OUTCOME MAPPING Part II: Map and Mapping and Meanings


Map and Mapping and Meaning

ในงานนี้ ท่ามกลางบรรดาผู้เข้าร่วมมีความหลากหลายของงาน ของความสนใจ ของเป้าประสงค์ที่จะนำเอา OM ไปใช้ หนึ่งใน participants คือ อ.ทัศนีย์ ไพฑูรย์พงศ์ มือสอนการเขียน blog ของสคส.และครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์ได้ยกประเด็นที่น่าสนใจหลายต่อหลายครั้งระหว่าง workshop และรวมไปถึงการชี้ให้เห็นความต่าง ของวัตถุประสงค์ที่ฝรั่งเลือกใช้คำบางคำ ที่แม้แต่การเปลี่ยน grammar ของคำไปเล็กน้อย เมื่อแปลเป็นไทยออกมาจะให้ความหมายที่เปลี่ยนไปได้ อาทิ คำว่า outcome challenges หากจะแปลว่า "ผลลัพธ์ที่ท้าทาย" ก็จะเน้นที่ "ผลลัพธ์ (outcome)" เป็นคำหลัก แต่ตามหลักภาษาอังกฤษ เมื่อ noun ขยาย noun คำหลักจะอยู่ด้านหลัง ดังนั้นคำๆนี้น่าจะแปลว่า "ความท้าทายเชิงผลลัพธ์" ซึ่งคำว่า "challenges" จะกลายเป็นคำหลักแทน

จึงเกิดเป็นแรงกระตุ้นให้ผมคิดต่อ (ตามประสาลูกศิษย์ที่ดี อิ อิ) ว่าถ้าเช่นนั้น ที่เราแปล outcome mapping เป็น "แผนที่ผลลัพธ์" ก็อาจจะไม่สื่อตามที่เจ้าของภาษาเขาจงใจใช้ mapping แทนที่จะเป็น map รึเปล่าเนี่ย??? หรือเราควรจะแปลว่า "การ map ผลลัพธ์" แทน? (ประเดี๋ยวจะหาคำอะไรมาแทนคำว่า map)

การทำแผนที่ ทำอย่างไร?

ในกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จาก workshop นี้ สิ่งที่ได้ ยังไม่ได้จาก​ "แผนที่" เลย แต่ ณ ปัจจุบัน เราได้เรียนรู้จากการ "ทำแผนที่" เสียมากกว่า และสิ่งเหล่านี้ที่เราได้เรียน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับอะไรก็ตามที่จะเกิดตามมา ตั้งแต่การฝัน การวิเคราะห์ สังเคราะห์ความฝัน การหากลจักร (machinary) ที่จะสานทอ (ซึ่งหมายถึงทั้งเครื่องมือ คน วัตถุดิบ และองค์ความรู้ ทรัพยากร) ยิ่งเรื่องที่จะทำเป็นเชิงมหภาค หรือสังคมศาสตร์ ยิ่งมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงซับซ้อนของอะไรที่สามารถส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของเรามากขึ้น "การทำแผนที่" จึงยิ่งเพิ่มความสำคัญพอๆกับ "ตัวแผนที่" ที่จะเป็นผลผลิตจากการทำมากขึ้นเท่านั้น

ข้อสำคัญก็คือ การทำแผนที่นั้น เราอาจจะทำจากอากาศก็ได้ แต่ปัญหาก็คือ เวลาคนใช้แผนที่ที่ว่านี้ เขาไปทางอากาศ หรือว่าเขาไปทางเรือ ทางถนน ทางใต้ดิน? ถ้าหากทำแผนที่อากาศ แต่ปรากฏคนที่ใช้เป็นพวก hobbit หรือ คนรู ก็คงจะเปล่าประโยชน์ แผนที่อากาศ และแผนที่ที่เกิดจากการเดินทางจริงตามบริบท อาจจะออกมาไม่เหมือนกัน

คนเคยอ่่าน "เพชรพระอุมา" ของพนมเทียน คงจะจำได้ว่า พระเอกของเรา นายพรานรพินทร์ ไพรวัลย์ นั้น พกแผนที่ "มรกตนคร" ที่เป็นขุมทรัพย์เพชรพระอุมา เขียนโดยนักผจญภัยจากพม่า เป็นแผนที่ที่เขียนจากคนเดินป่าจริงๆ เดินไปถึงไหน ก็เขียนบอกว่าถ้าใกล้เป้าหมายแล้ว คนเดินทางจะต้องเห็นหลุมอุกกาบาต หลุมที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ต้องผ่านป่า ผ่านทะเลสาบ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก เป็นแผนที่ที่เขียนแล้ว คนเดินตามมาทีหลังสามารถแกะรอยไปได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อเครื่องบินบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์มาตกแถวๆป่านี้ แผนที่อากาศที่ทันสมัย สร้างจากเครื่องบิน ดาวเทียม ก็ไม่สามารถจะบอกอะไรให้แก่ผู้เดินทางได้สักเท่าไหร่เลย

"การเดินทางจริงของผู้ทำแผนที่" จึงเป็นการผจญภัยที่สำคัญ ที่จำเป็น เพื่อที่คนที่จะดำเนินตามบนมรรคาที่ว่านี้ สามารถมีความชัดเจน ได้ประโยชน์จากแผนที่ที่ว่านี้อย่างแท้จริง ตามที่วิทยากร กระบวนกรของ สคส.ได้เน้นว่า การหา "คุณกิจ" หรือคนทำงานในพื้นที่ให้ได้เสียก่อน เราจึงจะได้ "คุณค่า" ที่มาจากเชิงปฏิบัติได้ มาจากบริบทที่แท้ ไม่ได้มาตามหนังสือ ตำรา ที่เขียนจากห้องนั่งเล่น หรือห้องนั่งสมาธิที่ไหน

ผมคิดว่า outcome mapping ตามคำๆนี้ คือ "การเดินทาง" หรือคือ "การทำแผนที่" มากกว่าตัวแผนที่ที่เป็นผลลัพธ์ เกิดจากการทำงานภาคสนาม ที่ผู้บุกเบิกใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความรู้สึก สติปัญญา เขียนขึ้นมา บริบทขณะที่เขียนก็สำคัญ เพราะเมื่อจะเดินทางอีกครั้ง เป็นคนละฤดู เป็นคนละสมัย อะไรๆก็เปลี่ยนไป เป็นความหมายโดยนัยว่า คนที่จะใช้แผนที่นี้ ก็ต้องมีสติ มี awareness ถึงอิทัปปัจจยตา ที่เหตุปัจจัยมากมายที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้คนใช้แผนที่ออกนอกเส้นทางไปได้บ้าง แต่นั้นไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็น "ความจริง" ที่ท้าทาย ที่คนเดินทางจะต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญ ไม่ใช่ว่าหลงทางไปครั้งเดียวก็ถือว่า "ล้มเหลว" (มิฉะนั้น รพินทร์ ไพรวัลย์ คงจะไม่สามารถไปถึงมรกตนครได้ตั้งแต่ภาคแรก เพราะมีทั้งน้ำป่า มีทั้งนิทรานครมา "เปลี่ยนแนวทางการเดินทาง" แต่แรก มิฉะนั้น Nelson Mandala คงจะ give up ตั้งแต่อยู่ในคุก)

คนทำแผนที่ต้องมีสติ ต้องหยุดสำรวจ หันซ้ายขวา เหนือใต้ออกตก เป็นระยะๆ เพื่อที่จะกำหนด landmark สำคัญๆ เหมือนตอนที่ผมเดินทางมาถึงรีสอร์ทใหม่ๆ ที่ไปหยุดงงตรงทางแยก ไม่มีทิศ ไม่มีทางบอก ต้องอาศัยการคาดเดา ดีชั่วเลวร้ายอย่างไรเกิดเป็นการเดินทางใหม่ แต่แผนที่ที่ดี ก็จะช่วยให้ผู้เดินทางไม่เสียเวลาทุกๆแยก ทุกๆแพร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แยกกับดักใหญ่ๆ ที่อาจจะเกิดอันตราย ยิ่งต้องเขียนเตือนเอาไว้ให้ดี

ที่นี้การจะหยุดตอนไหน จะเขียน landmark ตอนไหน ก็เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้แผนที่นั้นๆมีประสิทธิภาพมากเพียงไรด้วย ถ้าเขียนเสียถี่ยิบไปหมด ทุกๆฝีก้าว เราก็จะบีบคั้นคนเดินทางจริงไม่ให้มีทางเลือกไปไหนเลย เรียกว่าหลุดไปนิดเดียว ก็แทบจะใช้แผนที่นี้ไม่ได้เสียแล้ว ในความเป็นจริง แผนที่ที่ดีนั้น จะให้​ "เป้าหมายหลัก" ใหญ่ๆไว้ บอกทางที่คนทำแผนที่เคยใช้ เคยทำ แต่ก็ตระหนักว่า ที่แท้จริงแล้ว อาจจะมีหนทางอื่นๆอยู่ด้วย ที่สามารถนำพาไปถึงเป้าหมายหลักนี้ได้เหมือนกัน (เผลอๆ อาจจะเร็วกว่าด้วย) จะเห็นว่า "ทางลัด" นั้น เกิดตามหลัง "ทางหลัก" เสมอ เพราะการที่คนเดินทางทีหลัง สามารถไว้วางใจใน landmark หลักๆ ก็จะเกิดความมั่นใจที่จะ explore สำรวจ จนกระทั่งคนเดินทางทุกคน สามารถ "มีส่วนในการเติมเต็มให้แผนที่ได้" เกิดเป็นแผนที่ที่สมบูรณ์มากขึ้นทุกขณะ ไม่ใช่เป็นแผนที่ที่มีแค่หนทางเดียว

 ตามหลักของแผนที่ ไม่เพียงแต่เราเห็น landmark เห็น "เป้าหมาย" แต่เรายังบอก "ความสัมพันธ์" ของสิ่งแวดล้อมไปด้วย และสิ่งแวดล้อมนี้ มี sense ของ "การเดินทาง (Journey)" แฝงอยู่ แผนที่จะไม่ใช้กับอะไรที่ static ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะอยู่ในบริบทของการเดินทาง การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างจุด A ไปยังจุด B ว่าเป็นทางเดินราบเรียบ ปีนเขา ข้ามน้ำ หรือมีพายุ มีน้ำตก มีภยันอันตรายอะไรอยู่บ้าง คงจะไม่มีประโยชน์ที่จะเขียนลงไปในแผนที่ว่า ก่อนไปถึงจุด B ต้องหยุดกินข้าว หยุดร้องเพลง หรือขับถ่ายกี่ครั้งๆ แต่จะมีประโยชน์มากกว่าหากกำหนดไว้ในแผนที่ว่า จะมาถึงตรงนี้ ต้องสามารถปีนเขาได้ ต้องว่ายน้ำเป็น ต้องมียากันมาเลเรีย ต้องมีภูมิคุ้มกันไข้เหลือง หรือต้องพูดภาษาปกากญอได้ เป็นต้น ดังนั้นการบ่งบอก "สมรรถภาพที่จำเป็นในการเดินทาง" ก็จะช่วยผู้เดินทางให้ตระเตรียมตัวได้ดีขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #map#mapping#meanings#outcome mapping
หมายเลขบันทึก: 198286เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2008 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อ่านๆ ไป ก็คิดไปเรื่อย เพราะอาตมาก็นักเดินทางมาตลอด... แต่พอใกล้จบบันทึกก็นึกถึงธรรมจักกัปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรก (อาจารย์หมอคงทราบ จึงผ่าน...)

พระพุทธเจ้าตรัสสอนครั้งแรกก็ทรงกำหนดแผนที่เช่นเดียวกัน คือ ต้องเป็นทางสายกลาง และอย่าไปข้องแวะริมขอบของทางทั้งซ้ายและขวา... (ประเด็นนี้ อาจารย์หมอก็คงจะทราบ... ผ่าน...)

สรุปว่า พระพุทธเจ้าทรงเดินทางผ่านทางนั้นไปถึงจุดหมายแล้ว เมื่อจะทรงตรัสบอกให้ผู้อื่นเดินทางไป ก็ทรงกำหนดแผนที่เบื้องต้นก่อน... ประมาณนี้

คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน...

เจริญพร

นมัสการหลวงพี่ชัยวุธครับ

ขอบพระคุณครับ พระพุทธเจ้าท่านทรงเขียนทั้งแผนที่ และกำหนด performance ตั้งแต่ระดับฆราวาส อุบาสกอุบาสิกา เณร พระ ชี ภิกษุณี จนไปถึงอรหันต์ ชี้แนะทั้งกับดัก ทางออก มอบเข็มทิศ เสบียงกรัง และเหนืออื่นใดคือ กำลังใจ เจตจำนง ไว้อย่างครบครัน เป็น outcome mapping ทางจิตวิญญาณ แผนที่แรกของโลกก็ว่าได้กระมัง

outcome mapping แผนที่ผลลัพธ์ ทำให้คิดถึง

Success is a journey..not destination....

แต่ เดินอย่างไรให้ถึงจุดหมาย ตรงที่สุด เร็วที่สุด ถูกต้องที่สุด

การทำ แผนที่จึงจำเป็น ในการเดินทาง แผนที่ควรประกอบด้วย

กิจกรรม (สิ่งที่ต้องทำ ) ตัววัด (หลัก กิโล)และ เป้าหมายสุดท้ายที่จะไป

ผมเขียนบันทึกอะไรคล้ายๆ แผนที่ผลลัพธ์เหมือนกัน ลองอ่านครับ

http://gotoknow.org/blog/productionmgt/187057

สวัสดีครับคุณขจรศักดิ์

ถ้า journey เป็น success เราต้องรีบ enjoy the success หรือ enjoy our life สินะครับ เดินเร็วเกินไปอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตชื่นชม journey ที่ว่านี้ไหมครับ เอาเป็นว่าเดินพอดีๆ ไม่ช้า ไม่เร็ว เมื่อถึงปลายทางเราจะได้พอจะจำอะไรไปเล่าให้ลูกหลานต่อว่าพ่อ พี่ ลุง อา มีที่มามาจากไหน มาอย่างไร เป็นนิทานรอบกองไฟไงครับ

journey ไม่ได้เป็น success ซะทีเดียวครับ แต่ เป็นตัวก้าวไปสู่มัน หากไม่เดินทาง ก็ย่อมไม่ได้เก็บเกี่ยวทั้งประสบการณ์และความสุข รวมทั้ง ความสำเร็จด้วยครับ จะเดินช้าหรือเร็ว ตามแต่ความเร่งด่วน หากชีวิตไม่เร่งด่วน ก็เป็นความสุขที่น่าอยู่กับมัน บางคนเดินเร็วไปหกล้มได้ครับ

ขอบคุณครับ ที่ช่วยให้ข้อคิดครับ

สวัสดีครับคุณขจรศักดิ์

อา... ผมสลับสับสนระหว่างการเขียนแผนกับอีกเรื่องนึง พอดีไปคุยกันเรื่อง spirituality หรือจิตวิญญาณ มีตอนหนึ่งที่มีการพูดคุยกันและออกมาคล้ายๆว่า การที่เราได้อยู่บน "มรรคา" หรือ "วิถี" แล้วนั้น ก็พอจะนับว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ส่วนจะถึงหรือไม่ถึง เราไม่ต้องคาดหวัง เพียงรอให้บารมีบำเพ็ญเพียงพอ มันก็จะถึงของมันไปเอง

การเดินทาง หรือการทำงานนั้น ท่านพุทธทาสท่านบอกว่าเป็นปฏิบัติธรรม หรืองานก็คือธรรมะ สำหรับผมแล้วสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไรชอบกล (ยังไม่ชัดมากเหมือนกันครับ) แต่บางทีถ้าเราเกิดความสงบสันติ มีความน่ิง ความภาคภูมิ ในการทำงาน ก็คล้ายๆกับเรา "ได้" ไปถึงอะไรบางอย่างแล้ว ไม่ว่าผลัพธ์จะเป็นเช่นไร

น่าสนทนาต่อนะครับ เรื่องนี้ :)

Map ของ พระพุทธเจ้า น่าจะตรงไปสู่ใจกลางของจิตเดิมแท้ก่อน จากนั้น ย้อนมา ชื่นชม สิ่งรอบตัว แบบ "จุ่มแต่ไม่เปียก" "สมมติครบถ้วน วิมุติงอกงาม"

Journey into center of your own heart

ทรงบอกแผนที่ทั้งชัดๆ ปริยัติ อภิธรรม และ ทรงบอกอย่าง เอาแต่หลักๆไปปฏิบัติ ไม่ผูกมัด เป็นการบอกแบบ Chaos คนไม่เข้าใจนึกว่ามั่ว แต่ จริงๆแล้วชัดแจ้ง สำหรับผู้เข้าถึง

ความงอกงามก็กำลังสติ ที่เข้าไปรู้ทันขันธ์ ๕ เป็น outcome เป็นเชิงวิมุติ และ งานประจำ ในหน้าที่ เป็น output ที่ขาดไม่ได้

ตาม อ.วรภัทร์มาอ่านค่ะ

 

 

เรียน อ.Phoenix ค่ะ

  • ดิฉันเริ่มจากนำทางให้ทีมงานทราบถึงปัญหาเดิมของพวกเราว่า...เราทำงานคุณภาพด้วยกัน  เราพัฒนางานของเราในกลุ่มย่อยๆของเรา  รวมๆกันเป็นงานพัฒนาวิสัญญี  แต่โอกาสที่เราจะนำปัญหาที่เป็นรอยต่อของกลุ่มงานมาพูดคุยกันนั้นมีน้อยครั้ง  และมีหลายงานที่จัดกิจกรรมคุณภาพแต่ไม่เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลง  ดิฉันจึงพยายามวัดผลลัพธ์พึงประสงค์ในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงาน(ว่าตามทฤษฎีจากตำรา)....น้องๆในทีมงานดีใจที่เรามีความพยายามจะให้เห็นความมานะของกลุ่มที่พัฒนากลยุทธ์อยู่เสมอ  (เพราะไม่งั้นเขารู้สึกเสียใจที่ผลลัพธ์ไม่ดี)...
  • ...แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า...  ตรงผลลัพธ์พึงประสงค์ของแต่ละกลุ่มเนี่ยค่ะ...จะทำยังไงดีคะ...วัดเป็นพฤติกรรมเลยมั้ย วัดยังไงดีคะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

เรียนเพิ่มเติมค่ะ

...ประเด็นปัญหาเดิมเริ่มจาก

1. การที่เกิด gap ระหว่างกลุ่มงานย่อย,

2. โครงการและตัวชี้วัดแต่ละกลุ่มไม่ได้นำมาพิจารณาร่วมกัน,

3. โครงการขาดความสมดุลกับยุทธศาสตร์(ประมาณว่าโครงการได้เกิดมาแล้ว...จะตัดทิ้งกลางทางก็สงสารคนเขียน  แถมทางงานวางแผนของคณะฯอนุมัติแล้วด้วยค่ะ ก็เลยต้องให้ดำเนินการต่อ)

4...5...6...(ถ้านึกไปเรื่อยๆก็มีอีกค่ะ)

...ตอนนี้ต้องการให้เห็นรูปธรรมของผลลัพธ์การดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพเดิมที่เคยทำมาและจะได้วางแผนจะทำต่อน่ะค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท