เปิดกรุสมองกล...ชุมชนนักปฏิบัติ (ความรู้ ๒ วิธีการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรยอมรับการเรียนรู้)


ทำงาน "เหนื่อย" แต่ก็ภูมิใจที่เกษตรกร...มองเห็นคุณค่า

     เนื้อหาสาระที่จะเขียนเล่าสู่กันฟัง ในเรื่องนี้เกิดขึ้นที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ชื่อ นายสุวิทย์  สันติเสรีวงศ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว  เรื่องการส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตในนาข้าวโดยใช้อินทรีย์ คือ สมุนไพร /ตัวห้ำ/ตัวเบียน/สารชีวภัณฑ์ 

     เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ดำเนินงาน เรื่องการส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตในนาข้าวโดยใช้สารอินทรีย์ ก็กลับมาคิดหาหนทางว่า "จะทำอย่างไร?ให้เกษตรกรเกิดการยอมรับและปฏิบัติตาม" และทำให้งานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติเกิดผลสำเร็จได้

     การลงมือทำงานจึงได้เริ่มจากหลักคิด คือ 1) ใช้วัสดุในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรทำเป็นอินทรีย์และใช้ในนาข้าวของตนเอง  2) การที่เกษตรกรจะยอมรับนั้น ต้องมาจากการพาไปดูงาน/เห็นของจริง แล้วให้เกษตรกรที่ทำแล้วได้ผลมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3) ต้องหาวิธีการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรเห็นด้วยและคล้อยตาม  และ 4) เราเป็นตัวเชื่อม/กระตุ้นให้เกษตรกร ได้ตัดสินใจ/ลงมือทำ

     การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่ชื่อ นายสุวิทย์  สันติเสรีวงศ์  ในเรื่องนี้จึงทำการประชุมชาวบ้านที่อาชีพทำงานในตำบลที่ตนเองรับผิดชอบ เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์และความคิดของชาวบ้านในเรื่องดังกล่าวโดยพูดคุยถึงสถานการณ์ของการทำนาอยู่ในปัจจุบันของชาวบ้านนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนี้  ปัญหาอุปสรรคที่พบเจอ  และแนวทางที่สามารถจะนำมาช่วยแก้ไขได้  และได้เล่ารายละเอียดของโครงการ  ผลดี/ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น  สุดท้ายก็ได้ชักชวนให้ชาวบ้านไปดูงานก่อน ๆ ที่จะตัดสินใจว่า "ทำ/ไม่ทำ, เอา/ไม่เอา"

     หลังจากนั้นก็ได้พาชาวบ้านที่สนใจไปดูงานที่เห็นผลสำเร็จจากการใช้อินทรีย์ในการทำนา และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะผลผลิตที่ได้รับนั้น "ได้ปริมาณผลผลิตไม่แพ้สารเคมี" และให้เกษตรกรที่ไปดูงานเรียนรู้จากเกษตรกรด้วยกัน  หมายความว่า "เกษตรกรเจ้าของแปลงเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้เอง" จึงทำให้เกิดความน่าสนใจว่า "เขาทำได้...ทำได้ผลด้วย...ทำได้ดีด้วย...น่าจะเอาเป็นตัวอย่างนะ"

     ต่อจากนั้นก็มาจัดเวทีประชุมชาวบ้านที่ได้ไปดูงานกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันที่เป็นการตัดสินใจในอาชีพทำข้าว โดยเจ้าหน้าที่ทำบทบาทของการยุแหย่/กระตุ้นให้เกษตรกรทดลองทำดูก่อนว่า "ได้ผลจริงมั้ย" และผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกษตรกรสนใจและอยากทดลองทำกัน

     การลำดับงานเพื่อพัฒนาอาชีพทำนาข้าวให้เกษตรกรได้ลดต้นทุนการผลิตจึงเกิดขึ้นโดยใช้วิธีการ "ทดลองปฏิบัติ" มีการทำซ้ำ ประมาณ 2-3 ครั้ง จนมั่นใจว่า ทำแบบนี้แล้วได้ผลจริง ๆ ซึ่งการสรุปผลนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้จัดเวทีให้ชาวบ้านมาร่วมกันคุย/มาร่วมกันเล่าในสิ่งที่ตนเองทำให้ฟัง และชาวบ้านก็เป็นผู้สรุปด้วยตนเองว่า "วิธีการลดต้นทุนในการทำนาโดยใช้อินทรีย์ ที่เป็นสมุนไพร/ตัวห้ำ/ตัวเบียน/สารชีวภันฑ์ นั้น...ใช้แล้วได้ผล"  ก็เกิดการยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้น และนำไปสู่การขยายผลให้กับชาวบ้านที่ทำนาด้วยกันกับรายอื่น ๆ ที่ชาวบ้านเป็นผูร่วมขยาย/ส่งเสริม

     ส่วนผลงานส่งเสริมการเกษตร ของ นายสุวิทย์  สันติเสรีวงศ์ ที่เกิดขึ้นก็คือ

       1. ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในนาข้าวได้เกือบทั้งหมด (กลุ่มเป้าหมาย)

       2. เกษตรกรทำนาข้าวโดยใช้วิธีการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้อินทรีย์ ทดแทนสารเคมี ติดต่อกัน 2-3 ฤดูกาลผลิต

       3. เกษตรกรที่ทำแล้วได้ผล  มีการขยายองค์ความรู้ (เทคโนโลยี) ไปสู่เกษตรกรด้วยกันเอง (รายอื่น ๆ)

       4. การส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรที่เกิดขึ้น มีหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมดำเนินงานกันเป็น "ทีมงาน"

       5. เกษตรกรยอมรับ "การใช้ปุ๋ยอักเม็ดชีวภาพ" เพราะทดลองใช้แล้วได้ผล

       6. เกิดโรงงานปุ๋ยอัดเม็ดชีวภาพ ประมาณ 2-3 โรง

       7. เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีการเกษตรที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้แนะนำ  และเกษตรกรยอมรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร  เพราะ "เห็นประจักษ์...ทำแล้วได้ผลจริง"

     สุดท้ายของการทำงานส่งเสริมการเกษตร ของนายสุวิทย์ สันติเสรีวงศ์ นั้น ก็ได้สร้างนวัตกรรมในการทำงานส่งเสริมการเกษตรกับชาวบ้านก็คือ

       1) วิธีการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อยอมรับเทคโนโลยี โดยใช้ "สื่อประสม" 

       2) วิธีการทำงานส่งเสริมการเกษตรของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกษตรกรยอมรับการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีก็คือ การใช้วิธีการทดลองทำ ซึ่งเป็นแนวคิดการวิจัยเชิงทดลอง 

       3) วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรมีบทบาทหลักก็คือ เป็นตัวกระตุ้น/เชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกร ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ

       4) กระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตรที่ได้ผลนั้นมาจากเจ้าหน้าที่ออกแบบงานก็คือ ขั้นที่ 1 ให้ข้อมูล/ข่าวสารกับเกษตรกร โดยใช้การประชุมกลุ่มเกษตรกรที่ทำนาข้าว  ขั้นที่ 2 ชักชวน/พาเกษตรกรไปดูงาน/ของจริง ที่เกษตรกรทำนาด้วยกันเองทำแล้วได้ผลจริง  ขั้นที่ 3 หาวิธีการหลาย ๆ วิธี/หลาย ๆ ช่องทาง เพื่อป้อนข้อมูล/เนื้อหา ให้เกษตรกรได้คิด วิเคราะห์ เพื่อตัดสินใจ  ขั้นที่ 4 ใช้วิทยากรเกษตรกร ที่ทำแล้วได้ผล เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน  ขั้นที่ 5 จัดเวทีปรึกษาหารือ เพื่อสรุปผลการตัดสินใจว่า "ทำ/ไม่ทำ...เอา/ไม่เอา" ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของกลุ่ม  ขั้นที่ 6 เกษตรกรลงมือปฏิบัติ เพื่อทดลองทำด้วยตนเอง ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ของ "โรงเรียนเกษตรกร" มาเป็นเครื่องมือ  ขั้นที่ 7 จัดเวทีสรุปผล โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสรุปผลถึงสิ่งที่เกษตรกรได้ทดลองทำนั้นเป็นอย่างไร? คือ ได้ผล/ไม่ได้ผล  ขั้นที่ 8 เกษตรกรทดลองทำซ้ำ เพื่อปรับแก้/พัฒนา/ยืนยืน ผลการปฏิบัติของตนเองที่ได้ทดลองทำ ที่เป็นความมั่นใจในผลที่ปรากฎ  และ ขั้นที่ 9 เกษตรกรขยายผลความสำเร็จของตนเอง สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ โดยใช้ผลงานของตนเองเป็นสื่อในการเรียนรู้

     ผลงานส่งเสริมการเกษตรของเจ้าหน้าที่ที่เกิดขึ้นและที่ได้ทำนั้น ต่างมีมูลค่าอยู่ในตนเอง และถูกฝังความมีคุณค่าอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นก็คงจะขึ้นอยู่กับ "วิธีการมองคุณค่าของมูลค่าผลงาน" ได้แม่นยำและฃชัดเจนแค่ไหน? มิฉะนั้น ก็จะเป็นได้แค่...ไก่ได้พลอย เท่านั้นเองค่ะ.

     นักส่งเสริมการเกษตร ที่ชื่อ นายสุวิทย์ สันติเสรีวงศ์ นัวิชาการส่งเสริมการเกษตร

     สำนักงานเกษตรอำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 192144เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2008 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท