FISH กับหมอครอบครัว


อยู่ตรงนั้น เล่นเป็นงาน สร้างสรรค์วันดี เลือกทัศนคติ

      ผมเป็นหมอที่หงุดหงิดง่ายและใจร้อนคนหนึ่งเลยละครับ   โดยเฉพาะเวลาที่คนไข้เยอะๆ  ต้องรีบตรวจ  หรือไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสักเท่าไหร่ เช่น หิวข้าว  อดนอน ต้องเตรียมประชุม  ทั้งที่เรียนมาทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว  ต้องดูแลคนไข้แบบเป็นองค์รวม  เวลาทำไม่ได้ก็ยิ่งโกรธตัวเอง 

      การที่เร่งรีบก็อาจจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการรักษาตามมาและที่สำคัญก็คือ เป็นการทำร้ายตัวเองทางหนึ่ง  แม้ว่าบางครั้งจะตรวจคนไข้เสร็จทันก่อนเวลา แต่ก็รู้สึกว่าเหนื่อยเหมือนไปวิ่งรอบสนามฟุตบอลมา

      แล้วจะทำอย่างไร

      หลายๆท่านคงจะมีคำตอบที่อาจจะพอช่วยเหลือผมได้อยู่ในใจ  

      สำหรับผม  ผมลองมาหลายวิธีมาแล้ว  ค้นหา  อ่านหนังสือ  แต่มีเล่มหนึ่งที่รู้สึกโดนใจ  และมักจะหยิบมาอ่านอยู่เรื่อยๆ  เวลาที่ผมรู้สึกว่าสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป  และปล่อยให้ชีวิตหมุนไปกับกระแสแห่งความรีบเร่ง

     FISH TALES  !

     คอหนังสือ  คงจะพอคุ้นๆกันบ้าง  หนังสือเล่มนี้  จะพูดถึงหลักการที่ถอดมาจากการสังเกตพ่อค้าขายปลาที่ตลาดไพค์เพลซในซีแอตเติ้ล  ที่งานแสนจะหนักหนา  แต่ว่า  พวกเขายังสามารถทำงานได้อย่างมีชีวิตชีวาได้

      Be there อยู่ตรงนั้น

      Play เล่นเป็นงาน

     Make their day  สร้างสรรค์วันดี

     choose your attitude เลือกทัศนคติ

      ผมนำไปใช้ยังไงบ้าง

 

-          Be there อยู่ตรงนั้น คือ พยายามอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด  ให้ความสำคัญกับบุคคลที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุด ไม่ว่าข้างนอกห้องตรวจจะเป็นอย่างไร หรือว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น  อยู่ตรงนั้นอย่างใส่ใจซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก บางครั้งเราตรวจไปอย่างรีบเร่ง ด้วยใจที่คิดถึงงานที่อยู่ในอนาคต  หรือหวนระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดในอดีต  อันนี้ตรงกับพระพุทธศาสนา  เหมือนที่ท่านติช นัท ฮันห์  กล่าวว่า " ถ้าคุณไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน  เวลามองคุณก็จะไม่เห็น  ฟังแต่ว่าจะไม่ได้ยิน  กินแต่จะไม่ได้ลิ้มรส"

-          Play  เล่นให้เป็นงาน  มีอารมณ์ขัน  หัวเราะ คงไม่มีผู้ป่วยคนไหนที่อยากเห็นคุณหมอของเขาเคร่งเครียดไปเสียทุกเรื่อง  การมีอารมณ์ขัน และเสียงหัวเราะ ช่วยทำให้ตัวเราเปิดรับสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น  คนไข้ก็เช่นเดียวกัน เปิดรับสิ่งต่างๆที่เราพยายามมอบให้ ไม่ว่าความห่วงใย  ความปรารถนาดี  เมื่อใจเปิดรับ  ผู้ป่วยก็จะรับฟังเราได้มากขึ้น  ส่วนตัว ผมเป็นคนขี้เล่นมากๆ  แต่บางครั้งก็ลืมมันเข้าไปในห้องตรวจด้วย 

-          Make their day  สร้างสรรค์วันดี  ในชีวิตของคนเรา การพบและจากกันเป็นสิ่งที่ธรรมดา  บางคนพบกันแล้วไม่เคยเจอกันอีกเลย  หมอกับคนไข้ก็เช่นกัน  การพบกันนั้นมันอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตหมอกับคนไข้ไปตลอดกาล  การที่ทำให้วันนี้ของคนไข้เป็นวันพิเศษ  ให้ผู้ป่วยได้ยิ้ม  มีส่วนร่วมและมีความภาคภูมิใจ  

-           Choose your attitude เลือกทัศนคติของคุณ อันนี้สำคัญที่สุด  เราเลือกได้  ใครๆคงไม่อยากเป็นที่รองรับอารมณ์ของใครๆหรอกนะ   แม้ว่าวันนี้  อาจไม่ได้ทานข้าวมา  นอนไม่พอ หรืออารมณ์ไม่ดี  แต่เราเลือกได้ว่า จะยิ้มหรือว่าหน้าตาบูดบึ้ง  ถ้ามีสติล่วงรู้ทัน  ก็จะไม่ตกสู่ร่องความคิดแบบเดิมๆ  จะรู้ว่าเราสามารถเลือกได้เสมอว่าจะแสดงปฏิกิริยากับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

        ถ้าสนใจ  ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 185027เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2008 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีค่ะ
  • เคยพยามยามทำงานให้สนุก แบบว่าสนุกกับงาน แต่บางครั้งก็ยากเหลือเกินกับภาระงานที่ล้นมือ
  • ถ้าเป็นไปได้อยากสร้างโรงพยาบาลในฝันที่ประชาชนมีสุขภาพดี มารับบริการเพื่อการป้องกัน มากกว่ามาซ่อมสุขภาพ
  • ชาตินี้จะได้เจอไม๊เนี่ย   อิอิอิ

                            

สวัสดีครับ

ยินดีที่ได้รู้จักหมอ FM ครับ ผมชอบวิธีคิดแบบนี้ครับขอนำไปใช้บ้าง

ผมเองใช้คติใกล้เคียงกันคือ "ทำอย่างไรให้ตรวจคนไข้ ให้เรามีความสุข" เป็นโจทย์ใหม่ นิยามความสุขคือ อยู่กับปัจจุบัน ตรวจคนไข้คือความสุข ความสุขคือตรวจคนไข้

น้อยคนในโลกนี้จะมีโอกาสดี ๆ แบบเรา ที่มีคนยอมเล่าเรื่องราวทุกเรื่องโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน

  • สวัสดีครับ ดีใจได้เห็นบันทึกของคุณหมออีกคน ถึงจะมาอ่านช้าไปเป็นปี
  • เวลาทำไม่ได้ก็ยิ่งโกรธตัวเอง อารมณ์เดียวกับผมเลย
  • เพื่อนชาวออสเตรเลียเพิ่งให้หนังสือผมมาเล่มหนึ่ง Happiness trap
  • เพิ่งอ่านได้ไม่กี่หน้า แต่ก็ชอบแนวคิด รู้สึกว่าเป็น แนวคิดเชิงพุทธ ชัดๆ

อาจารย์คะ

หนูรู้สึกเลยค่ะว่า

พออยู่ปี6

ความเป็นมนุษย์เริ่มหายไป

เริ่มมีความชินชา ไม่ค่อยอยากเจอหน้าญาติ ทั้งๆที่มันสำคัญมาก

จนต้องหาหนังสือมาอ่าน

และก็รู้สึกว่า เมื่อก่อนตอนเด็กๆเคยไม่ชอบหมอที่ดุ ไม่สนใจคนไข้

แต่ตัวเองกลับเริ่มเป็น

จนต้องหันมาเตือนตัวเองค่ะ

น้องๆปี 4 เพิ่งขึ้น ยังมีอุดมการณ์

บาง

ครั้งก็ลองไม่ใส่ชุดexternไปนั่งตรงที่นั่ง

ได้ฟังญาติๆพูดถึงหมอค่ะ

ก็เลยคิดว่า มันอยู่ที่ว่าเราจะเตือนตัวเราเองได้มากแค่ไหน

ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้วค่ะ

แต่ถ้าเมื่อไร caseมามากมายอีก

ในใจก็คิดว่า พระเจ้า ทำไมมีแต่คนป่วยยยยมากมายขนาดนี้

อยากมีเวลา ได้คุยได้ดูจริงๆ แต่ก็งานเข้าตลอด จนบางทีก็คิดว่า

ฉันมาทำอะไรที่นี่

นึกถึงสมัยเป็น นศพ.แล้วเราถูกปลูกฝังเรื่องพวกนี้น้อยมากครับ มองกลับไปมีแต่ความเร่งรีบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท