BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

มารยาท, มรรยาท


มารยาท, มรรยาท

สองคำนี้ยังมีใช้ทั่วไปในภาษาไทย ขณะที่หนังสือรุ่นก่อนๆ เคยเห็นแปลกออกไปเช่น มริยาท มรยาท มฤยาท หรือ มาริยาท อีกด้วย ซึ่งความหมายก็ไม่แตกต่างกัน...

ถ้าพิจารณาตามสำนวนไทยๆ ผู้เขียนคิดว่า  คำทั้งสองนี้ มีความหมายแคบกว้างต่างกันไม่แน่นอนนัก ขึ้นอยู่กับบริบทซึ่งเป็นคำอื่นๆ ที่เข้ามาประกอบด้วย เช่น

  • นังคนนั้น เป็นคนไม่มีมารยาท
  • ลูกหลานของคุณหญิงทุกคนล้วนเป็นคนมีมารยาท
  • จำไว้ ไปอยู่บ้านเค้า ต้องหัดเป็นคนมีมารยาท
  • พวกสถุล ไร้มารยาท

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ คำว่า มารยาท หมายถึง กิริยาอาการทางกายวาจาที่เหมาะสมกับสถานภาพและสังคมนั้นๆ นั่นคือ คำนี้มีความหมายเชิงบวกอย่างเดียวเท่านั้น...

 

ส่วนอีกนัยหนึ่งนั้น ลองมาพิจารณาข้อความทำนองว่า

  • สะใภ้บ้านโน้น มารยาททรามจริงๆ
  • มารยาทที่ดีคือ ต้องรู้จักผู้ใหญ่ผู้น้อย เป็นต้น
  • มารยาทจะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนและความสำนึกของแต่ละคน

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ มารยาท จะเป็นคำกลางๆ หมายถึงกิริยาอาการทั่วไปเท่านั้น จะต้องเพิ่มคำประเมินค่า เช่น ดี ชั่ว เลว ทราม ถูก ผิด... เข้าไปด้วยเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ...

..........

มารยาท (มรรยาท) ในภาษาไทย เป็นคำที่มาจากบาลีว่า มริยาทา (สันสกฤตว่า มรฺยาทา ) โดยคำนี้แยกศัพท์ได้ว่า ปริ + อา + ทา = มริยาทา และอาจตั้งวิเคราะห์ได้ว่า

  •  ปริฉินฺทิตฺวา อาทาตพฺพาติ มริยาทา
  • กิริยาใด อันคนดีทั้งหลาย ควรกำหนดแล้วถือเอา ดังนั้น กิริยานั้น ชื่อว่า มารยาท (ควรกำหนดถือเอา)

 

ตามนัยนี้ มารยาท จึงแปลว่า ควรกำหนดถือเอา ... อธิบายว่า กิริยาอาการทางกายวาจา เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน และพูด เป็นต้น เมื่อเราเข้าสู่ไปสู่ประชุมชนใดๆ หรืออยู่ในสังคมใดๆ ก็ตาม เราต้องพิจารณา กล่าวคือกำหนดสถานภาพของตนเอง ผู้อื่น และสิ่งรอบข้างอื่นๆ  แล้วจึงแสดงกิริยาอาการทางกายวาจาออกไปให้เหมาะสมในขณะนั้นๆ... ถ้าทำได้ดังนี้ จึงเรียกว่า มีมารยาท มรรยาทดี คือ มีการกำหนดแล้วถือเอากิริยาอาการของตนเองตามความเหมาะสม...

........

อนึ่ง สำหรับนักบาลีบางท่านอาจฉงนกับการทำตัวว่า ปริ + อา + ทา จะมาเป็นคำว่า มริยาทา ได้อย่างไร จึงขอขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย...

ปริ เป็นอุปสัค ความหมายเบื้องต้นแปลว่า รอบ (ปริญญา = รอบรู้) แต่ความหมายสูงขึ้น ปริ ก็อาจแปลว่า กำหนด ได้ในบางครั้ง (ปริญญา = กำหนดรู้)

 ทา รากศัพท์ ใช้ในความหมายว่า ให้ ... เมื่อมี อา อุปสัคนำหน้าซึ่งใช้ในการกลับความหมายเดิม (อา + ทา) ดังนั้น จาก ให้ จึงกลับความหมายเป็น ถือเอา .. (ตัวอย่างอื่นก็เช่น คม แปลว่า ไป ... เมื่อเป็น อาคม ก็กลับความหมายเดิมแล้วแปลว่า มา )

ปริ + อา + ทา นั้น ครั้งแรกจะเป็น ปริอาทา ...  ท่านว่าแปลง ป.ปลา เป็น ม.ม้า ก็จะได้เป็น มริอาทา ... และ ลง ย.ยักษ์ อาคมก็จะได้เป็น มริยาทา 

จากบาลีว่า มริยาทา (หรือสันสกฤตว่า มรฺยาทาแต่เมื่อมาเป็นคำไทยในปัจจุบัน ก็กลายเป็น มารยาท หรือ มรรยาท 

เหตุผลหนึ่งในการเปลี่ยนอักษรทำนองนี้ ซึ่งคล้ายคลึงกันทุกภาษาทั่วโลกก็คือ เพื่อประโยชน์แก่การออกเสียงให้สะดวกยิ่งขึ้นนั่นแล ....

 

 

หมายเลขบันทึก: 187534เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2008 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท