..ว่าด้วย.. ข้อค้นพบในงานวิจัย ที่ 2


การดำเนินการของรัฐไทยในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริม สิทธิในสุขภาพ ในฐานะรัฐภาคีภายใต้กติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศ

1.      กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil Political Rights)

รัฐไทยกับพันธกรณี

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ICCPR โดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยหลักการแล้ว รัฐภาคีต้องส่งรายงานประเทศฉบับแรกภายในปีแรกนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ และทุก 5 ปี หลังจากการส่งรายงานฉบับแรก หรือเมื่อมีการร้องขอจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ประเทศไทยเพิ่งส่งรายงานเพียงแค่ฉบับเดียว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำรายงานฉบับที่ 2 โดยการรับผิดชอบของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

การดำเนินการของรัฐไทย

ในส่วนการดำเนินการของรัฐไทยในการรับรองโอกาสของพลเมืองในการเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตน รัฐไทยได้รายงานถึงเพียงแค่การรับรองโอกาสในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่านั้น

 

2.      กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights)

รัฐไทยกับพันธกรณี

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ICESCR โดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2542 และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยหลักการแล้ว รัฐภาคีต้องส่งรายงานประเทศฉบับแรกภายในปีแรกนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ และทุก 5 ปี หลังจากการส่งรายงานฉบับแรก หรือเมื่อมีการร้องขอจากคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

การดำเนินการของรัฐไทย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินงานของรัฐไทย นักวิจัยยังไม่อาจเข้าไปศึกษาได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยส่งรายงานประเทศต่อคณะกรรมการ นับจากที่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้

 

3.      อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination)

รัฐไทยกับพันธกรณี

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CRC โดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2546 และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 โดยหลักการแล้ว รัฐภาคีต้องส่งรายงานประเทศฉบับแรกภายในปีแรกนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ และทุก 4 ปี หลังจากการส่งรายงานฉบับแรก หรือเมื่อมีการร้องขอจากคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

การดำเนินการของรัฐไทย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่เคยส่งรายงานประเทศต่อคณะกรรมการ นับจากที่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ และปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำรายงาน โดยการรับผิดชอบของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

 

4.      อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women)

รัฐไทยกับพันธกรณี

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CEDAW โดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2528 และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยหลักการแล้ว รัฐภาคีจำต้องส่งรายงานประเทศฉบับแรกภายในปีแรกนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ และทุก 4 ปี หลังจากการส่งรายงานฉบับแรก หรือเมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการ

ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ส่งรายงานฉบับที่ 4 และ ฉบับที่ 5 ซึ่งรวมส่งเป็นฉบับเดียวกัน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์และแนวทางปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยต่ออนุสัญญาดังกล่าว ระหว่างปี พ.ศ. 2538 – 2545 นักวิจัยได้ใช้รายงานประเทศฉบับนี้ทำการศึกษาการดำเนินการของรัฐไทยในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

การดำเนินการของรัฐไทย

ตามรายงานการดำเนินการของรัฐไทย ภายใต้บทบัญญัติ ข้อที่ 12 ที่ว่าด้วยเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการรักษาสุขภาพ กล่าวว่า ในขณะนั้น (พ.ศ. 2545) ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการสร้างระบบการบริการด้านสาธารณสุขภายใต้การปฏิรูปดังกล่าวแก่ คนไทย ทุกเพศทุกวัย ที่รู้จักกันในนาม โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ในรายงานกล่าวถึงสิทธิประโยชน์ที่ คนไทย ทุกคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือแม้แต่เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี นอกจากนี้ ยังให้สิทธิครอบคลุมไปถึงคนพิการ พระสงฆ์ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน ทหารผ่านศึก และบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาท/เดือน[1]

สังเกตได้ว่า จากการรายงานแนวปฏิบัติของประเทศไทยตามอนุสัญญาดังกล่าวในข้อที่เกี่ยวกับสุขภาพ สตรีในที่นี้ มีความหมายเพียงแค่ สตรีที่เป็นคนไทย เท่านั้น แต่หากไม่มีการกล่าวถึง สตรีกลุ่มอื่นๆ เช่น สตรีที่เป็นคนบนพื้นที่สูง หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

และแม้ว่าช่วงเวลานั้นรัฐไทยจะมีแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ (พ.ศ. 2545 – 2549) ที่พยายามพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับทุกคนนั้นก็ตาม ในความเป็นจริง หลักประกันสุขภาพที่เกิดขึ้นครอบคลุมเพียงแค่คนสัญชาติไทยที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น อีกกว่า 3.2 ล้านคน[2] ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงโครงการหลักประกันสุขภาพดังกล่าวได้[3]

ข้อสังเกตของคณะกรรมการ

และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้คณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นนี้กลับมา โดยสรุป คือ คณะกรรมการมีความกังวลต่อสถานการณ์ของสตรีที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงสตรีที่เป็นชาวเขา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสตรีกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น คณะกรรมการจึงเห็นควรเป็นอย่างยิ่งที่รัฐไทยจะมีมาตรการมารองรับ เพื่อให้สตรีกลุ่มนี้ได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างพอเพียงและเท่าเทียม[4]

 

5.      อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention of the Rights of the Child)

รัฐไทยกับพันธกรณี

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CRC โดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535 และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2535 โดยหลักการแล้ว รัฐภาคีต้องส่งรายงานประเทศฉบับแรกภายใน 2 ปีนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ และทุก 5 ปี หลังจากการส่งรายงานฉบับแรก

นักวิจัยได้ทำการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ จากรายงานของประเทศไทยฉบับล่าสุดที่ได้ส่งต่อคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ตามบทบัญญัติ ข้อที่ 24 ในอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นการรายงานการดำเนินงานของรัฐไทยในช่วงปี พ.ศ. 2538 – 2541

การดำเนินการของรัฐไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตราที่ 82 ได้ระบุว่ารัฐไทยต้องจัดหาการบริการทางสาธารณสุขให้แก่บุคคลทุกคน เพราะสิทธินี้ถือว่าเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคม นอกจากนี้ การกำหนดสิทธิในรัฐธรรมนูญแล้ว ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 และ 8 ก็ยังมีความพยายามในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เพื่อให้บุคคลทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี[5]

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ในประเด็นของการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ เช่น พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544, พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545, พรบ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546[6]

ประเทศไทยยังได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดหาสวัสดิการให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง ในช่วงปี พ.ศ. 2545 – 2548 เป็นจำนวนเงิน ดังนี้

-         ปี พ.ศ. 2545 เป็นจำนวน 27.93 ล้านบาท

-         ปี พ.ศ. 2546 เป็นจำนวน 24.64 ล้านบาท

-         ปี พ.ศ. 2547 เป็นจำนวน 27.84 ล้านบาท

-         ปี พ.ศ. 2548 เป็นจำนวน 26.98 ล้านบาท[7]

ข้อสังเกตของคณะกรรมการ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยังมีความกังวลต่อปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะในระดับภูมิภาค และเด็กที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็มักจะไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ คณะกรรมการมีเสนอให้รัฐไทยดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อรับรองความเท่าเทียมกันในเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของเด็กทุกคนในประเทศไทย รวมไปถึงเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย[8]



[1] 2004, “Combined fourth and fifth periodic reports of States parties, THAILAND”, Consideration of Reports submitted by State Parties under Article 18 of the Convention, Committee on the Elimination of Discrimination against Women, Unites Nations, pp. 73, para. 210-211

[2] บุคคลเหล่านี้ได้แก่

1)        ชนกลุ่มน้อยและชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทย

2)        คนสัญชาติไทยที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน

[3] 2005, “Reponses to the list of issues and questions for consideration of the combined fourth and fifth periodic report, THAILAND”, Committee on the Elimination of Discrimination against Women, Unites Nations, pp. 19, para. 21

[4] 2006, “Concluding comments of the Committee on the Elimination of Discrimination against Women, THAILAND”, Committee on the Elimination of Discrimination against Women, Unites Nations, pp. 5, para. 33-34

[5] 2005, “Second periodic reports of States parties due in 1999, THAILAND”, Consideration of Reports submitted by State Parties under Article 44 of the Convention, Committee on the Rights of the Child, Unites Nations, pp. 71, para. 340-341

[6] 2005, “Written replies by the Government of THAILAND concerning the list of issues (CRC/C/THA/Q/2) received by the Committee on the Rights of the Child relating to the consideration of the second periodic report of THAILAND (CRC/C/83/Add.15)”, Committee on the Rights of the Child, Unites Nations, pp. 40

[7] 2005, “Written replies by the Government of THAILAND concerning the list of issues (CRC/C/THA/Q/2) received by the Committee on the Rights of the Child relating to the consideration of the second periodic report of THAILAND (CRC/C/83/Add.15)”, Committee on the Rights of the Child, Unites Nations, pp. 4, structural plan no. 8

[8] 2006, “Concluding observations of the Committee on the Rights of the Child, THAILAND”, Consideration of Reports submitted by State Parties under Article 44 of the Convention, Committee on the Rights of the Child, Unites Nations, pp.13, para. 51-52 and pp. 18, para. 68-69

หมายเลขบันทึก: 187421เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2008 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท