จับภาพ โรงเรียนเกษตรกร จ.ปทุมธานี (ตอนที่2)


จุดแข็งของโรงเรียนเกษตรกร จ.ปทุมธานี

                มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง คือ ผู้ใหญ่เทียน โรงเรียนเกษตรกรนี้ แม้ว่าจะถูกก่อตั้งขึ้นจากยุทธศาสตร์จังหวัดและมีเงินทุนสนับสนุน แต่ก็เป็นแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น  หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุน นอกจาก คุณศิริกาญ ที่แวะเวียนมาคอยช่วยเหลือด้านวิชาการบางครั้งบางคราวที่มีการเข้าโรงเรียน  แต่การรวมกลุ่มการเรียนรู้ก็ยังเหนียวแน่น และกลับมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเช่น มีเกษตรกรจาก อ.ธัญญะบุรี มาขอร่วมเรียนรู้ในโรงเรียน (สมาชิกสมทบ)

                ปัจจุบันโรงเรียนเกษตกรอยู่ได้ด้วยใจ ของสมาชิก ที่ต้องการเรียนรู้ และมีความสุข สนุกที่ได้มาเจอกัน แม้ว่าต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมจะมีงบประมาณอาหารกลางวันในวันที่เข้าโรงเรียน หรือมีงบประมาณช่วยเหลือเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ และมีงบประมาณให้เกษตรกรออกไปศึกษาดูงาน ปัจจุบันงบดังกล่าวไม่มีแล้ว แต่สมาชิกยังคงมาพบปะกันในโรงเรียน ด้วยงบประมาณส่วนตัวของ ผู้ใหญ่เทียน

           

ผู้ใหญ่เทียนกล่าวว่า การขยายเครือข่าย ให้มีสมาชิกเกษตรกรในโรงเรียนมากขึ้นนั้น จะไม่เน้นปริมาณ และไม่บังคับให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกผัก แต่จะให้ความสำคัญกับคนที่มีใจอยากจะมาร่วมเรียนรู้จริงๆ ที่ผ่านมาผู้ใหญ่เทียนต้องต่อสู้กับอุปสรรคอย่างมาก เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกบ้า ในสมัยที่นำผักตบในคลองมาทำปุ๋ยหมัก และไม่ย่อท้อต่อคำครหาใดๆ ใครที่ไม่เชื่อ ก็จะทำปุ๋ยแจกให้ลองเอาไปใช้ดู โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กระทั่งคนในชุมชนเริ่มหันมาสนใจกิจกรรมที่ผู้ใหญ่เทียน กำลังพยายามส่งเสริมจึงทำให้มีคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงทยอยเข้าร่วมในโรงเรียนเกษตรกรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันแม้ไม่มีอาหารกลางวันกินร่วมกันแล้ว แต่ทุกคนก็จะหอบหิ้วอาหารกันมาจากบ้านเอง โดยมีผู้ใหญ่เทียนรับผิดชอบค่าน้ำดื่ม
               

                พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

                จากเดิมที่เกษตรกรกรปลูกผักใช้สารเคมีมาก ผลผลิตตกต่ำ กำหนดราคาขายเองไม่ได้  ต้นทุนสูงและต้องจากแรงงาน  แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกันเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรแบบปลอดสาร ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีลงได้ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์(หากแปลงผักไหนแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็จะใช้สารเคมีเป็นทางเลือกสุดท้าย)  เกษตรกรมีความสามารถในการใช้สมุนไพรในการกำจัดศัตรูพืช มีต้นทุนที่ลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถขายผักได้ในราคาสูงกว่าตลาดผักทั่วไป

                ที่สำคัญการรวมกลุ่มการเรียนรู้ทำให้เกิดความสามัคคีกันขึ้นในชุมชน เกิดวัฒนธรรมการเอาแรงกันตามบ้านสมาชิก โดยหากแปลงผักของใครถึงเวลาเก็บผลผลิตก็จะอาสาสมัครกันไปเอาแรงช่วยกัน แทนการจ้างแรงงานทำให้ลดต้นทุน และสร้างความสามัคคีขึ้นในชุมชน

                นายฉัตร หนึ่งในประธานกลุ่ม เล่าว่า  แม้จะเข้ามาร่วม เป็นสมาชิกโรงเรียนเกษตรกรมาเป็นเวลานาน 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังอยากมาเรียนรู้ร่วมกันในแปลงรวมทุกวันศุกร์ เพราะอยากได้ความรู้ และที่ผ่านมาตนก็มีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และก็อยากจะหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป เรื่อยๆ  สิ่งที่ได้มากนอกเหนือจากความรู้ก็คือ ทำให้ชุมชนเกิดความสามัคคี ในอดีตเพื่อนบ้านใกล้เคียงเดินสวนกัน หรือขับรถสวนกันก็ยังไม่พูดกัน ไม่ทักกัน แม้แต่คนในบ้านบางครั้งก็ไม่ค่อยได้คุยกัน แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกันเรียนรู้ในโรงเรียนเกษตรกรแล้ว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือ คนที่เป็นสมาชิกโรงเรียนเกษตรกร เดินผ่านก็ทักทายกัน ถามกันว่าไปไหนมาไปทำอะไรมา อยากรู้ว่าเพื่อนสมาชิกไปทำอะไรมาบ้าง ได้ผลอย่างไรบ้าง หรือ แค่ขับรถผ่านก็จะจอดรถคุยกัน มีเรื่องจะต้องคุยกันมากขึ้น และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทำให้รู้สึกมีเพื่อนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา จากที่เคยมีปัญหาก็เก็บไว้ คิดคนเดียว ทำคนเดียวแก้ไขคนเดียวทำให้ยากและท้อแท้ แต่ปัจจุบันเหมือนมีเพื่อนช่วยคิดเกิดกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

           

ปัจจุบันสมาชิกโรงเรียนเกษตรกร แห่งนี้ พัฒนาตนเอง กระทั่งสามารถเป็นวิทยากรแนะนำความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับโรงเรียนเกษตรกรแห่งอื่นที่ตั้งขึ้นใหม่ได้ดี ไม่แพ้เจ้าหน้าที่เกษตร ซึ่งเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลเอง ก็สนับสนุนให้สมาชิกโรงเรียนเกษตรกรที่นี่มีความสามารถในการเป็นวิทยากร เพื่อให้เกษตรกรสอนกันเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อเวลาที่เจ้าหน้าที่ไม่ว่าง และยิ่งทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 19618เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2006 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท