28.ลักษณะกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum)


ตำรา กล้วยไม้ ออนไลน์

ลักษณะกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum)
ผู้เขียน ได้ทำการสรุปเรื่อง ลักษณะกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum) ไว้ดังนี้คือ
1.เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ แต่ไม่มีลำลูกกล้วย หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า ลำต้นสั้นมากแต่มีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานไปกับพื้น บางชนิดมีลาย คือมีพื้นสีเขียวอ่อนลายสีเขียวเข้ม แต่บางชนิดใบเป็นสีเดียวเรียบๆ ไม่มีลาย
2.รากเป็นระบบรากกึ่งดิน รากจะออกมาเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป
3.ดอกมักออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกเป็นดอกเดี่ยวๆ และออกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมักจะมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบดอกชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกัน และอาจมีขนาดเล็กจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบดอกคู่ในกางออกไปทั้งสองข้างของดอก แต่ถ้ากลีบคู่นี้ยาวอาจห้อยตกลงมาก็ได้
4.เส้าเกสรของรองเท้านารีจะแตกต่างจากกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงกันทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสรแทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นแบนๆ ซึ่งทางพฤษศาสตร์ถือว่าเป็นเกสรตัวผู้ ที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไป ใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า สตามิโนด (Stamenode) สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้ได้มีอยู่ 2 ชุด ซึ่งจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้งสองข้างของเส้าเกสรข้างละหนึ่งชุด เรณูมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกมียอดเกสรตัวเมีย ซึ่งแทนที่จะเป็นแอ่งลึกลงไปในเส้าเกสร เช่นกล้วยไม้อื่น แต่กลับเป็นแผ่นแบนๆ ยื่นออกมา โดยมีก้านสั้นๆ ยึดติดกับเส้าเกสร ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบอุ้มเอาไว้จนมิด
5.ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน หรือซอกหินที่มีใบไม้เน่าเปื่อยทับถมกันมานาน แต่มีบางชนิดจะเกาะอาศัยอยู่ตามตนไม้ กล้วยไม้สกุลนี้เหมาะกับการปลูกประดับกระถางมากกว่าการตัดออกมาใช้งาน
6.มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น รองเท้านารีฝาหอย รองเท้านารีเหลืองปราจีน รองเท้านารีเหลืองตรัง รองเท้านารีดอกขาว รองเท้านารีเมืองกาญจน์ รองเท้านารีอินทนนท์ รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีคางกบ รองเท้านารีม่วงสงขลา รองเท้านารีคางกบคอแดง รองเท้านารีเหลืองเลย รองเท้านารีปีกแมลงปอ รองเท้านารีช่องอ่างทอง เป็นต้น

ชยพร แอคะรัจน์
(รูปภาพ จากหนังสือ กล้วยไม้เมืองไทย โดย รศ.ดร.อบ ไทยทอง)

...

คำสำคัญ (Tags): #กล้วยไม้
หมายเลขบันทึก: 197822เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท