เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจังหวัดแพร่


บันทึกแรก

          เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จ.แพร่   มีเป้าหมายในการรณรงค์ลดการบริโภคหวาน อาหารว่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ผลักดันให้เกิดนโยบายโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ  มีการขับเคลื่อนตั้งแต่ ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน  ครอบคลุมโรงเรียน 52 โรงเรียน  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ทำให้ค้นพบสิ่งดีๆ กิจกรรมดีๆ ในด้านการสร้างสุขภาพที่ดี      แก่เยาวชนใน จ.แพร่  การดำเนินงานของเครือข่ายมีทั้งระดับจังหวัดและพื้นที่ โดยใช้หลักการสร้างสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวา คือ พัฒนานโยบายสาธารณะ การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี การพัฒนาทักษะบุคคล  การเสริมความเข้มแข็งการทำงานในชุมชน และปรับระบบบริการสาธารณสุขโดยการปรับกระบวนทัศน์การทำงานในการเสริมสร้างพลังชุมชน  การดำเนินงานของเครือข่ายระดับจังหวัดเป็นลักษณะการสนับสนุนการทำงานของพื้นที่ เริ่มจากการหาสภาพปัญหา สาเหตุ เพื่อค้นข้อมูลให้กับชุมชน  หลังจากนั้นจะมีกระบวนการสร้างแกนนำระดับพื้นที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่  โดยมีการพัฒนาศักยภาพแกนนำในการทำงานร่วมกัน การสร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมวางแผนกิจกรรมในการแก้ปัญหา  การรณรงค์สร้างกระแสระดับจังหวัด  การสนับสนุนทางวิชาการ และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้   และที่สำคัญ คือ การติดตามประเมินผลแบบเสริมพลัง

บทบาทของโรงเรียนที่ผ่านมา มักออกมาตรการหรือมาตรฐานแบบกว้างๆ ครอบคลุมทุกเรื่อง ทำให้ยากที่จะเห็นผลในทางปฏิบัติ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จึงมีการทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายที่จะควบคุมการบริโภคน้ำอัดลม และอาหารว่างที่ไม่มีประโยชน์ในโรงเรียน        โดยการพัฒนานโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียน นักเรียน ชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก่อให้เกิดนวัตกรรมลดการบริโภคหวาน ส่งผลให้เด็กแพร่สุขภาพดี  ดังนี้

1)      การสร้างนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2)      การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เช่น การขายและจัดอาหาร/ขนมที่เอื้อต่อสุขภาพ ที่ดี

3)      จัดกระบวนการเรียนรู้ บูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และจัดตั้งชมรมเด็กไทย           ไม่กินหวาน

4)      สร้างกระแสประชาสัมพันธ์ทั้งในโรงเรียนและชุมชน

5)    ใช้ขุมพลังชุมชนในการพัฒนาสุขภาพ เช่น การผลิตขนมอ่อนหวานจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน การจัดทำน้ำสมุนไพร ผลไม้พื้นบ้าน วิทยากรพ่อแม่

 

หมายเลขบันทึก: 187877เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2008 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท