Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๘)_๒


         “ศูนย์ข้าวชุมชนมีหลายตำบล จากที่ผมได้ลองไปสัมผัสกับเกษตรกรหลายๆตำบล ไม่มีตำบลไหนที่  เหมือนแบบนี้ คือ เกษตรกรสามารถคิดเอง ทำเอง และกล้าเปลี่ยน บางครั้งเราสอนไปแล้ว เกษตรกรทำไปได้สักพัก แต่เวลาเราออกไป เขาก็เลิกทำ ซึ่งต่างจากเกษตรกรในตำบลหนองตางูอย่างสิ้นเชิง เพราะเกษตรกรที่นี่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในทุกขั้นตอน และปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยไม่จำเป็นต้อมีใครไปสอนให้เขาทำมาก”
         ทำให้เกษตรกรสามารถขยายเครือข่ายของตนเองได้ โดยอาศัย ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านด้วยวิธีการทำให้เห็น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรประสบความสำเร็จมากเพราะเกิดจากความคิดของเกษตรกรกลุ่มนี้ที่ตระหนึกถึงความสำคัญของการเรียนรู้
สมชาย เสนชัย เกษตรกรหนุ่มวัย 37 ปี เป็นคนหนึ่งที่แต่เดิมมีวิถีการทำนาเหมือนกับเกษตรกรทั่วไปที่ตกเป็นทาสของการพึ่งสารเคมี แต่เมื่อความรู้เรื่องการทำเกษตรแบบปลอดสารผ่านเข้ามา เขาก็ไม่ลังเลที่จะเก็บเกี่ยวมันไว้ และมีความกล้าที่จะเปลี่ยน แม้จะถูกผู้ที่ยึดอาชีพเดียวกันกล่าวหาว่า “บ้า” ก็ตาม 
         “ผมมีความเชื่อว่าเกษตรปลอดสารสามารถที่จะทำได้ ขอให้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ข้าวที่ผมทดลองปลูกแบบปลอดสารเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว วิธีการก็คือ ทุกกระบวนการผลิตไม่มีสารเคมีเจือปน ผมเรียนรู้จากโรงเรียนชาวนาได้หลายเรื่อง และก็นำความรู้นั้นมาปรับใช้ เช่น การหว่านปุ๋ยชีวภาพจากที่เคยเสียเวลาหว่าน ตอนนี้ผมเอาปุ๋ยไปเทกองหน้าทางน้ำเสร็จแล้วก็เปิดให้น้ำเข้าแปลงนา ปุ๋ยก็ละลายไปกับน้ำกระจายไปทั่วแปลงนา ไม่ต้องเสียแรงเสียเวลา และไม่เหนื่อย มีคนว่าผมขี้เกียจ ผมยอมรับว่าขี้เกียจ แต่เป็นการขี้เกียจอย่างชาญฉลาดมากกว่า”
         คำว่า “ขี้เกียจอย่างชาญฉลาด” ของคุณสมชายนั้น เขาบอกว่าอุปกรณ์หลักในการทำนาแบบที่ว่านี้คือ “ใจ” เมื่อมีใจที่กล้าและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ความแข็งแรงของต้นข้าว ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และระบบนิเวศในแปลงนาหวนกลับมา และที่สำคัญคือหลุดจากกับดักของสารเคมี ที่ตลอดชีวิตการทำนาของเขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
ทำให้ทุกวันนี้แปลงนาของคุณสมชายทั้งหมดจำนวน 60 ไร่ งดใช้ปุ๋ยเคมีเลย ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงด้วย และยังพบว่า มีเกษตรกรบางรายที่มาร่วมเรียนรู้ได้กลับไปทดลองในแปลงนาของตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจระบบนิเวศน์มากขึ้นและเลิกใช้สารเคมีไปโดยปริยาย 
         “ตอนแรกเขาแนะนำให้ผมทดลองทำเกษตรแบบปลอดสารประมาณ 10 ไร่ แต่ผมไปแอบทำเอาเองหมดเลย 60ไร่ ซึ่งมันก็ได้ผลและทำได้จริง และสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือต้นทุนน้อยลง จากเมื่อก่อนลงทุน 2,700 บาท/ ไร่ เมื่อทำนาแบบปลอดสาร ลงทุนเพียง 1,200 บาท/ ไร่ ต้นทุนถูกลงครึ่งต่อครึ่ง”
         ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นจากกลุ่มนักเรียนโรงเรียนชาวนารุ่นแรก ได้สร้างความมั่นใจในการทำเกษตรแบบปลอดสารได้อย่างชัดเจนขยายเครือข่ายเกษตรปลอดสาร ในแบบฉบับโรงเรียนชาวนาหนองตางูได้ถึง 5 หมู่บ้าน มีนักเรียนชาวนารุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก 30 คน กำหนดเรียนรู้ร่วมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  และระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องก็มีเรียนกันเองสอนกันเองด้วย และผลจากการทำนาแบบใหม่คือ ต้นข้าวตั้งตรง สวย แข็งแรง และมีสีเขียวอมเหลืองดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
         “เปรียบเทียบกันได้เลยครับ เพราะแปลงที่ปลูกข้าวแบบเกษตรแบบเคมี กับเกษตรแบบปลอดสารปลูกไว้ใกล้ๆกันเลย เวลาฝนมาลมมาต้นข้าวในแปลงนาชีวภาพยังตั้งตรงไม่สะทกสะท้านแรงลม-ฝนเลย สีก็เขียวอมเหลืองแบบธรรมชาติ แต่หันไปมองแปลงนาเคมีสีต้นข้าวเขียวปี๋ โดนลมโนฝนหน่อยเดียวต้นก็ลู่ลม ต้นข้าวล้มตัวนอนไปหมดเลย

สรุปบทเรียนโรงเรียนชาวนา หลังฤดูเก็บเกี่ยว
         เดือนตุลาคม 2547 กลุ่มเกษตรกรได้ทำการสรุปรายรับรายจ่ายมาแล้ว และเห็นตัวเลขที่ชัดเจน คือ แปลงนาของนายวิชาญ โรงอ่อน ซึ่งทำนาจำนวน 25 ไร่ ได้ข้าว 22 เกวียน โดยมีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ ค่าเมล็ดพันธุ์   ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำหมักชีวภาพ ค่ารถและอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น  22,150 บาท โดยขายข้าวราคาเกวียนละ 4,750 บาท รวม 22 เกวียน เป็นเงิน 104,500 บาท เหลือเงิน 82,850 บาท
         วิชาญ ให้ข้อมูลว่า “ผมไม่รู้สึกเสียใจเลยที่การทำนาในครั้งนี้ผลผลิตจะลดลงไปจากฤดูกาลที่แล้วไป 3 เกวียน เพราะฤดูที่แล้วผมใช้ปุ๋ยและยาเคมีเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งเปรียบเทียบแล้วค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ฤดูกาลแตกต่างกันดังนี้”

รายละเอียด 

วิธีการทำนาแบบเดิม 

วิธีการทำนาแบบใหม่ 

ส่วนต่างที่เกิดขึ้น 

ค่าเมล็ดพันธุ์  

3,000  

 3,000 

 
ค่าน้ำมัน 

3,200  

3,200  

 
ค่ายาคุมหญ้า+ฆ่าหอย 

4,000 

2,000  

2,000 

ค่ายาฆ่าแมลง 

40,000 

 - 

 
ค่ารถเกี่ยว 

7,000  

7,000  

 
ค่าขนข้าวไปขาย 

2,200 

2,200  

 
ค่าปุ๋ยเคมี 

9,375  

3,750  

5,625

ค่าวัสดุทำปุ๋ยน้ำหมัก 

 -  

1,000 

 
รวมรายจ่าย  

68,775 

22,150  

 
ได้ข้าว 

25 เกวียน  

22 เกวียน  

3 เกวียน 

ขายเกวียนละ 

4,750 บาท  

4,750 บาท  

 
มีรายได้ทั้งหมด 

11,8750  

10,4500  

 
รายเหลือ 

49,475  

82,350  

32,875 

   

         นั่นคือสิ่งที่กลุ่มนักเรียนชาวนาเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่เปื้อนยิ้มพร้อมเสียงหัวเราะที่ดังเป็นระลอกๆ เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า เกษตรแบบปลอดสารเป็นทางออกที่พวกเขาพยายามค้นหากันมานานกว่าสามปี


เรียนรู้อะไรในโรงเรียนชาวนา
         เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา องค์ความรู้ที่เขาจะได้คือการเรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารพิษ ที่เมื่อทำแล้วเขาจะได้ สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมา  สุขภาพกาย สุขภาพจิตเกษตรกรดีขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตไม่ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาอีกต่อไป  ได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูล สร้างปฏิสัมพันธ์ของเกษตรกรที่เคยมีในอดีตกลับคืนมา  ทำให้กลุ่มเกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะ เกษตรกรจะเกิดความผูกพันกันภายในกลุ่ม เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เป็นประจำ และจากการมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำ ทำให้เกษตรกรมีความรู้สึกเข้าใจมากขึ้น ซึ่งได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่จะ ลด ละ เลิกสารเคมีได้อย่างเด็ดขาด
         ขณะเดียวกันเมื่อทำแล้วพวกเขาก็พบปัญหาว่า นักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 45 -60 ปีไม่ค่อยเชื่อฟังกลุ่มมีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในอัตราสูง เนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจว่าจะได้ผลจริงๆ นอกจากนั้นร้านค้าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในตำบลหนองตางูได้รับความเดือดร้อนเพราะยอดขายตก ทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินสดไปซื้อปุ๋ยทางร้านค้าจะไม่ยอมให้เชื่อถ้าต้องเชื่อต้องเอายาเคมีไปด้วย นอกจากนั้นผู้ที่เช่านาเถ้าแก่มีปัญหาเพราะเถ้าแกบังคับให้ซื้อปุ๋ยและยาเคมีถ้าไม่ใช้ปุ๋ย + ยาเคมี จะไม่ให้เช่านา
         ยกตัวอย่างแนวทางแก้ไข สำหรับกลุ่มตำบลหนองตางู ได้แก้ไขปัญหาด้วยการนำเงินกองทุนมาซื้อปุ๋ยแทน ซึ่งทุกคนเห็นว่า เมื่อไม่มีรายจ่ายค่าปุ๋ยค่ายาเวลาขายข้าวเงินก็เหลือมากอยู่แล้ว และช่วยกันแนะนำสมาชิกในกลุ่มให้ใช้จ่ายอย่างประหยัดไม่ต้องยึดนายทุนเป็นที่พึ่งต่อไป ชาวนาจะมีเงินเหลือมากขึ้น และจะพยายามช่วยเหลือกลุ่มชาวนาที่อ่อนแอให้มาเข้าร่วมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันต่อไป


ขยายเครือข่าย : คืบคลานเหมือนใยแมงมุม
         ปัจจุบันโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ได้ขยายเครือข่ายครบทั้ง 30 แห่ง ใน 16 ตำบล 9 อำเภอ คือ เก้าเลี้ยว บรรพตพิสัย โกรกพระ ลาดยาว ไพศาลี  หนองบัว ท่าตะโก ชุมแสง และอำเภอเมือง ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สามารถขยายเครือข่ายได้ง่ายขึ้นคือการสนับสนุนจากนโยบายระดับจังหวัดที่จัดสรรให้มีเงินก้นถุงสำหรับเป็นจุดเริ่มของการทำโรงเรียนชาวนาราว 45,000 บาท เพื่อเป็นทุนบริหารจัดการกลุ่มและกองทุนปุ๋ยชีวภาพ
         การขยายเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์นั้น เป็นลักษณะของการเคลื่อนไปตามช่องทางต่าง ๆ ของภาคี ทั้งกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มเอง มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)นอกจากนี้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพ คือการขยายโดยนักเรียนชาวนาเอง ที่เห็นเพื่อนทำสำเร็จก็อยากลองทำดูบ้าง กลุ่มนักเรียนชาวนาจึงขยายเพิ่มขึ้นโดยมีระบบ “พี่สอนน้อง-ศิษย์เก่าก็สอนศิษย์ใหม่” ขณะเดียวกันก็เข้มข้นกับการเรียนที่ต้องมีระบบจัดการที่ทุกคนกำหนดและต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังตัวอย่างของโรงเรียนชาวนาหนองตางู ที่อำเภอบรรพตพิสัย


ชุมชนนักปฏิบัติ : ผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย
         จากวิสัยทัศน์ของผู้นำในระดับจังหวัดที่เอื้อให้เกิดการขยับเขยื้อนของเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ เกิดกิจกรรมโรงเรียนชาวนาที่กระตุ้นและปลุกเร้าให้ชาวนานครสวรรค์ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาแบบเดิมสู่การทำนาที่ต้นทุนต่ำ รายได้เพิ่ม สุขภาพดี  ดังที่นักเรียนชาวนารุ่นพี่อย่างคุณสมชาย บอกว่า “ฟ้าลิขิตให้ผมเป็นชาวนา และทำไมผมจะทำนาแบบสบาย ๆ รายได้ดี  มีเงินซื้อโน่น ซื้อนี่ (ตั้งเป้าว่าในฤดูกาลนี้จะซื้อรถ forjurner)จะโก้บ้างไม่ได้หรือ ชาวนาอย่างผมไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อมอซอตากแดดตัวดำหรอก”
          เครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์คือการขยายจุด/กลุ่มเล็ก ๆ ของชาวนาที่มีทุนเดิม(ความรู้/ภูมิปัญญา) และใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมเรียนรู้ปฎิบัติร่วมกัน จนเกิดความรู้เฉพาะขึ้นภายในกลุ่มและแสวงหาความรู้เพิ่มจากภายนอก จากการเรียนรู้ดูงาน หรือการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ทั้งหมดจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่การเลือกใช้ของเกษตรกรว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเป็นนิสัยจึงก่อให้เกิดเครือข่ายที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งวงของเกษตรกรเอง วงของผู้สนับสนุนอย่างกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มที่ประกอบด้วยนายแพทย์ นักพัฒนา นักการศึกษา และกำลังขยายความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้ามาหนุนเสริมการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนาต่อใป ขณะที่ในวงของคุณเอื้อ นโยบายระดับจังหวัดก็เห็นรูปธรรมของกลุ่มชาวนารุ่นใหม่ที่จะผลิตข้าวคุณภาพดี ปลอดโรค ปลอดภัย ป้อนตลาดและทำให้      นครสวรรค์กลางเป็นศูนย์กลางค้าข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศได้ในที่สุด และนี่คืออนาคตของเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ที่กำลังขับเคลื่อนไปอย่างเห็นเป้าหมายที่อยู่ไม่ไกล  ขณะเดียวกันก็ได้รับการตอบรับและร่วมมืออย่างดีจากภาคเอกชน(พ่อค้าข้าว)ที่จะเข้ามาสนับสนุนชาวนานครสวรรค์อีกแรงกับการบุกเบิกตลาดไว้รองรับและการันตีราคาหาก “ข้าว”ที่ได้คือสินค้าคุณภาพ.


นพ.สมพงษ์  ยูงทอง
กลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม (เครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์)
นายแพทย์ศัลยกรรมประสาท
รพ.สวรรค์ประชารักษ์  จ.นครสวรรค์
E_mail  
[email protected]

หมายเลขบันทึก: 19900เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท