การเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต (๒)


เมื่ออ่านแล้วต้องพยายามคิด หรือ ตีความต่อด้วยว่าแล้วเราจะทำอย่างไร

              การบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคตข้างหน้าอาจารย์วิจารณ์ให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นเช่นไร พูดอีกอย่างก็คือ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ ดังนั้นอาจารย์วิจารณ์จึงใช้วิธีชวนคิด ชวนคุยและตั้งคำถาม เพื่อให้ไปคิดต่อว่าเราควรจะทำอย่างไร

ประเด็นที่น่าสนใจว่าจะมีอะไรเปลี่ยนไปในอนาคตข้างหน้าคือ (เมื่ออ่านแล้วต้องพยายามคิด หรือ ตีความต่อด้วยว่าแล้วเราจะทำอย่างไร)

๑) สังคม และสภาพสังคม
            จะมีการเชื่อมและติดต่อกันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี (ผมเองคิดว่าโดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ท ที่ทำงานผมเดี๋ยวนี้จะส่งไฟล์ให้กัน แบบรวดเร็วทันใจ ก็ไม่ใช้
E-mail แล้วครับ ใช้ MSN กันเลย) มีการเคลื่อนย้ายของคนและนักศึกษา และเนื้อหาความรู้ก็สามารถหาได้จากทางอินเทร์เน็ท เช่นการค้นหาความรู้ด้วย www.google.com เป็นต้น

            อีกประเด็นที่สำคัญคือ ความรู้จะอยู่ในการทำงาน มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช้ศูนย์กลางของความรู้อีกต่อไป โดยเฉพาะความรู้ที่ได้มาจากการปฎิบัติ อาจารย์ยกตัวอย่างเครื่องมือที่ทันสมัยทางด้านการแพทย์ มักจะอยู่ที่โรงพยาบาลของเอกชน ก่อนที่จะมาอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ และภายใต้การใช้งานเครื่องมือเหล่านั้นก็มีองค์ความรู้อีกมากมายแฝงอยู่เป็นต้น

๒) การเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนไป

            ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น คนก็สามารถเรียนรู้เนื้อหา เองได้จากเวปไซด์ต่างๆ ฉะนั้นวีธีการสอนแบบที่สอนให้ได้เนื้อหาให้นักศึกษาจดจำเนื้อหา เพื่อเอามาสอบให้ได้อาจจะไม่ทันกับความรู้ที่เกิดขึ้น บางครั้งสิ่งที่ครู-อาจารย์รู้ยังอาจไม่ทันสมัยเท่าความรู้ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ทด้วยซ้ำ

สิ่งนี้จะทำให้ความหมายของการเรียนรู้เปลี่ยนไป จากการเรียนรู้เนื้อหา เป็นการเรียนรู้คุณค่า เรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ ที่สำคัญคือการเรียนรู้เพื่อที่จะซึมซับวิธีการเรียนรู้ และเรียนรู้ที่จะสร้างความรู้ ดังนั้นการสอนของอาจารย์ควรเน้นที่สร้าง ความรู้(Knowledge) ทักษะ (Skills) ทัศนคติ (Attitude) และที่สำคัญคือ จิตวิญญาณ (Spiritual) และเป็นหน้าที่อันสำคัญของอาจารย์ที่จะต้องบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้ากับ การจัดการเรียนที่สอนให้กับนักศึกษา

การทำหน้าที่สอนของครู-อาจารย์ต้องเปลี่ยนไป สิ่งนี้ต้องเปลี่ยนถึงระดับความเชื่อครับ ว่าครู-อาจารย์ไม่ได้เป็นผู้รู้ทั้งหมด มหาวิทยาลัยและครู-อาจารย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของความรู้อีกต่อไป ตรงนี้ทำให้บทบาทของครู-อาจารย์จะเปลี่ยนไปมาก จากเป็นผู้สอน กลายเป็นผู้อำนวย(Facilitate) ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา และพยายามปรับหรือสร้างให้เกิดระบบนิเวศของการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย

ครู-อาจารย์ยังต้อง กระตุ้น (Inspire) สร้างกำลังใจ และความเชื่อที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองให้กับนักศึกษาด้วย รวมทั้งต้องทำให้นักศึกษารู้จักกระตุ้น และสร้างกำลังใจให้กับตนเองในการเรียนรู้ เรียกว่าคล้ายกับสร้างจิตวิญาณของการเรียนรู้ให้อยู่ในตัวนักศึกษานั่นเอง

ครู-อาจารย์ถ้าอยากพัฒนานักศึกษาให้มีอัจฉริยะ ก็ขอให้เชื่อว่ามีนักศึกษาที่มีความอัจฉริยะอยู่ หรือตัวนักศึกษาคนนั้นเองก็มีความอัจริยะอยู่เช่นกัน ซึ่งความเป็นอัจฉริยะก็มีหลายด้าน ถ้าอาจารย์สามารถจัดการพัฒนาให้อัจฉริยะที่มีอยู่ในตัวนักศึกษาให้โดดเด่นขึ้นมา บางครั้งก็จะช่วยให้มีการพัฒนาความสามารถด้านอื่นๆให้เด่นมากขึ้นได้

วิธีการสอนวิธีหนึ่งที่พูดถึงในวันนั้นคือ Case Based Learning คือการเรียนโดยใช้กรณีศึกษา เพื่อฝึกให้นักศึกษาคิดและลงมือแก้ไขปัญหาเป็น และหากมหาวิทยาลัยมีจุดยืนของตนเองที่แตกต่างกัน ก็น่าที่จะมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันด้วย

ชั้นเรียนก็เปลี่ยนไป จะมีนักศึกษาหลายกลุ่ม หลายชาติ หลายวัฒนธรรม และหลายประสบการณ์ชีวติมาเรียนร่วมกันมากขึ้น เป็นโจทย์ที่ใหญ่สำหรับอาจารย์ครับ ว่าจะสามารถจัดการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายเหล่านี้ได้อย่างไร จะใช้ประโยชน์จากผู้ที่มีประสบการณ์หลายหลากแตกต่างกันได้อย่างไร

๓) ระบบอุดมศึกษา ก็เปลี่ยนไป
            ปัจจุบันที่นั่งเรียนมีมากกว่าจำนวนคนเรียน อาจเป็นผลให้เด็กไม่ได้ถูกคัดกรอง เด็กที่ต้องการเรียนก็จะได้เรียนทั้งหมด เป็นโจทย์ที่สำคัญว่า ครู-อาจารย์ จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร เมื่อผู้เรียนมีความแตกต่างกันมาก ทั้งเรีองทักษะและกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะการแข่งขัน การประเมินและการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็กำลังเข้มขันขึ้นทุกขณะ
            ตรงนี้ทำให้ผมเองขอตีความเองว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ภารกิจของมหาวิทยาลัยให้ชัด เพื่อจัดกระบวนการเรียน การสอน การบริหารงานต่างเพื่อสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น มหาวิทยาลัยต้องมีสิทธิเลือกวิธีการบริหารของตนเองครับ และการเลือกนี้ก็น่าจะลงถึงระดับคณะด้วย แต่ทั้งหมดทั้งปวงมหาวิทยาลัยก็ยังคงต้องสามารถตอบโจทย์และมาตรฐานของสังคมในเรื่องการประเมิน การจัดอันดับต่างๆให้ได้อยู่ด้วย คือการบริหารให้สำเร็จตามเป้าหมายของเรา แต่ต้องคำนึงถึงสังคมรอบข้างด้วย ตรงนี้อาจารย์วิจารณ์ว่าเป็นวิธีในการสร้างความแตกต่างให้กับมหาวิทยาลัยครับ

บทสรุปของการบรรยายนั้น เป็นการบรรยายแบบไม่บรรยายครับ คือไม่ได้มาบอก หรือมาพูดให้ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่มาชวนคิดครับว่า เราควรทำอะไรบ้าง ผมเองคิดว่าเป็นการบรรยายแบบ KM ในชนิดที่เรียกว่า ผู้บรรยายเป็นผู้อำนวยให้เกิดการแตกยอดทางความคิด ไม่ได้บอกให้เชื่อในสิ่งที่พูด แต่ชวนให้ลองคิด และลงมือทำแล้วค่อยเชื่อ

            ท้ายที่สุดขอขอบคุณ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ครับที่ได้กรุณาให้เกียรติกับทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มาชวนให้คบคิด และสร้างกำลังใจในการที่จะกลับไปทำงานเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 189640เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ อ.วิจารณ์ และ อ.มณฑล ที่ทำให้ผมเข้าใจ Case based learning มากขึ้น แล้วจะลองนำไปใช้ในหลักสูตรใหม่ของผมดูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท