ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้ ตอนที่ 1


สิ่งที่ผู้เขียนสะดุด คือ พนักงานมีปฏิกิริยาค่อนข้างก้าวร้าว ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วผู้เขียนเข้าใจว่า พวกเขามีความใส จริงใจตามลักษณะชนบททั่วไป

ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้  แบ่งเป็น  3  ตอน

ตอนที่ 1

         สิ่งที่จะนำเสนอต่อไป แทนการขอบคุณองค์กร ที่เปิดโอกาสให้ผู้เขียน ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้  อดีตมุมนี้กลายเป็นอีกเรื่องเล่าหนึ่งของผู้เขียน...

         โจทย์ที่กำหนดไว้คร่าวๆในใจผู้เขียน  หลังจากรับทราบนโยบายจากฝ่ายบริหาร  ที่ให้ความสำคัญกับคน และเน้นการบริหารแบบมีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน มีระบบระเบียบ  คือ  การสร้างระบบด้านบุคลากร  ลำดับงานแรกที่ต้องทำ คือ รับรู้ข้อมูลภาคพนักงาน  ผู้เขียนพบว่า  หวังที่ฝ่ายบริหารตั้งไว้ไม่ง่ายเสียแล้ว   เมื่อพนักงานบางกลุ่มแสดงอาการเงียบ  และบางกลุ่มบอกกล่าวถึงปัญหาคับใจแก่ผู้เขียน    สิ่งที่ผู้เขียนสะดุด  คือ พนักงานมีปฏิกิริยาค่อนข้างก้าวร้าว  ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วผู้เขียนเข้าใจว่า พวกเขามีความใส จริงใจตามลักษณะชนบททั่วไป

         ต่อมาผู้เขียนได้สัมผัสองค์กรด้วยการเดินไปกับปัญหาที่เขากำลังเผชิญทุกรูปแบบ   เราจะไม่ใช่นางเอกหรือคนดีตลอดกาล (นี่คือ สัจจธรรมหนึ่ง) ในสายตาของพนักงานเกือบทั้งหมด แม้ผลของงานนั้นมุ่งจะช่วยพวกเขา(องค์กร)ตามที่เรียกร้อง แต่วันนี้เขามิมีวันจะเข้าใจ   ในขณะนั้น ผู้เขียนเพียงรู้ว่าตัวเองมีความตั้งใจที่มิได้ผิดคุณธรรมจริยธรรมก็เพียงพอ ทั้งต้องรักษาจุดยืนของการเป็น HR ในองค์กรหนึ่ง   และมีคนมีฝีมือที่มีคุณธรรมเพียงสักหนึ่งคนยอมรับก็เพียงพอ  เพราะเขามีพลังที่จะสื่อสารกับอีก 10 คนได้   ผู้เขียนต้องใช้ความกล้า  ต้องใช้ภาวะผู้นำ ยืนหยัดในการทำงาน  ระยะเวลาที่ผ่านไปทำให้ผู้เขียนสามรถรวบรวมข้อมูล ได้ครบถ้วนทุกภาคส่วน ผู้เขียนต้องการทราบว่า ต้องใช้วิธีใด?  จึงจะรวมวัฒนธรรมในองค์กรนี้ได้

         ผู้เขียนเป็นตัวละคร ...ผู้หญิงกรุงเทพฯ ที่ต้องหาวิธีทำงานในพื้นดิน งานโครงการฯ   เพื่อนร่วมงานเป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด  มีผู้หญิงเพียงแม่บ้าน และเจ้าหน้าที่บัญชี    ดูคล้ายทุกคนทุกตำแหน่งเขามีจุดลงตัว  ยกเว้นผู้เขียนที่โดดเดี่ยว หรือสันโดษ ก็ไม่รู้ได้    ถ้าพลาดเรื่องการวางตัว  ผู้เขียนจะต้องตกเป็นเหยื่อทางจริยธรรม  ผู้เขียนต้องเลือกทางเสี่ยงด้วยการถกเถียงกับเจ้านายในความเห็นเรื่องงานแบบระบบตะวันตก เพื่อหาจุดยืนให้กับตนเอง      ผู้เขียนได้แต่มองพนักงาน แต่ไม่สามารถเจรจาพาทีได้มากนัก (ใช้รูปแบบการสื่อสารประสานงานแบบที่เคยทำในองค์กรอื่นๆ)   เนื่องจากองค์กรยัง hold เรื่องการประกาศโครงสร้างองค์กร ที่เป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรทั่วไป (แต่ผู้เขียนกลับพบมุมที่ดีตรงนี้ในภายหลังว่าเอื้อต่อสังคมการเรียนรู้ของบุคลากรได้เป็นอย่างดี)   พนักงานจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเท่าเทียม และค่อนข้างมีความกลัวและหวาดระแวงอยู่เสมอ (ต้องรักษาให้หาย)   

         ในระยะเวลาหนึ่ง  ผู้เขียนและพนักงานก็พบว่า องค์กรต้องรอทุนเพื่อดำเนินการผลิต  เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องคิดงานด้านบุคลากรเสนอ  บนพื้นฐานของการทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรเท่าที่ความสามารถของตนจะพึงมี  ด้วยการหยิบฉวยเอาสิ่งที่มีรอบตัว  เอามาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่องค์กร  สิ่งหนึ่งที่ประทับใจ คือ พนักงานรับทราบและเข้าใจที่จะรอคอย    ถ้าเราจะตั้งคำถามว่า ทำไมคนไม่มุ่งไปที่งาน?  คำตอบ คือ ไม่มีงาน  แล้วคนจะทำอะไร?  หรือจะทำอะไรกับคน?  เป็นเหตุผลที่ผู้เขียนหันเหไปสนใจ เรื่องการพัฒนาบุคลากร เพื่อหาเรื่องให้เขาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถ้าพนักงานเขาจะมองเป็น  "การพัฒนาตนเอง"

         เมื่องานประจำด้านบุคลากร ได้แก่ สถิติการทำงาน  งานค่าจ้าง แล้วเสร็จ   ท่านจะทำอะไร? ถ้าโจทย์ คือ  พนักงานมาทำงาน แต่การทำงานของเขา คือ การรอคอยทรัพยากรในการทำงาน   ผู้เขียนคิดว่า เรื่องสำคัญลำดับแรกๆ คือ  ต้องสื่อสาร ความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น และทุกฝ่ายต้องพร้อมเผชิญสถานการณ์จริงเหล่านั้น 

         ข้อมูลที่เป็นคำถามในใจผู้เขียน ต่อเจ้าของ  ผู้เขียนจึงต้องมีวิธีหาคำตอบในเหตุและผลทั้งหมด    เมื่อมองว่า ณ เวลานั้น  องค์กรมีจุดเด่นมากโข ในการพลิกวิกฤติ เป็นโอกาส  เหล่านี้ คือ กำลังใจในการทำงาน และนับว่าต้องใช้ความอดทนมาก

         ผู้เขียนเคยหลงทางจากการเดินทางไปทำงาน จากกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถบัส  รถสองแถว จนถึงรถมอเตอร์ไซด์ในทุ่งนา เป็นเวลา เกิน 2 ชั่วโมง ในช่วงแรกๆของการทำงาน

         ผู้เขียนเตรียมชุดกางเกงทหาร สำหรับตนเอง ซึ่งหาซื้อได้ง่าย ช่วงหลัง วันที่ 19  กันยายน  2549  โดยเลิกใส่กระโปรงชุดทำงานผู้หญิงพร้อมผ้าพันคอ หลังจากหลงทาง

         การให้ของผู้เขียน เริ่มจากให้ไม่เป็น   เนื่องจาก HR จะเตรียมอาหารเครื่องดื่มบริการพนักงานเมื่อมีงานกลางลาน หรือมีการทดลองเดินเครื่องจักร  ทางโรงงานมีกิจกรรมเลี้ยงแบบง่ายๆบ่อย  แต่ผู้เขียนยังไม่พบว่า พนักงานมาร่วมกันถ้วนหน้า    ยกเว้น กรณีเจ้านายจากกรุงเทพฯ เดินทางมาร่วม     เมื่อพนักงานมีงานกลางแดด เขามักจะขอเลี้ยงน้ำจากผู้จัดการฯ  หรือเจ้าของ  ถ้าไม่ให้ตามที่เขาขอ  จะถูกวิพากษ์ว่า เรา คือ คนขี้เหนียว เช่นนั้น หรือไม่?   แต่ผู้เขียนไม่หนีพนักงาน  ผู้เขียนเริ่มให้เงินเขาน้อยลง และต้มน้ำสมุนไพรให้กิน อธิบายเขาให้เข้าใจ ถึงความลำบากของทุกคน ประโยชน์ของการกิน หรือดื่ม  น้ำอัดลมจึงซาลงไปบ้าง ผู้เขียนก็ได้เข้าใจพนักงานเช่นกัน ที่เขาต้องดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง  จึงได้คิดเมนูอาหารที่มีประโยชน์สำหรับวิถีชีวิตของพวกเขา  แต่ยังไม่ได้ทำทั้งหมด  พนักงานเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป  เขารู้จักคิด การเปลี่ยนแปลงสุดท้ายเขาไม่เคยขอเลี้ยงจากผู้เขียนเลย  แต่นำอาหารมาแบ่งปันกัน มีเผื่อแผ่ถึงผู้เขียนด้วย และพนักงานแชร์เงินกันเองถ้าต้องการดื่มน้ำอัดลม หรือซื้อแบ่งกันดื่มทีละน้อย จากที่ผู้เขียน ขี้เหนียว เขี้ยว สุดท้ายเป็นอะไรก็ไม่ทราบได้...

         การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำแผลให้พนักงาน   ผู้เขียนใช้ความรู้จากตอนเด็กๆที่ทำแผลให้พ่อในสวน  และอ่านตำรา ประกอบกับได้เรียนรู้กับเจ้าหน้าที่อนามัย หรือนางพยาบาล ในที่ทำงานเก่า  ผู้เขียนไม่ต้องการให้แผลที่มีเลือดออก เกิดการอักเสบ เพราะโรงงานอยู่ไกลจากโรงพยาบาลประมาณ 10 กิโลเมตร  ผู้เขียนยังมองหาสถานีอนามัยชุมชนใกล้ๆไว้ด้วย โดยไปเยี่ยมเยียนทำความรู้จักในโอกาสที่เหมาะสม   พนักงานปลูกต้นสมุนไพรไว้บ้าง  ดังนั้นถ้าพนักงานทำงานกลางแดดแล้วเป็นไข้หวัด อาจกินสมุนไพรแทนยาแก้ปวด ตามความชอบของเขา  เราจะมียาหลากชนิดที่เอื้ออำนวย และต้องควบคุมสต็อกยาให้ได้  เป็นการจัดการชนิดหนึ่งที่ทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานจะไม่เดือดร้อนและสบายใจได้

         พฤติกรรมทุกอย่างของเรา  ปรากฏแก่สายตาพนักงานให้เขาได้ตัดสินเอง  ผู้เขียนก้าวเข้าไปเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมแบบใหม่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในองค์กร เพื่อเป็นศูนย์รวมชั่วคราว ให้องค์กรทำกิจกรรมรวมใจบางอย่างได้ในระยะเวลาหนึ่ง....

โปรดติดตาม  ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้ ตอนที่ 2

                   ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้ ตอนที่ 3

หมายเลขบันทึก: 198245เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2008 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท