ชีวิตที่พอเพียง : ๕๕๖. เป็นโค้ช


 

          เมื่อประมาณ ๔ ปีมาแล้ว   หมอสมศักดิ์กับผมไปทำหน้าที่โค้ช ฝึกวิชาจัดการงานวิจัย ให้แก่ทีมจัดการ R2R ศิริราช    โดยมีการนัดประชุมเป็นระยะๆ ทุกเดือน    หมอสมศักดิ์ไปทุกเดือน   ผมไปบ้างไม่ไปบ้าง แล้วแต่ว่าจัดเวลาได้หรือไม่   ทางทีม R2R ศิริราช เขาประเมินว่า ได้ผลดี


          วันที่ ๒๕ ก.ค. ๕๑ ผมนัดกับทีม RM ของ สวรส. ไปทำหน้าที่โค้ชให้แก่ RM – Research Manager ของ สวรส.   ว่ามีเทคนิคอะไรบ้างในการทำหน้าที่ RM


          เรานัดกันว่าผมจะไม่ไปสอนหรือบรรยาย   แต่จะคุย ลปรร. กันแบบ สุนทรียสนทนา    คือผมไปทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้สมาชิกทีม RM นั่นเองเป็นผู้เล่าและร่วมกันตีความ    ผมก็ร่วมแจมเล่าความหลังแบบคนแก่ เล่าว่าสมัยผมทำงานที่ สกว. ผมทำอย่างไร คิดอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไรในเรื่องที่คุยกันนั้น


          เราเริ่มที่คนอายุน้อยก่อน และเอาความสำเร็จที่ภูมิใจมาวิเคราะห์ตีความกัน ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร    ความสำเร็จ (เล็กๆ) นั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อ สวรส. (และต่อสังคมไทย)    เราจะช่วยกันขยายความสำเร็จนั้น ให้ใหญ่และลึกซึ้งขึ้นอย่างไร    จะสร้าง synergy ระหว่าง RM ของ สวรส. และระหว่าง สวรส. กับภาคีด้วยความสำเร็จ (เล็กๆ) นั้นอย่างไร


          คำอุทานจากผู้เข้าร่วมก็คือ ตนเองยังไม่รู้เรื่องที่เพื่อน RM เล่า ทั้งๆ ที่ทำงานมาด้วยกันนานแล้ว    และตนเอาเรื่องนั้นไปใช้ต่อในงานของตนได้


          เรานัดกันทุกวันศุกร์ปลายเดือน ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ ก.ค. ๕๑
เชียงราย

 


 

คำสำคัญ (Tags): #โค้ช#510725#hsri#สวรส.
หมายเลขบันทึก: 197829เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รายงานการประชุม Coaching RM ครั้งที่ 1/2551

หัวข้อ คุณค่าการทำงาน และเคล็ดลับวิธีการทำงานกับเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2551 เวลา 8.00 – 10.30 น.

ณ ห้องประชุม 2 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข อาคาร 3 ชั้น 5 ตึกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม

1. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มหาวิทยาลัยมหิดล

2. นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

3. นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

4. พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

5. ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

6. ดร.สุวรรณี ละออปักษิณ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

7. พญ.อรพินท์ มุกดาดิลก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

8. นางอลิสา เขตคาม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

9. นางสาวเขมจรีย์ โรจนพรทิพย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

สรุปประเด็นการ Coaching RM

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์โดยให้ RM เล่าถึงคุณค่าความสำเร็จที่ตนภูมิใจเกี่ยวกับการทำงานกับเครือข่าย โดย เมื่อเล่าประสบการณ์เสร็จ และใช้วิธีการAAR ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หลักจากที่ RM ได้เล่าเรื่องของตนเองแล้วจะมีการร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีข้อตกลงในการพูดคุยกัน คือ ไม่มีการกำหนดเวลาที่แต่ละคนพูด การพูดคุยยึด Concept สบายๆ ให้ทุกคนพูดเปิดใจ สิ่งที่ทุกคนพูดไม่มีถูกหรือผิด เพียงแต่ต้องการให้มีการมองต่างมุม และนำมาแลกเปลี่ยนกัน การประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอ success story จำนวน 3 ประเด็น ดังนี้

1. แผนพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยในโรงพยาบาลโดยใช้กระบวนการ Routine to Research

แลกเปลี่ยนนำโดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์

• จากงาน R2R ที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับภาคีที่หลากหลาย เริ่มจากกระบวนการชวนคิดชวนคุย อีกทั้งสวรส. มีความต้องการที่จะขยายชุมชนนักวิจัยระบบสุขภาพ เนื่องจากหานักวิจัยมาทำงานเชิงระบบได้ค่อนข้างจำกัด และคิดหาวิธีด้วยการเริ่มจากนักวิจัย R2R และอาจขยายไปสู่ R2P ซึ่งเป้าหมายหลัก คือกำลังคน หรือจำนวนนักวิจัยเชิงระบบ หากมีผู้สร้างความรู้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพ

• การทำงานเชิงระบบจะต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน กิจกรรม R2R นำไปสู่ความสำเร็จและเชื่อมโยงงานขององค์กรและในขณะเดียวกัน R2R ส่งผลต่องานของภาคีต่างๆที่เข้ามาร่วมงานเพื่อขยายผลไปสู่ระบบสุขภาพ

• สวรส. เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง รวมทั้งได้เครือข่ายใหม่ๆ ดังนั้น R2R เป็นช่องทางในการเปิดประเด็นให้ทุกคนร่วมกันทำ

• การทำให้คนยอมรับในองค์กร คุณภาพของงานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องพยายามสร้างงานวิจัยออกมาให้ได้ผลและสามารถใช้ได้จริง R2R คล้ายงานวิจัยชาวบ้านของสกว. นอกจากได้รู้จักเครือข่ายใหม่ๆแล้วเราต้องเข้าใจเครือข่ายว่าเขาต้องการอะไร

• R2R เป็นช่องทางการปลดปล่อย บุคลากรที่ทำงานในส่วนภูมิภาคมีโครงสร้างแนวดิ่ง ส่วนใหญ่เป็นคนรับคำสั่งเป็นหลัก มีคนคอยคิดให้ตลอด โดยที่เขาเป็นคนทำตามจากคำสั่งของผู้บริหาร บอกให้เขาทำเพื่อสนองนโยบาย เมื่อมีงาน R2R เข้ามา เป็นการบอกให้เขารู้ว่าเขาสามารถคิดเองทำเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีคนมาคอยบอก ปลดปล่อยคนออกจากโครงสร้างในแนวดิ่ง ดังนั้น R2R เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้บุคลากรสาธารณสุขคิดเองทำเองได้เพื่อแก้ปัญหาหน้างานที่เกิดขึ้น

• เวที R2R สำเร็จได้เพราะทุกคนในสวรส.มีส่วนร่วม ด้วยแนวคิดที่ว่าทุกคนอยากมีเวทีเพื่อแสดงผลงาน ทุกคนอยากมีเพื่อน อยากทำกิจกรรมด้วยกัน ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดเวทีดังกล่าวเพื่อที่จะให้ทุกคนที่สวรส.เกี่ยวข้องได้มีโอกาสแสดงตัวตน โดยที่สวรส.จะเป็นเสมือนเพื่อนร่วมทาง หลังจากลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ ก็ได้พบคำพูดหลายๆอย่าง เช่น สวรส.สร้างคนขึ้นมาได้จริงๆ กาวที่เชื่อมไม่ใช่เงิน แต่เป็นความรู้สึกว่าเราเป็นคนกลุ่มเดียวกับเขา

2. แผนงานการพัฒนาระบบดูแลโรคเรื้อรัง

แลกเปลี่ยนนำโดย พญ.อรพินท์ มุกดาดิลก

• งานที่ภูมิใจ คือเขียนแผนยุทธศาสตร์เบาหวานชาติเสร็จ ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเท่าที่ควร ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ก็รู้สึกภูมิใจ ถึงแม้แผนจะไม่ได้ขับเคลื่อนไม่ได้มีการปฎิบัติตามแผน แต่การได้กระตุ้นให้คนที่อยู่ในโครงสร้างของระบบราชการลุกขึ้นมานั่งเขียนแผน ใช้ความรู้และศักยภาพของตนเอง อีกทั้งรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของแผน ในความคิดของตนเองก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว

• จุดที่ภูมิใจคือการให้คุณค่าต่อสิ่งเล็กๆ เราอยู่ในส่วนของการจัดการความรู้ มีการประสานงานให้เกิดการวางแผนร่วมกัน ลักษณะการทำงาน แบบเข้าใจผู้อื่น เข้าไปรู้จักผู้อื่น การที่สามารถชักชวนให้ stakeholder rเข้าร่วมประชุมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแบบหนึ่ง เข้าใจปัญหาเนื่องจากได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

• สิ่งที่ภูมิใจ คือการเกิดแผนขึ้น เมื่อเกิดการวางแผน ย่อมเกิดกระบวนการ 4 P ได้แก่ Plan (มีการวางแผน) Process (มีกระบวนการ) People (ได้ทำความรู้จักคน) Participation (เกิดการมีส่วนร่วม)

• การเขียนแผน โดยแผนที่เขียนไว้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในความสำเร็จภาพใหญ่มีความสำเร็จภาพเล็กอยู่ในนั้นหรือไม่ เช่น เวลาเขียนแผนเริ่มจาก 0 ไปถึง 100 เขียนเสมือนว่าในสิ่งที่เราต้องการไม่มี และเขียนลงไปในแผนให้มันเกิดขึ้น มีแผนจะทำอะไร ให้เอามาแลกเปลี่ยนกัน โดยอาจใช้ R2R มาขับเคลื่อน และสุดท้ายนำจิ๊กซอว์ภาพเล็กมาต่อกันเป็นภาพใหญ่

• แผนเป็นเครื่องมือ เป็นแนวทาง และช่วยให้ทำงานต่อไปได้โดยไม่หลงทาง สามารถประเมินในภาพใหญ่ได้ ความพร้อมไม่ใช่มีไว้รอ ความพร้อมต้องสร้าง ความพร้อมมีหลายระดับ ถ้าพร้อมในระดับหนึ่งก็ลงมือทำได้

• องค์ความรู้เรื่องเบาหวานมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ถูกจัดการ สวรส.ต้องเชื่อมประสานกับเครือข่ายเบาหวานที่มีอยู่และรวบรวมนำไปสู่ภาพใหญ่ในเชิงระบบของประเทศ

3. แผนงานวิจัยระบบสุขภาพในพื้นที่

แลกเปลี่ยนนำโดย ดร.สุวรรณี ละออปักษิณ

• การขับเคลื่อนงาน Area base ความหลากหลายของพื้นที่ ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่างกัน สวรส.ภาค เป็นการจุดประกายในการสร้างคนใหม่ๆ เข้าสู่ระบบสุขภาพชุมชน และเกิดการประสานข้ามสายวิชาชีพ

• Area base เป็นกลไกระดับภาค ที่สวรส.หนุนให้เกิดกลไกระดับพื้นที่ ตอบปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ดังนั้น แผนงาน Area base ควรทำวิจัยภาพใหญ่ของพื้นที่ และเชื่อมโยงสู่ภาพรวมของ สวรส.ต่อไป

• สิ่งที่สวรส.ไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย มีเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเก็บเกี่ยวความรู้ไปด้วยกัน

ปิดประชุมเวลา 10.30 น.

นางสาวเขมจรีย์ โรจนพรทิพย์

ผู้บันทึกรายงานการประชุม

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์

ผู้ตรวจรายงานการประชุม

ได้ความรู้ดีมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท