แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map)


แผนที่ยุทธศาสตร์ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรระดับปฏิบัติการ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเชิงกระบวนการ (Process Innovation) มีจุดกำเนิดจากลิขิตสมดุล(Balanced Scorecard)...แผนที่ยุทธศาสตร์เริ่มต้นจากผลไปหาเหตุ กล่าวคือ เริ่มจากผลลัพธ์ในมุมมองระดับประชาชนก่อน(ความต้องการของประชาชน) จากนั้นจึงพิจารณาในการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ทั้ง 4 ระดับ 4 มุมมอง ให้เชื่อมโยงหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทในการพัฒนาด้วย

         แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map)
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรระดับปฏิบัติการ

มงคล โชตแสง*

           แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ในความหมายของภาคธุรกิจ คือ แผนภาพที่แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ขององค์กร ในรูปแบบของความสัมพันธ์ในเชิงของเหตุและผล (Cause and Effect Relationship) กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ (Outcome) ที่องค์กรปรารถนา ในมุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) ลูกค้า (Customer Perspective) กระบวนการภายใน (Internal Process) และการเรียนรู้และพัฒนาองค์กร (Learning and Growth Perspective) อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ (Kaplan & Norton อ้างใน พสุ เดชะรินทร์, 2548)

          แผนที่ยุทธศาสตร์ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรระดับปฏิบัติการ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเชิงกระบวนการ (Process Innovation) มีจุดกำเนิดจากลิขิตสมดุล(Balanced Scorecard) ของ Professor Robert Kaplan และ Dr. David Norton แต่ได้รับการพัฒนา ดัดแปลง และทดสอบ ก่อนที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาภาคสังคม โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นแผนภาพที่แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ขององค์กร ในรูปแบบของความสัมพันธ์ในเชิงของเหตุและผล ใน 4 มุมมอง 4 ระดับ กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ที่องค์กรปรารถนา ในมุมมองด้านคุณค่า (ระดับประชาชน) มุมมองด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ระดับภาคี) มุมมองด้านการบริหารจัดการ (ระดับกระบวนการ) และมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาองค์กร (ระดับรากฐาน) ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ที่มีความซับซ้อนขององค์กรในภาคสังคม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีโอกาสของความสำเร็จสูงขึ้น (อมร นนทสุต, 2551) จะเห็นได้ว่า แผนที่ยุทธศาสตร์ มีความคล้ายกันกับหลักพระพุทธศาสนาในประเด็นของเหตุและผล หรือ อริยะสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ทุกสิ่งล้วนมีที่มาและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน แต่แผนที่ยุทธศาสตร์จะแตกต่างจากหลักพระพุทธศาสนาในประเด็นที่ว่า อริยสัจ 4 เริ่มจากเหตุไปหาผล ส่วนแผนที่ยุทธศาสตร์เริ่มต้นจากผลไปหาเหตุ กล่าวคือ เริ่มจากผลลัพธ์ในมุมมองระดับประชาชนก่อน(ความต้องการของประชาชน) จากนั้นจึงพิจารณาในการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ทั้ง 4 ระดับ 4 มุมมอง ให้เชื่อมโยงหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทในการพัฒนาด้วย

          แผนที่ยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ แผนยุทธศาสตร์ กล่าวคือ แผนที่ยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่จะใช้บริหารจัดการยุทธศาสตร์ที่ชุมชน ท้องถิ่น หรือองค์กรสร้างขึ้น หรือที่มีอยู่แล้วให้เกิดความสำเร็จ ส่วนแผนยุทธศาสตร์นั้น เป็นการวางแผนเพื่อนำองค์กรไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ ก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่ต้องการในอนาคต เป็นกรอบในการกำหนดทิศทางการพัฒนาขององค์กรให้มุ่งไปสู่สถานการณ์อันพึงประสงค์ได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง (กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน, 2551) อาจจะกล่าวได้ว่า แผนที่ยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามความต้องการขององค์กร

          จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าแผนที่ยุทธศาสตร์สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรระดับปฏิบัติการ เป็นเครื่องมือในกาจัดการแผนยุทธศาสตร์ ที่จะนำพาให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทั้งนี้ยึดความต้องการของประชาชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนาโดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทในการพัฒนาด้วย หากองค์กรใดนำแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ นี้ไปใช้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมหาศาล และนำพาองค์กรและประเทศชาติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

-------------------

*นักวิชาการสาธารณสุข 7 ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านแร่ อ.พังโคน จ.สกลนคร

---------------------------------------------------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

  • กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน. (2551). คู่มือการสร้างและใช้แผนที่ยุทธศาสตร์.
  • กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน. (2551). หลักสูตรนวัตกรรมการจัดการสุขภาพชุมชน:การสร้างและใช้แผนที่ยุทธศาสตร์ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรระดับปฏิบัติการ.

     

  • พสุ เดชะรินทร์ และคณะ. (2548). Strategy Map แผนที่ยุทธศาสตร์. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ ก.พลพิมพ์(1996) จำกัด.
หมายเลขบันทึก: 195235เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ขอเก็บไปเป็นความรู้

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูล ถูกใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท