ดูงานการพัฒนาเมืองและการจัดรูปที่ดินที่ญี่ปุ่น (2)


ล้าหลังขนาดนี้ ยังถอยหน้าถอยหลัง แล้วเมื่อไหร่จะเจริญทันเค้าน่ะ

 

             อย่างที่เล่าให้ฟังมาแล้วนะครับว่าญี่ปุ่นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลเรื่องผังเมืองและการจัดรูปที่ดินมานานหลายสิบปีแล้ว


           ญี่ปุ่นจะจัดรูปที่ดินในเมืองใน 5  กรณี  คือ


               1. หลังสงคราม  บ้านเรือนเสียหายจากสงครามมาก  เป็นโอกาสดีที่จะจัดรูปที่ดิน
               2. ย่านที่เป็นชุมชนแออัด
               3. บริเวณชานเมือง  เป็นการวางแผนล่วงหน้า  เช่นมีการขยายเส้นทางรถไฟ
               4. เป็นการพัฒนาที่ว่างกลางเมือง
               5. เป็นการพัฒนาแหล่งชุมชนใหม่

 

แหล่งที่มาของเงินลงทุน


           ทางรัฐบาลกลางก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนการจัดรูปที่ดิน  หรืออาจให้ผ่านกองทุนหมุนเวียน  ไม่มีดอกเบี้ย  เป็นระยะเวลา 8-10 ปี  โดยจะสนับสนุนในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน  หรือในส่วนของการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างถนน  โดยจะสนับสนุนประมาณ  ¼ ของวงเงินโครงการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะสนับสนุนอีกประมาณ  ¼  ของวงเงินโครงการ
ส่วนวงเงินที่เหลือก็ต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

 

การจัดรูปที่ดิน

            ในการจัดรูปที่ดิน  ส่วนใหญ่แล้ว  เจ้าของที่ดินที่อยู่ในโครงการจัดรูปที่ดินจะต้องสละทีดินโดยเฉลี่ย  ประมาณ 40% ของที่ดินที่มีอยู่  โดยประมาณ 25 %  เป็นส่วนที่จะนำไปใช้ในโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่สาธารณะ  ที่เหลือ ( 15% ) จะนำไปเป็น Reserved Land   และมีการนำ  Reserved Land ส่วนนี้ไปจำหน่ายเป็นรายได้ของโครงการ

 


             ในการดำเนินการจัดรูปที่ดินนี้  แม้เจ้าของที่ดินจะเหลือที่ดินน้อยลง  แต่ก็จะได้รับเงินชดเชยอย่างเหมาะสม  ที่ดินที่เหลืออยู่ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย  เพราะจะมีการจัดการพื้นที่ตามผังเมืองที่วางไว้เป็นอย่างดี  มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  เช่นถนน ( บางสายจะมีความกว้างถึง 50 เมตร )  ระบบระบายน้ำ  ไฟฟ้า    สถานีรถไฟ  ศูนย์การค้า  ย่ายธุรกิจ  สวนสาธารณะ ฯ

 

รายรับของโครงการ


               35 %  เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น     
               60 %  รายได้จากการจำหน่าย Reserved Land
               5 %    รายได้อื่นๆ

 

รายจ่ายของโครงการ


               55 %  ค่าก่อสร้าง
               30 %  ค่าชดเชยที่ดิน  และการย้ายที่อยู่อาศัย
               7 %    ดอกเบี้ยเงินกู้
               8 %    ค่าใช้จ่ายทั่วไป

 

             ประเทศไทยเราได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น  ผ่านทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ( JICA )   ทั้งด้านผังเมืองและการจัดรูปที่ดิน ( Land Readjustment ) 

 
             กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำและผลักดันให้มีกฏหมายจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536  แต่พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27  ธันวาคม 2547  ส่วนกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ   ที่ออกตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

รูปแบบต่างๆของโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในประเทศไทย


      - การจัดรูปที่ดินฯ กับการพัฒนาชุมชนและเมืองใหม่
      - การจัดรูปที่ดินฯ กับการปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนและเมือง
      - การจัดรูปที่ดินฯ กับการพัฒนาเพื่อแก้ไขพื้นที่ตาบอด
      - การจัดรูปที่ดินฯ กับการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ  เช่นถูกเพลิงไหม้  พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว  คลื่นยักษ์ Tsumani ฯ
      - การจัดรูปที่ดินฯ กับการใช้เป็นมาตรการพิเศษของหน่วยงานต่างๆ


              กรมโยธาธิการและผังเมือง  โดยสำนักจัดรูปที่ดินได้เริ่มโครงการนำร่องจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร  จังหวัดลำปาง ยะลา พะเยา  น่าน  นราธิวาส พิษณุโลก สมุทรสาคร  เพชรบุรี  และอุทัยธานี

 

 

ข้อสังเกต

 

            ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเรื่องการจัดรูปที่ดินขณะที่ญี่ปุ่นทำมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่ห้าสิบปี
 ญี่ปุ่นได้ถ่ายโอนภารกิจด้านผังเมืองและการจัดรูปที่ดินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมานานแล้ว  ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีการถ่ายโอนภารกิจ  และยังขาดการเตรียมความพร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 


            การจัดรูปที่ดิน  แต่ละโครงการอาจต้องใช้เวลานานถึงยี่สิบสามสิบปี  ในประเทศไทยเรา  ไม่ค่อยมีใครกล้าทำโครงการใหญ่ๆที่ต้องใช้เวลานานๆขนาดนี้


            การจัดรูปที่ดินเป็นโครงการที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ต้องพูดคุย  ทำความเข้าใจกับประชาชนเจ้าของที่ดินและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  ประเทศไทยขาดประสบการณ์การทำงานแบบมีส่วนร่วม  ทั้งฝ่ายรัฐ  ที่ชอบรวบรัดไม่พยายามชี้แจง  ทำความเข้าใจกับประชาชน   และฝ่ายประชาชนก็ไม่พร้อมที่จะมาร่วมทำงานกับภาครัฐ  แต่ถ้าเดินขบวนคัดค้านแล้วจะถนัด


            อยากรู้ว่าประเทศไทยเราล้าหลังประเทศอื่นๆแค่ไหนก็ลองเปรียบเทียบดูนะครับ


                 เรื่องการจัดรูปที่ดิน  เราล้าหลังญี่ปุ่นอยู่สี่ห้าสิบปี


                เรืองขยะมูลฝอย  ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่  เป็นปัญหาที่เกิดที่เยอรมันเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว

                ยังไม่อยากเปรียบเทียบเรื่องการศึกษา  เดี๋ยวมีคนของขึ้น  อิอิ


                ล้าหลังขนาดนี้  ยังถอยหน้าถอยหลังกันอยู่    แล้วเมื่อไหร่จะเจริญทันเค้าน่ะ    เล่าเรื่องการจัดรูปที่ดิน  ไหงหลงมาเป็นเรื่องนี้ได้  อิอิ

 

หมายเลขบันทึก: 187409เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากฟังการเปรียบเทียบเรื่องการศึกษาค่ะ   แบบเบาๆหน่อยนะคะ  กลัวฟังแล้วทำใจไม่ได้  : )

P  1. มโนมัย

เรื่องการศึกษาแบบเบาๆ  ส่งไปแบบว่าหลังไมค์ครับ  อิอิ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท