นวัตกรรมอุดมศึกษา : ๕. วิธีเรียน


 

          ที่จริงหนังสือเล่มนี้เขาเขียนสำหรับ นศ. ปริญญาตรีและพ่อแม่   และคำแนะนำที่สำคัญที่สุดคือ ให้หาทางเข้าไปเรียนในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็น Learning Community   สถาบันอุดมศึกษาไทยจึงน่าจะถามตัวเองว่า ตนเองเป็น “ชุมชนเพื่อการเรียนรู้” หรือเปล่า    เป็น “ชุมชนเพื่อการเรียนรู้” ที่ดีหรือเปล่า    เป็น “ชุมชนเพื่อการเรียนรู้” ที่ดีสำหรับนักศึกษาแบบไหน


          เรื่องนี้เข้าใจว่าบรรยากาศใน สรอ. กับในประเทศไทยต่างกันแบบตรงกันข้าม    ใน สรอ. ผู้คนมีวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน ไม่จับกลุ่มกันเรียน    ในขณะที่ในสังคมไทยเราจับกลุ่มกันแน่นแฟ้นมาก    แต่อาจไม่เน้นจับกลุ่มกันเพื่อเรียน แต่เพื่อทำกิจกรรม    สถาบันอุดมศึกษาอเมริกันหลายแห่งจึงจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบให้ นศ. จับกลุ่มกัน   เขาถือเป็นการปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างหนึ่ง    อ่านได้ที่ www.evergreen.edu/washcenter/home.asp


          ทำให้ผมระลึกชาติกลับไปปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ตอนที่ผมเรียนแพทย์ที่ศิริราช ปี ๓ (ตอนนั้นเราถือว่าการเรียนแพทย์มี ๔ ปี นับหลังข้ามฟากไปแล้ว    ตอนเรียนวิทยาศาสตร์ที่จุฬาฯ ๒ ปี  เราไม่นับรวมเข้าไป    เรียกว่าเรียนเตรียมแพทย์)    ซึ่งนับเป็นปีแรกที่ “ขึ้น วอร์ด” ศึกษาจากการร่วมดูแลผู้ป่วย   ที่ วอร์ด อายุรกรรมหญิง ๑ มี นศพ. ประมาณ ๑๐ คน (จำตัวเลขจริงไม่ได้) โดยที่การจับกลุ่มจัดตามตัวอักษรของชื่อ    เราเป็นกลุ่ม ว แหวน    ที่จำได้ก็มี วลี  วิเชียร  วิชัย  วิจารณ์  วีรพงศ์  วีรวิทย์   เราจับกลุ่มกัน ผลัดเปลี่ยนกันเอารายละเอียดของผู้ป่วยของ นศพ. แต่ละคนมานำเสนอต่อเพื่อนในกลุ่ม   พร้อมทั้งทบทวนความรู้สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย    ทำให้การเรียนรู้สนุกมาก และเป็นการผ่อนแรง เพราะเราไม่ต้องอ่านเองทุกเรื่อง   นอกจากนั้นบางทีเราอ่านเองเราตีความหมายผิด    การได้ ลปรร. กับเพื่อนๆ ทำให้เราได้แก้ความเข้าใจผิดได้ด้วย    ผมระลึกชาติวิธีเรียนแบบสร้างชุมชนเพื่อการเรียนรู้เล็กๆ ขึ้นเอง

 
          เรื่องวิธีเรียนนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับมหาวิทยาลัยไทย    ที่เวลานี้บ่นกันว่านักศึกษาจำนวนหนึ่ง (มากขึ้นกว่าเดิมมาก) เข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่เอาใจใส่การเรียน   ไม่ขวนขวาย    ผมมองว่ามหาวิทยาลัยต้องจัดการแนวใหม่ คือจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษารู้จักตัวเอง   เกิดแรงบันดาลใจจากภายใน (inspiration)    แล้วนักศึกษาก็จะขวนขวายเรียนรู้เอง    โดยมหาวิทยาลัยต้องจัดการเรียนรู้ให้สนุก    มีกิจกรรมเยอะๆ  ไม่ใช่เน้นการเล็คเช่อร์ที่น่าเบื่อหน่าย

  
          หนังสือเล่มนี้แนะนำนักศึกษาอเมริกัน ว่ามีสิ่งที่ควรตรวจสอบมหาวิทยาลัยในเรื่อง “สอนดี” อยู่ ๕ ประการ ดังนี้


๑. ขนาดของชั้นเรียน   อย่าหลงเชื่อตัวเลขสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษาที่ดูดี    แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เอาใจใส่การสอน    และมหาวิทยาลัยจัดชั้นสอนที่มีขนาดใหญ่มาก   ชั้นเรียน ๒๕๐ กับ ๒๕ คน มีผลต่างกันมากในเรื่องความเอาใจใส่ของอาจารย์ต่อ นศ. แต่ละคน


๒. เลือกมหาวิทยาลัยที่สอนการวิจัยสำหรับ นศ. ปริญญาตรี    และมีกิจกรรม/โครงการสำหรับ นศ. เรียนเด่น   การได้ทำกิจกรรมวิจัยจะช่วยการเรียนรู้ให้เข้มข้น    การมีกิจกรรมสำหรับ นศ. ที่เรียนเด่นเฉพาะด้าน ที่ฝรั่งเรียกว่า capstone project ช่วยให้ นศ. ได้ลองประยุกต์ใช้ความรู้ที่ตนเรียน ให้ “รู้จริง”


๓. เลือกมหาวิทยาลัยที่มีชั้นเรียนเข้มข้นพิเศษ ที่เรียก honors college   ทำให้ได้เพื่อนที่ตั้งใจมุ่งมั่นเรียน   ชั้นเรียนตั้งมาตรฐานสูง ไม่ใช่แค่สอบผ่าน แต่มุ่งเรียนเลิศ คือ “รู้จริง”

 
๔. เลือกมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรม แนะแนว/ให้คำปรึกษา คุณภาพสูง    ที่ดีที่สุดคือมีตัวอาจารย์เองให้คำปรึกษา   เน้นอาจารย์ในสาขาวิชาเอกของ นศ. ผู้นั้นเอง   ผมมองว่า ถ้ามหาวิทยาลัยใดโฆษณาว่า นศ. จะได้รับ lifetime mentor จากมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นการสร้างชื่อเสียง    โดยที่ mentor นี้เน้นการให้คำปรึกษาเรื่องโอกาส ไม่ใช่เน้นปัญหา    นักศึกษาควรได้รับการกระตุ้นให้ดำเนินชีวิตด้วยโอกาส ไม่ใช่ดำเนินชีวิตอยู่กับการแก้ปัญหา


๕. พิจารณาหลักสูตร ๓ + ๒   ซึ่งหมายถึงเข้าเรียนในวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ๓ ปี  แล้วไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีหลักสูตรวิชาชีพ เช่นวิศวกรรมศาสตร์ ๒ ปี   โดยควรเลือกมหาวิทยาลัยที่มีโครงการสหกิจศึกษา    ในกรณีเช่นนี้ นศ. อาจได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยที่สอง    หรือถ้าจะใหเได้ปริญญาจากทั้ง ๒ มหาวิทยาลัยก็ต้องจ่ายแพงหน่อย


          คำแนะนำที่หนังสือเล่มนี้ให้แก่ นศ. อเมริกันก็คือ   ระวังอย่าเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่ทำให้ตนหลงทางอยู่ในฝูงชน (นศ.) จำนวนมาก    คือยิ่งคนมากยิ่งว้าเหว่และหมดกำลังใจ


          ผมอ่านตอนนี้แล้ว มองเห็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยไทยจะสร้างนวัตกรรมเล็กๆ เพื่อสร้างจุดเด่นในการจัดการเรียนการสอนของตนได้มากมาย

 

หนังสืออ้างอิง : .  Lynn O’Shaugnessy.  The College Solution. A Guide for Everyone Looking for the Right School at the Right Price. FT Press, New Jersey, 2008, pp. 121 – 125.  http://www.thecollegesolution.com/   

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ก.ค. ๕๑

 

             
                                                          
 

 

หมายเลขบันทึก: 196208เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2008 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • จากบันทึกนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำหลายอย่างในกระบวนการเรียนการสอนของผม มาถูกทางแล้ว..อิอิ..
  • ผมขอนำข้อความบางส่วนไปใช้ในการเขียนต่อยอดบันทึกหน่อยนะครับ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ

“ชุมชนเพื่อการเรียนรู้”

ปลุกให้ดู ตัวเรา เจ๋งจริงหรือ

หรือว่าเก่ง การสอน อย่างเลื่องลือ

หรือว่าทื่อ หลับตา ดื้อสอนไป

................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท