ความกลัว…เมื่อข้าพเจ้าเฉียดความตาย


ความตาย

         ความตายคืออะไร? อะไรคือความตาย? ตายแล้วกลับมาเล่าเรื่องได้ไหม? เมื่อใกล้จะตายแล้วน่ากลัวไหม? เรากลัวความตายไหม? บางคนอาจจะกลัวตาย บางคนอาจจะไม่กลัวตาย แต่กลัวผลที่เกี่ยวข้องกับการตาย

         ข้าพเจ้าได้ไปบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทยเป็นประจำ เรื่อยมา และครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ข้าพเจ้าได้ไปบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทยอีกครั้ง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดที่เป็นแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆหลายคนออกมารับบริจาคโลหิต ณ ที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ข้าพเจ้าได้ลงทะเบียน ตรวจเช็คร่างกายตามขั้นตอน แล้วก็ไปนั่งรอเตียง ในวันนั้นจะมีผู้มาบริจาคโลหิตน้อยกว่าทุกครั้ง อาจมีสาเหตุมาจากเป็นช่วงฤดูทำนาของเกษตรกรก็เป็นได้ ในขณะนั่งรออยู่นั้นข้าพเจ้าก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งที่บริจาคโลหิตก่อนหน้า เป็นลมหน้าซีด ขาว เจ้าหน้าที่และพยาบาลก็รีบเข้ามาช่วยเหลือแล้วให้ไปนอนพักที่เปล ข้าพเจ้าเห็นเหตุการณ์ตลอดแต่ก็ไม่คิดอะไรมาก เพราะข้าพเจ้าเคยผ่านการบริจาคโลหิตบ่อย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เรียกข้าพเจ้าให้ไปนอนเตียงเก่าของนายคนนั้นที่เป็นลมนั่นแหละ ก่อนจะถึงวันบริจาคข้าพเจ้าจะเตรียมตัวมาอย่างดี มีการพักผ่อนนอนแต่หัวค่ำ งดรับประทานยาทุกชนิด รับประทานอาหารให้เพียงพอ เป็นต้น ด้วยสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงจึงไม่ทำให้ข้าพเจ้าวิตกกังวลใดๆ เจ้าหน้าที่ก็เริ่มกระบวนการการรับบริจาคโลหิตตามขั้นตอน ข้าพเจ้าก็นอนทำใจให้สบาย จนเสร็จกระบวนการต่างๆ และก็ขับรถกลับบ้าน เมื่อมาถึงบ้านข้าพเจ้ารับรู้ได้ว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับกายและจิต เหนื่อย อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นมากกว่าทุกๆครั้ง และก็ได้เล่าอาการให้คนรอบข้างฟัง หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ได้พัก 1 วัน พอวันที่ 2,3 ข้าพเจ้าได้ไปทำงานหนัก โดยการยกขอนไม้ใส่รถยนต์กับเพื่อน พอตกกลางคืนข้าพเจ้าก็พักผ่อนนอนหลับตามปกติ โดยเข้านอนเวลา 3 ทุ่ม หลับสนิท พอตกกลางดึก ข้าพเจ้ามีอาการปวดหน้าอกตรงบริเวณหัวใจ ความเจ็บปวดเริ่มมากขึ้นมากขึ้น แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ตื่นจากการหลับใหล เป็นคล้ายกับตกอยู่ในภวังค์ เป็นอยู่ไม่นานนัก ข้าพเจ้าเริ่มมีสติแต่ยังไม่ลืมตาไม่ขยับตัว เพียงแต่สำรวจและพิจารณาตัวเอง ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น? ไม่นานนักข้าพเจ้าก็พิจารณาได้ว่า เรากำลังจะตายแล้วหรือ? การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่ชาวบ้านเรียกว่าไหลตายเป็นเช่นนี้หรือ? ไม่นะ เรายังไม่พร้อมที่จะตาย เรายังมีภาระรับผิดชอบอีกหลายอย่างที่ยังสะสางไม่หมด เราจะตายเดี๋ยวนี้ไม่ได้นะ พอพิจารณาได้ดังนี้ข้าพเจ้าจึงขยับตัวลุกขึ้นนั่ง ดูนาฬิกาเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี จึงเดินออกจากห้องนอนไปนั่งสมาธิทันที ในขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้นความเจ็บปวดที่หน้าอก ที่หัวใจก็ยังมีความเจ็บปวดอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก ในใจนึกว่าแม้นตายก็จะนั่งพิจารณาดูว่าเราตายอย่างไร? พอเวลาผ่านไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมงอาการเจ็บปวดทุเลาลงแต่ยังไม่หาย ข้าพเจ้าก็เจริญสติพิจารณากายกับจิตตัวเองต่อ ดูจิตซิว่าในขณะที่ใกล้จะตายเป็นเช่นไร? แต่การพิจารณาก็ไม่กระจ่างมากนัก พอหลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงเข้านอนต่อก็หลับไม่สนิทนักจนถึงรุ่งเช้า อาการเป็นปกติ พอถึงตอนบ่าย ข้าพเจ้านั่งฟังบรรยายสรุปผลงานกับเพื่อนร่วมงานหลายคน อาการแบบเมื่อคืนเริ่มเป็นกับข้าพเจ้าอีกแล้ว เจ็บปวดบริเวณหัวใจ เจ็บปวดมาก หูได้ยินเสียงการพูดบรรยายแว่วๆ สับสน ไม่สามารถจับประเด็นได้ ความคิดสับสน เหงื่อออกตามใบหน้า ร่างกายทั้งๆที่ยังเปิดพัดลมอยู่ พิจารณาทบทวนหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง เหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สันนิษฐานว่า อาการที่เกิดขึ้นนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการบริจาคโลหิต ทุกครั้งเจ้าหน้าที่จะเอาโลหิต 300 ซีซี หรือ 500 ซีซี ในครั้งนี้ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เจ้าหน้าที่คงจะเอามาก เหตุผลประกอบ 2 ข้อ คือ 1)คนมาบริจาคน้อย และ 2)คนบริจาคก่อนหน้าเป็นลมหน้าซีด และด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้เลือดที่อยู่ในร่างกายมีน้อย กระบวนการฟอกเลือดดำที่ปอดและสูบฉีดเลือดแดงที่หัวใจผิดระบบไป อ๋อมันเป็นเช่นนี้เองเรากำลังจะตายเพราะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเช่นนี้เอง หรือเราจะไม่ยอมตาย หรือเราจะเรียกให้คนอื่นพาเราไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ข้าพเจ้าพยายามทำสมาธิ สักพักประมาณครึ่งชั่วโมงอาการต่างๆได้ทุเลา พอถึงเย็นก็ยังไม่หายดีนัก แล้วข้าพเจ้าก็กลับบ้าน เหตุการณ์ผ่านมาได้ 5 วันแล้ว ขณะนี้อยู่ในระยะเฝ้าสังเกตอาการ

         จากเหตุการณ์ข้างต้นจึงนำไปสู่คำถาม? เรากลัวความตายหรือไม่? หรือเรากลัวการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก หรือเรายังติดในสายโซ่ที่ร้อยรัด ทั้งมือ เท้า และคอ อะไรคือบ่วง ห่วงอะไร ห่วงบิดามารดา สามีภริยา หรือบุตร หรือเราห่วงทรัพย์สมบัติที่มี หรือห่วงเกียรติยศชื่อเสียง ห่วงความรู้ความสามารถ แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะคนที่ไม่อยากตาย กลัวความตายเพราะเป็นห่วงตัวเอง ติดใจในความสุขในโลกีย์ ติดในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หากตายแล้วกลัวจะไม่ได้เสพสุข หรือเมื่อตายไปแล้วมีหนี้สินล้นพ้น คนที่อยู่ข้างหลังจะลำบาก และเขาจะติฉินนินทาแม้ตายไปแล้วจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้ แท้จริงแล้วเรายังยึดความเป็นอัตตาของเรา เรายังคลาย ยังปล่อยวางความเป็นอัตตามิได้ การหมั่นพิจารณามรณัสสติแล้วน้อมลงสู่ไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ จะทำให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตา สรรพสิ่งเป็นเพียงสมมุติบัญญัติเท่านั้น คน สัตว์ บุคคล เรา เขา บุตร ภริยา สามี บิดามารดา ทรัพย์สมบัติ ตำแหน่งหน้าที่ การงาน ล้วนแล้วแต่เป็นสมมุติบัญญัติเท่านั้นจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 198257เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2008 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาเยี่ยม คุณร่มไม้ใหญ่ใกล้ทา

คงเป็นการเตือนของร่างกายรึเปล่าละครับ

เอาใจช่วยนะครับ

ขอบคุณครับคุณยูมิที่มาเยี่ยม

  • เกิด แก่ เจ็บ แล้ว ตาย
  • เป็นสัจจธรรม

ขอบคุณ นายประจักษ์ และคุณ My Corner นะครับ

ที่ได้มาให้กำลังใจ...ขอบคุณมากครับ

  • สวัสดีครับ ร่มไม้ใหญ่ใกล้ทาง ขอบคุณมากที่แวะไปหา
  • จะหนักหนาสาหัสอย่างไรก็เถอะ ยังพอจะหากุศโลบาย ปลง วาง ละ ทิ้ง มันได้
  • แต่... อัตตา นี่ซิ
  • ขอเชิญท่านทนันนั่งพักให้หายเหนื่อยแล้วเดินจากอัตตาไปอย่างไม่ใยดีเถิด (ยกคำท่านมา)
  • ผมเหนื่อยกับมันมากเอาการ และบางครั้งก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย จริงๆ...
  • แถมยังรู้สึกว่า มันเล่นงานผมอยู่เนื่อง ๆ
  • แต่หากเราค้นพบส่วนปลีกย่อยที่มันรวมเข้ามาเป็นอัตตาได้
  • และปลง วาง ละ ทิ้ง ส่วนย่อยนั้นไปทีละส่วน ๆ ก็เห็นว่า น่าจะเบาสบายไปทีละน้อย ๆ เช่นกัน
  • "เรา" มาเริ่มกันเดี๋ยวนี้เถอะท่านร่มไม้ใหญ่ใกล้ทาง

ขอบคุณครับท่านทนันสำหรับคำแนะนำและคำเชิญชวนในการ ปลง วาง ละ ทิ้ง

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของพุทธบริษัทจริงๆ

  • สวัสดีค่ะ ภาวะใกล้ตาย ทรมานค่ะ....
  • เพราะทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้เอง....

มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว   พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ   หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ  รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้    จึ่งพ้นสงสาร

มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว  พันคอเลี้ยวเกี่ยวไว้หนอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ  หน่วงดึงไว้ให้ล้มกอง
ภรรยาเยี่ยงบ่วงขัด   ผูกรึงรัดมัดมือสอง
สามบ่วงใครพ้นจอง  นิพพานโน้นพ้นบ่วงมาร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท