เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์


คนเป็นแพทย์ต้องมีระดับมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป เพราะแพทย์มีความรู้พิเศษ สามารถกระทำการโดยผู้อื่นไม่รู้เท่าทัน และผู้ถูกกระทำก็ยินยอมให้ทำด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ แพทย์จึงต้องเป็นคนที่ “ไว้ใจได้” คือมีมาตรฐานจริยธรรมสูงนั่นเอง

เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

วิจารณ์พานิช

ข้อเขียนสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่๑  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์    ในวิชาเวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

ชั่วโมงสอน๙.๐๐ –๑๒.๐๐ น.  วันที่๔ มิถุนายน ๒๕๕๑  

 

จริยศาสตร์ หมายถึง วิชาที่กล่าวถึงความประพฤติและการครองชีวิต(อ. Ethics)  (พจนานุกรมฉบับมติชน๒๕๔๗)   

จริยศาสตร์เชิงทฤษฎีอาจค้นได้จาก อินเทอร์เน็ต เช่นhttp://hu.swu.ac.th/ph/philosophy_ethics.htm 

หนังสือแนะนำ

-         ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)   

-          คันฉ่องส่องจริยศาสตร์โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์

-         จริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม http://www.tmc.or.th/service_law02_1.php,  การปลูกถ่ายอวัยวะhttp://www.tmc.or.th/service_law02_3.php , การวิจัยในมนุษย์ http://www.tmc.or.th/service_law02_6.php, การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด http://www.tmc.or.th/service_law02_7.php, การปฏิบัติตนในกรณีที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพhttp://www.tmc.or.th/service_law02_8.php,

 

ทำไมนักศึกษาแพทย์ต้องเรียนวิชานี้

ที่จริงความรู้และทักษะด้านจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์หรือคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องมีหรือควรมี   แต่คนเป็นแพทย์ถือเป็นผู้มีการศึกษาสูงและต้องรับผิดชอบสูง   จึงต้องเรียนู้เป็นพิเศษ   เพื่อให้เป็นคนที่มีพฤติกรรมเข้าใจเห็นอกเห็นใจคนอื่น   เข้าใจเรื่องราวต่างๆในสังคม และเรื่องราวของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ป่วย ญาติของผผู้ป่วยผู้ร่วมงาน และผู้คนในสังคมรอบด้าน อย่างรู้เท่าทันและอย่างรอบด้าน

คนเป็นแพทย์ต้องมีระดับมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไปเพราะแพทย์มีความรู้พิเศษสามารถกระทำการโดยผู้อื่นไม่รู้เท่าทัน   และผู้ถูกกระทำก็ยินยอมให้ทำด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ  แพทย์จึงต้องเป็นคนที่ “ไว้ใจได้”คือมีมาตรฐานจริยธรรมสูงนั่นเอง

คนเป็นแพทย์ต้องช่างสังเกตมองเห็นและรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างละเอียดอ่อน   มีพื้นความรู้ที่ลึกซึ้งสำหรับนำมาตีความทำความเข้าใจ  ใคร่ครวญรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นได้หลายแง่หลายมุม  สามารถเรียนรู้จากการตีความของผู้อื่นที่รับรู้และตีความไม่เหมือนตน  ก็จะยิ่งมีปัญญาแตกฉานขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ

พื้นฐานนี้จะช่วยให้คนเป็นแพทย์เข้าใจคนอื่นที่มีพื้นฐานแตกต่างจากตน   ช่วยให้แพทย์สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน  รวมทั้งคนในชุมชนและสังคม   ช่วยให้ทำหน้าที่แพทย์ได้ดีขึ้น   เป็นแพทย์ที่ครองใจคน

 

ความคิดควบคุมการกระทำ

พฤติกรรมของแต่ละคนเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนนั้นๆ   หรือกล่าวว่า“ชีวิตย่อมเป็นไปตามกรรม”  กรรมแปลว่าการกระทำ   คนเรามีการกระทำที่สั่งสมมาตั้งแต่กำเนิดเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนนั้น   และการกระทำและผลของการกระทำเหล่านั้นจะเป็นตัวกำหนดเครือข่ายใยสมองของผู้นั้นด้วย   ในลักษณะที่“การกระทำเปลี่ยนแปลงสมอง”   เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก   จะเกิดเป็นบุคลิก นิสัย หรือสันดาน    นิสัยหรือสันดานส่วนที่อยู่ลึกมากเรียนว่าความเชื่อ(belief)   ความเชื่อของคนเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคน   ความเชื่อเชิงคุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อว่าทำดีได้ดี   หรือเชื่อในคุณงามความดี  ความเชื่อเช่นนี้จะทำให้เป็นคนทำดี เกลียดกลัวความชั่ว   

 

ไม่มีใครสอนใครได้ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง

จริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์เป็นสิ่งที่สอนไม่ได้หรือสอนไม่ได้ผล   ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง   วิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติทดลองปฏิบัติแล้วหมั่นสังเกตผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น   ชีวิตของคนเรามีบทเรียนเรื่องจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์ตลอดชีวิต   วิชานี้จึงเป็นวิชาที่ต้องเรียนตลอดชีวิต   หรือมีบทเรียนให้เรียนรู้ไม่มีวันจบ

เครื่องช่วยการเรียนรู้คือตัวอย่างของจริง และทฤษฎีที่มีผู้สรุปสังเคราะห์ไว้   ในเรื่องจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ต้องใช้หลายทฤษฎีประกอบกัน   เหมือนกับการใช้ธรรมะต้องใช้หลายๆ ข้อประกอบกัน   นอกจากนั้นยังต้องรู้จักเลือกใช้ทฤษฎีหรือหลักการให้เหมาะต่อกาละเทศะหรือบริบทอีกด้วย

 

เรียนจากการปฏิบัติสำคัญกว่าการเรียนจากทฤษฎี

ที่จริงทั้งทฤษฎีและปฏิบัติสำคัญทั้งคู่  และต้องใช้ประกอบกัน  แต่ในปัจจุบันเราเน้นเรียนทฤษฎี จนละเลยการปฏิบัติ   จึงต้องย้ำว่าปฏิบัติสำคัญกว่าทฤษฎี และช่วยให้เข้าใจทฤษฎีลึกซึ้งขึ้นด้วย   ในทำนองเดียวกันทฤษฎีก็ช่วยให้การปฏิบัติไม่เปะปะ ไม่หลงทาง    ที่ต้องย้ำคือเรื่องจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์นั้น เป็นทักษะ มากกว่าความเข้าใจเชิงทฤษฎี  และคนที่มีความสามารถสูงจะต้องมีทักษะในระดับชำนาญ   คือปฏิบัติได้โดยไม่ต้องคิดหรือตั้งหลักความคิดเสียก่อน   เป็นทักษะสูงระดับอัตโนมัติซึ่งการศึกษาเชิงทฤษฎีจะไม่สามารถช่วยให้บรรลุได้   จะบรรลุได้โดยการฝึกฝนทักษะเท่านั้น

นั่นคือเวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์เป็นการเรียนเพื่อปฏิบัติในชีวิตประจำวันในฐานะแพทย์และในฐานะมนุษย์ที่มีจิตใจสูง   ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรู้ หรือเพื่อให้ตอบข้อสอบได้  

 

เวชจริยศาสตร์แนวฉือจี้

โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิฉือจี้ไต้หวัน มีวิธีสอนความเป็นคนดีที่น่าประทับใจมาก   อ่านได้ที่http://gotoknow.org/file/vicharnpanich/view/20173

 

การคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking)

ใช้หลักกาลามสูตรคือไม่เชื่อง่ายๆ ต้องไตร่ตรอง หาข้อมูล หรือทดลองเสียก่อน   เมื่อเห็นจริงจึงเชื่อ

ต้องคิดแบบ “สวมหมวกหลายใบ”ในเวลาเดียวกัน   ใช้หลัก The SixThinking Hats (คิดแบบหมวก 6 ใบ) ของEdward de Bono

สำคัญที่สุดวิพากษ์เพื่อสร้างความเชื่อของตนเอง   เพื่อกำกับพฤติกรรมของตนเอง

ความสามารถในระดับสูงสามารถวิพากษ์ กระแสต่างๆ ในสังคมยุคข้อมูลข่าวสารระเบิด(informationexplosion)    มีทั้งข่าวสารมายาและข่าวสารจริง ปนเปยุ่งเหยิง   ให้เห็นส่วนที่เชื่อได้ ส่วนที่เชื่อไม่ได้ และส่วนที่ไม่ควรเอาใจใส่  ให้เข้าใจวาระซ่อนเร้น(hidden agenda)ของข้อมูลข่าวสารนั้น   เป็นโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ที่อยู่เบื้องหลัง   เห็นความเป็นข้อมูลกึ่งจริงกึ่งเท็จ ที่มีอยู่ดาดดื่นในโฆษณาทั้งหลาย  

หนังสือที่แนะนำให้อ่านคือ“การคิดเชิงวิพากษ์”และ “ผู้ชนะสิบคิด” โดย เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์  

 

จริยศาสตร์กับการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อพัฒนาตนเองเป็นนักคิดดีคิดชอบ

หลักสำคัญคือให้หมั่นสังเกตวัตรปฏิบัติของ“คนดี”ที่เป็น “นักคิด”และได้ทิ้งร่องรอยไว้ให้คนอื่นได้ศึกษา   ซึ่งมีมากมายที่เสียชีวิตไปแล้วเช่น ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายปรีดี พนมยงค์, มจ.สิทธิพร กฤดากร, นายสัญญา ธรรมศักดิ์, พุทธทาสภิกขุ,หลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ เป็นต้น  ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน, ศ. นพ. ประเวศ วะสี, ศ.ระพี สาคริก, พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) รวมทั้งอาจารย์และชาวบ้านธรรมดาอีกมากมายที่เป็นคนดีมีคุณธรรมสูง  

นักศึกษาควรมีฮีโร่ หรือต้นแบบในการเอาแบบอย่างในการพัฒนาตัวเองเป็นคนดี คิดดีคิดชอบ    เป็นแพทย์ที่ดี  เพื่อจะได้หมั่นสังเกต และหมั่นทดลองประพฤติปฏิบัติตัว   เป็นการสร้างการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างที่ดี

หลักสำคัญคืออย่าเพียงฝึกคิดจากสมอง   แต่ให้ฝึกคิดจากร่างกายให้มากกว่า   นั่นคือฝึกคิดจากการลงมือปฏิบัติและเห็นผลจากการปฏิบัตินั่นเอง   คือคิดจากการได้สังเกตเห็นความเป็นจริงที่เป็นการปฏิบัติและผลจากการปฏิบัติ   แล้วจึงนำไปไตร่ตรองหาเหตุผลและทำความเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความดี ความงามและความจริง

ให้เรียนจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์จากการทดลองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในชีวิตประจำวัน

ความเป็นจริงที่เป็นการปฏิบัติและผลจากการปฏิบัติ   ที่นำมาใช้เป็นปัจจัยฝึกคิด ก็คือชีวิตประจำวัน  ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน อาจารย์และคนทั่วไป   และต่อไปเมื่อได้เริ่มฝึกงานด้านวิชาชีพแพทย์ก็สังเกตจากการปฏิบัติงานเหล่านั้น   หลังจากเป็นแพทย์ก็สังเกตจากการปฏิบัติหน้าที่   เมื่อมีครอบครัวก็สังเกตจากชีวิตครอบครัว   รวมทั้งสังเกตจากชีวิตตามปกติในสังคม    แต่ช่วงที่เรียนจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ได้เข้มข้นที่สุดคือช่วงที่เกิดวิกฤตในชีวิต   ช่วงที่มีผลประโยชน์ที่มิชอบ หรือถูกกระทบในเชิงโลภะ โทสะ โมหะอย่างรุนแรง   การเรียนรู้เชิงจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อพัฒนาตนเองเป็นนักคิดดีคิดชอบปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

 จริยศาสตร์กับการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อฝืนกระแสวัตถุนิยม เงินนิยม บริโภคนิยม

คนที่สามารถเอาชนะกระแสวัตถุนิยม เงินนิยมบริโภคนิยม ได้  จะเป็นผู้มีชีวิตที่มีความสุขแบบปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย   แต่จะสามารถทำเช่นนั้นได้ต้องการการฝึกฝนบารมีด้วยการปฏิบัติ   เพื่อไม่ให้กระแสมอมเมาจากการโฆษณา และกระแสสังคมที่ยึดถือการสนองกิเลสตัณหา มาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต  วิญญูชนพึงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่อาบเคลือบด้วยยาพิษทางใจแต่ไม่โดนพิษร้ายนั้น  เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู   แต่ไม่ถูกพิษจากเขี้ยวงู (คำสอนของท่านพุทธทาส)

 

หมายเหตุ

ไม่มีการสอนแบบบรรยายตามเอกสารนี้    แต่มีการเรียนรู้จากการดูภาพยนตร์เรื่อง“เสียงกู่จากครูใหญ่”แล้วแลกเปลี่ยนการตีความระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สอนใจอะไรแก่เราบ้าง    นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าคนเราตีความเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นแตกต่างกันมาก   ได้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายในการคิดของคน

จะมีการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาตีความเชิงวิพากษ์เพื่อฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ หรืออย่างมีวิจารณญาณไม่เชื่อง่าย

------------------------------------------------------------------------------------------------- 

หมายเลขบันทึก: 185603เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2008 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2017 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท