เมื่อ ปปช. มีที่มาไม่ถูกต้อง !!!


...แล้วอะไร คือ กติกากลาง ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับเพื่อทำให้สังคมนี้สงบสุขขึ้น...

อันที่จริง ผมเองมิได้มีความรู้ในทางการเมือง การปกครองมากนัก เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่มีความสนใจ เพราะเห็นว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของสังคม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ผมเชื่อแน่ว่าคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง หลีกหนีข่าวความเคลื่อนไหวด้านการเมืองไม่ได้

และประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยนในวันนี้ คือ เรื่องสืบเนื่องจากรายการของท่านนายกเมื่อวาน (๑๓ ก.ค.๕๑) ที่ท่านกล่าวช่วงหนึ่งประมาณว่า "ปปช. ชุดปัจจุบันมีที่มาไม่ถูกต้อง แต่กำลังจะวิพากษานักการเมืองที่มาอย่างถูกต้อง ด้วยการเลือกตั้ง" ซึ่งพอฟัง ก็ทำให้นั่งทบทวนปรากฎการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงปีสองปีมานี้ ที่สังคม (การเมือง) มีความแตกต่างทางความคิด มีการยกเหตุและผลมาหักล้างกัน จนประชาชนอย่างเราๆ แยกไม่ออกว่า "ใครผิด ใครถูก" (ผม) จึงสรุปว่า ในเมื่อฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ออกว่าใครพูดจริง ก็คงต้องอาศัย "คนกลาง" ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม นั่นคือ ศาล และองค์กรอิสระอย่าง ปปช. มิเช่นนั้นแล้ว การละเทาะกันคงจะไม่จบสิ้น

แต่พอท่านนายก มาพูดแบบนี้ ประชาชนอย่างเราๆ ก็เกิดอาการงง และ งง ว่าต่อไปเราจะเชื่อถือใครได้อีกหรือไม่ (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพูดพาดพิงศาล และองค์กรอิสระไปในลักษณะเช่นนี้) ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะเชื่อในสิ่งที่ท่านายกพูด แต่กำลังตั้งคำถามกับตัวเอง และกับสังคมว่า ถ้าไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ไม่มีใครเชื่อถือได้ แล้วอะไร คือ กติกากลาง ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพื่อทำให้สังคมนี้สงบสุขขึ้น  

ด้วยความเคารพรัก

คำสำคัญ (Tags): #กติกาสังคม#ปปช.
หมายเลขบันทึก: 194078เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2008 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...มีคำที่น่าจะนำมาพิจารณา..๑.ที่มาไม่ถูกต้อง..อาจจะหมายถึง มาจากที่ไม่เหมาะสม มาจากที่ไม่น่าเชื่อถือ มาจากความไม่น่าพึงใจ ฯลฯ..ถ้าพิจารณาถึงที่มาของหลายอย่างล้วนกำเหนิดจากสิ่งที่รู้สึกได้ว่าต้อยต่ำ ไม่สง่างาม ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ว่าจะเป็น ดอกบัวที่เกิดแต่โคลนตม วีรบุรุษหลายคนมีชาติกำเหนิดจากผู้ที่ต้อยต่ำลำเค็ญ และเช่นกันสิ่งที่มีต้นธารจากของสูงสวยงามแต่สุดท้ายกลายเป็นปฏิกูล..น่ารังเกียจ..ก็เห็นกันโดยมาก..๒.คนกลาง..ความเป็นกลาง..ย่อมไม่มีอยู่จริงในสภาวะที่เคลื่อนไปนอกจากหยุดนิ่งในสภาวะหนึ่ง..ซึ่งไม่ใช่ความพยายามให้เป็นกลาง(มัชฉิมาปฏิปทา)ซึ่งเป็นหลักพิจารณาใช้ปัญญาควบคุมตนในศาสนาพุทธ..เพราะคนกลาง..ความเป็นกลางจะถูกกระทำให้เอนเอียงด้วยอิทธพลภายนอกและภายในเสมอ..และ ๓.สังคมที่สงบสุข..ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนและหมู่ชน..ตถตา...

มีคำมาพิจารณา

  • ที่มาไม่ถูกต้อง แต่บทบัญญติรัฐธรรมนูญ ได้รองรับไว้ ปปช เป็นที่มาแบบเดียวกับ คตส และ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินแล้วว่า คตส นั้น ถูกต้อง ตามบทบัญญติแห่งรัฐธรรมนูญ
  • ที่มานั้นสำคัญกว่าความถูกต้องหรือ? หากให้เลือกผมเลือกความถูกต้อง เพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่ ทำผิด ก็ ต้องได้รับโทษ มาจากประชาชน มาถูกต้อง แต่ไม่ได้บอกว่าท่านทำไม่ถูกต้องได้
  • ความเป็นกลาง ท่าน ว. วิชรเมธี กล่าวไว้ว่า "“ในทางพุทธศาสนา ความเป็นกลาง ก็คือ ความเป็นธรรม ธรรมะคือความถูกต้อง ... ดังนั้น ภาวะที่เป็นกลาง การวางตัวเป็นกลาง ก็คือ การวางตนอยู่กับธรรมและธรรมอยู่กับใคร เราก็ควรจะสังกัดอยู่ในฝ่ายนั้น การเป็นกลางจึงไม่ได้หมายถึงการไม่เลือกฝ่าย”
    การอยู่เฉยๆ ไม่เรียกว่า การวางตนเป็นกลาง แต่ควรเรียกว่า วางตนเป็น ‘ก้าง’ คือ คอยขวางไม่ให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคม ... น่าเป็นห่วงมากที่ในสังคมไทยของเราคิดกันตื้นๆ ว่า การวางตนเป็นกลาง คือ การอยู่เฉยๆ และก็คนกลุ่มใหญ่พยายามขยายแนวคิดนี้ออกไปจนทำท่าจะเห็นดีเห็นงามกันทั้งประเทศ”
    “ระบบการศึกษาของคนไทยนี้มันผิดปกติตรงไหนหรือเปล่าที่เมื่อศึกษากันไปๆ ทำไมคนไทยถึงได้ ‘เชื่อง’ มากขึ้นทุกที มหาวิทยาลัย , สื่อมวลชน, วัฒนธรรม ที่ทำให้คนมีความแกล้วกล้าอาจหาญในการที่จะเผชิญกับความอยุติธรรม, ความเลวร้าย, ความฟอนเฟะ, ความสามานย์ของชนชั้นนำ หรือ ของคนทั่วไป ซึ่งเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายกลายเป็นจิ้งจอกของสังคม หายไปไหนกันหมด”
           
           “บ้านเมืองที่มากไปด้วยคนที่วางตัวเป็นกลางด้วยการอยู่เฉยๆ นั้น ไม่ต่างอะไรกับการเปิดทางให้ประเทศเดินเข้าสู่ความหายนะอย่างถาวรด้วยความยินดี ความสงบสุขที่ปราศจากปัญญานั้น เป็นความสงบสุขของป่าช้ามากกว่าของอารยชน ความนิ่งที่เกิดจากพื้นฐาน คือ ความกลัวนั้นไม่ต่างอะไรกับความนิ่งของสิงโตหินตามวัด”
  • สังคมที่สงบสุข..ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ แต่อยู่ที่ ธรรม อยู่ที่ คนมีอำนาจมีธรรมต่างหาก

สวัสดีทั้ง ๒ ท่านครับ

  • ขอบคุณสำหรับการ ลปรร.
  • ผมว่าสังคมบ้านเราตอนนี้กำลังต้องการ "การคิด" ในลักษณะนี้
  • ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งจากความยึดมั่น ถือมั่น และการ "ปั่นหัว" ของบางคน บางฝ่าย
  • แต่ต้องหาจุดเชื่อมที่ "ถูกต้อง" เพื่อเป็นบรรทัดฐานของสังคม

ด้วยความเคารพรัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท