การจัดการองค์ความรู้เรื่องยาสามรากในการบำบัดรักษาผู้เสพ/ติดยาเสพติด


ยาสามราก

การจัดการองค์ความรู้เรื่องยาสามรากในการบำบัดรักษาผู้เสพ/ติดยาเสพติด

โดย มนัญญา ไวอัมภา ส่วนวิชาการด้านยาเสพติด สพป.

ความสำคัญของการจัดการความรู้เรื่องยาสามราก

                   ประเทศไทยใช้ภูมิปัญญาไทเพื่อบำบัดรักษายาเสพติดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่อใช้บำบัดรักษาอาการที่เกิดจากการเสพฝิ่น  ซึ่งประกอบด้วยการใช้ยาสมุนไพรหลากหลายชนิดและหลากหลายวิธีการเตรียมยา  รวมทั้งการใช้วิธีการและรูปแบบต่างๆ ตามวิถีไทย อันได้แก่ การนวด ประคบ การอบสมุนไพร การถือสัจจะ และกิจกรรมฝึกจิต สมาธิตามวิถีพุทธหรือวิธีการตามหลักศาสนาอื่นๆ

ภูมิปัญญาไท หมายถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี การปฏิบัติ และความหลากหลายทางชีวภาพที่

มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งบริบทของการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก

ภูมิปัญญาไทเป็นความรู้และความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรม เป็นความรู้ที่ผ่านการปฏิบัติ บอกเล่าปากต่อปากของ บรรพบุรุษและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของแต่ละท้องถิ่น

                   สำนักงาน ป.ป.ส. ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑)  เป็นทางเลือกที่นอกเหนือจากการบำบัดรักษาตามระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน (แบบ

ตะวันตก)  ทั้งด้านการใช้ยาเพื่อบำบัดอาการติดยาเสพติดและอาการข้างเคียง   รวมทั้งกระบวนการ และรูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ  ด้วยฐานคิดการจัดการความรู้เพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีคนไทย  รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของชาติในการพึ่งตนเองด้านยาอีกด้วย

                   ๒)  เป็นการพัฒนากระบวนการบำบัดรักษาที่ชุมชนซึ่งเป็นฐานรากในการแก้ไขปัญหายาเสพติดสามารถดำเนินการดูแลผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด โดยความสมัครใจของผู้เสพ/ผู้ติดและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง เครือญาติ  แพทย์พื้นบ้าน  และสมาชิกชุมชน 

 

                   สมุนไพรตำรับหนึ่งซึ่งมีการใช้บำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดตามวัด หรือการบำบัดโดยแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน  คือ ตำรับยาสามราก ซึ่งประกอบด้วย  โลดทะนงแดง พญารากเดียว และพญาไฟ  ปัจจุบันมีการใช้ตำรับยาสามรากในหลายพื้นที่ โดยมีขนาดการใช้ วิธีเตรียมยา และใช้บำบัดการเสพ/ติดยาเสพติดหลากหลายชนิด  โดยก่อเกิดองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ถึงฤทธิ์และผลของการใช้ยาสามราก และองค์ความรู้เชิงสังคมของแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านซึ่งเป็นความรู้เฉพาะตัวบุคคล

  สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางในการอำนวยการและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการ

บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ จึงเห็นความสำคัญในการศึกษาถึงตำรับยาสามราก ว่ามีพิษหรือไม่อย่างไร  สำนักงาน ป.ป.ส. ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการใช้ยาสามรากในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดหรือไม่  ซึ่งการหาคำตอบดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งด้านการเก็บข้อมูล  การออกแบบ กำหนดเครื่องมือในการทดลอง/พิสูจน์ และขั้นตอนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์  โดยในขั้นต้น สำนักงาน ป.ป.ส. โดย สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงดำเนินการจัดการองค์ความรู้เรื่องยาสามรากที่ยังกระจัดกระจายอยู่ตามตัวบุคคล ตามแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆต่อไป

         

องค์ความรู้เกี่ยวกับตัวยา[๑]

                   ยาสามรากที่ใช้กันโดยทั่วไปพบว่ามีโลดทะนงแดง ปลาไหลเผือก และพญาไฟ  ซึ่งมีโลดทะนงแดงเป็นยาตัวหลัก และพบว่าเป็นยาที่มีเอกลักษณ์ตรงกันในแต่ละพื้นที่ที่มีการใช้ยาสำหรับปลาไหลเผือกยังไม่สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ได้ว่าปลาไหลเผือกในแต่ละพื้นที่เป็นพืชสมุนไพรชนิดเดียวกันหรือไม่  รวมทั้งพญาไฟที่ยังขาดการพิสูจน์เอกลักษณ์และสายพันธุ์ของพืชสมุนไพร 

                   งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาสามรากมีการศึกษาในด้านเคมี และยังไม่มีการศึกษาตัวยาเพื่อผลของการบำบัดรักษาผู้เสพ/ติดยาเสพติด

                   ตัวยาเดี่ยว

                   โลดทะนงแดง  เป็นสมุนไพรที่ใช้แก้พิษ เช่น พิษงู  จากการศึกษาด้านพิษวิทยาโลดทะนงแดง  มีสภาวะเป็นพิษ เมื่อบดยาจะทำให้ผู้บดเกิดอาการคัน มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน การศึกษาโครงสร้างทางเคมีพบว่าวิธีการเตรียมยาที่ต่างกันจะพบโครงสร้างทางเคมีที่ต่างกันด้วย  การบดหรือฝนยาร่วมกับน้ำผู้ดื่มยาจะได้รับสารพิษที่เกิดจากผงของตัวยา ซึ่งเมื่อทดลองในหนูทดลองพบว่าโลดทะนงแดงมีผลทำให้เกิดเนื้องอก  แต่ถ้าเป็นวิธีการต้มหรือแช่น้ำไว้จะไม่มีอันตรายจากพิษ  นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพื่อพัฒนาทางเคมีเพื่อใช้โลดทะนงแดงเป็นยาฆ่าแมลงโดยบริษัทยาของสหรัฐอเมริกาด้วย 

ฤทธิ์ของตัวยามีความแตกต่างกันตามอายุของตัวยา ซึ่งวัดได้จากขนาดของท่อนยาสมุนไพร

นอกจากนี้การสกัดตัวยาด้วยน้ำจะปลอดภัย แต่หากสกัดด้วยแอลกอฮอล์  หรือการที่ชาวบ้านอาจใช้เหล้าดองยาจะส่งผลให้ตัวยาเป็นพิษ

                   ปลาไหลเผือก เป็นสมุนไพรที่มีการใช้มานาน มีฤทธิ์แก้ไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาลาเลีย การหายาตัวนี้ต้องขุดรากออกมาจึงเป็นยาที่หายาก   ในตลาดการค้ามีการขายยาปลอม  การเก็บตัวอย่างการใช้ในพื้นที่อาจไม่ใช่ยาจริง  จากการทดลองด้านพิษวิทยาผลการสกัดตัวยาโดยใช้แอลกอฮอล์เมื่อทดลองในหนูพบว่าเป็นพิษต่อตับและไต  และจากการทดลองให้ยาแก่หนูในระยะ ๓ ๕ เดือน พบว่าผลต่อเนื้อเยื่อของตับและไตเพิ่มขึ้น

                   พญาไฟ มีฤทธิ์ร้อนทำให้อาเจียน ขับผายลม  และระบาย  ปัจจุบันยังไม่ทราบสายพันธุ์ที่แท้จริง  ต้องมีการพิสูจน์เอกลักษณ์ทางสายพันธุ์ก่อน  และจึงสืบค้น/ศึกษาต่อไปถึงเรื่องพิษวิทยา

บทบาทของยาสามรากกับการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด :  กรณีศึกษาการใช้ยาสามรากในพื้นที่

                   สำนักงาน ป.ป.ส. ได้สำรวจและเก็บข้อมูลการใช้ยาสามรากของวัดต่างๆ ประกอบด้วย

                   ๑) สำนักแม่ชีวัดเขาพระ  อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

                   ๒) วัดป่านาคำ อำเภอกุฉินารายณ์  จังหวัดกาฬสินธุ์

                   ๓) วัดบ้านใหม่ศิริวัฒนาราม  อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท

                   ๔) วัดพานิชวนาราม อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

                   ๕) วัดบ้านไร่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

                    ๖) วัดพุน้ำทิพย์ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

                   จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่าวัดต่างๆ ใช้ยาสามรากบำบัดยาเสพติดแตกต่างกัน

รายละเอียดได้แสดงไว้ตามภาคผนวก

บทวิเคราะห์องค์ความรู้

                   รูปแบบการใช้ยาสามราก

                   จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่าการใช้ยาสามรากในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดมีความแตกต่างในแต่ละสถานบำบัด โดยแตกต่างกันในมิติต่าง ๆ ได้แก่

๑)  ประเภทยาที่ใช้บำบัด  พบว่าใช้บำบัดยาเสพติดหลายประเภท ทั้งบุหรี่ สุรา  สารระเหย

เฮโรอีน ยาบ้า เอ็กซ์ตาซี โคเคน

๒)  รูปแบบการเตรียมยา/ขนาดการใช้

แตกต่างกัน ทั้งการฝนกับน้ำและดื่มแบบผสมให้เจือจาง หรือฝนกับน้ำดื่มแบบข้น  บดเป็น

ผงด้วยเครื่องบดเพื่อบรรจุแคปซูล การแช่ในน้ำเพื่อให้ยาละลายกับน้ำและดื่มแบบเจือจาง   และยังมีการเติมเกลือลงในยาด้วยเพื่อฤทธิ์ในการขับถ่าย

๓)  ระยะเวลาการกิน  มีตั้งแต่ให้ยาครั้งเดียวแล้วให้กลับบ้าน  การให้ยาต่อเนื่อง ๒ ๓ วัน

หรือมีระยะเวลา ๗ ๑๕ วัน ขึ้นกับระยะเวลาการติดยาเสพติด โดยติดยาเสพติดมานานให้ยาสามรากหลายวัน  โดยเวลาการให้ยายังแตกต่างกันบางวัดให้ยาก่อนอาหารเช้า และบางวัดให้ยาในเวลาเย็นโดยให้หลังอาหาร

๔)  แหล่งที่มาของยา  หาตัวยาจากป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่

จัดหาให้และมีการซื้อยาจากประเทศลาว

๕) การใช้กระบวนการบำบัดอื่น  มีการใช้ยาสามรากควบคู่กับการตั้งสัจจะ  การปฏิบัติธรรม

การออกกำลังกาย และการฝึกอาชีพ

การพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับยาสามรากเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด

                    จากการที่มีการใช้ยาสามรากแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่  การศึกษาวิจัยเรื่องยาสามรากจึงจำเป็นจะต้องศึกษาในประเด็นของความปลอดภัยในการใช้ยา (พิษวิทยา)  ตามลักษณะการใช้  ซึ่งความปลอดภัยจะขึ้นอยู่กับรูปแบบและปริมาณการใช้  โดยสามารถกำหนดแผนการศึกษาวิจัย ๓ ส่วน ได้แก่ 

๑.  การพิสูจน์เอกลักษณ์พืชสมุนไพร

การพิสูจน์เอกลักษณ์พืชสมุนไพรมีความจำเป็นเนื่องจากในแต่ละพื้นที่ของประเทศ

ไทยเมื่อเอ่ยถึงยาสามราก จะมีคนให้คำจำกัดความของตัวยาเดี่ยวแตกต่างกัน นอกจากนี้ในตัวของตัวยาเดี่ยว สมุนไพรนั้นอาจมีชื่อเรียกเหมือนกันแต่เป็นสมุนพรคนละชนิด เช่น พญาไฟของภาคกลางไม่ใช่พืชชนิดเดียวกับพญาไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น เมื่อจะศึกษาเกี่ยวกับยาสามรากต้องศึกษาในพืชสมุนไรที่มีองค์ประกอบของพืชชนิดเดียวกัน และจำเป็นต้องศึกษาการพิสูจน์เอกลักษณ์ก่อน

๒.  ศึกษาการใช้ยาสามรากในพื้นที่ : เก็บข้อมูลเชิงลึกและติดตามผลการ

บำบัดรักษา

จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าหากจะศึกษาการใช้ยาสามรากในพื้นที่จำเป็นต้องศึกษาโดย

การเก็บข้อมูลเชิงลึกในวัดที่มีการบำบัดรักษา  

                             คุณสมบัติของวัดที่จะเก็บข้อมูล

-มีการบำบัดต่อเนื่อง มีคนไข้ประจำและพักค้างที่วัด 

-เป็นวัดที่ใช้ยาสามราก  กรณีเฉพาะโลดทะนงแดง  ปลาไหลเผือก และพญาไฟ 

โดยต้องผ่านการพิสูจน์เอกลักษณ์ให้ตัวยาตรงกันทุกวัด  

-เป็นวัดที่ยินดีให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล 

 

โดยการเก็บข้อมูลต้องออกแบบเครื่องมือให้ครอบคลุมและละเอียด  ใช้ระยะเวลา

เก็บข้อมูลไม่ต่ำกว่า ๓ เดือน ต้องเก็บข้อมูลทั้งด้านรูปแบบการเตรียมยา กระบวนการบำบัดรักษา ประสิทธิภาพการบำบัด    ข้อมูลของผู้ป่วยผู้เข้าบำบัดรักษา  และติดตามผลการบำบัดรักษาด้วย

                             ๓.  การศึกษาพิษวิทยาตำรับยาสามราก

                             การศึกษาอีกประเภทหนึ่งคือการศึกษาพิษวิทยาทั้งตำรับยา และตัวยาเดี่ยว  ศึกษาสารสกัด โดยแยกศึกษาทั้งสารละลาย และตะกอนยา  เพื่อศึกษาถึงการดูดซึม  ผลในด้านการอาเจียน   การเป็นพิษต่อเซลล์และยีนส์  เป็นต้น โดยมีขั้นตอนการศึกษาด้านพิษวิทยา ๓ ขั้นตอน คือ

                             ๓.๑  งานวิจัยทางพรีคลินิก ประกอบด้วย

                                      ๑)  ศึกษาและจัดทำระบบข้อมูลของยาสามรากทุกด้าน

                                      ๒)  ศึกษาเพื่อสร้างมาตรฐานพืชสมุนไพร (Monography)

                                       ๓)  ข้อกำหนดทางเภสัชเวท

                                      ๔)  พิสูจน์เอกลักษณ์ทางเคมี

                                      ๕)  การศึกษา Toxicity ในสัตว์ทดลอง (In vivo)

                                                -Acute  toxicity

                                                -Subacute  toxicity

                                                            -Chronic toxicity

                                              ๖)  การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

                                                -Metabolism and hepatotoxicity

                                                            -Teratogenicity

                                                            -Genotoxicit and carcinogenicity

                                                            -Neuropharmacology

                                                            -Ancillary pharmacology:adverse effect on

 CVR,respiratory system,gastrointestinal system,etc.

                                            ๗)  การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีความคงตัว

๓.๒  งานวิจัยทางคลินิก

                                      ๑)  งานติดตามการเลิกยาของผู้เสพ/ติดยาเสพติดที่ใช้ยาสามราก ณ สถานบำบัดอย่างเป็นระบบ : ประสิทธิภาพ อาการข้างเคียง อาการพิษที่เกิดขึ้น และคุณภาพชีวิต

                                      ๒)  งานวิจัยเต็มรูปแบบทางคลินิกเปรียบเทียบกับยาและวิธีมาตรฐานที่ใช้อยู่

                                      ๓)  งานวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคม

                                      ๔)  วัฒนธรรมการรักษาผู้เสพ/ติดยาเสพติดโดยใช้ยาสามราก

๕)  การวิจัยคุณภาพชีวิตของผู้เสพ/ติดยาเสพติดที่บำบัดแล้ว

                    

บทสรุป

คำสำคัญ (Tags): #ยาสามราก
หมายเลขบันทึก: 188286เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2008 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท