เศรษฐกิจทรุด เชิญชวนงดเหล้าเข้าพรรษา


งดเหล้าเข้าพรรษา

ในช่วงนี้ความสุขของคนไทยกำลังลดลงๆ  ไม่ว่าจะเป็นปัญหารุมเร้าทางด้านเศรษฐกิจราคาน้ำมัน สองลิตรร้อย เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง  ปัญหาการเมืองที่กำลังสับสน ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจข้อมูลของประชาชนในภาคเศรษฐกิจ พบว่าในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ประชาชนมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 1,770 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีค่าใช้จ่าย 1,464 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.15 และค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.33 เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวร้อยละ 29.23 ส่วนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.98 มีการทำนายล่วงหน้าจากราคาน้ำมันดิบที่ซื้อล่วงหน้าว่าราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกทันทีที่ประเทศอิหร่านทดสอบยิงขีปนาวุธไปแล้วสองลูก ราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นไปอีกในทันทีทันใด  อัตราค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกำลังจะทะลุ 2หลักเข้าไปแล้ว ทำงานได้เงินเดือนเข้ากระเป๋ามา มันหายไปกับอัตราเงินเฟ้อเกือบร้อยละสิบเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีข่าวน่าชื่นใจอยู่บ้างโดยการสำรวจพบว่าอัตราการว่างงานในปัจจุบันถือว่าลดลง โดยมีคนไทยว่างงานในปี 2551 ประมาณ 569,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของคนวัยทำงาน ลดลงจากปี 2550 ที่มีอัตราการว่างงาน 583,800 คน หรือร้อยละ 1.6 ของคนวัยทำงาน ถือว่าช่วงนี้เป็นยุคที่เราต้องปรับตัวให้เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงจริงๆ ครับ

           ปีนี้วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2551 และวันเข้าพรรษา ตรงกับวันศุกร์ที่ 18 กรกฏาคม 2551 ทำให้มีวันหยุดราชการติดต่อกัน 4 วัน วันเข้าพรรษาเป็นวันที่สำคัญของเหล่าพุทธศาสนิกชน ที่จะได้ร่วมกันทำบุญสร้างกุศล เข้าพรรษา แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบัน  กิจกรรมต่างๆที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติกันในวันเข้าพรรษา คือ ร่วมกิจกรรมหล่อเทียน และ ถวายเทียนจำนำพรรษา, กิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแก่ภิษุสามเณร , ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล และอธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่างๆ  นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2551 กำหนดให้ วันเข้าพรรษาเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติตามข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน ด้วยเหตุผลที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน จะตั้งสัจจะอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้า เป็นการรักษาศีล 5 และจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ องค์กรภาคีได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นถึงจากปกติที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี วันงดดื่มสุราแห่งชาติยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามนี้ให้ดียิ่งขึ้นและจากการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยเอแบลโพลล์ ปี 2549 พบว่าประชาชนร้อยละ 88.6 เห็นด้วยกับการกำหนดให้มี วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” 1 วันต่อปี และเห็นว่าวันเข้าพรรษาควรเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติร้อยละ 61.6 ทั้งนี้การประกาศเป็นนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี) จะทำให้ความร่วมมือในการรณรงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น

วันเข้าพรรษาปีนี้ เริ่มต้นงดเหล้าเข้าพรรษากัน เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา และเก็บเงินในกระเป๋าเอาไว้เป็นค่าเล่าเรียนของลูก จะดีกว่าไหมครับ

...................................................................................................................

 

หมายเลขบันทึก: 193401เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท