เวทีเติมหัวใจให้สังคมชุมพร : วาระเด็กและเยาวชน (1)


เราได้เดินทางมาถึงบทสรุปที่ว่า “โรงเรียนสร้างฝัน” ก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ดี ศาลเด็ก, สถานสงเคราะห์, บ้านพักเด็ก, โรงเรียนสร้างฝัน ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Social Safety Net หรือ ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม เป็นการทำงาน “เชิงรับ” ที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ให้ลูกหลานของเราที่พลั้งพลาด ตกลงมาจากปากเหวกระแทกลงสู่พื้นอย่างสิ้นหนทางแก้ไข

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2551 เป็นครั้งที่สองที่พวกเราได้รับเชิญอย่างไม่เป็นทางการ มาพูดคุยกันในเรื่องของเด็กและเยาวชน โดย นายสมพงษ์ ฐิติสุริยารักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชุมพรแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นผู้นำในการเสวนา ก่อนหน้านั้นเราได้พบปะพูดคุยกันครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 3 มิถุนายน 2551 ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า เมื่อมองจากเหตุปัจจัย 3 ส่วนที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยง คือ ครอบครัว, ตัวเด็กเอง และสิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชนของเราวันนี้อยู่กับครอบครัวที่มี พ่อ-แม่ พร้อมหน้าพร้อมตาน้อยลง อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า เสี่ยง ถึง 70% และอยู่ในสภาวะปกติเพียง 30%

เมื่อเด็กและเยาวชนกระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้รับการตัดสินคดีความตามฐานความผิดที่ต่างกัน พวกเขาต้องถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้เป็น คนดี จะได้กลับสู่สังคมใหม่ในอนาคต แต่ทุกวันนี้...สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ได้รับการยืนยันชัดเจนว่า รับยาก เพราะเต็มจนล้นแทบทุกที่ เราจึงเริ่มต้นคุยกันในประเด็นว่า ทำอย่างไรจึงจะหา บ้านที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขฟื้นฟูเขาเหล่านั้น นอกเหนือไปจากสถานสงเคราะห์ที่เป็นปัญหา

อ.สุชิน บุญเพ็ญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสวีวิทยา ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ได้ดี เพราะท่านเป็นแกนหลักในการดำเนินงานโครงการ โรงเรียนสร้างฝัน หรือในชื่อเต็มว่า โครงการปรับปรุงข้อบกพร่องทางด้านการเรียนและพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนและเยาวชนแบบยั่งยืน จ.ชุมพร มาอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จากนั้นวงเสวนาก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่มีพฤติกรรมบกพร่อง ผลการเรียนไม่ผ่าน ติด “0”, “และมสหลายวิชา ไม่อยากเรียนหนังสือ เบื่ออาจารย์ที่สอน ไม่ชอบวิชาที่โรงเรียนสอน หนีเรียน และเที่ยวกลางคืน มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ไม่สามารถอบรมสั่งสอนได้ ฯลฯ

การแก้ไขและพัฒนาพฤติกรรมที่บกพร่องของนักเรียนจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องร่วมมือกัน ให้นักเรียนเห็นคุณค่าในตนเอง รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตระหนักในการเป็นทรัพยากรบุคคลที่ดี มีคุณภาพชีวิต และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตามความถนัด และความสนใจของผู้เรียน โดยใช้ โรงเรียนสร้างฝัน เป็นส่วนหนึ่งของทางออก

อย่างไรก็ตาม วงเสวนาของเราได้เดินทางมาถึงบทสรุปที่ว่า โรงเรียนสร้างฝัน ก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ดี ศาลเด็ก, สถานสงเคราะห์, บ้านพักเด็ก, โรงเรียนสร้างฝัน ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Social Safety Net หรือ ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม เป็นการทำงาน เชิงรับ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ให้ลูกหลานของเราที่พลั้งพลาด ตกลงมาจากปากเหวกระแทกลงสู่พื้นอย่างสิ้นหนทางแก้ไข

ถ้าเช่นนั้น การทำงาน เชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนของเราให้รอดพ้นจากสภาวะเสี่ยงในสังคมควรจะเป็นอย่างไร ?

การเสวนาครั้งที่ 2 จึงเป็นประเด็นสืบเนื่องโดยผมได้รับมอบหมายให้ ออกแบบ แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) มานำเสนอ โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากสมาชิกในกลุ่มของเรา

ผมเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ เครือข่ายคุ้มครองเด็กและเยาวชน ว่าควรจะมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท้องถิ่น, การศึกษา, กลุ่มพลังแผ่นดิน, เครือข่ายเด็กและเยาวชน, ขบวนการยุติธรรม โดยมี โรงเรียนสร้างฝัน เป็นองค์กรรูปแบบพิเศษบริหารงานในลักษณะนำร่อง เพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ในการฟื้นฟูนักเรียนที่มีพฤติกรรมบกพร่อง

ระบบอำนวยการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้ทำงานไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ใช้การตั้งคณะกรรมการ (Board) ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหัวหน้าพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นเลขานุการ ดังแสดงในภาพที่ 1

ในส่วนของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เราได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) เฉพาะเรื่องนี้ออกมาว่า ยกระดับความสามารถของ สังคมชุมพร ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน จากนั้นจึงได้ออกแบบรายละเอียดและการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ ออกมาเป็น 4 มิติ ตามหลักการจัดทำ แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ดังแสดงรายละเอียดในภาพที่ 2

เรื่องนี้เป็น หนังชีวิต ครับ... ต้องติดตามชมอย่างต่อเนื่องและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผลดีที่เกิดขึ้นตามมา คือ อนาคตของลูกหลานของเรานั่นเอง.

 

หมายเลขบันทึก: 189704เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท