Positive Thinking กับความเชื่อและศรัทธาในความเป็น "มนุษย์"


R2R ไม่เพียงพัฒนางานแต่หากได้เกิดเป็นการพัฒนา"ภายใน"ของคนทำงานด้วย

ในงานมหกรรม R2R อีกสีสรรหนึ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจอย่างยิ่ง คือ การทำงานวิจัยที่เน้นในเรื่อง "หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์"... ของงานวิจัยในกลุ่มปฐมภูมิ ที่นำขับเคลื่อนโดย นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์... บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่างล้วนเป็นเรื่องเล่า โดยนักวิจัยหน้างาน บรรยากาศและเรื่องราวทำให้รับทราบได้เลยว่า คนทำวิจัย...ได้ทำวิจัยด้วยความรู้สึกที่มุ่งเจาะลงไปในถึงสภาพปัญหาและบริบทอย่างแท้จริงของผู้ป่วย...

"ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ไม่ได้ป่วยแค่มะเร็งปากมดลูก...แต่สภาวะการเจ็บป่วยของเขาเป็นมากกว่านั้น"... หากเราผู้ให้การดูแลรักษาเพียงแค่มะเร็งปากมดลูก นั่นล่ะเรากำลังละเลยการเยียวยาผู้ป่วยอย่างแท้จริง...

เป็นเสียงคำบอกเล่าที่ข้าพเจ้าได้ฟังขณะนั่งอยู่ข้างๆ อ.หมอโกมาตร บนเวที พร้อมกันนั้นข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงภายในของตนเอง ดังสะท้อนกลับแบบตอบรับการบอกเล่าของเรื่องราวที่ว่านั้นด้วย

ทันทีที่มีโอกาส ข้าพเจ้าได้แวะเวียนไปซึมซับเรื่องราวของงานวิจัยในห้องย่อยของงานวิจัยระดับปฐมภูมิ ข้าพเจ้าชอบงานวิจัยที่เป็นงานวิจัย ไม่ชอบงานวิจัยที่เป็นวิชาการ ... งานวิจัยที่เป็นงานวิจัยนั้นเป็นอย่างไร...

ก็คือ เป็นงานวิจัยที่มุ่งค้นหาปัญหา และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง... ส่วนงานวิจัยที่เป็นวิชาการนั้นตามความคิดและความรู้สึกของข้าพเจ้า คือ งานวิจัยที่มุ่งความเป็นเลิศของกระบวนการวิจัย แต่บางครั้งอาจไม่ได้ตอบคำถามต่อปัญหางานได้อย่างแท้จริง...

งานวิจัย R2R เป็นงานวิจัยของคนหน้างาน...ที่มองเห็นสภาพปัญหาในงาน และคลุกคลีอยู่ในปัญหานั้นด้วยตนเอง... เมื่อไรก็ตามที่คนหน้างานมองและแยกแยะ วิเคราะห์ปัญหาหน้างานของตนเองออกว่า เหตุแห่งปัญหานั้นมาจากไหน... เขาจะลงมือแก้ปัญหาผ่านกระบวนการทำงานนั้นได้ และการทำงานที่ทำอย่างซ้ำซากทุกวันจะแปรเปลี่ยนเป็นการทำงานอย่างมีความหมายมากขึ้น และที่สุดปลายทางของความรู้สึกของคนทำงาน จะก่อเกิดเป็นความสุขเล็กๆ ในหัวใจของคนทำงาน

เพราะว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อไรก็ตามที่สามารถข้ามพ้นปัญหาต่างๆ ได้ ด้วยการใช้กระบวนการทางปัญญา เมื่อนั้นกระบวนการทางจิตใจจะได้รับการขัดเกลาให้แปรเปลี่ยนเป็นความละเอียดยิ่งขึ้น หรือกล่าวโดยๆ ง่าย นั่นคือ ได้เกิดการเรียนรู้ไปสู้เส้นทางแห่งการพ้นทุกข์นั่นเอง เพราะปัญหาก็คือทุกข์ ทุกข์ก็คือปัญหา และมองหาค้นหาเหตุแห่งความทุกข์หรือปัญหานั้นได้ ก็จะลงมือแก้ไขปัญหาหรือทุกข์นั้นได้อย่างตรงจุด... ทุกข์ก็หลุดออกไป สุขก็เข้ามาแทนที่...

"ทุกข์หายสุขเข้ามาแทนที่นั่นเอง"

จากงานวิจัยผ่านเรื่องเล่าไม่ว่าจะเป็น

  • เรื่อง ภาวะซึมเศร้าของคุณจตุพร ผาสุขน้อย
  • เรื่องไข้มาลาเรีย ศัพทานวิทยาแปฏิบัติการจริงในชีวิตประจำวันของคุณศราวุธ ตุ่นคำแดง
  • เรื่องปรากฏการณ์ผู้ป่วยจิตเวชชุมชนบ้านสระแก้วของคุณกิ่งกาญจนา เมืองโครต
  • เรื่องเสียงที่ไม่อาจสำเหนียก : กระบวนการตีตราผู้ป่วยจิตเวชหญิงในชุมชนของคุณอรชร โวทวี
  • เรื่องกระบวนการแสวงหาการรักษาพยาบาล : โลกวัฒนธรรมสุขภาพ การต่อรองเชิงอำนาจ และพหุลักษณ์ทางการแพทย์ของคุณสมศรี จังโสพานิช
  • เรื่องบทบาทของพ่อที่มีต่อลูกชายวัยรุ่นในเรื่องการดูแลและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ กรณีศึกษา : ชุมชนวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรีของคุณอมรรัตน์ โคตรมุงคุณ

"ข้าพเจ้าได้มีโอกาสนั่งฟังคุณจตุพร ผาสุขน้อยเล่าเรื่องภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ... สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นคือ ความใส่ใจในการค้นหาข้อมูล และการมองปัญหาของผู้ป่วยด้วยความลึกซึ้ง... ปกติคนทำงานอาจเพียงแค่ให้ยาบำบัด แต่นั่นไม่ใช่การเยียวยา หากจะต้องเป็นการเยียวยาคนทำงานพึงทำความเข้าใจด้วยหัวใจเพื่อใส่ใจในความรู้สึกและสภาพปัญหา

คุณจตุพร...ได้ติดตามและเฝ้ามองอย่างครุ่นคิดต่อสภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุอะไรบ้าง... ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลรอบด้าน และลงลึก เมื่อได้ข้อมูลของผู้ป่วยในลักษณะเช่นนี้แล้ว ผู้ให้การช่วยเหลือย่อมจะช่วยและเยียวยาผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง"

จากเรื่องเล่างานวิจัยเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เกิดการเรียนรู้ จากการนั่งฟัง...แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด แต่พอที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า ทัศนคติของผู้วิจัยที่มีต่อการทำงานวิจัยหน้างานของตนเองนั้น เป็นการทำด้วยหัวใจและความรู้สึกนึกคิดเชิงบวก เพราะผู้ที่จะทำงานวิจัยในลักษณะงานวิจัยเชิงคุณภาพนั้น สิ่งหนึ่งผู้วิจัยต้องเชื่อและศรัทธาต่อเรื่องราวของตนเองที่กำลังศึกษาโดยปราศจากอคติส่วนตัว... ดังนั้นการทำวิจัยของเขาและเธอเหล่านี้ เป็นเสมือนการพัฒนาในตนเองควบคู่ไปพร้อมกับกระบวนภายนอก คือ การตอบโจทย์ปัญหาหน้างานของตนเองนั่นเอง...

ลักษณะการทำวิจัยเชิงคุณภาพนี้ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นคุณค่าอย่างมากก็คือ การซึมซับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนจิตวิญญาณของกลุ่มตัวอย่างและบริบทที่ลงไปศึกษา...

จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า... การทำงานวิจัยแบบเล็กๆ ของคนหน้างานนี้ เป็นกระบวนการขัดเกลาทุกข์เพื่อให้ได้สัมผัสห้วงแห่งความสุข...ผ่านความคิดความเชื่อและศรัทธาในความเป็นมนุษย์...ด้วยความรู้สึกนึกคิดเชิงบวก การพัฒนางานประจำด้วยกระบวนการวิจัยนี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยขัดเกลาระดับจิตใจของคนทำงานให้มีความสุขและการดำรงอยู่อย่างมีความหมายมากขึ้นในชีวิตการทำงานที่ต้องคลุกคลีอยู่เกือบครึ่งชีวิต

________________________________________________________________________________

Note : อ่านเรื่องราว เรื่องเล่าเกี่ยวกับ R2R ได้ที่ tag รวมบันทึก

http://gotoknow.org/post/tag/r2r

 

..........................................

 

หมายเลขบันทึก: 192180เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2008 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดิฉันคิดว่า R2R ทำให้เกิดงานวิจัยเชิงวิชาการค่ะ ซึ่งมุ่งผลไปที่ publication แต่ R2R มุ่งผลไปที่พัฒนางาน อย่างไรก็ตามทั้งสองอย่าง มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาตามหลัก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค :)

สวัสดีค่ะอ.จัน :

  • กะปุ๋มก็เชื่อเช่นกันค่ะ... ต่างคือ เส้นทางการก้าวย่างสู่การแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจทุกข์ค่ะ... และระหว่างการเดินทางแล้วที่สุด "ภายใน" ของนักวิจัยจะเกิดปิติสุข... เพราะเขาต่างได้ผ่านพ้นต่อสภาวะภายในอันผลักดันมาจากภายนอก...
  • ขอบพระคุณนะคะ
  • ดูแลสุขภาพนะคะ

ด้วยความห่วงใย

(^_____^)

กะปุ๋ม

เพิ่งจะจบการเสนอผลงานโครงการ Patho OTOP3 ที่ภาควิชาพยาธิฯกันไปวันนี้ อ่านความคิดคุณกะปุ๋มในบันทึกนี้ถูกใจมากๆค่ะ รู้สึกเหมือนกันเลยว่า R2R แบบที่คนทำวิจัยทำเพราะตั้งใจจะศึกษาค้นหาทางแก้ปัญหาหน้างานอย่างเป็นระบบนั้น เมื่อทำๆไป คนทำจะได้ความอิ่มอกอิ่มใจเป็นรางวัล ต่างจากเวลาที่ตั้งเป้าจะให้เป็นผลงานทางวิชาการ

คิดไปแล้ว มันก็คือการทำเพื่อผู้อื่นกับทำเพื่อตัวเองนั่นเองค่ะ อย่างแรกมักจะสร้างความสุขใจให้คนทำมากกว่าเสมอ

คุณกะปุ๋ม ครับ

ผมมาตามอ่านบันทึกที่มีคุณค่าเหล่านี้ครับ ทราบเรื่อง R2R แต่ไม่มีโอกาสไปร่วม ผมจะมีเวลา humanized Health Care ที่ใต้ (สงขลา)อีกไม่นานนี้ ผมจะขอแรงนะครับผม

 

มากกว่าสิ่งอื่นใดควรคำนึงถึงความเป็นมนุษย์อันดับแรกครับผม...

               

ขอบคุณครับผม...

 

พี่โอ๋ :

  • ตื่นเต้นดีใจค่ะ...พี่โอ๋อ่านเรื่องของกะปุ๋มรู้เรื่อง 555 เพราะพี่โอ๋เป็นพี่สาวอีกคนที่บอกกะปุ๋มตรงๆ ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง 555 ดีใจค่ะดีใจ...
  • Patho OTOP และคนพยาธิเป็นอีกหนึ่ง สังคมที่กะปุ๋มมักเข้าไปเมียงมองและชื่นชม ยิ่งเมื่อวันที่ 2 กค ทีผ่านมาได้เจอ "หญิงกล้าหัวใจงาม"อย่างพี่ตา... นั่งฟังแทบไม่อยากลุกไปไหน เพราะโดนสะกดให้อยู่ด้วยเรื่องเล่าของพี่ตาค่ะ

คุณเอก :

  • สิ่งไหนดีงามร่วมทำด้วยค่ะ เพราะไม่รู้ว่าจะมีลมหายใจอยู่ไปอีกนานแค่ไหน...

คุณดิเรก :

  • Give Care Share ค่ะ หากว่าได้เจอสีตามที่ต้องการจะจัดการให้ตามเจตนารมย์นะคะ

(^____^)

ขอบพระคุณทุกท่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท