สัปดาห์ที่ผ่านมา สวทช. ได้เชิญ Mr. Takao Ogiya ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรของญี่ปุ่นมาจัดฝึกอบรม ผมเห็นว่า มีเนื้อหาหลายส่วน ที่น่าจะมีประโยชน์ กับประเทศไทยในวงกว้าง จึงขอนำบางเรื่องมาเล่าต่อ ณ ที่นี้ครับ
ระบบสิทธิบัตรเป็นแนวคิดดั้งเดิมของชาติตะวันตก ที่มุ่งคุ้มครองผู้ประดิษฐ์คิดค้นเพื่อไม่ให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้ได้โดยง่าย สิทธิบัตรที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คงเป็นหลอดไฟของโธมัส อัลวา เอดิสัน
ไม่นานนัก ระบบสิทธิบัตรก็ได้เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในปี 1885 ญี่ปุ่นในสมัยนั้นยังเป็นประเทศเกษตรกรรม คนแรก ๆ ทึ่ให้ความสนใจจดสิทธิบัตรคือชายคนหนึ่งชื่อ ซากิจิ โทโยตะ (Sakichi Toyota) มีอาชีพเป็นชาวนา เขาเกิดปี 1867 เห็นแม่ทำนาตอนกลางวัน และทอผ้าตอนกลางคืน วัน ๆ ใช้เวลามาก ใช้ความอดทน และยากลำบาก แต่ก็ทอผ้าได้วันละไม่มาก
โทโยตะเห็นแม่ทำงานหนักทุกวัน ก็อยากประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือมาช่วยให้แม่สบายขึ้น จึงได้ประดิษฐ์เครื่องทอผ้าขึ้น ทำงานด้วยแรงมือ และพัฒนาต่อจนทำงานได้ดี เอาไปขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาพัฒนาเครื่องต่อ จนนำไปจดสิทธิบัตรในญี่ปุ่นได้ในที่สุด
เครื่องทอผ้าของโทโยตะ ยืมภาพมาจาก http://baba-english.at.webry.info/200701/article_7.html
จากนั้นเขาก็พัฒนาเครื่องทอผ้าของเขาต่อเรื่อยมา จนใช้ระบบไฟฟ้าให้ทำงานได้อัตโนมัติ ส่งไปขายอังกฤษ อเมริกา ได้เงินมากมาย ภายหลังอังกฤษสนใจผลงานนี้มากจึงเสนอซื้อสิทธิบัตรในอังกฤษทั้งหมด เป็นเงิน 1 ล้านเยน (ถ้าเป็นเงินสมัยนี้ก็คง 10,000 ล้านเยน)
รูปปั้นนี้ปั้นโดยภรรยาของซากิจิเอง ภาพยืมมาจาก http://nta.namcotravel.jp/user/tg3535/t2884/
ในบั้นปลายของชีวิต โทโยตะส่งลูกไปเรียนที่อเมริกา ลูกชายของเขาไปเห็นที่อเมริกามีคนใช้รถยนต์มากมาย เกิดจุดประกายความคิดขึ้น จึงกลับมาวิจัยและพัฒนาต่อยอด ฝ่าฟันความยากลำบากมากมาย และประสบความสำเร็จในปี 1935
จนกลายมาเป็นรถโตโยต้า รถยอดนิยมของคนไทยในวันนี้ี้