อำนาจเปลี่ยนมือ


ว่าแต่ว่า ข้าราชการเราๆ ท่านๆ พร้อมหรือยังกับการเข้าสู่สังคมยุคใหม่ที่อำนาจจะถูกเปลี่ยนมือ พร้อมหรือยังกับบทบาทใหม่ในฐานะคุณอำนวย ในฐานะพี่เลี้ยง ฐานะนักวิชาการ ฐานะผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้ - - ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร แต่อย่าให้หลงบทบาทเสียละในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

วันนี้มีเหตุให้ได้มานั่งอ่านทบทวนกฎหมายที่ผมเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่ง ๓ ฉบับ อีกวาระหนึ่ง
พ.ร.บ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ และ
ระเบียบกรมการพัฒนาชุมชน ว่าด้วยการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๔

โดยที่ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน (ศอช.) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Community Organization Network (Co - Net) คือ องค์กรที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางประสานการทำงานขององค์กรชุมชนและครือข่ายในชุมชน ให้สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลผลประโยชน์ซึ่งกันและกันรวมพลังในการจัดการพัฒนาชุมชน และเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่จะทำงานเคียงคู่ไปกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในระเบียบนี้
องค์กรชุมชน หมายความว่า กลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งมารวมตัวกัน เพื่อดำเนินกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้น โดยมีการจัดระเบียบข้อบังคับของการรวมตัวกัน การอยู่ร่วมกัน การปฏิบัติต่อกันและมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างเป็นระบบในชุมชน

เครือข่ายองค์กรชุมชน หมายความว่า กลุ่มองค์กรชุมชนที่สมัครใจรวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อผลประโยชน์ขององค์กรชุมชนในกลุ่มนั้น โดยมีการจัดรูปแบบหรือจัดระเบียบโครงสร้างที่คนหรือองค์กรสมาชิกยังคงมีความเป็นอิสระความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน


ขณะที่
พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑
ซึ่งให้เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับว่า ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรมเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับนี้
ชุมชน หมายความว่า กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกัน หรือดำเนินการอื่นอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้

ชุมชนท้องถิ่น หมายความว่า ชุมชนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่หมู่บ้านหรือตำบล

ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หมายความว่า ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

องค์กรชุมชน หมายความว่า องค์กรซึ่งเป็นการรวมของชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งจดแจ้งการจัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะจัดตั้งกันขึ้นเองหรือโดยการแนะนำหรือสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน

ผู้นำชุมชน หมายความว่า ประธานกรรมการของชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือชุมชนอื่น หรือหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นผู้นำของชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือชุมชนอื่นในลักษณะเดียวกัน


ขณะที่
พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
ได้ให้เหตุผลของการแก้ไขเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สามารถส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมโดยองค์กรภาคประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของสมาชิก และเกิดระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคมและชุมชน ตลอดจนการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายการจัดสวัสดิการชุมชน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและการพึ่งพาตนเองของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้ให้ความหมายของคำนิยาม
องค์การสวัสดิการสังคม หมายความว่า หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ และองค์กรสวัสดิการชุมชน" (จากเดิม องค์การสวัสดิการสวัสดิการสังคม หมายความว่า หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์)

องค์กรสวัสดิการชุมชน หมายความว่า องค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่สมาชิกในชุมชน หรือปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมของเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชน และได้รับการรับรองให้ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมตามพระราชบัญญัตินี้

ชุมชน หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกัน หรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน

เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชน หมายความว่า องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรสวัสดิการชุมชนมากกว่าหนึ่งองค์กรเพื่อร่วมมือ ประสานงาน และเชื่อมโยงในการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรสวัสดิการชุมชนในทุกระดับ


ขณะที่ข้อกำหนดและระเบียบ ก.ส.ค. ที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.ข้างต้น ก็ได้ให้คำนิยามที่เกี่ยวข้องบ้างเช่นกัน
องค์กรภาคประชาชน หมายความว่า องค์กรซึ่งเป็นการรวมของประชาชนในชุมชนโดยประชาชนจัดตั้งกันขึ้นเองหรือโดยการแนะนำหรือสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐ เอกชน องค์การเอกชนหรือองค์การพัฒนาเอกชน

องค์กรภาคเอกชน หมายความว่า องค์กรที่มิใช่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรอื่นของรัฐ และเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไรในการดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม

เมื่อเห็นเหตุผลของการตรากฎหมายระบุชัดอย่างนี้ เห็นนิยามความหมายสำคัญเป็นอย่างนี้ ก็คงพอเดาทิศทางออกไปได้บ้างกระมังครับว่าเนื้อหาของกฎหมายจะได้กำหนดระบบ และกลไกการใช้กฎหมายไว้อย่างไร (นิยามความหมาย กำหนดผู้รับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ การบริหารกองทุน ฯลฯ)

 

กฎหมายกับการเป็นเครื่องมือ ?

ถ้าเรามองว่ากฎหมายคือเครื่องมือ ก็คงต้องถามต่อไปอีกว่าเครื่องมือของใคร
เป็นเครื่องมือของข้าราชการ เพราะข้าราชการจะดำเนินการใดๆ ย่อมต้องมีกฎหมาย ระเบียบรองรับ ก็หมายความว่าเป็นเครื่องมือของเป็นเครื่องมือของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) โดย ก.ส.ค. และ พอช. ตามลำดับ หรือ

เป็นเครื่องมือของชุมชน คนในพื้นที่ ในการดำเนินกิจกรรมได้ด้วยความสบายใจ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการรับรองว่า ไอ้ที่ชาวบ้านทำกันมาโดยตลอดจากรุ่นสู่รุ่น (ซึ่งรัฐจะรับรู้รับทราบด้วยหรือไม่ก็ตาม) นั้นได้รับการรับรองว่าชอบด้วยกฎหมาย (แน่นอนว่ารัฐย่อมจะกำหนดเงื่อนไขให้ยุ่งยากพอควรซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนที่ชาวบ้านต้องจ่าย อย่างน้อยก็แสดงหลักฐาน รายละเอียด และอีกสารพัดแบบกรอกข้อมูล ที่ไม่มีทางที่ตาสา หรือยายมา จะอ่านรู้เรื่อง)


ผมว่าถ้ามองกันอย่างนี้ คิดกันอย่างนี้ รูปแบบการดำเนินกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านจะเปลี่ยนไปนะครับ

แต่เมื่อครั้งอายุยังไม่ถึงวัยเกณฑ์ทหารจนบัดนี้ เราได้ยินคำพูดสวยงามทำนองว่า; กระจายอำนาจ การถ่ายโอนอำนาจ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน การจัดสวัสดิการโดยชุมชนเพื่อชุมชน การมีส่วนร่วมเป็นคนละเรื่องกับความร่วมมือ หรือแม้กระทั่งตัวเลข ๒๕% ก็ได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาโดยตลอด แต่ก็เหมือนว่าจะผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นอยู่ในเวทีดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการเท่านั้น

ผมว่ายุคนี้ สมัยนี้แหละครับ ที่เหมือนว่าเริ่มจะออกดอกออกผลกันอย่างเต็มที่แล้ว - - ชาวบ้านในชุมชนเริ่มจะใช้สิทธิ ใช้เสียง มีพื้นที่ในสื่อมากขึ้น (ไม่นับรวมการสร้างเครือข่ายระหว่างกันโยงใยไปทั่วประเทศ)

บทบาทคุณอำนวย ช่วยให้ชาวบ้านเสียงดัง

มาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งที่มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมและดูงานในพื้นที่ชุมชนบางโรง ป่าคลอก จ.ภูเก็ต เมื่อปลายปีที่แล้วไม่ได้

ด้วยความชื่นชมในผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม ทั้งการออม และการจัดสวัสดิการชุมชน ทำเป็นเล่นไปครับ วิทยากรผู้บรรยายบอกว่า สมาชิกในกลุ่มมีมติเห็นชอบมอบเงินให้กับ อบต. ในพื้นที่ปีละไม่ใช่น้อย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชุมชน และผลการดำเนินงานโดยทั่วไปก็คงไม่ต่างกับหลายต่อหลายชุมชนทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นต้นแบบของการจัดสวัสดิการชุมชน ที่จัดบริการและพัฒนาระบบประกันความมั่นคงให้กับสมาชิกตั้งแก่เกิดจนถึงหลังการตาย - - โดยไม่ต้องง้อรัฐ ว่าอย่างนั้นเถอะ

เมื่ออำนาจมันกลับหัวกลับหางเช่นนี้ ก็ต้องคิดต่อละครับว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น

เห็นเงียบๆ ไม่มีใครถามเลยชวนคุยหน่อยนึง
ถามผู้นำชุมชนแบบกวนๆ (ยอมรับละครับว่าเล่นแบบกวนๆ เพราะลุงที่เป็นวิทยากรเองก็หัวเราไปด้วยกับคำถาม) ไปว่า
ผมถามจริงๆ เพราะเงินหรือเปล่าครับ ทำให้เราเสียงดัง เพราะคนมีเงินมักจะเสียงดัง - - ในสังคมที่เคารพเงินตรา
หรือว่าเพราะมวลชน ความเข้มแข็งของชุมชน การเป็นปึกแผ่นของชาวบ้านหรือเปล่าครับที่ทำให้เราเสียงดัง

ถามว่า เราเสียงดังกันอย่างนี้แล้ว (เพราะเงิน เพราะคุณธรรม เพราะมวลชน เพราะความจริงใจ หรือเพราะ ฯลฯ)  มันดีกว่าอำนาจเก่าอย่างไร ดีกว่ารัฐ ดีกว่าระบราชการ ดีกว่า อบต. อบจ. อย่างไร

ดีกว่าในความหมายว่า วัฒนธรรม ประเพณี จารีต แนวปฏิบัติต่างจากระบบราชการอย่างไร
ผมว่าตรงนี้น่าสนใจนะครับ การรวมกลุ่มจากชาวบ้าน บริหารแบบชาวบ้าน มีฐานคิดแบบชาวบ้าน มีการจัดการแบบชาวบ้าน

ที่ผมถามอย่างนั้น เพราะกลัวครับ ผมกลัวอย่างที่สุดว่าสักวันนึงจารีตกระแสหลัก (จากระบบราชการ - - เข้าใจว่าถ้าเป็นไปได้จะนำเข้าโดยผ่านระบบที่ปรึกษา) จะเข้าไปครอบงำรูปแบบการบริหารจัดการแล้วในที่สุดก็อาจจะทำให้ง่อยเปลี้ยเสียขาไปได้ครับ

มันเป็นความงดงามนะครับ ที่ชุมชนบริหารจัดการเอง แม้กระทั่งข่าวที่ปรากฏว่าหลายชุมชนปฏิเสธเงินสนับสนุนจากภาครัฐ (ที่ให้เปล่า) เพราะเกรงว่าจะไปทำลายความเข้มแข็งของระบบสวัสดิการชุมชน แต่ละที่แต่ละแห่งจะมีกลไลการป้องกันระบบจากกระแสหลักในรูปแบบที่แตกต่าง หลายแห่งพัฒนาทดลองใช้เบี้ยของชุมชนเองในการจับจ่าย

เปล่าหรอกคร้บ ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้คำตอบจากท่านหรอกครับ คำถามมันโผล่เข้ามาในหัวตอนนั้น เพียงเพราะจะเอาไปคิดต่อเท่านั้นเอง

คำตอบจากคุณลุงวิทยากรชาวบ้านน่ารักครับ
ทำได้ - จ่ายจริง
วงแคบ - ดูแลได้ลึกซึ้ง ชัด เร็ว ด่วน ตรงเป้า

ลุงถามผมกลับว่า
ขวดน้ำติดฉลาก อย. ทำไมบางขวดมีฝุ่น ระบบงานของเราไม่สนใจโล่รางวัล ไม่ต้องมีป้ายรับประกัน แต่เรารู้เองว่าน้ำมันสะอาดหรือเปล่า อย. จึงอยู่ที่ใจ รู้อยู่เองว่าสะอาดหรือสกปรก

(ผมไม่ลืม เพราะผมจดไว้ในสมุดบันทึกการดูงาน - - ฮา)


ถึงตรงนี้ เราคงพอนึกออกมังครับว่า
เหตุใดนักการเมือง ข้าราชการ หรือใครที่เคยอยู่ในอำนาจถึงกลัวเสียงของชาวบ้าน
ผมไม่แน่ใจว่า ความกลัวเช่นว่านี้จะเป็นดังเช่นความกลัวของเพศชายที่มีต่อสถานะและบทบาททางสังคมของเพศหญิงที่รุกคืบเข้ามาทุกขณะหรือเปล่า


ว่าแต่ว่า ข้าราชการเราๆ ท่านๆ
พร้อมหรือยังกับการเข้าสู่สังคมยุคใหม่ที่อำนาจจะถูกเปลี่ยนมือ
พร้อมหรือยังกับบทบาทใหม่ในฐานะคุณอำนวย ในฐานะพี่เลี้ยง ฐานะนักวิชาการ ฐานะผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้


ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร แต่อย่าให้หลงบทบาทเสียละในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 

บ่าวเตือนแล้ว แต่ก็มิได้นำพา
(ฮา)

 

 



ความเห็น (3)

Co-Net = Counseling Network

เรื่องอื่นคงไม่นำพา

เพราะความสามารถมีไม่ถึง

ขอบคุณ คุณหมูน้อย

ที่แวะมาเยี่ยมเยียนและนำพา (ในบางส่วน)

พี่โหมงคะ อำนาจเปลี่ยนมือ เรื่องนี้น่าสนใจค่ะ แต่พี่โหมงก็พูดเรื่องกฎหมายและเรื่องชุมชนไปเยอะ หนูสรุปและเชื่อมโยงยังไม่ได้--ได้ไม่ดี รบกวนขอพี่โหมงสรุปสั้นๆ สัก 4-5 บรรทัดได้ไหมคะ ว่าด้วยเรื่องอำนาจเปลี่ยนเมือ ขอบคุณหลายๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท