกกล้าแสดงออกและแสดงความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ทำ อาหาร งานฝีมือ, มอบหมายงานให้รับผิดชอบ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ล้าง จาน กรอกน้ำ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ, ร่วมกันจัดลำดับกิจวัตรประจำวัน ชวนลูก เข้าสู่กิจกรรมอื่นในบ้าน ปฏิบัติให้เสร็จก่อนแล้วจึงเล่นเกม, ชมเชยลูกเมื่อทำ ตามกติกาและให้กำลังใจเมื่อลูกเริ่มทำกิจกรรมทดแทน, ร่วมกำหนดวางแผน เป้าหมายชีวิตลูก เสนอแนะว่ายังมีสิ่งอื่นในชีวิตที่จำเป็นต้องทำ เช่น เรียน
 
พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเป็น แต่ควรมีเวลาอยู่ร่วมกับลูก ๆ พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างในการสอนวิธีการหยุดเล่นเกมให้กับลูก, ควรสังเกตพฤติกรรมของลูก หากพบว่าสนใจเกมมากพ่อแม่ต้องเข้าถึงลูก ตามเข้าไปในโลกของลูก เข้าร่วมกิจกรรมเกม ศึกษาเนื้อหา-แสดงความสนใจ ในเกมที่ลูกกำลังเล่นโดยไม่ตำหนิ, ซักถาม พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกับลูกทั้งเกี่ยวกับเกม การเรียน การเล่นกับเพื่อน ภาวะสังคมปัจจุบัน
 
ถามลูกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาบางส่วนกับเกม, ร่วม แบ่งปันความรู้สึกกับลูกว่าขณะเล่นเกมเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของเกม หากเรา เล่นมาก ๆ เราอาจเพลี่ยงพล้ำให้กับเกมได้
 
อย่างไรก็ดี ในการสอนลูกให้มีวินัย รู้จักแบ่งเวลาในการเล่นเกมแต่แรก การกำหนดเงื่อนไขในการเล่นเกมเพื่อมิให้เกมเป็นกิจกรรมเดียวที่ลูกทุ่มเทเวลาให้นั้น ก็ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม โดย “เทคนิคการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์กับลูกเพื่อแก้ปัญหาติดเกม” นั้น ทางศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม แนะว่า...อย่าใช้การพร่ำบ่น การบ่นมีแต่สร้างความรำคาญให้กับลูก แต่ไม่ได้แก้ปัญหา, อย่าใช้วิธีห้ามปราม เพราะลูกจะต่อต้าน และนำไปสู่การโต้เถียงขัดแย้งกัน ให้หาวิธีจูงใจอย่างนิ่มนวล ความอ่อนโยนจะพิชิตความแข็งกร้าวได้ ถ้าลูกกำลังเล่นเกมติดพันอยู่ อย่าปิดสวิตช์หรือให้เลิก เล่นทันที เพราะจะเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างมาก
 
อย่าใช้คำพูดเสมือนกล่าวหาว่าลูกผิดที่ติดเกมหรือมองว่าเขาเป็นตัวปัญหา เพราะที่จริงพ่อแม่เองก็มีส่วนผิดอยู่ด้วยที่ไม่ฝึกวินัยให้ลูกแต่แรก หรือไม่มีเวลาให้ลูก จนลูกหันเข้าหาเกม, อย่าตั้งกฎเกณฑ์บังคับโดยพ่อแม่คิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ให้ลูกมีส่วนร่วม ทั้ง ๆ ที่เขาต้องเป็นผู้ปฏิบัติ, อย่าทำเป็นเรื่องใหญ่ มองโลกในแง่ดีไว้ก่อนว่าเกมก็มีทั้งด้านดีและด้านลบ การแก้ปัญหานี้ทำไม่ได้อย่างทันทีทันใด ถ้ามองว่าเป็นปัญหาใหญ่ก็จะวิตกกังวล เร่งร้อน หงุดหงิด จนขาดความพิถีพิถันในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
 
ทั้งนี้ เรื่องร้ายที่เคยเกิดขึ้นแล้วเป็นความสูญเสียที่น่าเห็นใจทุก ๆ ฝ่าย ซึ่ง “เกม” ทำให้เด็กก่อเหตุร้ายโดยตรงได้หรือไม่...ไม่สำคัญ ที่สำคัญก็คือ...แค่ “เกมทำให้เด็กคิดถึงการฆ่า” ก็ต้องถือว่า “น่ากลัว” แล้ว...
 
มีการเสนอให้แก้ปัญหาเด็กติดเกมเป็น “วาระแห่งชาติ”
 
และการเริ่มที่ “วาระแห่งบ้าน” ก็ต้องนับว่าสำคัญมาก
 
ที่จะ “สกัดคดีเด็กคลั่งเกม” ที่ทำให้เสียใจทุกฝ่าย !!!.

 ------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 น่าเป็นห่วงจริง ๆ ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 199587เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2008 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • น่าห่วงค่ะเพราะพ่อแม่ไม่รู้เท่าทันลูกๆว่าออกจากบ้านไปหรือเรียนหรือไปไหน
  • อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้หยุดมอมเมาเด็กอย่าหวังแต่รวย สักวันอาจเป็นลูกตัวเองบ้าง
  • ถ้าไปที่ร้านเกม
  • ร้าน internet จะพบว่า
  • หน้าเป็นห่วงมากๆๆ
  • เด็กๆๆเล่นกันจนเช้า
  • ไม่มีคนตรวจสอบ
  • แต่คนทำร้าน
  • รวยเอาๆๆๆ

สวัสดีครับ

  • คุณnaree suwan และ อ.ขจิต ฝอยทองที่ปรึกษา~natadee จะขอสังกัด ~natadee ด้วย แต่เกรงใจ
  • พ่อแม่ต้องรู้ทันและเข้าใจ ไม่งั้นคงจะแย่จริง
  • ที่โรงเรียน ห้ามเด็ก ๆ เล่นเกม ประเภท ฆ่ารันฟันแทง อย่างเด็ดขาด
  • ร้าน internet มีจิตสำนึกสาธารณะ อย่างน้อย 10  เกมที่กล่าวถึงน่าจะเอาออกจากเครื่องนะครับ
  • ขอบคุณอีกครั้งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท