ฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นวิทยากรกลุ่มในงานแลกเปลี่ยน เรียนรู้ของภาคีเครือข่าย R2R เมื่อวันที่2-3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ได้กลับมาอ่านทบทวน แนวคิด R2R ว่าจริงๆแล้ว...เจตนารมย์คืออะไร....
เพราะผลงานที่ได้รับคัดเลือกไปนั้น เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2531 และ 2535 แต่ผลของงานนั้นได้ถูกนำมาใช้งานทางวิสัญญีนับจากนั้นจนปัจจุบัน
ฉันอ่านบันทึกของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ใน r2r-vicharn ร่วมกับหนังสือที่ได้จากงานประชุมเล่มหนึ่ง.....

"R2R Routine to Research สยบงานจำเจด้วยการวิจัย สู่โลกใหม่ของงานประจำ"

โดยส่วนตัวแล้ว ฉันเป็นคนอ่านหนังสือช้า...แต่มักสนใจในแนวคิดของผู้เขียน โดยเฉพาะคำนำและบทหลักต้นๆ
จริงๆแล้วความสำคัญมีมากมายตลอดทั้งเล่ม
แต่ขอยกมากล่าวอ้างอิงบางส่วนที่โดนใจค่ะ
อ.นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข กล่าวไว้ใน “คำนำ” ตอนหนึ่งว่า
“....ผมเชื่อมั่นเสมอว่า “ความโง่” ย่อมมาก่อน “ความฉลาด” และคำถามโง่ๆของผม ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ทรัพย์สมบัติที่มีค่าที่แพทย์รุ่นพี่เอ่ยถึงนั้นก็คือ ข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมจะหยิบใช้เมื่อไรก็ได้....”
ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ใน “ภาค1 ตั้งหลักที่ความคิด “R2R” ...อย่าสำคัญ(ผิด)ว่าเป็นเป้าหมาย” ว่า
“R2R อาจเป็นชื่อที่ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะคิดว่าหัวใจของเรื่องนี้คือการทำวิจัย ซึ่งเป็นคำที่ทำให้คนบางกลุ่มเดินหนี”
“.....คำว่าการวิจัย หรือ research นั้น เป็นคำที่ฟังดูโก้ ถ้ามีงานวิจัยคนก็มักเอาไปเป็นผลงานวิชาการเพื่อใช้เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นได้ แต่การวิจัยแบบ R2Rนั้น เป็นงานวิจัยแบบง่ายๆ เพราะหัวใจจริงๆไม่ได้อยู่ที่การวิจัย แต่อยู่ที่การพัฒนางาน โดยจัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้อีกเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้กระบวนการพัฒนางานเกิดงานวิจัยที่สร้างความรู้ออกมาอย่างชัดเจนได้ คนทำก็มีความภาคภูมิใจ ไปเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างเป็นระบบ เขียนออกมาได้ และได้รับผลประโยชน์ทุกฝ่าย.....”
“....ดังนั้น ชื่อ R2R จึงมีข้อดีอยู่ แต่ถ้าไม่ระวังก็อาจเข้าใจผิด แล้วก็ไปหลงติดอยู่กับคำว่า “วิจัย” ทั้งๆที่หัวใจของ R2R คือการพัฒนางานไปพร้อมกับการพัฒนาคน......”

“.....หลักในการพิจารณาว่างานศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็น R2Rหรือไม่ ให้ดูจาก 4 ส่วน ได้แก่
· โจทย์วิจัย คำถามวิจัยของ R2R ต้องมาจากงานประจำ เป็นการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานประจำ
· ผู้ทำวิจัย ต้องเป็นผู้ทำงานประจำนั่นเองและต้องเป็นผู้แสดงบทบาทหลักของการวิจัย
· ผลลัพธ์ของการวิจัย ต้องวัดที่ผลที่เกิดต่อตัวผู้ป่วยหรือบริการที่มีผลต่อผู้ป่วยโดยตรง ไม่ใช่วัดที่ตัวชี้วัดทุติยภูมิเท่านั้น เช่น ระดับสารต่างๆในร่างกายหรือผลการตรวจพิเศษต่างๆ
· การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลการวิจัยต้องวนกลับไปก่อผลเปลี่ยนแปลงต่อการให้บริการผู้ป่วยโดยตรง หรือต่อการจัดบริการผู้ป่วย.....”
“.....การทำ R2Rให้ได้ผลดีต้องการแรงเสริม 2 ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง คือ บรรยากาศในที่ทำงาน........
ส่วนที่สอง คือ แรงหนุนจากผู้บริหาร.....”

“.....R2Rนั้น หัวใจอยู่ที่คนที่ทำงานประจำที่ต้องการพัฒนางานของตัวให้ดีขึ้น แล้วก็ใช้กระบวนการเพื่อคิดหาวิธี โดยมุ่งตอบคำถามว่าทำอย่างไร (how) เพื่อให้งานในจุดนั้นทำได้ดีขึ้น....”
แนวคิดเหล่านี้เป็นข้อเตือนใจที่ดีมากๆ...ของผู้ที่คิดจะพัฒนางานด้วยเทคนิคของR2R เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือในผลงานของการพัฒนา
...และก็เป็นแนวคิดที่ดีมากๆอีกเช่นกัน ที่นำให้ผู้มีส่วนพิจารณางาน R2R สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานอย่างสมดังเจตนารมณ์ของผู้คิดคำว่า R2R คือ ท่านอาจารย์ วิจารณ์ พานิช ค่ะ
(ที่มา : ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์, อภิญญา ตันทวีวงศ์. R2R : Routine to Research สยบงานจำเจด้วยการวิจัย สู่โลกใหม่ของงานประจำ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.), กรกฎาคม 2551.)
(นำเพลงที่เพื่อนรักฝากมาฟัง..ในวันพิเศษค่ะ ทำให้มีกำลังใจทำงานมากขึ้น)