หมอบ้านนอกไปนอก(70): วิทยานิพนธ์


การจัดหาบุคลากรในอนาคตสำหรับพื้นที่เฉพาะเหล่านี้ต้องคัดคนในพื้นที่ไปเรียนและต้องเรียนในพื้นที่ด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ไปเรียนในเมืองใหญ่จนสูญเสียความเคยชินกับชีวิตชนบทไปแล้วก็ไม่อยากกลับมาทำงานที่เดิม

 อากาศอุ่นขึ้นมาอีกแล้ว ฝนจางหายไป บรรยากาศได้แสงแดดมาช่วยสร้างความสดใสในสัปดาห์ที่ 38 แต่ผมต้องอ่านวิทยานิพนธ์ของคุณสมถวิล นิสิตปริญญาโทพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ผมรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมอยู่ และจะมีการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยผมอยู่ที่เบลเยียมและร่วมเป็นอาจารย์สอบป้องกันวิทยานิพนธ์นี้แบบทางไกลโดยผ่านโปรแกรมสไกป์ เป็นนิสิตคนแรกที่สอบผ่านระบบนี้

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2551 เช้าวันจันทร์เด็กๆไปโรงเรียน ขิมกับขลุ่ยไปอะควอโทเปียหรือเที่ยวโลกใต้ทะเลกับทางโรงเรียน ขิมเอากล้องถ่ายรูปไปด้วย แคนกับขิมถ่ายรูปเก่งพอควร ตอนเช้ารีบปรับแก้วิทยานิพนธ์จนเสร็จได้เป็นร่างที่ 7 ต้องค้นงานวิจัยเพื่อปรับแก้วิจัยที่จะตีพิมพ์ด้วย ตอนบ่ายรับลูกกลับจากโรงเรียน ตอนเย็นพาไปสนามเด็กเล่นเช่นเคย กลางคืนแก้ไขวิทยานิพนธ์ต่อแล้วส่งไปให้บรูโนอ่านทางอีเมล์

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2551 ตื่นเช้ารีบส่งลูกไปโรงเรียนแล้วตามภรรยาไปดูงานที่โรงพยาบาลเพื่อจะดูห้องฉุกเฉิน แต่ปรากฏว่าเขาไม่ให้เข้าไปด้วย รีบกลับมาที่บ้านพักเพื่อร่วมเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของคุณสมถวิลใช้เวลาเกือบสามชั่วโมง การร่วมเป็นกรรมการสอบผ่านทางโปรแกรมสไกป์ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี หากมีทีมงานที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยจะทำให้เป็นระบบการสอบทางไกลที่สมบูรณ์ได้มาก ทั้งระบบภาพและเสียง และคิดว่าน่าจะนำโปรแกรมที่สมบูรณ์มากกว่านี้มาปรับใช้ได้ในค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง ระบบนี้ผมเคยคิดที่จะทำที่โรงพยาบาลบ้านตากเพื่อถ่ายทอดการบรรยายของอาจารย์แพทย์จากห้องเรียนของศูนย์แพทย์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมทั้งเคยคิดเรื่องปรับใช้ในการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนตากด้วย รวมทั้งเคยคุยกับอาจารย์หมอไพจิตร ปวะบุตร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเรื่องปริญญาตรีต่อเนื่องสาธารณสุขศาสตร์ที่จังหวัดตาก

ตอนบ่ายนั่งปรับแก้ไขงานวิจัยการจัดการความรู้สู่องค์การแห่งการเรียนรู้ที่จะตีพิมพ์ในวารสารพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า ทางบรรณาธิการแจ้งว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขตามข้อคิดเห็นของผู้ประเมินทั้งหมดก็ได้เพราะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่ผมมีความคิดว่าคำแนะนำเหล่านี้มีคุณค่าอย่างมากต่อคุณภาพของงานวิจัย ผมจึงนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประเมินทั้งสองท่านมาปรับปรุงทั้งหมด ต้องค้นคว้าวารสารมาประกอบอีกมาก แต่ผมค่อยๆค้นเก็บสะสมไว้ในไฟล์มาตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว เหลือเพียงการอ่านและการวิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นส่วนขาดเท่านั้น

ในส่วนการเขียนอ้างอิงและเอกสารอ้างอิงในงานวิจัยนั้น เดิมผมเขียนไว้ในระบบแวนคูเวอร์ที่ใช้ในวารสารวิชาการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งผมคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ใช้ระบบลำดับตัวเลขอ้างในบทความ ในขณะที่งานวิทยานิพนธ์ของผมใช้ระบบฮาร์วาร์ด ซึ่งผมก็เพิ่งเคยใช้เป็นครั้งแรก เอกสารที่มาอ่านประกอบก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างพอควร ในขณะที่ของวารสารพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใช้ระบบสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA: American Psychiatry Association) ทั้งสองระบบหลังใช้ระบบชื่อ-ปีอ้างในบทความ ผมจึงต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับทางวารสาร โดยที่ไม่มีตัวอย่างมาให้ดู ค้นจากอินเตอร์เน็ตมีแต่ตัวอย่างภาษาอังกฤษ ก็พยายามปรับใช้ไปตามความเข้าใจ

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม 2551 หลังจากไปส่งลูกไปโรงเรียนแล้วก็นั่งแก้ไขงานวิจัยต่อ พักวิทยานิพนธ์มาสองวันแล้ว วันนี้เด็กๆเรียนครึ่งวันตอนบ่ายว่าง เอ้ไม่มีฝึกงานบ่ายวันพุธเช่นกัน จึงได้พาไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์บ้านรูเบนส์ ที่อยู่ไม่ไกลนักเดินไปได้ อยู่ที่ 9-11 Wapperstraat ปรากฏว่าวันพุธสุดท้ายของเดือนเปิดให้เข้าชมฟรี เมื่อเดินเข้าไปด้านหลังเป็นสวนเล็กๆสวยงาม ร่มรื่น อีกด้านเป็นอาคารที่อยู่อาศัย อีกด้านเป็นสตูดิโอ ไม่ได้เปิดให้ชมทั้งหมด ส่วนบ้านที่เป้นที่อยุ่นั้นจัดแสดงำไว้ให้เหมือนตอนที่รูเบนส์อยู่ทั้งห้องนอนขนาดใหญ่ที่รูเบนส์เสียชีวิต อาร์ตแกลลอลีและพิพิธภัณฑ์ทรงครึ่งวงกลมที่รูเบนส์ใช้เป็นที่ตั้งแสดงโชว์ผลงานของเขาและงานศิลปะของจิตกรร่วมสมัยกับเขา ในบ้านมีภาพวาดที่โดดเด่นอยู่หลายรูป

ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Pieter Paul Rubens) เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 รูปวาดของเขาเป็นที่ต้องการอย่างมากของชนชั้นสูงและราชสำนัก เขาเกิดในเยอรมนีแต่กลับมาโตที่แอนท์เวิป เริ่มวาดภาพตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ เริ่มมีชื่อเสียงเมื่ออายุราว 21 ปี และได้รับตำแหน่งเป็นจิตรกรประจำราชสำนักของดยุคแห่งแมนทั่ว ในอิตาลี ในปี ค.ศ. 1608 รูเบนส์กลับมาอยู่ที่แอนท์เวิปอีกครั้งและตั้งสตูดิโอวาดภาพ จนเป็นจิตกรที่โด่งดังและร่ำรวยที่สุดของยุโรปเราเดินชมสถานที่และภาพวาดในบ้าน น่าทึ่งที่เขาเก็บไว้ได้ถึงสี่ร้อยปีมาแล้ว สตูดิโอแล้วไปชมสวนหลังบ้านแล้วก็เดินเที่ยวที่ถนนเมียร์ (แมร์) และกลับบ้านพัก กลางคืนผมนั่งอ่านปรับแก้วิทยานิพนธ์อีกครั้ง ยังไม่มีการตอบกลับจากบรูโน

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม 2551 ผมส่งวิทยานิพนธ์ร่างสุดท้ายให้บรูโนอีกครั้ง แต่ไม่ได้แก้ไขอะไร ผมจึงไปพิมพ์รูปเล่มที่ห้องสมุด แล้วส่งรายงานวิทยานิพนธ์ที่สำนักงานเลขานุการคณะพร้อมกับไฟล์ ผมส่งเป็นคนที่สามรองจากเฟรดเดอริกและพี่ตู่ กำหนดวันสุดท้ายคือพรุ่งนี้ แต่ผมกับพี่ตู่ต้องส่งก่อนเพราะพรุ่งนี้ต้องออกเดินทางไปเที่ยวปารีสกันตั้งแต่เช้ามืด ฉบับที่ผมส่งถือเป็นร่างที่ 8 อาจารย์วาลาเรียบอกว่า วิทยานิพนธ์ก็เหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรามักมีฉบับที่ดีกว่า สูงกว่าในอนาคตเสมอ (The thesis is like a computer software. You will have always a higher and better version in future.)  กว่าจะส่งได้ตอนสี่โมงเย็นพอดี แค่ตรวจสอบคำถูกผิดก็ใช้เวลาเกือบทั้งวัน ทำให้ไปรับลูกที่โรงเรียนช้า ครูปิดประตูโรงเรียนไปแล้ว ต้องไปกดกริ่งเรียก น้องขลุ่ยร้องไห้เพราะกลัวพ่อแม่ไม่มารับ กลัวทิ้งไว้ที่โรงเรียน ทั้งๆที่มีครูดูแลอยู่ การอยู่ต่างแดนทำให้ลูกกังวลเหมือนกันเพราะความไม่คุ้นเคย ผมต้องขอโทษลูกและปลอบลูกอยู่นานกว่าจะหยุดร้องไห้

วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลักสูตรที่ผมเรียน ถือเป็นการบูรณาการความรู้ความเข้าใจทั้งหมดที่เรียนมาตั้งแต่ต้นปี คิดคะแนนเป็นร้อยละ 40 ของทั้งหลักสูตร แบ่งออกเป็นสองส่วนคือรายงานและการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ รายงานวิทยานิพนธ์มีข้อกำหนดให้เขียนระหว่าง 10,000-12,000 คำ และไม่เกิน 30 หน้ากระดาษ ไม่ได้เขียนหนาเหมือนตอนเรียนปริญญาโทที่เมืองไทย ประเด็นของวิทยานิพนธ์ต้องสอดคล้องกับปัญหาที่พบในการทำงานจริงของนักศึกษาแต่ละคน ลักษณะของวิทยานิพนธ์จะเป็นงานวิจัย วิจัยปฏิบัติการ การศึกษาเชิงพรรณนาและวิเคราะห์ปัญหาก็ได้ โดยให้เวลาทำโดยเฉพาะ 1 เดือน แต่ช่วงเวลาที่ทำจริงนั้นมากกว่า 1 เดือน เริ่มตั้งแต่การทำรายงานวิเคราะห์ปัญหามาตั้งแต่สองสามเดือนแรกของการเรียนมาเรื่อยๆจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้นักศึกษาต้องเสนอยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาโดยยังไม่ต้องลงลึกไปถึงแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องและมีความเป็นไปได้ตามบริบทเฉพาะของแต่ละคน

รูปแบบของวิทยานิพนธ์ไม่บังคับให้พิจารณาตามความเหมาะสมหรืออาจใช้แบบทั่วไปที่ใช้คือบทนำ ภูมิหลัง การวิเคราะห์ปัญหา การเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้และบทสรุป นักศึกษาทุกคนมีที่ปรึกษา 1 คนเพื่อคอยชี้แนะช่วยเหลือ โดยต้องส่งโครงร่างวิทยานิพนธ์ขนาดไม่เกิน 2 หน้าให้ที่ปรึกษาพิจารณาก่อน ดำเนินการจริง กำหนดส่งวันที่ 30 พฤษภาคมและกำหนดสอบป้องกันวิทยานิพนธ์วันที่ 23-25 มิถุนายน มีคณะกรรมการสอบ 5 คน จากภายในสถาบัน 1 คนและนอกสถาบัน 4 คน

รายงานที่ส่งประกอบด้วยตัววิทยานิพนธ์ ปกมาตรฐานตามแบบของสถาบัน ประวัติผู้ทำวิทยานิพนธ์ไม่เกินสองหน้า บทสรุปหรือบทคัดย่อไม่เกิน 250 คำ และในตัวรายงานห้ามระบุถึงชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาให้เป็นระบบลับเพื่อไม่ให้คณะกรรมการสอบเกิดความเกรงใจหรือลำเอียง (น่าจะเป็นเรื่องลำเอียงมากกว่า เพราะฝรั่งไม่มีเรื่องเกรงใจ)

ผมเตรียมข้อมูลมาสองส่วนสำหรับการทำวิทยานิพนธ์คือเรื่องของบ้านตากกับของสาธารณสุขจังหวัดตาก ข้อมูลของบ้านตากมีมากเกินพอที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ได้สบายถึงสองสามประเด็น รวมทั้งข้อมูลต่างๆผมจำได้อย่างมาก แต่ผมตัดสินใจทำเรื่องปัญหาบุคลากรสาธารณสุขจังหวัดตากที่มีการโยกย้ายสูงมากจากฝั่งชายแดนหรือตะวันตกมาสู่ฝั่งตะวันออก เป็นปัญหาเรื้อรังที่รับรู้กันมาหลายปี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์คือภาวะไม่สมดุลของบุคลากรสาธารณสุขจังหวัดตาก ปี 2005-2007: เราจะไปทางไหน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า the imbalances of health personnel in Tak province of Thailand (2005-2007): Which way forward?

กำหนดให้มีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากข้อมูลทุติยภูมิและข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์บุคลากรสาธารณสุขในระดับบริหารของ สสจ.ตากและระดับอำเภอในจังหวัดตาก บุคลากรระดับปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยทุกแห่งที่มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ฝั่งตะวันตก รวมทั้งหมด 130 คนโดยใช้แบบสัมภาษณ์ปลายเปิด จำนวน 3 คำถามหลักคือปัจจัยอะไรที่ทำให้อยู่ทำงานในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ปัจจัยอะไรที่ทำให้อยากย้ายออกจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกและวิธีการใดที่จะช่วยให้ดึงดูดบุคลากรไว้ทำงานในพื้นที่ฝั่งตะวันตก

การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน สสจ.ตากโดยการประสานของพรทิพย์ เลขาที่ สสจ.ตากและนารายณ์ เลขาสมัยผมอยู่บ้านตากและความช่วยเหลือของเอ้ (ภรรยา) ป้อม เอ๋และพี่ออด เรื่องการสัมภาษณ์ เอ้ได้ช่วยประสานกับพรทิพย์และพี่ต๊ะ (สรณี กัณฑ์นิล รองนายแพทย์ สสจ.ตาก) ช่วยเป็นธุระในการดำเนินการ ชี้แจง กระจายแบบสอบถามไปยังอำเภอและโรงพยาบาลต่างๆให้ พร้อมทั้งติดตามรวบรวมแบบสัมภาษณ์กลับคืนมาให้ ภายใต้การอนุญาตและสนับสนุนของอาจารย์ปัจจุบัน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก การสัมภาษณ์แบบนี้มีข้อจำกัดคือไม่สามารถพูดคุยแบบสัมภาษณ์เชิงลึกได้เพราะเวลาจำกัด แต่ก็ดีตรงที่เจ้าหน้าที่อิสระที่จะเสนออย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องเกรงใจทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากและสะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาจากแค่การต้องการย้ายเท่านั้น เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของผมต่อไปหลังจากเรียนจบกลับไปแล้ว ข้อมูลทั้งหมดนำมาเบลเยียมพร้อมกับเอ้ตอนต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ผมต้องค้นคว้ารายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 40 ฉบับทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งข้อมูลเชิงปริมาณจากกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ทำให้เกิดทักษะในการค้นคว้ามากขึ้น โครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ผมเสนอให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณามีเพียง 1 หน้ากระดาษเอ 4 และผ่านโดยไม่ได้แก้ไขอะไร ในรายงานวิทยานิพนธ์ตอนแรกผมกำหนดไว้ 6 องค์ประกอบ แต่เมื่อได้ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาในแต่ละรอบก็มีการปรับแก้ไปบ้าง จนในที่สุดมีองค์ประกอบ 8 ส่วนสำคัญคือบทนำ (Introduction) วัตถุประสงค์ (Objectives) วิธีการ (Methods) บริบท/ภูมิหลัง (Background) ผลการศึกษา (Findings) อภิปราย (Discussion) ข้อเสนอแนะ (Recommendation) และบทสรุป (Conclusion) ส่วนในตัวรายงานก็มีส่วนประกอบอื่นๆคือปก บทคัดย่อ สารบัญ สารบัญตาราง สารบัญภาพ คำอธิบายตัวย่อ กิตติกรรมประกาศและประวัติผู้วิจัย

การหาข้อมูลเชิงปริมาณมีปัญหาในเรื่องความถูกต้องตรงกันของข้อมูลมากพอควร บางส่วนไม่ได้เก็บโดยตรง ต้องมาแจงนับและรวมกันใหม่ ยุ่งยากมากพอควร บางส่วนต้องเทียบเคียงความถูกต้องระหว่างข้อมูลจากจังหวัด ประเทศและองค์การอนามัยโลก การมาเรียนที่เบลเยียมนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสอ่านสรุปผลงานสาธารณสุขของประเทศไทย (Thailand health profile) ตั้งแต่ฉบับปี ค.ศ. 2000 จนถึงฉบับปัจจุบันปี 2005-2007 ทั้งฉบับภาษไทยและภาษาอังกฤษที่มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ดีมากและได้ฝึกฝนตนเองในการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตอย่างมาก ทำให้เห็นโอกาสในการเขียนงานวิจัยมากขึ้นเนื่องจากไม่ยุ่งยากในการค้นเอกสารเพื่อทบทวนวรรณกรรม

ในข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ ผมได้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้พอสมควร ผมต้องอ่านทุกแบบสัมภาษณ์แล้วสรุปประเด็นหลักๆ (Theme) ไว้พร้อมทั้งคัดเลือกประโยคที่กล่าวสนับสนุนประเด็นนั้นๆไว้แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในหนึ่งประเด็นผมใส่ไว้สี่ห้าประโยคซึ่งในหลักการแล้วไม่ควรเกิน 3 ประโยค เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมก่อนแล้วค่อยตัดทอนออกไป การเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษนี้ผมแทบไม่ได้ใช้ดิกชันนารีเลย อาจเกิดจากความเคยชินกับภาษาอังกฤษก็ได้

เนื่องจากผมเข้าใจองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดแล้ว ในการนำเสนออาจารย์ที่ปรึกษาทุกครั้ง ผมจึงเขียนจนครบองค์ประกอบทั้งหมดทุกครั้งเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงและเวลาอาจารย์ที่ปรึกษาชี้แนะ ปรับแก้สามารถทำได้เชื่อมโยงทั้งระบบ ในขณะที่เพื่อนหลายคนค่อยๆทำให้ดีเลยไปทีละส่วนๆ ทำให้ไปได้ช้า ข้อดีที่เขียนทั้งหมดไปเลยแม้ไม่ดีแต่ก็สามารถพิจารณาเรียงลำดับความเหมาะสมของเนื้อหาต่างๆไปได้ทีเดียว ในร่างแรกการเขียนในส่วนภูมิหลังยาวมากแล้วค่อยๆปรับลดตัดทอนลงให้เหลือแต่ส่วนที่สำคัญๆที่สัมพันธ์กับประเด็นมากที่สุดไว้

เท่าที่ผมสังเกต การอ่านแต่ละครั้งของอาจารย์ที่ปรึกษาก็อาจให้ข้อชี้แนะในมุมมองที่แตกต่างกันไปได้ แม้จะเป็นฉบับเดียวกันก็ตาม เคยแนะว่าอย่างนี้เหมาะกว่า พออีกครั้งก็เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งได้ เพราะความคิดเห็นของคนเป็นพลวัตร ในความคิดของผมเวลาทำงานอะไรก็ตาม ก็คิดว่าทำให้เสร็จดีเท่าที่พอมีเวลาจะมีให้ก่อน ถ้าเวลาเหลือก็มาปรับให้ดีขึ้นไปอีกได้ มีความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในความคิดของผมคือเวลาเราเขียนไปเสนออาจารย์เราเขียนมากๆไว้ก่อน แล้วเราก็อ่านและลองคิดว่าส่วนไหนที่อาจารย์ที่ปรึกษาคิดว่าไม่สำคัญควรตัดออก ส่วนไหนคิดว่าสำคัญควรคงไว้ ดูว่าเราคิดตรงกับอาจารย์หรือเปล่า ด้วยเหตุผลอะไร เป็นการเรียนรู้วิธีคิดและมุมมองของอาจารย์ไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าขาดไม่ได้ในงานวิจัยตามความคิดของผมคือตัวแบบใหม่ๆที่ควรสร้างขึ้น ผมสร้างกรอบแนวคิดของปัญหาความไม่สมดุลของบุคลากรสาธารณสุขจังหวัดตากขึ้นเป็นตัวแบบและในส่วนข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย ผมได้เสนอแนวทางหรือยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาสองส่วนคือ 3R Health policy strategy และ 5R Human resource management strategy

การทำวิทยานิพนธ์ครั้งนี้ช่วยยืนยันว่าปัญหาการโยกย้ายของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตากในกลุ่มเจ้าหน้าที่ปัจจุบันแก้ไขได้ยากมากเพราะการโยกย้ายเป็นเพราะเรื่องภูมิลำเนาและย้ายติดตามครอบครัวเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองแต่ไปทำงานไกลบ้าน ยากลำบากทุรกันดารที่ไม่คุ้นเคย การเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ การปรับปรุงระบบริหารทำได้เพียงเพิ่มความสุขในการทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การจัดหาบุคลากรในอนาคตสำหรับพื้นที่เฉพาะเหล่านี้ต้องคัดคนในพื้นที่ไปเรียนและต้องเรียนในพื้นที่ด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ไปเรียนในเมืองใหญ่จนสูญเสียความเคยชินกับชีวิตชนบทไปแล้วก็ไม่อยากกลับมาทำงานที่เดิม

ทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดร่วมกับวิทยาลัยชุมชนตากเปิดหลักสูตรอนุปริญญาสาธารณสุขชุมชนแล้วรับคนที่มีครอบครัวในพื้นที่โดยการคัดเลือกของชุมชนมาเรียนในสถานบริการสาธารณสุขของจังหวัดตากภายใต้การควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสมจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข แม้ผมยังต้องลุ้นว่าจะหรือไม่ผ่านการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์อีกขั้น แต่อย่างน้อยผมก็ได้แนวคิดบางประการกลับไปแก้ปัญหาในพื้นที่ได้

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

14 มิถุนายน 2551, 18.35 น. ( 23.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 187414เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะคุณหมอ เชื่อจากการอ่านทั้งบันทึกนี้ว่าความตั้งใจทั้งหลายที่คุณหมอใส่ลงไปในงานนั้น จะทำให้ผ่านฉลุยได้แน่ค่ะ

สวัสดีครับคุณโอ๋-อโณ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ ตอนนี้ก็ต้องเตรียมสอบป้องกันวิทยานิพนธ์แล้วครับ กระบวนการสอบยุ่งยากเข้มข้นมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท