เมื่อบอกว่า พระธุดงค์ คนไทยทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็น พระที่แบกกลดสะพายบาตรและย่ามเดินจาริกไปแล้วปักกลดพักค้างแรมตามป่าช้า ใต้ต้นไม้ ชายป่า ในสวน หรือที่รกร้างว่างเปล่าบางที่... ซึ่งความเข้าใจทำนองนี้ นับว่าเป็นความหมายที่งอกขึ้นมาในวัฒนธรรมทางภาษาของเรา แต่อาจไม่ตรงตามความหมายของภาษาเดิมนัก...
ส่วนเฉพาะคำว่า ธุดงค์ เป็นอย่างไรนั้น... ถ้าไม่สอบถามพระสงฆ์ทรงภูมิรู้ หรือชาวบ้านผู้เคยบวชเรียนหรือศึกษามาเป็นการเฉพาะแล้ว ก็ยากที่จะอธิบายได้ตรงตัว...
อันที่จริงคำว่า ธุดงค์ หมายถึงการกำหนดอุบายบางอย่างเพื่อกำจัดกิเลสส่วนตัว ตามคัมภีร์นั้น ท่านจำแนกออกเป็น ๑๓ ชนิด ซึ่งผู้สนใจอาจค้นหาอ่านในอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก... หรือผู้ที่ต้องการจะอ่านจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคแปลโดยตรงก็เชิญ คลิกอ่านที่นี้ ในบันทึกนี้ จะเล่าเฉพาะความหมายของศัพท์เป็นสำคัญ...
ธุดงค์ หรือเขียนตามศัพท์เดิมว่า ธุตังคะ (ศัพท์นี้ อาจใช้สระอูแทนสระอุ เป็น ธูตังคะ ได้ด้วย) จัดได้ว่าเป็นทั้งคำสมาสและสนธิ... ที่เรียกว่าสมาสนั้นก็คือ นำศัพท์มาต่อกัน กล่าวคือ ธุตะ+องคะ = ธุตอังคะ ... แต่เพื่อความไพเราะและออกเสียงได้ง่ายจึงทำการเชื่อมอักษรภายในอีกครั้งงที่เรียกว่าสนธิ กล่าวคือ ธุตอังคะ = ธุตังคะ ... (จำง่ายๆ ว่า สมาสชน สนธิเชื่อม นั่นคือ สมาสเพียงเอาศัพท์มาชนกันต่อกันธรรมดา ส่วนสนธิเอาอักษรของศัพท์มาเชื่อมกันอีกครั้ง)
ธุตะ (ธุ + ตะ) มาจาก ธุ รากศัพท์ แปลว่า กำจัด ในที่นี้หมายถึงการกำจัดกิเลสเท่านั้น...
- เมื่อมาเป็นคุณนามของพระภิกษุแล้ว ธุตะ จึงแปลว่า พระภิกษุผู้กำจัดกิเลส
- เมื่อมาเป็นคุณนามของอุบายแล้ว ธุตะ จึงแปลว่า อุบายเป็นเครื่องกำจัดกิเลส
อังคะ ถ้าไม่แปลทับศัพท์ว่า องค์ ก็อาจแปลออกศัพท์ได้ว่า ข้อกำหนด
เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ธุตังคะ หรือ ธุดงค์ อาจแปลได้ ๒ นัย กล่าวคือ
- ธุดงค์ = ข้อกำหนดของพระภิกษุผู้จะกำจัดกิเลส
- ธุดงค์ = ข้อกำหนดของอุบายเป็นเครื่องกำจัดกิเลส
.........
ตามพุทธานุพุทธประวัติ พระมหากัสสปะ ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในด้านธุดงค์ ซึ่งปกติท่านจะถือธุงค์ ๓ ข้อ เช่น ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร์ เป็นต้น... และพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอพระองค์ เป็นต้น...
อนึ่ง เมื่อแรกบวชนั้น ผู้เขียนค่อนข้างเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหากัสสปะ และมีวรรคหนึ่งที่คัมภีร์เขียนไว้คือ ประพฤติเป็นผู้ห่าง ... ซึ่งประเด็นนี้ จะนำไปเล่าอีกครั้ง