nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

เรื่องน่ารักๆ ของพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ


เราจะได้เห็นความเป็น “ธรรมดา สามัญ” ผ่านเรื่องราวของผู้อยู่ในฐานะอันสูงส่งที่เราสัมผัสไม่ถึง

          ใครที่ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับพระราชวงศ์น่าจะชอบหนังสือ เบื้องหน้าเบื้องหลังบัลลังก์อังกฤษ  เพราะผู้เขียนรวบรวมเกร็ดประวัติศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังให้อ่านง่ายๆ ชวนติดตาม  เจาะลงรายละเอียดก็ตั้งแต่ยุควิกตอเรียนจนถึงควีนอลิซาเบธที่ ๒

          นักอ่านรุ่นหลังๆ จะได้เพลิดเพลิน  ตื่นตะลึงในเรื่องราวเบื้องหลังพระราชวงศ์  เราจะพบว่าแท้จริงแล้วความเป็นกษัตริย์ความเป็นพระราชวงศ์นั้นท่านก็มีความเป็น ปุถุชน  เช่นเราๆ ท่านๆ มีรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เบื้องหลังการกระทำทั้งหลายทั้งปวง   อย่างเช่นการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ ๘ เพื่อหญิงที่พระองค์รัก  เราอาจจะเข้าใจได้ยากว่าคนที่เกิดมาด้วยบุญญาธิการอันสูงส่งเพื่อเป็นกษัตริย์จะยอมทิ้งหน้าที่เพื่อหญิงม่ายที่ผ่านการมีสามีมาแล้ว ๒ คนได้อย่างไรกัน  การตัดสินใจเลือกระหว่าง หน้าที่กับความรัก ไม่ง่ายนัก  โดยเฉพาะหน้าที่ของกษัตริย์  บางคนเห็นใจและเข้าใจ  บางคนชิงชังหญิงอเมริกันคนนั้น  เหมือนที่ฉันเคยรู้สึกในสมัยที่ได้อ่านเรื่องของท่านตอนอายุน้อยๆ   แต่เมื่อได้กลับมาอ่านอีกครั้ง  ก็สามารถเข้าใจได้ด้วยมุมที่ไม่เคยมองมาก่อน

          เราจะได้เห็นความเป็น ธรรมดา สามัญ ผ่านเรื่องราวของผู้อยู่ในฐานะอันสูงส่งที่เราสัมผัสไม่ถึง จากหนังสือเล่มนี้

และทุกครั้งที่ได้อ่านเรื่องของควีนวิกตอเรีย  ก็หลงรักท่านทุกคราวไป  ในความเป็นผู้หญิงที่ เฉลียวฉลาด น่ารัก เป็นผู้หญิง ที่ทั้งอ่อนหวาน และเข้มแข็ง  เป็นทั้งเมีย และแม่ที่แสนดี

เรื่องของท่านถูกเขียนถึงมากและส่วนใหญ่เป็นด้านดีๆ  เป็นเพราะท่านทรงชอบบันทึก  เรื่องส่วนพระองค์ที่คนรุ่นหลังได้รู้ล้วนมาจากสิ่งที่ท่านเล่าไว้เอง  จากบันทึกประจำวันที่ทรงเขียนตลอดพระชนม์ชีพ  กับจดหมายที่ทรงเขียนถึงพระญาติสนิทคือ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ กษัตริย์แห่งเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นลุงแท้ๆ  และที่น่ารักก็คือ จดหมายที่ทรงเขียนถึงกันและกันระหว่างพระองค์ท่านกับพระสวามี  เวลาที่ทรง งอน กัน

ขอเล่าสั้นๆ เรื่องของท่านสักนิดค่ะ

ควีนวิกตอเรียเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานมากถึง ๖๔ ปี  จนใครๆ เรียกรัชสมัยของท่านว่า ยุควิกตอเรียน(เทียบกับสมัยรัชกาลที่ ๓ ของเรา ถึงรัชกาลที่ ๕ ถ้าจำผิดช่วยทักท้วงด้วย)  ตลอดรัชสมัยของท่านอังกฤษมีแต่ความรุ่งเรือง สงบสุข ท่านจึงเป็นกษัตริย์อันเป็นที่รักทั้งของประชาชนอังกฤษและพระราชวงศ์ต่างๆ ทั่วยุโรป 

ถ้านับเฉพาะกษัตริย์ที่เป็นสตรี  ท่านทรงเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษที่สร้างความรุ่งเรื่องให้แก่อังกฤษอีกพระองค์หนึ่งนับจากพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๑  ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อ ๒๗๙ ปี ก่อนพระองค์ (อลิซาเบธที่ ๑ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮ็นรี่ที่ ๘  กับพระนางแอน โบลีน ผู้อื้อฉาว ได้เล่ามาบ้างแล้ว)

จริงๆ แล้วพระองค์อยู่ห่างไกลลำดับการสืบสันตติวงศ์มาก  คือ  ทรงเป็นพระราชธิดาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด  ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ที่ ๕ ของกษัตริย์จอร์ชที่ ๓   ซึ่งพระโอรสของท่านได้ขึ้นครองอังกฤษ ๒ พระองค์คือ จอร์ชที่ ๔ (พระโอรสองค์โต) และ วิลเลียมที่ ๔  (พระโอรสองค์ที่ ๔) กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่มีรัชทายาทเหลืออยู่  เมื่อสิ้นกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ ๔   หากเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชบิดาของท่านยังมีพระชนม์อยู่ก็จะได้เป็นกษัตริย์  เมื่อไม่มีเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด   พระราชธิดาพระองค์เดียวคือ  เจ้าหญิงวิกตอเรียจึงได้เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษสืบแทน

          บันทึกทางประวัติศาสตร์บอกว่า  ท่านทรงทราบว่าเป็นรัชทายาทของอังกฤษเมื่อพระชนม์ ๑๒ ชันษา   พระบิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ท่านอายุ ๘ เดือนเท่านั้น  พระมารดาของท่านคือเจ้าหญิงวิกตัวร์จากแคว้นเล็กๆ ในเยอรมัน เป็นพระมารดาที่เข้มงวดกับลูกมากจนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกร้าวฉาน  และขาดสะบั้นลงเมื่อเจ้าหญิงขึ้นครองราชย์และประกาศไม่ให้พระมารดายุ่งเกี่ยวกับพระองค์อีกต่อไป

          ควีนวิกตอเรียทรงครองราชย์เมื่อพระชนม์ ๑๘ ชันษากับ ๑ เดือน  ผ่านอายุที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการไปพอดี  จึงทรงเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจเต็มในการปกครอง  เมื่อแรกครองราชย์บันทึกของบุคคลต่างๆ มักพูดถึงท่านด้วยความชื่นชม และ คาดไม่ถึง ว่า เจ้าหญิงจะทรงวางพระองค์ได้สง่างาม เชื่อมั่น และเฉลียวฉลาด 

ตลอดพระชนม์ชีพพระองค์ทรงมี ผู้ชาย ที่ ทรงติดแจ หลายคน  นับตั้งแต่ ลอร์ดเมลเบิร์นนายกรัฐมนตรี  วัย ๕๘ ปีเมื่อทรงครองราชย์ใหม่ ลอร์ดเอ็มเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดี  ถวายคำปรึกษาตั้งแต่เรื่องราชการไปจนถึงเรื่องส่วนพระองค์   ท่าน ทรงติดแจ และ เชื่อฟัง ลอร์ดเอ็มทุกเรื่อง  ทรงเล่าเองว่าวันไหนไม่เห็นหน้าจะทรงหงุดหงิดไม่สบอารมณ์ไปทุกเรื่อง  ในบันทึกประจำวันช่วงที่ครองราชย์ใหม่ๆ มีแต่ชื่อลอร์ดเอ็มว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้  ตอนหนึ่งท่านบันทึกว่า เรารู้สึกแย่มากๆ ที่ไม่เห็นลอร์ดเอ็มมาร่วมงาน...

สะท้อนว่าทรงต้องการพึ่งพาทางจิตใจจากชายสูงวัยผู้นี้อย่างมาก    แต่เมื่อทรงพบกับเจ้าชายอัลเบิร์ตนั่นแหละ  ลอร์ดเอ็มจึงค่อยๆ ห่างออกไป

ควีนวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงที่สนิทเสน่หากันอย่างมากตั้งแต่แรกพบหน้ากัน  เสกสมรสใช้ชีวิตร่วมกัน และกระทั่งเจ้าชายสิ้นพระชนม์ไปก่อน  ควีนวิกตอเรียทรงจมอยู่กับความเศร้านานนับปี   และทรงฉลองพระองค์สีดำไปจนตลอดพระชนม์ชีพ  สะท้อนถึงความรักที่ลึกซึ้ง  เราจะไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวความรักของกษัตริย์เช่นนี้มากนัก    ทั้งนี้เพราะการแต่งงานของเจ้าชายเจ้าหญิงในยุคก่อนนั้นเป็นเรื่อง หน้าที่ และการเมือง ล้วนๆ  โดยเฉพาะเจ้าชายเจ้าหญิงที่ขึ้นครองราชย์ยิ่งต้องผ่านความเห็นชอบจาก คนอื่นๆ ยกเว้นเจ้าตัวเอง  (เฮ่อ...น่าสงสารจัง)  พูดได้ว่าจะไม่มีการแต่งงานที่เกิดจากความรักอย่างแท้จริง ยกเว้นคู่นี้

          เจ้าชายอัลเบิร์ต เป็นโอรสองค์ที่ ๒ ของดยุคเออร์เนสต์ เจ้าผู้ครองแคว้นเล็กๆ ชื่อ ซักส์-โคบวร์กและโกธา ของเยอรมัน   ท่านดยุคเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าหญิงวิกตัวร์พระมารดาของควีนวิกตอเรีย  ดังนั้นเจ้าชายอัลเบิร์ตจึงเป็นพระญาติสนิทมีศักดิ์เป็น ลูกพี่   เจ้าชายอายุอ่อนกว่าควีน ๓ เดือน

          เจ้าชายพบเจ้าหญิงครั้งแรกเมื่อพระชนม์ ๑๗ ชันษา  เจ้าชายเขียนบันทึกว่า  พระญาติสาวของเรางดงามน่ารักมาก...   ฝ่ายเจ้าหญิงบันทึกว่า  ชายอัลเบิร์ตเป็นคนดีมาก อ่อนหวาน ฉลาดเฉลียว และหล่อเหลือเกิน...

          อีก ๓ ปีต่อมา ทรงพบกันอีกครั้ง เมื่อเจ้าหญิงเปลี่ยนสถานะเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษไปแล้ว  คราวนี้เป็นการพบกันเพื่อที่ ควีน จะได้ทรง ขอแต่งงาน  กับเจ้าชายที่ทรงรัก  อยากรู้ว่าทรงขอแต่งงานอย่างไรต้องไปอ่านเองค่ะ 

          ทั้งสองพระองค์ครองคู่ด้วยความรัก  มีพระโอรส ๔ พระองค์  พระธิดา ๕ พระองค์     ราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปล้วนมีความเกี่ยวดองเป็นพระญาติสืบจากท่าน  รวมทั้งควีนอลิซาเบธที่ ๒ และเจ้าชายฟิลิป พระสวามี  ทั้ง ๒ พระองค์เป็น ลูกของเหลน ของควีนวิกตอเรียน

          เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไทฟอยด์ เมื่อพระชนม์ ๔๒ ชันษา

          ควีนวิกตอเรียทรงดำรงพระชนม์ชีพต่อมาอย่างเดียวดายเมื่อไร้เจ้าชายผู้เป็นที่รักนานถึง ๔๐ ปี  ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนม์  ๘๒ ชันษา ท่ามกลาง เสียงระงมร่ำไห้ของพสกนิกรชาวอังกฤษ

๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๑

 

อ่านเพิ่มเติมได้จาก

  • เบื้องหน้าเบื้องหลังบัลลังก์อังกฤษ   ดวงใจ เขียน  เคยพิมพ์เป็นตอนๆ ในสกุลไทย  รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ ตุลาคม ๒๕๕๐  ราคา ๓๐๐ บาท  ยังมีขาย
  • อีกเล่ม  ประพันธ์โดย ว.ณ ประมวญมารค  ชื่อ  พระราชินีนาถวิกตอเรีย   พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๒๕๑๒  ผู้ประพันธ์ทรงเขียนเกร็ดชีวิตของควีนเป็นหนังสือนวนิยาย  อ่านสนุก มีรายละเอียดน่ารักมากมายแบบอ่านนิยาย  หาได้ในห้องสมุด

 

หมายเลขบันทึก: 198048เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2008 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เล่าให้ฟังหน่อยสิ ว่าขอแต่งงานยังไง
  • เพราะว่า ไม่มีเวลาไปอ่านนะจ๊ะ
  • คอยอ่านของที่นุ้ยเล่านี่ละ ... ได้อารมณ์เหมือนกัน

หมอนนที่รัก อีกวันสองวันนะ จะกลับไปหยิบหนังสือ ๒ เล่มที่ว่าที่บ้านโน้น แล้วมาเล่าคำต่อคำเชียวละ เล่าปากเปล่าเดี๋ยวจะเพี้ยน เอ ทำไมถึงอยากรู้เฉพาะตอนนี้ล่ะ สังสัยจัง บางทีถ้าไม่เกียจคร้านมาก จะเล่าเกร็ดน่ารักๆ แถมด้วย

  • ดีดี เชียร์ให้ขยันจ้ะ เราจะได้มีความรู้ด้วย
  • เรื่องไหน ดีดี มีความสุข ก็อยากฟังเน๊อะ ... พักใจ คลายเครียดจ้ะ
  • Thank you ล่วงหน้าค่ะ

เล่าเรื่อง “ขอแต่งงาน” ตามที่หมอนนขอไว้นะคะ

วันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ วันสำคัญของควีน เพราะถึงเวลาที่จะทรง “ขอแต่งงาน” กับเจ้าชายในดวงใจของพระองค์เสียที ด้วยเหตุที่ตามประเพณีปฏิบัตินั้นพระราชินีนาถแห่งอังกฤษจะต้องเป็นผู้ขอผู้ชายแต่งงานด้วยพระองค์เอง ฝ่ายชายจะเป็นผู้ขอไม่ได้

ทรงบันทึกไว้ว่า “เราเริ่มพูดกับชายอัลเบิร์ตว่า...พระองค์คงทรงทราบดีว่าเหตุใดหม่อมฉันจึงขอพบพระองค์ในวันนี้ หม่อมฉันดีใจเป็นที่สุดที่พระองค์เสด็จมาตามที่หม่อมฉันทูลเชิญไป และหม่อมฉันจะยิ่งดีใจอย่างหาที่เปรียบมิได้หากพระองค์จะทรงยอมรับว่าจะสมรสกับหม่อมฉัน...” (เบื้องหน้าเบื้องหลังบัลลังก์อังกฤษ , หน้า ๙๕-๙๖)

เป็นการขอแต่งงานที่เป็นทางการยิ่งของพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ เท่าที่เราเคยรู้มา (เพราะยังไม่เคยมีพระองค์ใดเล่าให้เราฟังมาก่อน)

หลังจากเหตุการณ์คืนนั้นผ่านไป ทรงเก็บเป็น “ความลับ” ส่วนพระองค์อย่างมิดชิด จากนั้นไม่นานก็ถึงเวลาที่จะประกาศเป็นทางการ ทรงเรียกประชุมองคมนตรีในวันที่ ๒๓ พ.ย. ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระพักตร์เข้มจัดด้วยความเขินอายอย่างยิ่งต่อคณะองคมนตรีที่เป็นผู้ชายเต็มห้องประชุมว่าจะทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต แห่งซักส์ โคบวก โกธา ทรงบอกเหตุผลของการอภิเษกสมรสว่า เพราะ “มีความสำคัญต่อประเทศชาติและเป็นความสุขส่วนพระองค์ในกาลข้างหน้า”

วันถัดมา ดัชเชสออฟกลอสเตอร์ “สมเด็จอา” เสด็จมาเฝ้าเพื่อแสดงความยินดีและ “เห็นใจ” ที่ “หลานสาว” ของท่านจำต้องประกาศการแต่งงานต่อหน้าองคมนตรีชายล้วนทั้งคณะเช่นนั้น ทรงตอบสมเด็จอาว่า ทรง “ลำบากใจน้อยกว่าตอนขอแต่งงานเสียอีก”

ช่างน่าเห็นใจท่านจริงๆ เล่าแค่นี้ก่อนนะคะ

  • ขอบคุณนะจ๊ะ
  • สงสัยต่อไปว่า แล้วเจ้าชายตอบว่าอย่างไรละค่ะ
  • เวลา Queen ขอแต่งงาน จะปฏิเสธได้มั๊ยเน๊าะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท