ถอดรหัสอุปกรณ์สำริดกรีก 2 พันปี ต้นกำเนิดคอมพิวเตอร์เครื่องแรก


Antikythera Mechanism

 

ถอดรหัสอุปกรณ์สำริดกรีก 2 พันปี ต้นกำเนิดคอมพิวเตอร์เครื่องแรก

 

นักวิจัยระบุอุปกรณ์ที่ทำจากทองสำริดเมื่อ 2000 ปีก่อน ที่ชาวกรีกโบราณใช้ติดตามเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และอาจรวมถึงดาวเคราะห์อีกหลายดวง ถือได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก และมีคุณค่ามากกว่าภาพเขียนโมนาลิซ่า

 

 

อุปกรณ์ที่ประกอบด้วย ฟันเฟือง วงล้อ และหน้าปัดที่จารึกชื่อเดือนและสัญลักษณ์จักรราศี สามารถใช้คำนวณทางดาราศาสตร์ขั้นซับซ้อน และใช้เป็นปฏิทิน รวมถึงพยากรณ์ปรากฏการณ์จันทรคราส และสุริยคราส

 

 

ทีมนักวิจัยนานาชาติใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์และซีทีสแกนชั้นสูงถอดรหัสคำจารึก และรวบรวมชิ้นส่วนที่พบในซากเรือบริเวณเกาะแอนทิคีเธราเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว มาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อไขความลับของกลไกซับซ้อนของอุปกรณ์สำริดนี้

การวิเคราะห์ยืนยันทฤษฎีที่ว่า กลไกแอนทิคีเธรา (Antikythera Mechanism) ที่มีอายุย้อนไประหว่างช่วง 100 - 150 ปีก่อนคริสตกาลนั้น เป็นเครื่องคำนวณทางดาราศาสตร์ และมีความก้าวหน้าทางเทคนิคมากกว่าที่เคยคิดกัน

 

 

สิ่งที่ซับซ้อน คือ ระบบฟันเฟือง และวงล้อที่เชื่อได้ว่า อย่างน้อย 1,000 ปีให้หลังจึงจะมีผู้คิดค้นกลไกนี้สำเร็จ

ไมค์ เอ็ดมันด์ส ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์ ยกย่องอุปกรณ์นี้ล้ำเลิศทั้งในแง่เทคนิคและการออกแบบ

"ใครก็ตามที่สร้างอุปกรณ์นี้ขึ้นมาต้องเป็นคนที่ฉลาดปราดเปรื่องมาก ๆ ในแง่ประวัติศาสตร์และคุณค่าแล้ว ผมคิดว่า อุปกรณ์นี้ล้ำเลิศเหนือกว่าภาพโมนาลิซ่า"

 

 

ระบบที่ประกอบด้วยฟันเฟืองและวงล้อกว่า 30 ชิ้น และทำงานด้วยการหมุนด้ามหมุน สามารถติดตามการโคจรของดวงดาวอย่างแม่นยำ รวมถึงทำหน้าที่เป็นปฏิทิน และพยากรณ์การเกิดคราส และเป็นไปได้ว่า กลไกนี้สามารถติดตามการโคจรของดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ เท่าที่คนสมัยนั้นที่เชื่อกันว่า โลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาลรู้จัก

 

 

รายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารธรรมชาติ (Nature) กล่าวว่า ปฎิทินมีความสำคัญต่อสังคมในสมัยโบราณ เพราะบอกถึงช่วงเวลาในการเพาะปลูก และกำหนดวันประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ไม่มีใครรู้ว่า ใครคือผู้ออกแบบกลไกนี้ แต่มีการคาดเดาว่า น่าจะเป็นอาร์คีเมดีส (Archimedes) หรือฮิปปาร์คัส (Hipparcus) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์คนสำคัญของกรีก ตามลำดับ

 

 

ดร.โทนี่ ฟรีท หนึ่งในทีมวิจัยแสดงทัศนะทิ้งท้ายว่า อุปกรณ์นี้เป็นสุดยอดความสำเร็จทางเทคนิคตลอดกาล และเป็นวัตถุที่น่าทึ่งในแง่ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี

ปัจจุบัน กลไกนี้ซึ่งอยู่ในสภาพแยกส่วนออกเป็นชิ้น ๆ ได้มีการจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติกรุงเอเธนส์

 

 


ขอบคุณข้อมูลจาก ...

หนังสือ มิติชุมชน เล่มที่ 20. หน้า 144 - 145.

 

แหล่งอ้างอิงร่วม ...

http://en.wikipedia.org/wiki/Antikythera_mechanism

http://www.antikythera-mechanism.gr/

http://www.antikythera-mechanism.com/

http://ohx3.exteen.com/20061218/antikythera-mechanism

http://www.uh.edu/engines/epi1031.htm

 

ความคิดเห็นส่วนตัว

Antikythera Mechanism เป็นความน่าทึ่งที่เราได้เห็นความปราดเปรื่องของคนโบราณ เหมือนดูหนังเรื่อง The Fifth Element ... อีกทั้งมีข้อมูลที่เป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย คีย์คำค้น Antikythera Mechanism ก็จะพบการอ้างอิงอย่างมากมาย

ตั้งโจทย์ถามตัวเองว่า ...

"Antikythera Mechanism" ได้รับการพัฒนามาก่อน "ลูกคิด" หรือไม่ ?

 

ขอบคุณครับที่แวะมาลับสมองกัน :)

หมายเลขบันทึก: 187257เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ประหลาดใจตรงที่มีการคิดค้นมานานที่สำคัญไม่ทราบว่าใครคิดค้น ทึ่งเลยครับ ขอบคุณครับ

สวัสดี คุณWasawat Deemarn
           กินข้าวกลางวันเสร็จ ก็เปิดอ่านความรู้ที่คุณWasawat Deemarn นำมาเขียนเล่า ทำให้อยากกลับไปอ่านงานเขียนกรีกยุคโบราณครับ คุณWasawat Deemarn อ่านงานเขียน เรื่อง Pre-Modern ของอาจารย์ไชยยันต์ ชัยพร หรือยังครับ น่าสนใจ เขียนเรื่องราวกรีกยุคโบราณไว้ ต่างๆนานา หากมีเวลาแวะสุรวงศ์ หรือดวงกมล ดูนะครับ ไม่ทราบว่าที่คุณWasawat Deemarn อยู่ มีศูนย์หนังสือหรือเปล่าครับ เขียนบอกกันด้วยครับ เช่นเคยครับ
          ขอให้สุขภาพแข็งแรง พยายามนอนดึกน้อยลงนะครับ เพื่อสุขภาพ ครับ
                                            
   สวัสดี ครับ

ต้องขอบคุณมากครับ

ส่วนหนึ่งผมรอคอยอ่าน"ความคิด" ของอาจารย์ด้วย และ ได้เรียนรู้เรื่องอดีต ที่เป็นจุดเริ่มพัฒนาการสิ่งหนึ่งที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน

หลายครั้งเราละเลยที่มา...ไม่เคยรู้เลยว่าที่มาเป็นอย่างไร

เหมือนประวัติศาสตร์ ที่เรามักละเลย และผลจากการละเลยประวัติศาสตร์ก็ส่งผลกระทบต่อการกำหนดอนาคต

มีคนบอกว่า เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางอนาคต

ผมมีโอกาสได้รับเกียรตินั่งสนทนากับ รอง ผอ.ศูนย์วิจัยภาษาฯ ที่ มหิดล ท่านชี้ชวนมองประวัติศาสตร์ที่ลึกลงไปอีกหลายชั้น เพื่อทำความเข้าใจ ก่อนจะกำหนดการพัฒนาปัจจุบัน และอนาคต...เรื่องราวแท้จริง เป็นเรื่องพัฒนาการครับ

เมื่อวานผมก็มีโอกาส (มีบ่อยๆ) ได้นั่งเวทีสนทนากับ คนๆหนึ่ง ที่ผมเพิ่งทราบว่า ท่านที่อยู่ตรงหน้าผมนั้น คือ นักเขียนที่อยู่ในดวงใจผม จนกระทั่งผม search เขาผ่านInternet จึงรู้ว่า แท้จริงแล้วท่านนั้นคือคนที่ผมอยากพบเจอมาก ทั้งที่ไม่รู้จักเขา และ หลังจากเสร็จสิ้นเวทีเสวนา ผมไหว้เขา (เขาอาวุโสกว่าตามธรรมเนียมการให้ความเคารพ)เขาเดินมาตบหลังเบาๆสองที แม้ไม่รู้จักมาก่อน แต่ผมรู้สึกดีครับ

หากรู้จักเขามาก่อน หมายถึงมีข้อมูลมาก่อน ผมคงตื่นเต้นมากกว่านี้

 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง

  • เปิดเทอมแล้วอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ :)
  • ประวัติศาสตร์อันมีมาแต่ยุคโบราณ ช่างน่าทึ่งจริง ๆ ครับ อาจารย์
  • อาจารย์สามารถอ่านเพิ่มเติมจากแหล่งอ้างอิงร่วมนะครับ ภาษาอังกฤษเป็นมิตรกับอาจารย์แน่นอน ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ :)

สวัสดีครับ อาจารย์ทวิช :)

  • อาจารย์สบายดีนะครับ
  • Pre-Modern ผมเห็นเหมือนกันครับ แต่เปิดอ่านแว่บ ๆ เท่านั้นเองครับ
  • ที่ทำงานผมไม่มีศูนย์หนังสือครับ ต้องไปสุริวงศ์หรือดวงกมล จึงมีโอกาสพบเจอครับ
  • ช่วงนี้ นอนดึกกันสม่ำเสมอครับ กลัวอายุขัยจะเสื่อมเหมือนกันครับ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ :) 

สวัสดีครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

  • ช่วงนี้บรรยากาศไม่ค่อยดีเลยนะครับ ... เงียบ เหงา เศร้าใจยังไงไม่ทราบ
  • "ความคิด" ของผมมีมากเกินไปมั้งครับ กลายเป็นความฟุ้งซ่านไปเลยตอนนี้ กว่าจะลำดับได้ ก็ต้องค่อย ๆ เดินทีละก้าว
  • "ประวัติศาสตร์" คือสิ่งที่ผมสนใจ นอกเหนือไปจากวิชาชีพที่เรียนมา ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันครับ
  • และอีกอย่าง อยากเขียน อยากนำเสนอสิ่งที่แปลกไปจากปกติที่เคยทำมาบ้าง มันน่าสนใจใช่ไหมครับ
  • คุณเอก ได้พบกับบุคคลสำคัญทั้งในสังคมและในประเทศของเราเยอะแยะเลยนะครับ ช่วงนี้ อันน่าจะมาจากงานของคุณเอกเอง
  • ถือเป็นประสบการณ์ที่ต้องเก็บเกี่ยวนะครับ
  • ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่มีไม่กี่คนที่สนใจ และเรียนรู้ ครับ :)

ขอบคุณนะครับ ได้กำลังใจมาแล้วครับ :)

คืนนี้กลับมาถึงที่พักดึกครับ...

ผมเข้ามาอ่านอีกครั้ง

ผมมาสะดุดกับประโยคแรกของอาจารย์ และคำลงท้ายเรื่องของ "กำลังใจ" ที่กลับมา มันหมายถึงภาวะที่ไม่มั่นคงของแรงภายในเสียแล้ว

เรื่องของ "บรรยากาศ" (ตอนนี้)ผมคิดว่าเราคิดไม่ต่างกัน แต่อยู่ที่การคิดต่อ หรือมุมคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้ชี้ชวนให้มองโลกในแง่ดีแต่เพียงอย่างเดียว (ซึ่งไม่พอ)แต่ชวนให้มองโลกตามจริง สิ่งที่เห็น และเป็นอยู่ รวมถึงเราควรจะได้เรียนรู้กับบรรยากาศแบบนี้ด้วยครับ

เรื่องราวที่ผ่านไป ก็อาจต้องผ่านไป เก็บไว้ในความทรงจำเป็นเรื่องที่ดี ที่พึงใจ เรื่องไม่ดีก็เก็บไว้เป็นบทเรียนแยกส่วนให้ดี ขอให้มีพลังสำหรับการเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา หากเราแพ้นั่นก็คือ เราแพ้ใจตนเอง หาใช่เราพ่ายแพ้กับสิ่งแวดล้อมไม่ หากเราจะชนะ ก็อยู่ "ใจ" เช่นเดียวกัน ดังนั้น "ใจ" จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเดินทางต่อไปครับ

และพรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว..ครับอาจารย์

และช่วงเวลาที่ผมมาเขียน ก็เริ่มวันใหม่ ซึ่งวันนี้ผมก้าวผ่านมาไม่กี่นาทีนี้ ทำสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่า และมีความสุขนะครับผม

"ความคิด" ของอาจารย์เป็นสิ่งที่มีค่า ดังนั้น คมความคิดที่นำเสนอออกมาในรูปแบบเรื่องเล่า,บันทึก จึงน่าอ่าน น่าติดตามมากครับ

ผมขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์อีกแรงใจหนึ่งนะครับ

:)

เรียนคอม

ต้อง

มาหาข้อมูงสนุกมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท