เด็กหนอน เด็กดักแด้ เด็กผีเสื้อ :หนึ่งแนวคิดในการบริหารกิจกรรมพัฒนาเด็กจากภาคสนาม


การจำแนกเด็กออกเป็นสามกลุ่มในช่วงปลายของโครงการนี้ ช่วยให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หนอน ดักแด้ และผีเสื้อ  เป็นวิธีการจำแนกกลุ่มเด็กที่ สยชช. ทำงานด้วย โดยพิจารณาจาก

1. ความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น

2.ความมีจิตอาสา

3. ระดับความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์และงานพัฒนาเด็กในท้องถิ่น ,

4.ความสามารถในการเป็นแกนนำเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ

ตามแนวทางดี เก่ง และมีความสุข

 

ผมมาจำแนกได้อย่างนี้ ก็อีตอนเขียนรายงานปิดโครงการ หนังสือทำมือ สื่อเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์สัมพันธ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ต้องขอบคุณแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อดทนรอ (แล้วรออีก) กับการเขียนรายงานของผม

 

การจำแนกแบบนี้ ไม่มีความซับซ้อนอะไร ข้อ 1 ถึง 4 เป็นเงื่อนไขที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน คือถ้าเด็กมีข้อ 1 เยอะ ข้อที่เหลือก็จะเยอะตามไปด้วย

 

ผมให้เด็กๆที่เป็นกรรมการช่วยกันพิจารณาการจำแนกด้วยว่าตัวพวกเขาน่าจะอยู่ในกลุ่มไหน ทุกกลุ่มมีความสำคัญ และสัมพันธ์กัน แต่ระดับของความคาดหวัง ภารกิจ และโอกาสความก้าวหน้าในสายงานต่างกัน ถ้าจำแนกชัดๆขึ้น เขาน่าจะได้รู้จักตัวเอง รวมทั้งสามารถวางเป้าหมายของตัวเองในการทำกิจกรรมได้ดีขึ้น รู้ตัวเองว่าเขาจะต้องเดินทางอีกเท่าไร เพื่อจะไปถึงจุดที่เขาต้องการ โดยมีเราคอยจุดไฟ กระตุ้น หนุนเสริม ให้คำแนะนำ และสร้างวินัยเชิงบวกให้เกิดขึ้นในตัวพวกเขาเอง

 

ส่วนตัวองค์กรเอง ก็จะรู้ว่าควรจะโฟกัสเรื่องอะไร ไปยังเด็กกลุ่มไหน ไม่สาดกิจกรรมและงบประมาณไปสะเปะสปะ เหมือนกับว่าเราได้ทำ Social Mapping ของเด็กๆขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

ขออธิบายเพิ่มในรายละเอียดของเด็กแต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ครับ

 

1.      กลุ่มแรก อาจเรียกเป็น เด็กหนอน คือกลุ่มที่เข้าร่วมทั่วไป เวลาจัดกิจกรรม ทางโครงการก็จะเชิญเข้าร่วม ผ่านการคัดเลือกของโรงเรียนและความเห็นชอบของเด็กกลุ่มที่ 3 เด็กกลุ่มนี้ถือเป็นเด็กกลุ่มใหญ่กว่าทุกกลุ่ม โครงการได้พยายามเน้นเด็กที่เคยร่วมกิจกรรมกันมาก่อน เพราะจะเข้ากันกับเด็กกลุ่มเก่าได้ดี และมีความรู้ความเข้าใจอยู่เป็นทุน แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีเด็กหน้าใหม่เข้าร่วม แต่ก็จำกัดปริมาณไม่ให้เกินกำลังงบและกำลังในการบริหาร

2.  กลุ่มที่สอง อาจเรียกเป็น เด็กดักแด้ คือกลุ่มที่เลื่อนชั้นมาจากกลุ่มหนอน  เป็นเด็กที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์และงานพัฒนาเด็กในท้องถิ่นมากขึ้น และเริ่มมีความสนใจที่จะทำงาน จิตอาสา ด้านนี้  เริ่มมีการถูกทดสอบให้ฝึกงานในกิจกรรมต่างๆ และทดสอบข้อเขียนในเรื่องต่างๆ บางส่วนรับกติกา จิตอาสาและการทดสอบไม่ได้ ก็ถอนตัวออกไป กลับไปอยู่ในเด็กกลุ่มหนอน หรือออกไปทำกิจกรรมอื่นตามความสนใจ

3.กลุ่มที่สาม อาจเรียกเป็น เด็กผีเสื้อ คือ กลุ่มเด็กที่ผ่านมาจากการเป็นเด็กกลุ่มหนอน และดักแด้ ลอกคราบ ปรับพฤติกรรมจนกลายเป็นเด็กกลุ่มผีเสื้อ สามารถเป็นแกนนำเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มี จิตอาสาแต่จะถูกวางเป้า และคาดหวังในการทำงานให้รับผิดชอบ และมีวินัยในการทำงานมากกว่าเด็กทุกกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการอบรม ให้ความรู้แล้วทดสอบทั้งภาคทฤษฎี (สอบข้อเขียน) และภาคปฏิบัติ (การเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมค่าย การติดต่อประสานงาน การนำเสนองาน) อย่างสม่ำเสมอ  รวมถึงมีกิจกรรมสัมพันธ์ภายในกลุ่มอย่างเช่น งานวันเกิด การออกกำลังกาย การพักผ่อนท่องเที่ยวด้วยกัน แต่ก็จะมีรายได้เสริม และการทัศนศึกษา ดูงาน ความรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ และการยอมรับจากสังคมเป็นแรงจูงใจ เด็กกลุ่มนี้เป็นเสมือนหุ้นส่วนในการบริหารโครงการ หมายถึงมีบทบาทในการช่วยกันลงความเห็นและกำหนดทิศทางการทำงานกับเด็กและกลุ่มคนในท้องถิ่น และต้องฝึกตัวเองเพื่อให้สามารถขึ้นมาเป็นนักจัดการโครงการในอนาคตต่อไปอีกด้วย

 

เด็กผีเสื้อ นี้มีอยู่ไม่มาก แม้ในปัจจุบันจะเพียงพอต่อภาระงาน แต่จำต้องสร้างให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสู้กับกระแสภัยสื่อที่ถาโถมเข้ามา เด็กผีเสื้อ นี้ถือเป็นผลลัพธ์เชิงกลไกที่สำคัญที่จะทำงานต่อยอดเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงด้านสื่อเด็กและเยาวชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป

 

การจำแนกเด็กออกเป็นสามกลุ่มในช่วงปลายของโครงการนี้ ช่วยให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่จะต่อยอดในระยะต่อไปของ สยชช. เป็นการจัดทัพเล็กๆ ในองค์กรที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายว่าจะเป็น role model หรือกำหนดเป็นมาตรฐานใดๆ เป็นกิจกรรมที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กๆได้ไม่เลว

 

เผื่อใครนำไปใช้แล้วได้ประโยชน์ อานิสงฆ์ก็อาจจะตกมาทางเด็กๆที่แม่ฮ่องสอนบ้างนะครับ



ความเห็น (4)

ปีนี้ผมพร้อมแล้วครับที่จะทำกิจกรรมในทำนองนี้อย่างจริงจัง
เพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้เล่าและบันทึกเรื่องราวของเขาและชุมชนด้วยวิธีของตนเอง  รวมถึงการนำผลผลิตนั้นไปเป็นสื่อเรียนรู้ในชุมชนของตนเอง

....

ยังไงก็ต้องขอรับคำแนะนำ
เลยขอทาบทามผ่านบันทึกนี้ไปก่อน

 

ผมก็เป็นหิ่งห้อยน้อยๆคอยส่องทางให้คนที่ต้องเดินทางกลางคืน ยังต้องอาศัยการศึกษาอีกมาก แต่ยังไงก็ยินดีเสมอครับ

ขอบคุณ น้องยอดดอย นะคะที่ช่วยจุดประเด็นความคิดบางอย่างให้พี่ ขอนำไปเก็บไว้เตือนความจำในอนุทินค่ะ

ผมต่างหากที่ต้องขอบคุณพี่ปิง "ผู้ให้ ต้องขอบคุณผู้รับ"ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท