หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี


ร่างข้อบังคับฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี

--------------------------------------------------------------------------------
ฉบับปรับปรุงตามร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว 03/01/51


ร่าง
ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี
พ.ศ. ....
____________________

     

   โดยที่สมควรให้มีข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี
   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๒) และมาตรา ๒๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พ.ศ. ....  สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการประชุม ครั้งที่ ...   เมื่อวันที่ ..........................        จึงมีมติให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้

   ข้อ ๑  ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. ....”
   ข้อ ๒  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
   ข้อ ๓  ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีเก้าสิบวัน ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อทำหน้าที่สรรหาอธิการบดีตามข้อบังคับนี้
   ข้อ ๔  ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ประกอบด้วย
      (๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ
   (๒) ประธานสภาคณาจารย์
      (๓) นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
      (๔) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทหัวหน้าส่วนงานหนึ่งคน
      (๕) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำหนึ่งคน
      (๖) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์         (๗) ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคน ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยที่มิใช่กรรมการสภามหาวิทยาลัย
      ประธานกรรมการตาม (๑) และกรรมการตาม (๔) และ (๕) ให้มาจากการเลือกในระหว่างกันเองของกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทนั้น
      ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งสภามหาวิทยาลัยเห็นสมควรเป็นเลขานุการ
      ในกรณีที่นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ตาม (๓) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่งตั้งผู้แทนสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์คนหนึ่งซึ่งไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เป็นกรรมการสรรหาอธิการบดีแทน
   ข้อ ๕  กรรมการสรรหาอธิการบดีต้องไม่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
       (๑)  เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
(๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
(๓) เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางการสมรสของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับ หากบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวได้แจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีว่า ตนไม่ประสงค์เข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี
   ข้อ ๖  ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีตามข้อบังคับนี้ ถ้าปรากฏว่ากรรมการสรรหาอธิการบดีตามข้อ ๔ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นกรรมการ
   ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาอธิการบดีใหม่แทนกรรมการสรรหาอธิการบดีที่ว่างลง เว้นแต่ตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แต่งตั้งอุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน หรือตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ ให้รองประธานสภาคณาจารย์ที่มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่แทน แล้วแต่กรณี
   ข้อ ๗  ผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. .... และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยคุณสมบัติอื่นและลักษณะต้องห้ามของอธิการบดี รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี พ.ศ. .... รวมทั้งมีลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้
   ข้อ ๘  วิธีการสรรหาอธิการบดี ให้มีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ดังนี้
      (๑) ให้คณะ สำนักวิชา วิทยาลัย สถาบัน และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ส่วนงานละไม่เกินสามชื่อ  ทั้งนี้ ในกรณีที่ส่วนงานใดมีคณะกรรมการบริหาร ให้คณะกรรมการบริหารของส่วนงานนั้นประชุมเพื่อเสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการบริหารของส่วนงานดังกล่าว
      (๒) ให้สภาคณาจารย์เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่เกินสามชื่อ
      (๓) ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้คนละหนึ่งชื่อ
      (๔) ให้ผู้ซึ่งประสงค์เข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมีสิทธิเสนอชื่อตนเองเข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
   ในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีของส่วนงานตาม (๑) และสภาคณาจารย์ตาม (๒) จะดำเนินการหยั่งเสียงผู้ปฏิบัติงานด้วยก็ได้
   ในการเสนอชื่อตนเองตาม (๔) จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยซึ่งสังกัดส่วนงานต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าห้าส่วนงานและมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนลงลายมือชื่อรับรอง
   ในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีของส่วนงานตาม (๑) สภาคณาจารย์ตาม (๒) และกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม (๓) และการเสนอชื่อตนเองของบุคคลตาม (๔) ให้เสนอชื่อพร้อมข้อมูลประวัติ ผลงานและความเหมาะสมอื่นในเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งความเห็นสนับสนุนว่าเป็นผู้เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง โดยส่งชื่อให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเพื่อพิจารณา
   ข้อ ๙  การพิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีพิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียงหนึ่งชื่อ พร้อมประวัติ ผลงานและความเหมาะสมอื่นในเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งเหตุผลสนับสนุนว่าเป็นผู้เหมาะสม มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยคุณสมบัติอื่นและลักษณะต้องห้ามของอธิการบดี รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี พ.ศ. ... รวมทั้งมีลักษณะพึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้ 
   ข้อ ๑๐  เมื่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีได้พิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามข้อ ๙ แล้ว ให้เสนอชื่อพร้อมนโยบาย ประวัติ ผลงานและความเหมาะสมอื่นในเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งความเห็นต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
   เมื่อสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบกับชื่อใดแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีทาบทามความสมัครใจในการที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี หากผู้นั้นตกลงรับที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
   ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอตามวรรคหนึ่ง หรือผู้ได้รับการทาบทามปฏิเสธที่จะรับดำรงตำแหน่ง ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีดำเนินการกลั่นกรองรายชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งใหม่ตามข้อ ๙ และให้เสนอรายชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งถัดไป
   ข้อ ๑๑  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพิ่มเติมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ และประกาศก่อนดำเนินการสรรหาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
   ข้อ ๑๒  การตีความตามข้อบังคับนี้ หรือการดำเนินการอื่นใดที่ไม่มีระบุไว้ในข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัย และรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบพร้อมกับผลการสรรหาตามข้อ ๑๐
   ข้อ ๑๓  ให้นายกสภามหาวิทยาลัยรักษาการตามข้อบังคับนี้


บทเฉพาะกาล


    ข้อ ๑๓  ในวาระเริ่มแรกของการใช้ข้อบังคับนี้ ในกรณีที่อธิการบดีไม่แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีสิ้นสุดลง ให้สภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ... แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ประกอบด้วย
      (๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิหนี่งคน เป็นประธานกรรมการ
      (๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทหัวหน้าส่วนงานหนึ่งคน
      (๓) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำหนึ่งคน
      (๔) ประธานสภาคณาจารย์
      (๕) นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
      ประธานกรรมการตาม (๑) และกรรมการตาม (๒) และ (๓) ให้แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. .... ประธานสภาคณาจารย์ตาม (๔) ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
      ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเลขานุการคนหนึ่ง และอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้
      ในกรณีที่นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ตาม (๕) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่งตั้งผู้แทนสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์คนหนึ่งซึ่งไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เป็นกรรมการสรรหาอธิการบดี

 

ประกาศ ณ วันที่         พ.ศ. ....


                                                                                      นายกสภามหาวิทยาลัย

 


ลักษณะพึงประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีท้ายข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. ....

ลักษณะพึงประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมีดังนี้
   (๑) มีความคิดริเริ่มและสามารถนำมหาวิทยาลัยไปในทิศทางและนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ดีในอนาคต
   (๒) มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา
   (๓) ยึดมั่นความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคม
   (๔) สามารถบริหารมหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วยสาขาวิชาที่หลากหลายให้ก้าวหน้าอย่างมีดุลยภาพและบูรณการ
   (๕) สามารถติดต่อและประสานงานกับวงการภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชนและต่างประเทศ
   (๖) สามารถเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยไทยในต่างประเทศอย่างสมศักดิ์ศรี


 « แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 09, 2008, 03:59:21 บ่าย โดย @admin »

http://forums.it.chula.ac.th/index.php?PHPSESSID=86c77fa2bbeba3dd7ee3c9bf9ec78aef&topic=166.msg331#msg331

หมายเลขบันทึก: 195857เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท