บทเรียนจากกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร


ปราสาทพระวิหาร

จริง ๆ บทความนี้ผมอ่านเจอใน คม ชัด ลึก อ่านแล้วทำให้มองเห็นภาพรวมของเรื่องนี้ทั้งหมด ส่วนใครจะวิเคราะห์ - สังเคราะห์อย่างไรก็เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละบุคคลตามระบอบประชาธิปไตยน่ะครับ

บทเรียนจากกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

 

บทความชิ้นนี้เป็นการเรียบเรียงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ลำดับเหตุการณ์จนกระทั่งคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่าเหตุใดคำคัดค้านของประเทศไทยจึงไม่เป็นผล "คม ชัด ลึก" เห็นว่าเป็นบทความที่น่าสนใจ ควรแก่การบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ จึงได้นำมาเสนอ

ปราสาทพระวิหารเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่บนยอดเขาพระวิหาร สร้างตามแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จุดสูงสุดของตัวปราสาทอยู่บนยอดเขาด้านทิศใต้ และทอดยาวเป็นแนวตรงไปทางทิศเหนือตามความลาดเอียงของเนินเขาซึ่งค่อยลาดลงสู่พื้นที่ด้านทิศเหนือในฝั่งไทย บันไดที่เป็นทางขึ้นลงหลักมี 159 ขั้น มีขนาดกว้างขึ้นลงได้สะดวก อยู่ด้านเหนือของตัวปราสาทและเชื่อมไปยังชุมชนโบราณที่อยู่บริเวณเชิงเขาด้านทิศเหนือ (ปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดีและจารึกโบราณ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นชุมชนของชาวพื้นเมืองที่เคยเป็นผู้ดูแลปราสาทพระวิหารแห่งนี้) เมื่อพ้นบันไดลงมาในฝั่งไทยมีสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่าสถูปคู่อยู่สองข้างและมีสระน้ำที่เรียกว่าสระตราว ซึ่งนับว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เห็นได้จากการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของฮินดู คือศิวลึงค์และโยนีไว้ตรงปลายแท่นหินที่น้ำจากปราสาทและน้ำจากพื้นที่รอบปราสาทส่วนบนไหลมารวมกันและไหลผ่านศิวลึงค์และโยนีนี้ลงสู่สระตราวเพื่อให้ชุมชนได้ใช้อาบกิน ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปราสาทนี้กับชุมชนโบราณที่อยู่บริเวณเชิงเขาด้านทิศเหนืออย่างชัดแจ้ง ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมของตัวปราสาท บันได สถูป และสระตราว เป็นศิลปะยุคเดียวกันและสร้างเป็นชุดเดียวกัน ตามกฎเกณฑ์ปกติของคณะกรรมการมรดกโลก ถ้าจะมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนพร้อมกันจึงจะได้ชิ้นมรดกโลกที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์

 ปี 2548 กัมพูชาได้ยื่นข้อเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกสู่ยูเนสโก แต่เอกสารยังไม่มีรายละเอียดครบถ้วนตามหลักวิชาของคณะกรรมการมรดกโลก จึงขอให้กัมพูชาปรับปรุงเอกสารในการยื่นขอจดทะเบียนเสียใหม่

 ปี 2549 กัมพูชาได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้ง และได้รับการพิจารณาให้บรรจุเป็นวาระในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ในปี 2550 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช

 ปรากฏว่าแผนที่กัมพูชายื่นประกอบเป็นแผนที่ที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย โดยไม่ได้ปรึกษาหารือหรือขอความร่วมมือใดๆ จากฝ่ายไทยเลย ในปี 2550 ก่อนการประชุมที่ไครสต์เชิร์ช ไทยได้ทักท้วงและเสนอต่อกัมพูชาให้ใช้วิธีขึ้นทะเบียนร่วมกัน โดยรวมโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยด้วยเพื่อให้เป็นชิ้นมรดกโลกที่สมบูรณ์ แต่กัมพูชาไม่ยินยอมที่จะให้ไทยเสนอขึ้นทะเบียนร่วม

 กรกฎาคม 2550 ในการประชุมที่ไครสต์เชิร์ช กัมพูชายื่นเอกสารรายละเอียดประกอบวาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ปรากฏว่ากัมพูชาใช้แผนที่ฉบับเดิมที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทย นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารที่กัมพูชานำเสนอเป็นไปในลักษณะที่บิดเบือนจนผิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านการประเมินครั้งแรกของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อีโคโมส สากล) แล้ว การบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นไปในลักษณะที่จะนำเสนอให้เห็นว่า ปราสาทพระวิหารไม่มีส่วนต่อเนื่องที่สำคัญอยู่ในประเทศไทย เฉพาะส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของกัมพูชาเป็นองค์ประกอบหลักที่สมบูรณ์เพียงพอสำหรับความเป็นปราสาท และมีความสัมพันธ์กับชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชา โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงมากมายหลายประการ เช่น ตัวปราสาทบนยอดเขานั้นสร้างขึ้นก่อน ส่วนบันไดที่ทอดลงมาทิศเหนือสู่พื้นที่ฝั่งไทยสร้างภายหลัง จึงมิใช่ส่วนประกอบที่เป็นชุดเดียวกันตั้งแต่เริ่มแรก บันไดที่ใช้มาก่อนคือบันไดหัก ซึ่งเป็นบันไดด้านข้างทางทิศตะวันออกที่ขึ้นมาจากพื้นที่เชิงเขาที่อยู่ในฝั่งกัมพูชา (บันไดนี้แคบและไม่มีลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นทางขึ้นหลักสู่ปราสาทแต่อย่างใดเลย) สำหรับสระตราวซึ่งนักโบราณคดีถือว่าเป็นบารายของปราสาทนั้นในรายงานระบุว่า เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งๆ ที่สร้างเป็นทำนบหินกั้นน้ำที่ไหลลงมาสู่ลานหินจนกลายเป็นสระน้ำและไม่มีการพูดถึงชุมชนโบราณบนพื้นที่เชิงเขาด้านทิศเหนือเลย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจารึกโบราณกล่าวถึงไว้ชัดแจ้งว่าเป็นชุมชนของชาวพื้นเมืองที่เคยเป็นผู้ดูแลปราสาทพระวิหารนี้ แต่กลับไปกล่าวถึงชุมชนชาวกัมพูชาที่บริเวณข้างปราสาทในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่เป็นชุมชนที่ชาวกัมพูชาเพิ่งย้ายเข้ามาตั้งในเวลาไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา

 ตัวแทนของไทยได้คัดค้านทั้งในเรื่องแผนที่ที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนและเรื่องที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวปราสาท ที่ประชุมยังหาข้อสรุปสุดท้ายไม่ได้ มีมติได้แต่เพียงว่า ทั้งสองประเทศเห็นว่าปราสาทพระวิหารมีคุณค่าสมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และขอให้ทั้งสองประเทศปรึกษาหารือกันเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากประเทศไทย เพื่อให้นำกลับมาเสนอในการประชุมครั้งที่ 32 ในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่เมืองควิเบก

 15-17 สิงหาคม 2550 คณะผู้แทนไทยไปกัมพูชาเพื่อเจรจาในเรื่องนี้ เราได้ชี้แจงว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการขอขึ้นทะเบียน แต่พื้นที่รอบๆ ปราสาทและองค์ประกอบหลายส่วนอยู่ในไทย จึงจำเป็นต้องปรึกษาหารือเพื่อขอยื่นขึ้นทะเบียนร่วมกันหรือหาวิธีอื่นที่จะทำให้มีการขึ้นทะเบียนองค์ประกอบทั้งหมดพร้อมกัน แต่กัมพูชาไม่ยอม

 ปลายปี 2550 กัมพูชาพาเจ้าหน้าที่ของอิโคโมส สากล ไปสำรวจพื้นที่บนเขาพระวิหาร โดยพานั่งเฮลิคอปเตอร์ไปลงบนยอดเขา ไม่ได้พาเดินขึ้นทางบันไดที่เป็นทางขึ้นหลัก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เบลเยียม และอินเดีย ไปสำรวจในครั้งนั้น เพื่อเตรียมทำรายงานแผนบริหารจัดการในพื้นที่รอบปราสาท และเพื่อให้ความเห็นทางวิชาการต่อคณะกรรมการมรดกโลกในสิ่งที่ขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว

 11-13 มกราคม 2551 กัมพูชาร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐ เบลเยียม อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เพื่อให้ช่วยเตรียมการจัดทำรายงานความคืบหน้า โดยประชุมที่เมืองเสียมเรียบ ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมประชุม 2 คน ซึ่งพบว่ายังคงใช้แผนที่แสดงเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทยและกีดกันไทยออกจากการมีส่วนร่วมในแผนบริหารจัดการในพื้นที่ทับซ้อน กล่าวคือให้ไทยนำเสนอแผนบริหารจัดการเฉพาะส่วนที่อยู่ในฝั่งไทย ซึ่งมิใช่พื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น แต่แผนบริหารจัดการในพื้นที่ทับซ้อนนั้นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ช่วยจัดทำให้กัมพูชาโดยไม่ให้ไทยเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนของไทยด้วย นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจากชาติต่างๆ ยังเสนอข้อมูลทางวิชาการที่รับรองการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวปราสาทที่กัมพูชาทำรายงานไว้ให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสได้ใช้จินตนาการระบุว่าการวางผังของปราสาทบนยอดเขานั้นเกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานใกล้เคียงที่อยู่เบื้องล่างในเขตกัมพูชาเป็น Buddhist Geometry โดยให้ความสำคัญกับมุมมองจากที่ราบด้านล่างทางทิศใต้ ย้อนกลับสู่ยอดเขาพระวิหารจากระยะไกลที่สามารถมองเห็นยอดเขาที่อยู่ด้านข้างด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสใช้จินตนาการตีความว่า เห็นเป็นภาพภูเขา 5 ยอด ที่หมายถึง เขาพระสุเมรุ แต่ต่อมาในเอกสารล่าสุดกัมพูชาเปลี่ยนเป็นภูเขา 3 ยอด ที่หมายถึงเทพสูงสุด 3 องค์ของศาสนาฮินดู ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปราสาทพระวิหารเป็นสถานที่บูชาพระศิวะ ไม่ว่าจะเป็น 5 ยอด หรือ 3 ยอด ต่างก็เป็นจินตนาการทั้งสิ้น เพราะบริเวณนั้นคือเทือกเขาพนมดงรักซึ่งมียอดเขามากมายแล้วแต่จะมองว่าเป็นภาพอะไร จินตนาการดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่จะตัดความเชื่อมโยงของปราสาทพระวิหารออกจากทิศเหนือที่มาจากประเทศไทยนั่นเอง

 ตัวแทนของไทยที่เข้าประชุมได้ทักท้วงในประเด็นการใช้แผนที่ที่ล้ำเขตพื้นที่ทับซ้อน และประเด็นที่กีดกันไม่ให้ไทยเข้ามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่ทับซ้อน พร้อมทั้งได้คัดค้านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับตัวปราสาทอย่างรุนแรง แต่เสียงเดียวย่อมแพ้หลายเสียง เจ้าหน้าที่ของไทยจึงประกาศถอนตัวจากการประชุม และในวันที่ 14 มกราคม คณะผู้แทนไทยได้มอบให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ แจ้งต่อที่ประชุมทูตานุทูตของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า ไทยขอถอนตัวจากการทำรายงานดังกล่าวและประท้วงการใช้แผนที่ซึ่งแสดงเส้นเขตแดนล้ำฝั่งไทย

 24 มกราคม 2550 นายวีระชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นำคณะเดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเนสโก เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในการประชุมที่เสียมเรียบ ซึ่งผู้แทนไทยประท้วงและถอนตัว

 วันเดียวกัน สภากลาโหมของไทยประชุมในเรื่องการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชาและมีมติให้ประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ และประณามการกระทำของกัมพูชาที่สร้างหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จและชักชวนประเทศต่างๆ ให้เห็นชอบและช่วยเหลือ

 สถานการณ์ในขณะนั้นเรายังเข้าใจว่ากัมพูชาจะใช้แผนที่เดิมในการยื่นขึ้นทะเบียน ซึ่งมีส่วนทับซ้อนพื้นที่ของไทยอยู่ ถึงอย่างไรก็ต้องได้รับความยินยอมจากเราจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ จึงใช้วิธีประท้วงและแจ้งว่าจะไม่ให้ความร่วมมือ โดยลืมนึกว่ากัมพูชาอาจมีวิธีอื่น

 3-4 มีนาคม สมเด็จฮุน เซน แจ้งต่อนายกสมัครซึ่งไปร่วมประชุมสองฝ่ายที่กัมพูชาว่า กัมพูชายืนยันจะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท คำว่า เฉพาะตัวปราสาท เพิ่งเริ่มปรากฏในครั้งนี้ แต่ฝ่ายไทยยังไม่เฉลียวใจว่ามีการเตรียมการที่จะให้กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่ฝ่ายเดียวได้ และเตรียมการให้คณะกรรมการมรดกโลกอนุมัติได้โดยไม่ผิดหลักเกณฑ์

 25-26 มีนาคม ยูเนสโกเชิญประชุมทำแผนอนุรักษ์และจัดการปราสาทและพื้นที่รอบปราสาท โดยต้องการให้มีการทบทวนและพิจารณาความเห็นของฝ่ายไทย เพื่อผนวกในข้อเสนอสุดท้ายที่จะเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก แต่ไทยไม่ส่งผู้แทนไปด้วย เห็นว่าเพียงไม่ให้การสนับสนุนก็จะสามารถทำให้คณะกรรมการมรดกโลกไม่อนุมัติขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว จึงทำให้พลาดโอกาสที่จะแสดงความเห็นคัดค้านรายงานของผู้เชี่ยวชาญที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะของปราสาทไว้เป็นหลักฐาน ในเอกสารผนวกที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

 29 เมษายน กระทรวงต่างประเทศเผยแพร่ข่าวว่ารัฐมนตรีนพดลจะนำคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมหารือกับกัมพูชาเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่กรุงปารีส ตามคำเชิญของยูเนสโก

 เห็นได้ว่ายูเนสโกออกหน้าในเรื่องนี้มากจนผิดสังเกต รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ที่ชื่อ ฟรานเชสโก คารูโซ ให้เดินทางมาเยือนไทยและกัมพูชาเพื่อประสานงานในเรื่องนี้ในเดือนพฤษภาคมด้วย นายวสุ โปษยานนท์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญไทยที่เข้าร่วมทำงานในเรื่องปราสาทพระวิหารมาโดยตลอด ได้ให้ความเห็นไว้ในเว็บไซต์ว่า "ยูเนสโกที่ควรจะดำรงตนในฐานะกรรมการที่เป็นกลางในกรณีที่มีความขัดแย้งกันของสองประเทศ กลับทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้กัมพูชาที่ผ่านภัยสงครามมาได้มีมรดกโลกใหม่ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวนำรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่ตัวแทนไทยชี้แจงต่อยูเนสโกเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเป็นการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันระหว่างสองประเทศ เจ้าหน้าที่ของยูเนสโกได้ตอบว่า การจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ในโนมิเนชั่น ไฟล์ ที่ได้รับการประเมินเรียบร้อยแล้วไม่สามารถทำได้ นอกจากจะถอนเรื่องไปก่อนแล้วค่อยกลับมาต่อคิวเข้าสู่วาระใหม่ แต่ต่อมาครั้นเมื่อกัมพูชาหลังการประชุมวันที่ 22 พฤษภาคม ขอเปลี่ยนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้เหลือเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า Sacred Site of Preah Vihear Temple เหลือเพียงแค่ Temple of Preah Vihear พร้อมกับขอเปลี่ยนแผนที่ทั้งหมด แม้ว่าเจ้าหน้าที่ยูเนสโกคนหนึ่งที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนมาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทนั้น จะขัดต่อหลักการทางวิชาการ แต่ประธานที่ประชุมซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของยูเนสโกกลับบอกว่า นี่เป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นโพลิทิคัล ดีซิชั่น"

 ตั้งแต่เดือนเมษายน ท่าทีของฝ่ายไทย นำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศได้เปลี่ยนแปลง จากที่เจ้าหน้าที่ประท้วงในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว และยืนยันขอขึ้นทะเบียนร่วมกัน ไปเป็นการให้ความร่วมมือที่จะช่วยให้การขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยหันมาดูแลไม่ให้การขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียวของกัมพูชามีผลกระทบต่ออธิปไตยเหนือพื้นที่ในเขตแดนที่ไทยถือว่าเป็นของเรา

 6 พฤษภาคม 2551 ครม.มีมติให้ย้ายนายวีระชัย พลาศรัย ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย โดยรัฐมนตรีนพดลให้เหตุผลว่า "ม้าแต่ละตัวในกระทรวงมีประสิทธิภาพทั้งสิ้น แต่ต้องการม้าที่วิ่งในลู่ที่จะให้วิ่ง"

 วันเดียวกัน นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้ไปประชุมกับนายสก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และได้ร่วมกันแถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะร่วมมือตามข้อผูกพันในมติของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ที่จะให้กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 32 เดือนกรกฎาคม 2551 โดยฝ่ายกัมพูชายืนยันหนักแน่นว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารครั้งนี้ไม่มีผลกระทบการเจรจาปักปันเขตแดน ซึ่งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมดำเนินการอยู่ การระบุเขตพื้นที่ต่างๆ ในเอกสารที่กัมพูชาเสนอต่อยูเนสโกไม่ถือว่าเป็นเส้นเขตแดนแต่ประการใด

 เห็นได้ว่าเมื่อนโยบายจากรัฐมนตรีเปลี่ยนจากการยืนยันขอยื่นร่วมกันมาเป็นการให้ความร่วมมือ ข้าราชการก็พยายามดูแลไม่ให้มีผลกระทบเขตแดนเท่าที่จะทำได้

 เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่าขึ้นทะเบียน Temple of Preah Vihear โผล่ขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในคำแถลงครั้งนี้ จากเดิมที่ใช้คำว่า Sacred Site of Preah Vihear Temple แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้สังเกตในขณะนั้น ดังจะเห็นได้ว่ายังมุ่งระวังเรื่องเขตแดน เนื่องจากยังเข้าใจว่ากัมพูชาจะยื่นแผนที่เดิมที่เคยเสนอไว้

 22 พฤษภาคม 2551 รัฐมนตรีนพดลร่วมประชุมกับรองนายกสก อัน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของยูเนสโกเข้าร่วมประชุมด้วย ฝ่ายกัมพูชานำเสนอแผนผังใหม่ ลดขอบเขตของปราสาทที่ขอขึ้นทะเบียนลงเพื่อให้ฝ่ายไทยสบายใจว่าไม่กระทบเส้นเขตแดนอย่างแน่นอน โดยจะขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท (Temple of Preah Vihear) เพื่อให้กัมพูชาสามารถเสนอขอขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ เพราะถ้าใช้คำว่า Sacred Site of Preah Vihear ดังที่ระบุในรายงานการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ก็จะไม่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ เนื่องจากคำว่า Site หรือพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่ในฝั่งไทยด้วย ข้อเสนอของกัมพูชาเพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งที่เสนอ 2 ประการนี้ ทำให้ผู้แทนไทยยอมรับที่จะให้การสนับสนุนกัมพูชาในการยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ด้วยสบายใจว่าไม่มีผลกระทบถึงเส้นเขตแดนของไทยจึงได้ทำข้อตกลงเมื่อเสร็จการประชุม ข้อตกลงดังกล่าวถูกส่งไปยังคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชาและข้อตกลงดังกล่าวนี้มีผลลบล้างการประท้วงของไทย หยุดความพยายามขอร่วมขึ้นทะเบียนมรดกโลกของไทยและหยุดการประณามการสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จที่ไทยได้ทำไป เพราะถ้าการประท้วงยังไม่ถูกลบล้างหรือมีความพยายามเป็นอื่นอยู่ก็เท่ากับว่าไทยยังมิได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน (แอ็กทีฟ ซัพพอร์ต) ดังที่ระบุไว้ในรายงานการประชุมครั้งที่ 31

 ต่อมามีการประท้วงและคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีนพดล ทั้งข้อตกลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และแถลงการณ์ลงวันที่ 18 มิถุนายน ในเรื่องนี้ จนในที่สุดศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้นำแถลงการณ์ไปใช้อันมีผลให้คณะกรรมการมรดกโลกไม่นำแถลงการณ์ดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คำถามก็คือทำไมคณะกรรมการมรดกโลกจึงอนุมัติรับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ เมื่อไม่มีแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งแถลงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนอย่างแข็งขันตามความต้องการของคณะกรรมการมรดกโลก คำตอบก็คือ การขอขึ้นทะเบียนที่กัมพูชาขอเปลี่ยนแปลงล่าสุดนี้เป็นการขอขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตแดนของกัมพูชาทั้งสิ้น ตามแนวขอบเขตปราสาทในแผนผังที่เสนอใหม่ซึ่งไม่มีส่วนใดล่วงเกินเขตแดนของไทยหรือล่วงเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนเลย ประกอบกับอิโคโมส สากล ได้รายงานผลการประเมิน (ซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริง) ให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารนั้นไม่มีความเชื่อมโยงกับโบราณวัตถุและพื้นที่ด้านทิศเหนือที่อยู่ในเขตแดนไทย ไม่มีส่วนต่อเนื่องที่สำคัญอยู่ในประเทศไทย ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกอนุมัติรับขึ้นทะเบียนได้โดยไม่ผิดหลักเกณฑ์ สำหรับการสนับสนุนอย่างแข็งขันที่ต้องการจากไทยนั้น ในเอกสารที่กัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ฝ่ายกัมพูชาได้แนบภาพเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมคำบรรยายที่ชี้ให้เห็นว่า ตัวแทนผู้มีอำนาจของไทยได้ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องดังนี้

 1.ภาพนายกฯ สมัคร ไปร่วมประชุมกับนายกฮุน เซน ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 3-4 มีนาคม 2551 พร้อมคำบรรยายว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้ความร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ระบุไว้ก็คือการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

 2.ภาพการประชุมระหว่างรองนายกสก อัน และปลัดวีระศักดิ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 พร้อมข้อความที่แถลงต่อสื่อมวลชนว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้กัมพูชายื่นขึ้นทะเบียน Temple of Preah Vihear อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งที่ 32 ในเดือนกรกฎาคม 2551

 3.ภาพการร่วมพิธีตัดริบบิ้นเพื่อเปิดทางหลวงหมายเลข 48 ของกัมพูชา พร้อมคำบรรยายว่ามีการพบปะกันระหว่างรัฐมนตรีนพดลและรองนายกฯ สก อัน ในงานนี้ ซึ่งในการพบปะนั้นฝ่ายไทยได้ยืนยันที่จะสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา

 4.ภาพการประชุมในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 พร้อมคำบรรยายสรุปของที่ประชุม

 นอกจากนี้ การหยุดประท้วง การชะลอความพยายามขอขึ้นทะเบียนร่วมกัน และการหยุดประณามการก่อสร้างหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ ตั้งแต่รัฐมนตรีนพดลเริ่มเข้ามาควบคุมการเจรจาในเรื่องนี้ เมื่อรวมกับภาพเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้กรรมการเห็นว่าตัวแทนผู้มีอำนาจของไทยได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแล้ว

 แม้รัฐบาลไทยจะขอถอนแถลงการณ์อันเนื่องมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก แต่ก็ไม่ได้แสดงการคัดค้านการขึ้นทะเบียนที่เสนอใหม่นี้เลย แถลงการณ์ 6 พฤษภาคมก็ยังมีผลอยู่และรัฐมนตรีนพดลซึ่งแสดงท่าทีให้การร่วมมือโดยตลอดก็ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ ณ วันที่คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเรื่องนี้ น้ำหนักของการแสดงออกของตัวแทนที่มีอำนาจของไทยเป็นไปในทางที่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ตราบเท่าที่ไม่กระทบถึงเส้นเขตแดนของไทยและพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกัมพูชาก็ได้ปรับรายละเอียดในการเสนอจนไม่กระทบเส้นเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนแล้ว

 ถ้าเป็นเช่นนั้นไทยก็ไม่น่าจะเดือดร้อนกับการที่คณะกรรมการมรดกโลกรับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในครั้งนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อได้อ่านคำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลก ได้สังเกตเห็นมติที่น่าระมัดระวัง 1 ข้อ คือข้อ 14 ที่ระบุว่า "ให้คณะทำงานรัฐบาลกัมพูชาร่วมมือกับยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องและพัฒนาปราสาทและพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนไม่ช้าไปกว่ากุมภาพันธ์ 2009 โดยให้เชิญผู้แทนฝ่ายไทยและผู้แทน international partners อีกไม่เกิน 7 แห่ง (ซึ่งสามารถตีความว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจาก 7 ประเทศ ก็ได้) เพื่อตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการป้องกันคุณค่าอันเป็นสากลของปราสาทและพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียน ตามมาตรฐานการอนุรักษ์สากล" มติข้อนี้ใช้ถ้อยคำที่ดูไม่เป็นพิษเป็นภัยเพราะมุ่งปกป้องและพัฒนาเฉพาะปราสาทและพื้นที่ที่รับจดทะเบียน ไม่น่าจะมีผลกระทบถึงประเทศไทย แต่วลีที่ว่า "การป้องกันคุณค่าอันเป็นสากลของพื้นที่ตามมาตรฐานการอนุรักษ์สากล" นั้น มีความหมายกว้างไกล และเป็นช่องที่จะขยายไปถึงการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบ หรือแม้กระทั่งโบราณสถานในฝั่งไทยที่มีส่วนต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหารลงไปทางทิศเหนือ แม้คณะกรรมการจะไม่ระบุว่าเป็นส่วนต่อเนื่องที่สำคัญก็ตาม เพราะมาตรฐานการอนุรักษ์สากลนั้น ต้องการที่จะอนุรักษ์องค์ประกอบทุกส่วนของชิ้นมรดกโลก ตลอดจนอนุรักษ์พื้นที่รอบด้านเพื่อให้ชิ้นมรดกโลกนั้นมีความโดดเด่น สวยงาม มีสภาวะแวดล้อมสมกับความเป็นมรดกโลก

 นั่นก็หมายความว่า มติข้อ 14 นี้ เปิดโอกาสให้มีการพิจารณานโยบายในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์ และอาจรวมถึงพื้นที่พัฒนาซึ่งอยู่ในพื้นที่รอบด้านด้วย ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ซึ่งเคยเป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก และมีความรู้เรื่องมรดกโลกเป็นอย่างดี ชี้ให้เห็นว่า -- มติข้อ 14 ที่เปิดโอกาสให้มีคณะกรรมการประสานงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศอื่นนอกเหนือจากกัมพูชาและไทยได้อีกถึง 7 ประเทศ เข้ามาช่วยดูนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์ เป็นความผิดปกติ ไม่เคยมีการใช้กลไกระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองหรือจัดทำเขตอนุรักษ์หรือเขตพัฒนามาก่อนเลย ความร่วมมือในเรื่องนี้ควรเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้นว่าจะจัดการแผนต่างๆ อย่างไร แบ่งพื้นที่กันเท่าไร ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องแจ้งให้กรรมการมรดกโลกพิจารณา การอนุญาตให้เชิญตัวแทนจากองค์กรอื่นหรือประเทศอื่นอีก 7 แห่งเข้ามาร่วมพิจารณานโยบายในเรื่องนี้เท่ากับอนุญาตให้เอาตัวแทนจาก 7 แห่ง หรือ 7 ประเทศเข้ามาขัดคอไทยที่มีเสียงเดียว ถ้าไทยไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใดก็จะถูกตัวแทนจาก 7 แห่ง หรือ 7 ประเทศรุมค้านจนเสียงของเราหมดความหมายดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 11-13 มกราคม 2551 ที่เมืองเสียมเรียบ หากเดินตามเงื่อนไขข้อนี้ "ถึงเวลานั้นเราจะเป็นคนนอกคอก แล้วประเทศไทยจะมีอธิปไตยได้อย่างไรเพราะตกอยู่ในภาวะจำยอมในการจัดการพื้นที่ตัวเอง การถูกกดดัน หรือบังคับจากชาติอื่น เท่ากับไม่มีอธิปไตยหรือเสียอธิปไตยเหนือดินแดนนั่นเอง"--

 ดร.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีที่เป็นที่ยอมรับของโลก กล่าวในวงเสวนาว่า มติข้อ 14 ของคณะกรรมการมรดกโลก "มีนัยซ่อนเร้น กรณีที่ (เปิดโอกาสให้) อีก 7 ชาติ (สามารถ) เพิ่มพื้นที่รอบๆ เป็นมรดกโลกเพื่อให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ ถ้าเราไปร่วม ก็โง่ซ้ำสาม" อาจารย์ศรีศักดิ์กล่าวด้วยว่า "แนวทางแก้ไขจากนี้คือจะต้องหยุดและไม่ให้การยอมรับคำตัดสินของกรรมการมรดกโลก เพราะขาดความชอบธรรมในการสร้างสันติสุขแต่ต้องการทำเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว"

 ปัญหาก็คือตามกรอบอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกนั้น ประเทศสมาชิกจำต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก หากไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องถอนตัวจากการเป็นสมาชิกและหากเราทำไปโดยไม่มีการชี้แจงต่อประเทศต่างๆ อย่างดีพอก็อาจทำให้ประเทศต่างๆ ที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเข้าใจว่าเราขอยื่นขึ้นทะเบียนร่วมไม่ได้จึงพานไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นการเสียชื่อเสียงได้เช่นกัน

 ผมคิดว่าเรายังมีโอกาสที่จะหาทางออกที่ดีกว่านี้ได้ แต่ทางออกนี้จะทำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวไม่เพียงพอเพราะมีงานที่ต้องพร้อมกันหลายด้าน ตั้งแต่ - การชี้แจงให้ประเทศต่างๆ ในโลกเห็นถึงจุดอ่อนในการอนุมัติขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตัวปราสาททั้งมวล - การดำเนินการทางการทูตเพื่อชี้ให้เห็นว่าเราตั้งใจให้ความร่วมมือในการขึ้นทะเบียนโลกชิ้นนี้อย่างแท้จริง แต่ต้องเป็นไปตามพื้นฐานของความถูกต้องและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมของการเป็นมรดกโลก - การพิจารณาใช้มติของคณะกรรมการมรดกโลกข้ออื่น เช่น ข้อ 10 และข้อ 11 มาเสริมให้การให้ความร่วมมือตามมติข้อ 14 เป็นไปโดยเราไม่เสียเปรียบและมีศักดิ์ศรีหรือแม้กระทั่ง - การขอตีความมติบางข้อให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติที่ชอบธรรมของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เป็นต้น และการดำเนินการด้านต่างๆ เหล่านี้จะต้องทำโดยสอดคล้องกันและมีจุดมุ่งหมายที่เป็นยุทธศาสตร์เดียวกัน

 มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตั้งคณะกรรมการะดับชาติขึ้นเพื่อดำเนินงานในเรื่องนี้ โดยมีบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีขึ้นไปเป็นประธาน เพราะต้องเกี่ยวข้องกับงานหลายกระทรวง และควรเชิญนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ที่เป็นที่ยอมรับในสากลเข้ามาช่วยงาน พร้อมทั้งข้าราชการที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง และมีความสามารถพอที่จะดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นได้ด้วยตนเอง ตัวกรรมการนั้นถ้าเป็นไปได้ควรพยายามระบุเป็นตัวบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ให้มากที่สุด กรรมการโดยตำแหน่งควรมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ตามปกติในการแก้ปัญหาใดๆ ผมไม่นิยมที่จะตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาแก้อยู่แล้วเพราะมักจะชักช้า แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความล้ำลึกมาก มีเรื่องที่ต้องทำพร้อมๆ กันหลายเรื่อง และคู่กรณีที่เราต้องต่อสู้นั้นเป็นทั้งประเทศต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งต้องตั้งเป็นคณะกรรมการ ขออย่างเดียวว่าผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานนั้นควรเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในค่ายการเมืองที่ประชาชนสงสัยว่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ เพราะถ้าประชาชนคลางแคลงใจ งานก็เดินไปไม่ได้

 ท่านนายกฯ ครับ ผมเขียนบทความนี้โดยไม่มีความตั้งใจที่จะสอนหนังสือสังฆราช เพียงแต่ต้องการให้ข้อมูลที่บางคนอาจจะยังมองไม่เห็น การพยายามเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เราพลาดในเรื่องนี้ มีคนทำกันอยู่มากแล้ว ผมกลัวว่าเราจะลืมต่อสู้คู่กรณีที่แท้จริงซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ และเป็นคู่กรณีที่น่าเกรงขาม ต่อกรด้วยค่อนข้างยาก จึงได้พยายามหาวิธีรับมือกับเรื่องนี้เสนอมาให้ท่านได้พิจารณาด้วย หวังว่าท่านจะไม่มองข้ามเรื่องสำคัญของชาติเรื่องนี้

หมายเลขบันทึก: 195231เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค๊ะ กับข้อมูลที่ได้อ่าน เป็นความรู้

ขอบคุณนะคะ ได้อ่านเรื่องปราสาทพระวิหารจริงจังก็ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของไทยที่ต้องติดตามต่อไป

ขอบคุณได้ความรู้ดีมากครับ

หากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีจิตสำนึกของความรักชาติ รักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ผมว่าผลจะไม่เป็นแบบนี้ เมื่อมีข้อมูลแล้ว ผู้เกี่ยวข้องเหมือนไม่ทำอะไร ไม่ชี้แจงประชาชน ปล่อยให้มีการบิดเบือนข้อมูล พื้นที่ที่เคยเป็นของไทย ทหารก็เข้าไม่ได้ ทำไมยุคนี้ คำว่าการเสียดินแดน ไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ร้อนรู้หนาวเลยหรือ ศักดิ์ศรีของประเทศไทยตดต่ำลงมาก ศักดิ์ศรีทหารไทย หายไปไหนหมด แต่ก่อนสยามมีดินแดนด้านเหนือจรดจีนตอนใต้ ตะวันออกถึงเวียตยาม รวมเมรด้วยตะวันตกเมืองพม่าทั้งประเทศ ด้านใต้ตลอดแหลมมลายู...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท