โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนคราชสีมา

ผอ.ขอเล่าด้วยคน(๒๖)การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี บ้านและโรงเรียนร่วมมือกันได้อย่างไร


สิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมของนักเรียน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน ศาสนา สังคม สื่อต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ถ้าโรงเรียนและบ้านร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งแล้ว เชื่อว่านักเรียนจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี

  ในการประชุมผู้ปกครองที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดถึงความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียนในการที่จะร่วมมือกันพัฒนาลูก ๆ ของเราให้เป็นคนดี  จึงขอนำมาลงให้อ่านกันนะครับ

การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี

บ้านและโรงเรียนร่วมมือกันได้อย่างไร

                                นายศักดิ์เดช  กองสูงเนิน   

ผู้อำนวยสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล    (เพาะชำ)

>>>>>>>>>>>>>>>>>>><<<<<<<<<<<<<<<<<< 

                ถ้าจะถามว่าสิ่งที่ครูที่โรงเรียน  และพ่อแม่ผู้ปกครองทางบ้านมีความต้องการเหมือนกันเกี่ยวกับการอบรมบ่มเพาะนักเรียน  คำตอบก็คงจะคล้ายกันว่าต้องการให้บุตรหลานของเรา  เป็นคนดี  คนเก่ง  และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเรียกว่าเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั่นเอง  ดังนั้นเมื่อมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกัน  แต่ต่างกันโดยหน้าที่  โรงเรียนมีหน้าที่อบรมบ่มเพาะนิสัยที่ดี  ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ตามหลักสูตรกำหนด  ถ้าผ่านเกณฑ์การประเมิน  ก็จะได้รับประกาศรับรองการจบหลักสูตร  แล้วผู้ปกครองจะมีส่วนในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้อย่างไร

                การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีนั้นอาจทำได้หลายวิธี  เช่น

การช่วยสร้างค่านิยมที่ดี  การสร้างค่านิยมที่ดี  เป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่เป็นค่านิยมที่ดีของสังคม  ทำให้นักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  ซึ่งอาจทำได้โดย

๑.แสดงออกถึงความรัก  ถึงแม้ว่าบางครั้งพ่อแม่อาจจะเหนื่อยจนลืมที่จะแสดงความรักกับลูก  การสัมผัสลูบหัว ลูบหลัง การโอบกอด และบอกรักกับลูกเสมอเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ลูกทำสิ่งที่ไม่ดี

๒. ชมและให้กำลังใจ  การพูดเพราะ ๆ หรือให้คำชมเมื่อลูกทำดี  จะเป็นเสมือนสิ่งที่ตอกย้ำให้ลูกทำแต่ความดี  ถ้าลูกทำความดีมากควรให้รางวัลบ้าง  การให้รางวัล และคำชมเป็นการให้แรงเสริมทางบวก  เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่จะให้ลูกปฏิบัติแต่ความดี  ซึ่งมีเทคนิคการให้รางวัล เช่น

- ให้รางวัลที่ลูกชอบและสนใจ  เด็กวัย ๔-๕ ขวบ อาจชอบของเล่น แต่เด็กวัย ๖-๗ขวบอาจชอบคำชมเชย

- พ่อแม่ควรให้รางวัลทันทีที่ลูกทำความดี  เช่นลูกช่วยทำงาน  ลูกทำการบ้านโดยไม่ต้องบอก เป็นต้น

- พ่อแม่ควรสังเกตรางวัลที่ลูกชอบ  และต้องอย่าให้ลูกคิดว่าเป็นการให้สินบน

- ควรให้บ่อย ๆ พ่อแม่อย่าประหยัดคำชม ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะเหลิง  ความดีนั้นถ้าลูกยิ่งรู้สึกว่าพ่อแม่มองเห็น  เขาจะยิ่งปฏิบัติบ่อยขึ้นจนติดเป็นนิสัยที่ดีในที่สุด

๓. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก  เรื่องนี้มีผลเชิงประจักษ์ว่าพ่อแม่พูดเพราะ ลูกก็จะพูดเพราะ  พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ลูกก็จะไม่ทำ  พ่อแม่เข้าวัดไปทำบุญประจำ  ลูกก็มีแนวโน้มจะเป็นคนใจบุญแน่นอน

๔. ละเว้นพฤติกรรมที่ทำร้ายลูก  นักจิตวิทยาแนะว่ามี ๑๐ พฤติกรรมที่ทำร้ายลูก  ได้แก่

- ระบายอารมณ์กับลูกเมื่อคุณโกรธ

- ลงโทษลูกโดยไม่สอบถามเรื่องราวให้แน่ชัดก่อน

- ลงโทษลูกรุนแรงจนเกินเหตุ

- นำลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น 

- ตำหนิเมื่อทำผิด  แต่ไม่เคยชมเมื่อทำความดี

- ใช้คำพูดแรง ๆ ทำร้ายจิตใจลูก

- ทำให้ลูกอับอายต่อหน้าคนอื่น

- บังคับให้ลูกทำตามความต้องการโดยไม่มีเหตุผล

- รักลูกไม่เท่ากัน

- ขู่ว่าคุณจะไม่รักเมื่อลูกไม่ยอมทำตามที่คุณบอก

๕. การสอนให้ลูกซื่อสัตย์  เด็กสามารถแยกแยะเรื่องจริงออกจากเรื่องที่เพ้อฝัน  หรือเรื่องโกหกได้ตั้งแต่อายุ ๕-๖ ขวบ  และพ่อแม่มีส่วนสำคัญในการฝึกให้ลูกซื่อสัตย์ได้ ดังนี้

- ทำเป็นแบบอย่าง  การที่พ่อแม่ทำตามที่พูดเป็นแบบอย่างที่ดีโนเรื่องความซื่อสัตย์

- อย่าถามลูกว่า ใครเป็นคนทำ เพราะเด็กไม่กล้ารับผิด  โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีประสบการณ์ที่เคยถูกลงโทษเมื่อทำผิด 

- เมื่อลูกทำผิดและกล้าที่จะบอกความจริง  ควรกล่าวชมในความกล้าหาญ

- เมื่อดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือด้วยกันกับลูก  ควรใช้โอกาสนั้นอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และสิ่งที่เป็นจินตนาการซึ่งเป็นไปไม่ได้

- บางครั้งลูกเล่าเรื่องที่เป็นจินตนาการของตนเอง  อย่ามองว่าไร้สาระ  ผู้ใหญ่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ และช่วยอธิบายให้ฟังว่านั้นเป็นจินตนาการ

- อย่าหมายหัวว่าเป็น เด็กขี้โกหกการถูกมองว่าช่างโกหกตั้งแต่เด็ก  จะทำทำให้เด็กเสียความภาคภูมิใจในตนเองในระยะยาวได้

การสอนลูกให้เป็นคนดีนั้น  ไม่มีสูตรสำเร็จ  พ่อแม่ควรเป็นคนช่างสังเกต  ความชอบของลูกและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจริตของลูก  แต่ที่สำคัญสิ่งที่พ่อแม่กระทำนั้นต้องเป็นการทำได้ด้วยความรัก ความหวังดีอย่างแท้จริง  ย่อมสามารถพัฒนาลูกให้เป็นคนดี  เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว และสังคมประเทศชาติได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณ

 

คำสำคัญ (Tags): #การเลี้ยงลูก
หมายเลขบันทึก: 189584เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากการประชุมที่ผ่านมา ที่ท่าน ผ.อ.ได้บอกว่าถ้าอยากให้ลูกเป็นอย่างไรก็ให้พูดและบอกเขาอย่างนั้นให้ตลอด เช่น เด็กดีของแม่นะ ได้กลับนำไปใช้กลับลูกแล้วค่ะ แล้วเรื่องที่ผ.อ.นำมาลงวันนี้นับว่าเป็นความรู้ใหม่จะได้นำไปปรับใช้กับลูกและลูก ๆ ที่โรงเรียนท.4 ของเราด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท