วิญญาณครูเพื่อศิษย์


 

          หน้งสือ Teach Like Your Hair's on Fire, Penguin Books, 2007 ทำให้ผมเห็นวิญญาณครูเพื่อศิษย์ ในตัวผู้แต่ง คือครู Rafe Esquith   ทั้งๆ ที่ผมเพิ่งอ่านหนังสือนี้ไปเพียง ๓ บทจาก ๑๘ บท   ผมก็อยาก AAR ว่าผมเห็นวิญญาณครูเพื่อศิษย์อย่างไรบ้าง


          เท่าที่ผมเห็นครูทั่วไปเน้นการทำงานให้บรรลุตามที่ผู้บริหารและหน่วยเหนือกำหนด    แต่ครู Rafe เขียน ๒ บทแรกในหนังสือ    ซ่อนสาระสำคัญว่า ครูต้องช่วยให้เด็กเติบโตไปเป็นคนดี   ดีมาก่อนเก่ง   เห็นชัดเจนมากใน ๒ บทแรกของหนังสือ   และไม่ใช่เขียนหลักการเฉยๆ ได้เล่าเหตุการณ์และวิธีการของครูด้วย   หนังสือเล่มนี้โดดเด่นตรงที่ยกวิธีปฏิบัตินำ เพื่อจะบอกว่าประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางการศึกษาและพัฒนาการเด็กอย่างไร


          ครู Rafe ทำหน้าที่ครูโดยเน้นทำหน้าที่เพื่อเด็ก จิตใจจดจ่ออยู่ที่เด็ก ไม่ใช่จดจ่ออยู่ที่การเอาใจนาย

 
          ครู Rafe ยกเอาตัวเด็กและเหตุการณ์ในชั้นเรียน มาอธิบายภารกิจและความภูมิใจ หรือความช้ำใจ ของครู    และอธิบายวิธีประยุกต์ใช้ทฤษฎีได้อย่างลึกซึ้งมาก แต่เข้าใจง่าย เพราะอยู่บนฐานของการปฏิบัติจริง


          หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเอาประสบการณ์มาเล่าอย่างมีการจัดหมวดหมู่ความคิด   หนังสือจึงอ่านสนุก อ่านแล้ววางไม่ลง    ผมอยากให้มีคนแปลออกสู่สังคมไทย


          ครู Rafe มองเห็นหน้าที่ครูในทุกกิจกรรมการเรียนของเด็ก    มองเห็นคุณค่าของการแนะนำ (guidance) ของครู    และมองว่าจุดนี้คือการเรียนรู้ไม่มีวันจบของครู    เพราะเด็กมีความแตกต่างหลากหลายมาก    และเด็กก็เปลี่ยนไปตามสังคมสภาพแวดล้อม    ความสนุกของอาชีพครูอยู่ตรงนี้เอง

 
          ครู Rafe เล่าในหน้าแรกของบทที่ ๓ ว่า    ชั่วโมงที่ทรมานที่สุดในชีวิตความเป็นครูคือบ่ายวันอังคาร   ที่เป็นเวลาของ staff meeting ที่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยเหนือมาให้คำแนะนำ    ผมเดาว่าคงจะคล้ายศึกษานิเทศก์ของเรา   ครู Rafe เล่าว่า เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก จึงมี “literacy coach” ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก    โดย “ผู้เชียวชาญ” เหล่านี้มาจากครูที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการสอนเด็ก   ทำให้ผมนึกถึงสภาพในบ้านเรา    และนึกถึงเวียดนามที่ผมเคยไปดูงาน    ที่ครูน้อยบอกว่าเวลาครูน้อยแก้ปัญหาเด็กบางคนไม่ได้ ก็จะไปปรึกษาครูใหญ่    ครูใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการดูแลแก้ปัญหาของเด็กนักเรียน

 
          ยิ่งตอนที่ครู Rafe เล่าเรื่องเด็กหญิง Brenda ที่เป็นผู้ช่วยเหลือเด็กที่ถูกรังแก   แม่ของเด็กมาที่ห้องมาถามหาเด็กที่ช่วยเหลือลูกของตนเพื่อจะขอบคุณ   แต่เด็กหญิง Brenda ไม่แสดงตัว    ครู Rafel สังเกตหรือจับพิรุธได้ แต่ก็ไม่กระโตกกระตาก   แต่เอามาเล่าเป็นตัวอย่างของเด็กที่บรรลุระดับ ๖ ของ Moral Development ตามทฤษฎีของ Lawrence Kohlberg    คือทำดีตามความเชื่อของตนเอง ไม่ใช่เพื่อหวังคำชมหรือชื่อเสียง  

 

วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๕๑


                       
                   

หมายเลขบันทึก: 187000เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2008 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์ครับ ผมได้มี reference ศึกษาเพิ่มเติมอีกเล่มแล้ว ดีจัง

ขอบพระคุณที่อาจารย์เอาหนังสือดี ๆ อีกเล่มหนึ่งมาเผยแพร่ค่ะ อ่านที่อาจารย์เขียนแล้วอยากหามาอ่านบ้าง

ครูใหม่

อยากอ่านจังเลยครับ แต่ภาษาไม่แข็งกลัวไม่ได้เนื้อหาที่ถูกต้อง อยากให้มีคนแปลขายจะได้ช่วยวงการศึกษาบ้านเราที่ติดแต่กรอบเดิมๆ ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

ขอบพระคุณ ค่ะ อาจารย์ เป็นประโยชน์ กับ ชีวิต ครูพยาบาล คนใหม่ มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท