NOC : ลงนาม MOU กับ อบต.


กระบวนการสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนนี้ ได้ดำเนินการมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว

ในปีการศึกษา ๒๕๕๑ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนและการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน หรือที่เรียกย่อๆ ว่า NOC ปัจจุบันน่าจะเป็น NOC3 แล้ว โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของแผนงานสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการพยาบาล สภาการพยาบาล มี รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร เป็นผู้จัดการแผนงานฯ ทำงานคู่เคียงกับคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ จาก สสส.

กระบวนการสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนนี้ ได้ดำเนินการมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ดิฉันคิดว่าเริ่มต้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอื่นในภาคอิสาน 

ดิฉันรู้สึกชื่นชมอาจารย์ขนิษฐาและคุณดวงพรอย่างมากที่มุ่งมั่นและแน่วแน่ในการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่เคยแสดงความเป็นเจ้าของ เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีหน่วยงานอื่นทำคล้ายๆ แบบนี้ มีหลายคนพูดถึงการทำงานสร้างพยาบาลชุมชนเสมือนเป็นเจ้าของ original idea จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทั้ง ๒ ท่านมีแต่ความยินดีที่มีคนมาช่วยกันทำงาน

โครงการของอาจารย์ขนิษฐาและคุณดวงพร มีการดำเนินงานที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการรับนักศึกษาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และไม่ใช่เพียงการรับเข้ามาแล้วจบเรื่องกัน มีอีกหลายส่วนที่สถาบันการศึกษาต้องทำงานกับ อปท. และ รพช. เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน รวมทั้งการจัดกิจกรรมสำหรับนักศึกษาที่ได้รับทุน เพื่อให้เขามีความผูกพันและสมรรถนะพร้อมต่อการกลับไปทำงานตอบสนองความต้องการของพื้นที่

อาจารย์ขนิษฐาและคุณดวงพร ได้ทำการสังเคราะห์ความรู้หลายเรื่อง ตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายเล่ม เช่น ๓ ประสาน : อปท.-รพ.-สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน, ๖ ระบบหลักเพื่อการสร้างพยาบาลของชุมชน, สุขภาพชุมชน: จากแนวคิดสู่ปฏิบัติการ, ระบบการดูแลสุขภาพชุมชน: แนวคิด เครื่องมือ การออกแบบ ฯลฯ

เมื่อดิฉันมารับหน้าที่คณบดีที่ มวล.ใหม่ๆ ได้รับเชิญให้ไปประชุมเรื่องนี้ ฟังการชี้แจงแล้วรู้ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง แต่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก จึงตกลงใจเข้าร่วมโครงการด้วย เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๐ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ โดย ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล ได้ทำความร่วมมือและรับนักศึกษาจาก อบต. ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ๘ แห่งเข้ามาเรียน แต่ยังไม่ได้มีกระบวนการอะไรต่อ ดิฉันจึงผนวกเด็กกลุ่มแรกนี้เข้าโครงการ NOC ด้วย

กว่าเราจะตั้งตัวดำเนินการได้ก็อาจจะช้าไปหน่อย พยายามอ่านงานที่ต้องทำแล้วคิดว่าควรทำอย่างไรตามความเข้าใจ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เราออกจดหมายสอบถามความสนใจของ อปท. เขตจังหวัดภาคใต้ตอนบนรวมไปถึงเพชรบุรีด้วยและเชิญมาประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับโครงการจำนวน ๖๔๓ แห่ง ตอนนั้นตื่นเต้นกันว่าจะมีคนมาประชุมไหม ปรากฏว่ามี อปท. ตอบกลับว่าสนใจ ๗๕ แห่ง จะมาประชุมตามที่นัดหมาย ๙๒ คน แต่พอถึงวันประชุมจริงๆ ในวันที่ ๒๖ มีนาคมมีผู้มาเข้าประชุม ๔๙ คนจาก ๔๐ อปท. อาจารย์ขนิษฐาและคุณดวงพรได้กรุณามาชี้แจงกับผู้เข้าประชุมด้วยตัวเอง

หลังจากจัดประชุมชี้แจงโครงการแล้ว เราสอบถามไปอีกครั้งว่าพื้นที่ไหนสนใจจะเข้าร่วมโครงการบ้าง จะเข้าร่วมในปีการศึกษาใด เนื่องจากปีนี้ค่อนข้างกะทันหัน เราจึงรับนักศึกษาได้ ๔ คนจาก ๓ อบต.คือ อบต.ไทยบุรี อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช แห่งละ ๑ คน และ อบต.ตะปาน จ.สุราษฎร์ธานี ๒ คน

ปีการศึกษา ๒๕๕๒ มี อปท. ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่ รวม ๖ แห่งแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการ และปีการศึกษา ๒๕๕๓ มี อปท. ๑ แห่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแสดงความจำนงเอาไว้

เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๓๐ น.มีพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในโครงการนี้ ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน โรงพยาบาลท่าศาลา ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ลงนามประกอบด้วย รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดิฉันในฐานะคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ดาบตำรวจการุณ พุทธคุ้ม นายก อบต.ไทยบุรี นายอุเสน อนันทขาลรองนายก อบต.ปากพูน ปฏิบัติราชการแทนนายก อบต.ปากพูน น.พ.กิตติ รัตนสมบัติ ผอ.รพ.ท่าศาลา โดยมี น.พ.นพพร ชื่นกลิ่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เกียรติลงนามเป็นพยาน

ในพิธีดังกล่าวมีนักศึกษา ๒ คนที่ได้รับทุน พร้อมทั้งบิดามารดา มาร่วมด้วย

เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๓๐ น.มีพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในโครงการนี้ ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับองค์การบริหารส่วนตำบลตะปาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ สำนักงาน อบต. เอง มีดิฉัน นายวิทยา ศรีภิรมย์มิตร นายก อบต.ตะปาน น.พ. พงศ์ปณต คงชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าโรงช้าง และ น.พ.จรัสพงษ์ สุขกรี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงนามเป็นพยาน

ทาง อบต.ตะปานใช้วันที่มีการประชุมสภา อบต. เป็นวันลงนามความร่วมมือ เพื่อให้เป็นที่รู้ทั่วกัน และยังมีสาธารณสุขอำเภอ ทีมจาก สปสช.เขตพื้นที่สุราษฎร์ธานีมาเป็นเกียรติ เราให้นักศึกษา ๒ คนที่ได้รับทุนมาร่วมรับรู้เหตุการณ์ ดิฉันเองก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของ อบต.ไปด้วย

นายก อบต.ตะปานกล่าวว่าตนเองภูมิใจมาก วันนี้เป็นวันเริ่มต้น ต่อไป อบต.จะดำเนินการขยายกรอบอัตรากำลังคน มหาวิทยาลัยจะให้วิชาการ สั่งสอนนักศึกษาทั้ง ๒ คนให้กลับมาทำงานรับใช้ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน อบต.จะสนับสนุนทุกอย่างทั้งทุนและกำลังใจ รพช.ก็จะให้การสนับสนุน

การลงนามใน MOU เป็นเพียงขั้นตอนแรกๆ ยังมีงานอีกมากที่ต้องดำเนินการ การทำงานที่รับทุนจากภายนอกก็มีลักษณะอีกแบบ ถึงเวลาเจ้าของทุนจะติดตามทวงให้ส่งงานเป็นระยะๆ ดิฉันได้อาจารย์อุไร จเรประพาฬ ช่วยเป็นเลขาฯ คอยดูแลประสานงานกับอาจารย์ท่านอื่นๆ และประสานกับ อบต. ให้งานทุกเรื่องเป็นไปตามกำหนดเวลา

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 187729เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท