Molly
นาง มัลลิกา มอลลี่ ศุภมิตรศิริ

เรื่องเล่าเร้าพลัง


เรื่องเล่าเร้าพลัง

ชุดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ทางธรณีวิทยา

ครูมัลลิกา  ศุภมิตรศิริ

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

 ♥      ♥     ♥     ♥     ♥     ♥    ♥     ♥    ♥     ♥      ♥     ♥     ♥     ♥     ♥    ♥     ♥   

 

ปัญหาของการเรียนรู้  

1.             ครูผู้สอนไม่มีเทคนิคการเรียนรู้ที่น่าสนใจ

2.             นักเรียนไม่สนใจเรียน / ไม่ให้ความสำคัญในการเรียนรู้

รายละเอียดเรื่องเล่าเร้าพลัง

 

                เนื่องด้วยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระที่ 6 : กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก และสาระที่ 7 :

ดาราศาสตร์และอวกาศ จากที่มีอยู่เดิม คือสาขาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ซึ่งทำให้ขาดครูผู้สอนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

                เมื่อข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ให้เป็นครูผู้สอนในรายวิชา โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ จึงได้เข้าร่วมการอบรมจากหลายสถาบัน ได้แก่  ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร  มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และกรมทรัพยากรธรณีวิทยา ทำให้ข้าพเจ้ามีความรักในสาขาวิชาธรณีวิทยา จึงทำให้ข้าพเจ้าศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมีนิทรรศการที่ไหน หนังสือและตำราจะแพงสักเท่าใด  ข้าพเจ้าก็จะต้องเป็นเจ้าของให้ได้  แม้ว่าจะเป็นการผ่อนชำระหลาย ๆ เดือนข้าพเจ้าก็ยินดี

                ยิ่งศึกษาก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจ และอยากจะเห็นของจริงมากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงเรียนเสนอท่านผู้อำนวยการ เพื่อขออนุญาตนำนักการภารโรงออกไปสำรวจหินในพื้นที่ใกล้โรงเรียนในเขตอำเภอโคกสำโรง   ได้แก่    หินแอนดีไซด์เขาวงพระจันทร์,   แร่เหล็กและแร่แคลไซด์เขาทับควาย          หินฮอนเฟลส์เขาสะพานนาค,หินปูนฟอสซิลเขากะโหลก, หินไดออไรด์เขาดิน, หินทรายเขาเพนียด  หินบะซอลต์เขาจรเข้   ที่อำเภอเมือง ได้แก่  แร่ควอตซ์เขาพระงาม,หินปูนปนเชิร์ตโคกกระเทียม  หินปูนฟอสซิลเขาสามยอด  ที่อำเภอท่าวุ้ง ได้แก่  หินปูน-หินอ่อน-แร่แคลไซด์เขาสมอคอน           ที่อำเภอบ้านหมี่ ได้แก่  หินปูนเขาวงกต  และที่อำเภอโคกตูม ได้แก่ หินอ่อนและเหมืองแร่แคลไซด์

 

นับจากนั้นมา

ที่โรงเรียนของข้าพเจ้าก็จะเต็มไปด้วยตัวอย่างชนิดของ หิน ดิน แร่  ที่กองอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของอาคารเรียน ท่านผู้อำนวยการซันฟา  ธโนปจัย จึงได้สร้างห้องธรณีวิทยาให้ข้าพเจ้าได้เก็บและจัดตัวอย่างหิน โดยได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้บริหาร และได้รับความร่วมมือจากคณะครู นักการภารโรง นักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้เห็นความสำคัญของการจัดแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา นับตั้งแต่นั้นมา แหล่งเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ภายในโรงเรียนก็เริ่มทยอยเกิดขึ้นมา ได้แก่  สวนหิน สวนฟิสิกส์  สวนพฤกษศาสตร์  บ้านพลังงานแสงอาทิตย์  ห้องธรณีวิทยา  ห้องพรรณไม้  ห้องสัตววิทยา ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องไบโอดีเซล และถังพลังงานก๊าซชีวภาพ ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี  ได้เป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ สำหรับนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ ต่อไป

การพัฒนาได้เริ่มเกิดขึ้นต่อไปอีก เมื่อโรงเรียนต่าง ๆ มาขอเข้าเยี่ยมชม และมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้วิวัฒนาการเป็นการจัดค่าย 1 คืน 2 วันบ้าง,  2 คืน 3 วันบ้าง  จนกลายมาเป็น 5 คืน 5 วัน เมื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 โรงทั่วประเทศมาเข้าค่ายพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยาและในที่สุดกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย  ก็บรรจุเอาค่ายธรณีวิทยา เป็นโครงการต่อเนื่องมาถึงปีการศึกษา 2551  สำหรับโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้มาเข้าค่ายธรณีวิทยาตามหลักสูตรที่ข้าพเจ้าได้พัฒนาขึ้นมา ได้แก่ โรงเรียนวัดน้อยใน  โรงเรียนวัดบวรนิเวศน์  โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์  โรงเรียนไตรคามวิทยา  โรงเรียนอนุบาลลพบุรี  โรงเรียนมาบตะโก  โรงเรียนค่ายนารายณ์  โรงเรียนพัชรกิติยาภา  โรงเรียนพัฒนานิคม  กลุ่มโรงเรียนมัธยมจังหวัดลพบุรี และโรงเรียนในศูนย์เขาวงพระจันทร์  ศูนย์ตะวันสีทอง  ศูนย์โคกสำโรงสัมพันธ์  ศูนย์เกาะแก้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้เปิดชุมนุมนักธรณีวิทยารุ่นเยาว์ ฝึกให้นักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-3-4-5  เป็นวิทยากรน้อย  เพื่อช่วยคณะครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ตามความเหมาะสม  เช่น ถ้าระดับชั้นประถมมาเข้าค่าย ก็จะให้พี่ ม.2-3 เป็นวิทยากร  ถ้าระดับชั้นมัธยมมาเข้าค่าย ก็จะให้พี่ ม.4-5 เป็นวิทยากร แต่ถ้ามีคณะท่านผู้ใหญ่มาเยี่ยมชม ก็จะคัดเลือกวิทยากรน้อยดีเด่น มาต้อนรับ และพาเยี่ยมชม เช่น การอบรมครูวิทยาศาสตร์จังหวัดลพบุรี  คณะดูงานจากประเทศจีน  คณะผู้บริหารในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีทั้งเขต 1-2   คณะครูที่เข้าอบรมธรณีวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะครูที่เข้าอบรมธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร  และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะได้รับความอนุเคราะห์จากกรมทรัพยากรธรณีวิทยาฯ ที่ได้ให้คำแนะนำ และส่งเสริมทางด้านวิชาการ และการออกสำรวจ นั่นเอง

 

นวัตกรรม

นับตั้งแต่นั้นมาคณะครูและนักเรียนก็เริ่มให้ความสนใจทางด้านธรณีวิทยามากขึ้น เมื่อเทียบกับครั้งที่ข้าพเจ้าบุกเบิกอยู่คนเดียว และเริ่มมีเพื่อนใกล้ชิดมาช่วยเหลือ ต่อมาก็มีผู้บริหารมาให้การสนับสนุน และในที่สุดก็มีบุคคลภายนอกมาให้ความสนใจ

ข้าพเจ้าจึงได้เขียนหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมขึ้นมา คือรายวิชา หิน ดิน แร่ รหัสวิชา ว 30203 เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 นับถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปี และได้ส่งผลงานทางวิชาการ ครู ค.ศ.3 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่าน ด้วยนวัตกรรม        

         ชุดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ทางธรณีวิทยา “เรื่องหิน”

การสร้างชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ครั้งนี้  ข้าพเจ้าได้รวบรวมผลงานต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ดังนี้คือ

1.             กิจกรรมถามตอบ-รอบรู้

2.             กิจกรรมแววนักวิทยาศาสตร์

3.             กิจกรรมปริศนาคำศัพท์

4.             กิจกรรมเพลงกลอนสอนจำ

5.             กิจกรรมนักธรณีน้อย

6.             กิจกรรมรู้รอบตอบเพิ่ม

7.             กิจกรรมบูรณาการงานสร้าง

8.             กิจกรรมเรียงร้อยถ้อยคำ

จากการทำวิจัย กิจกรรมที่นักเรียนชอบมากที่สุด คือกิจกรรม เพลงกลอนสอนจำ ซึ่งข้าพเจ้าใส่เนื้อร้องตามทำนองที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมา ถึงจะโบราณไปบ้าง แต่ก็ทำให้นักเรียนจดจำเนื้อหาได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งข้าพเจ้าใช้บทเพลงเหล่านี้สรุปเนื้อหาบ้าง นำเข้าสู่บทเรียนบ้าง ตามความเหมาะสม

ข้าพเจ้าขอนำเสนอตัวอย่างสื่อบทเพลงช่วยสอนทางธรณีวิทยาดังต่อไปนี้..........

                                                 

1. เพลงดาวโลก

ทำนอง     อุทยานดอกไม้

พอได้เรียนธรณีวิทยา  โลกกำเนิดมาครั้งในอดีตหลายพันล้านปี

มหัศจรรย์ยุคปัจจุบันเป็นตัวบ่งชี้  อดีตเรานี้เหลือที่จะพรรณนา

ทฤษฎีบิกแบง  มวลสารระเบิดรุนแรงแล้วรวมเป็นกาแล็กซี

โลกของเรา...ใบนี้...  เป็นดาวเคราะห์หินในจักรวาล.

                                        

2. เพลงวัฎจักรหิน

ทำนอง     รำวงลอยกระทง

          เมื่อโลกเกิดขึ้นมา แมกมา-ลาวา เย็นตัวอยู่

มีหลักฐานให้ดู พวกเราย่อมรู้คือหินอัคนี

อิกมะอิกคนัก อักมะอัคนี

อัคนีเกิดแล้วล้านปีไม่แคล้วกลายเป็นหินตะกอน

กอนมะกอนตะกัก  กักมะกักตะกอน

โดนดันโดนร้อนกลายเป็นหินแปร(ซ้ำ)

 3. เพลงเก็บหิน

ทำนอง     บัวตูมบัวบาน

      - ขึ้นรถบัสคันใหญ่ ไปเราไปเก็บก้อนหิน มีหินมากมายในลพบุรี

มองดูให้ดีจะเข้าใจ มีภูเขาไฟใกล้หินอัคนี เอื้อมมือไปหยิบมาดู

อู้ฮู้! หินอัคนีก้อนใหญ่  ยกขึ้นมามือก็สั่นแกว่งไกว

จะหยิบดีไหม    แอนดีไซด์    ไดออไรด์    แกรนิต    บะซอลต์

- ขึ้นรถบัสคันเก่า  พาพวกเราไปแบกหินนั่นหินตะกอนดูมากมี

มีหินดีดีดูมากมายหินปูน หินทราย หินกรวด หินดินดาน ย่อตัวไปแบกขึ้นมา 

อ้าฮ้า! หินตะกอนก้อนใหญ่  แบกขึ้นมาตัวก็สั่นแกว่งไกว

จะแบกดีไหม   หินปูน    หินทราย  หินกรวด    หินดินดาน

       - ลงรถบัสขึ้นเขา  ชวนพวกเราไปเอาหิน มีหินตะกอน  แปร  อัคนี

มีอัคนี  แปร  หินตะกอน  มีหินตะกอน  แปร  อัคนี  ก้มหัวดันขึ้นเซโซ

โอ้โฮ้! หินแปรก้อนหญ้าย ใหญ่  ดันขึ้นมาหัวก็สั่นแกว่งไกว

จะดันดีไหม    หินอ่อน    หินชนวน   หรือหินฮอนเฟลส์

**********************

 

 



ความเห็น (1)

ลพบุรีแผ่นดินทองของประเทศ อาณาเขตภูเขาไฟใกล้แหล่งแร่

เทอร์เชียรี่ ควอเทอร์นารี่ ยุคนี้แน่ ล้านปีแผ่แพร่ทรัพยากรธรณี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท