รีดเดอร์ เธียเตอร์


รวมพลคนรักเด็ก

            เมื่อต้นเดือนเมษายน มีโอกาสได้เข้าไปสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคนิครีดเดอร์เธียเตอร์  มีรองศาสตราจารย์ถิรนันท์  อนวัชศิริวงศ์ เป็นแม่งาน ภายใต้โครงการที่มีชื่อเต็มๆ ว่า โครงการวิจัยปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมนักสื่อสารรักการอ่าน   อาจารย์ทำงานอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเป็นเจ้าของผลงานที่ทั้งแปลและเขียนหลายเล่ม หนึ่งในนั้นที่คิดว่าทุกคนรู้จักคือเรื่อง ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว

                เมื่อครั้งหนังสือเชิญมาค่อนข้างจะงง ๆ  เพราะเกิดมาเพิ่งเคยได้ยินเทคนิคนี้เป็นครั้งแรก  ส่วนสถานที่ก็สร้างความงุนงงให้อีกครั้งเพราะไปอบรมที่สวนเงินมีมา  เมื่อไปถึงทางเข้าก็ต้องงงอีกครั้งเพราะทางเข้าจะอยู่ใต้ตึกแถวที่ผนังทะลุเข้าไป  พอเดินทะลุเข้าไปก็จะพบกับความร่วมรื่น และบรรยากาศแบบสบายๆ กิจกรรมของสวนเงินมีมาน่าสนใจมาก  หากใครๆ สามารถแวะเวียนไปได้บ่อยๆ ก็คงจะดีไม่น้อย  แนะนำลองไปดูก่อนที่  http://www.suan-spirit.com/home.asp 

                พอถึงเวลาสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  ก็เข้าห้องสัมมนา  ซึ่งเป็น ห้อง  จริงๆ เพราะโล่ง มีเบาะรองนั่งวางที่มุม  และพวกเราก็ต้องหายงง เพราะตลอดสามวัน พวกเราใช้พื้นที่นั้นนั่ง นอน ยืน วิ่งหรือแม้กระทั่งเกลือกกลิ้งโลดแล่นไปตามวิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการของ ครู ทั้งหลาย

เริ่มจากการแนะนำโครงการอาจารย์ได้บอกความหมายซึ่งสรุปสั้นๆ ว่ารีดเดอร์เธียเตอร์ หรือ Readers Theater (RT) หรือการละครของนักอ่าน เป็นการนำเสนอเรื่องราวอย่างง่ายๆ แต่เป็นการทำให้เกิดภาพขึ้นในความนึกคิด เป็นละครแห่งจินตนาการ  กลับจากงานนั้นลองเข้าไปค้นในกูเกิล  จะเห็นกิจกรรมแบบนี้ในโรงเรียนและห้องสมุดอยู่มากมาย  แต่ครั้งนี้เป้นครั้งแรกที่ในเมืองไทยพูดถึง ทำให้เราหูตาสว่างขึ้นได้ข้อสรุปกับตัวเองว่ากิจกรรมส่งเสริมการอ่านทำได้หลายแบบจริงๆ และเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องตระหนักและไม่มีศาสตร์สาขาใดเป็นเจ้าของ เพียงแต่ว่าศาสตร์สาขาจะเข้าไปสนับสนุนตรงแง่มุมไหน

การอบรมเชิงปฏิบัติการ  แบบตัวจริงเสียงจริงเริ่มจากการฝึกสมาธิไปที่งานแสดง  สร้างความเชื่อให้กับตัวเองว่าเรากำลังสวมบทบาทนั้นอยู่  การใช้ท่าทางและลีลา การใช้เสียง  ดนตรีและการใช้หุ่นนานาชนิด  แต่ละวันเหนื่อยอ่อน  แต่ทุกคนก็สนุกและใจสู้  วันสุดท้ายให้แต่ละกลุ่มเลือกหนังสือในดวงใจของกลุ่มมาทำเป็นละคร กลุ่มที่อยู่เลือกหนังสือ 3 เล่ม มาร้อยเรียงเป็นบทละครคือเรื่อง เดินเล่นในป่า กระดุ๊ก กระดิ๊ก กระด๊อก กระแด๊ก และซาดาโกะ

กลับมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ทุกคนต่างพูดเสียงเดียวกันว่า กรรมสนองกรรม  เพราะเรื่องแบบนี้พวกเราชอบนักหนาที่ให้เด็กในค่ายห้องสมุดสุดหรรษาทำละครตอนอำลาค่าย  แต่ครั้งนั้นเราทำแบบใช้ความรู้สึก  ส่วนครั้งนี้ทำแบบมีระบบระเบียบทางศาสตร์ของการละคร  

เรื่องที่สามารถถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมงานได้ดีคือ  เรื่องการทำหุ่นจากหนังสือพิมพ์  และการสร้างฉาก   ส่วนเรื่องอื่นความสามารถไม่พอ  ได้แต่รอว่าจะมีการเปิดอบรมอีกเมื่อไร

และแล้ววิทยายุทธ์ที่ได้จากการไปอบรมก็ได้นำไปใช้  ด้วยเหตุที่เราต้องออกชุมชนไปเยือนโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง  จึงทำหุ่นหนังสือพิมพ์โดยเลือกเรื่องอีเล้งเค้งโค้ง  เริ่มจากรวมพลคนรักเด็ก (หน้าเดิม) ประชุมแล้วก็บอกว่าไปเมื่อไร แล้วเสนอให้ทำหุ่นจากหนังสือพิมพ์ โดยวางเอกสารของครูป้อง กุสุมา เทพรักษ์  แล้วใช้วิชาของ  ครูต้า วิทวัส  สังสะกิจ สร้างความเชื่อมั่น  ใช้ท่าทางบอกเพื่อนๆ ว่าทำแบบนี้ ทำแบบนี้ ของครูมิ้งค์ ปอรรัชม์ ยอดเณร  และใช้เสียงแบบ หวาน ดุ ขู่ และ อ้อน ของอาจารย์สุกัญญา สมไพบูลย์  (งานนี้ไม่มีดนตรี ค่ะครู)  แล้วสรุปว่าแบบสั้นๆ ว่า ทุกคนทำได้อยู่แล้ว ทุกคนมีความฉลาดในเรื่องนี้ แต่อาจไม่ไม่ฉลาดในเรื่องนั้น หากยอมรับในความแตกต่างกันได้ทุกอย่างก็โอเค  จากนั้นทุกคน(ยกเว้นฉัน) สรุปว่า ขอทำงานอยู่หลังฉาก  ดังนั้นเรื่องโชว์หน้าม่านหนูจงรับไป 

หลังจากนั้นสามวันทำการ  แต่ไม่กี่ชั่วโมงเพราะอย่างไรเราก็ยังต้องทำงานประจำ  ฝ่ายจัดซื้อซื้อของ  ผ้าขาวและผ้าดำเป็นฉากซึ่งกะกันว่าจะใช้วิธีกลับฉาก  แต่พอซ้อมจริง ผู้อยู่หลังฉากก็ยังยืนยันว่าไม่อยากให้เห็นตัว (แต่แปลกเวลาไปเต้นกับเด็ก เต้นได้เต้นดี) จึงให้ฉากสีขาวเลื่อนลงให้เห็นฉากสีดำที่เขียนคำว่า อีเล้งเค้งโค้ง หลากสีแทน เราบอกว่าฉากเราไฮโซมากเพราะเหมือนไฮโดรลิก

 

read

ฉากไฮโดรลิก

 

ทั้งสองฉากมีความยาว 4 เมตร ครั้งแรกบอกบรรณารักษ์นักศิลปะคนเดียวในหอสมุดฯ พี่พัชรี เวชการ ที่เป็นผู้อำนวยการความงามทั้งฉากและหุ่น โดยมีน้องกอบกุล ชาวเฉียง เป็นผู้ช่วย  ว่าขอเป็นองค์พระกับโรงเรียนโดยให้บอกชื่อโรงเรียน และทำเฉพาะตรงกลางฉาก พอบ่ายๆ ไปดู บอกว่าอย่าใส่ชื่อโรงเรียนดีกว่าเพราะเราจะไปใช้อีกหลายงาน  พอวันรุ่งขึ้นจากผ้าขาวๆ ก็กลายเป็นฉากกันสวยงาม มีตั้งแต่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ องค์พระปฐมเจดีย์ นักศึกษาขี่จักรยาน รถที่เราจะใช้เดินทาง ต้นตาล และควาย โรงเรียนและม้าหมุน  จากผ้าขาวๆ ก็กลายเป็นฉากน่ารัก  ส่วนเนื้อเรื่องที่เป็นห่าน กระถาง ดอกไม้  ฝักบัวรดน้ำ  สร้างสรรค์โดยน้องพิชัย ผลอุดม มีพี่เกศินี เพ็ญศิริ เป็นผู้ช่วยและอำนวยความสะดวก จากดอกไม้หุบก็จะบานได้ จากฝักบัวธรรมดา  ก็จะมีน้ำ  จากห่าน ที่ไม่สวยก็สวยเพราะใส่ถุงเท้า มีโบว์น่ารัก

มีพี่ติ๋ว นัยนา สุคนธมณี  และน้องน้อง พนิดา จมูศรี  เป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกจัดสรรวัสดุและอุปกรณ์  สำหรับพี่จุ๋ม บรรจง รุ่งแผนกับพี่มนตรี ศรีสุทัศน์ พวกเราเก็บไว้ตอนแสดงเนื่องจากมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจประจำไปก่อนจนกว่าจะถึงวันซ้อม และน้องเอ๋จันทร์เพ็ญ กลุ่มใจขาว เราให้ไว้ถ่ายรูปกับถ่ายวิดีโอ ถึงรอบปฐมทัศน์มีเพื่อนๆ เข้ามาดู  ส่วนพวกเราเล่นไปแล้วก็แก้ขันไป  เพื่อนๆ บอกว่าทำกันไปด้ายยยย...  แปลว่า  ทำได้ทุกอย่างจริงๆ 

                ถึงวันเล่นจริงเราออกจากห้องสมุดกันตอนแปดโมงครึ่ง ไปถึงโรงเรียนประกอบฉาก เด็กๆ ตื่นเต้นและมีความสุข  ส่วนพวกเราก็มีความสุข ละครหุ่นเพียงไม่กี่นาทีคงอยู่ในความทรงจำของเด็กไปอีกนาน  เด็กคงรักห้องสมุดและรักหนังสือ

                ระยะเวลาสั้นๆ ที่มีเราเปิดโอกาสเข้าไปสัมผัสและเล่นให้เพื่อนๆ ดู  สอนให้เด็กรู้จักคิดและสร้างสรรค์งานจากวัสดุใกล้ตัว  สอนให้เด็กใช้เสียงและท่าทางง่ายๆ เด็กทุกคนก็ทำตามอย่างน่ารักและจริงจัง

                พวกเรานำวัสดุต่างๆ เตรียมไปให้เด็กทำสองอย่างคือ ทำที่ใส่ดินสอจากแกนกระดาษทิชชูและทำการ์ดกระดาษพัน

                ส่วนเด็กที่ทำเสร็จแล้วไปอ่านหนังสือและอ่านหนังสือ และขอให้อ่านหนังสือให้ฟัง  เราจึงอ่านและอ่าน  ถึงเวลาเที่ยงต้องลากัน เด็กวิ่งเข้ามาถามป้าๆ จะกลับแล้วหรือ สัญญากันว่าเราจะไปเจอกันที่งานองค์พระปฐมเจดีย์  คุณบอกว่าปีหน้ามาใหม่นะคะ

 

อ่านให้ฟัง

 

read

ยังอยากเล่น

            หลังจากทานข้าวเราก็กลับมาทำงานต่อ แล้วก็ดูรูปไปยิ้มไป ส่วนพี่ติ๋ว น้องเอ๋และฉัน คุยกันว่างานองค์พระปฐมเจดีย์เก้าวันเก้าคืนเราจะทำแบบเนียะคืนละหนึ่งเรื่อง   เอ่อ...พี่น้องคะเตรียมตัวรวมพลคนรักเด็กได้เลยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 199521เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2008 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อืมเป็นเช่นนี้นี่เอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท