มหาวิหารแห่งปัญญา


ความเรียงชิ้นนี้ เขียนขึ้นเพื่อบันทึกถึงความพยายามของคนไทย ในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ ผลักดัน และเรียกร้องให้เกิดความตระหนัก ในคุณค่าแห่งองค์ความรู้ และกลไกในการเข้าถึงองค์ความรู้ หรือกระทั่งต่อยอด เพิ่มเติม สร้างให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ใหม่ของประเทศไทย ผ่านกระบวนการสื่อสารด้วยหนังสือ ความมุ่งมั่นและตั้งใจที่อยากสร้างสถาบันหนังสือแห่งชาติ เพื่อสร้างมหาวิหารแห่งปัญญา ของประเทศไทย และคนไทย

มกุฎ อรดี : มหาวิหารแห่งปัญญา

อ้างอิง - ภาพ http://www.lomography.com/folkways

ครั้งหนึ่งผมเคยขนลุก

ขณะนั่งอ่านบทสัมภาษณ์

ผ่านนิตยสารสารคดี เมื่อปี 2545

ขณะสัมภาษณ์เรื่องราว และความตั้งใจของ มกุฎ อรดี ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา นับจากเรื่องเล่าและเรื่องราวหนังสือ จากตำนานของวรรณกรรมเด็ก ผีเสื้อกับดอกไม้ ในเรื่องเล่าผ่านนามปากกา นิพพาน และงานแห่งชีวิต ผ่านสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และสำนักพิมพ์ในเครือ ที่ต่างผลิตงานคุณภาพสู่สังคมไทย

วันนั้น บทสัมภาษณ์ของเขายิ่งใหญ่กินใจ

เมื่อเขาพูดถึงความฝันครั้งสุดท้าย

สถาบันหนังสือแห่งชาติ

เขาเริ่มต้นอธิบายถึงเรื่องราว ที่คนไทยผู้หลงรักหนังสือต่างรู้ดี ว่าสังคมนี้มีปัจจัยในการอ่านหนังสือกันน้อย ไม่นับรวมกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน ที่ทำให้บ้านเมืองของเราอ่านกันน้อย หลายสิบปีที่ผ่านมา เราจึงตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างสังคมรักการอ่าน และสังคมแห่งการอ่าน

สร้างสังคมไทย

ให้เป็นสังคมรักการอ่าน

และกลายเป็นสังคมแห่งหนังสือ

มกุฏ อรดี อธิบายเชื่อมโยงความคิด การใช้เหตุผล การทำงานและความพยายามเพื่อค้นหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งในระบบราชการและระบบวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อสร้างให้เกิดสังคมรักการอ่าน และสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะทำให้สังคมไทยเริ่มต้นวัฒนธรรมใหม่ ด้วยวัฒนธรรมแห่งการอ่าน

ผมขนลุก ขณะนั่งอ่านบทสัมภาษณ์อันยิ่งใหญ่

ด้วยเรื่องราวและเรื่องเล่าในความใฝ่ฝัน

และด้วยความสุขที่ได้เห็น

ถึงความตั้งใจของคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากสร้างสิ่งดีดีไว้ในสังคม ก่อนวันที่เขาจะลาโลกนี้ไป ด้วยความเข้าใจแบบเรียบง่ายและไม่มากมาย เขาอยากฝากผลงานแห่งชีวิตไว้ในบ้านเมืองนี้ ฝากความคิดฝันและจินตนาการ ซึ่งกลายเป็นรูปร่างด้วยแรงพยายามสุดท้ายของชีวิต ก่อนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เขาอธิบายถึงคำสวย

เมื่อพูดว่า ห้องสมุดเป็นมหาวิหาร

อาจเปรียบได้ว่าเป็น มหาวิหารแห่งปัญญา

เมื่อผู้คนสามารถถ่ายทอดเรื่องราว ขบคิดความเข้าใจ ใช้ความคิดและผูกพันทบทวนเรื่องราว ด้วยเนื้อหาแห่งหนังสือ ตำรับตำรากองโต ที่สามารถส่งผ่านความคิดความเข้าใจ ถ่ายทอดความผิดพลาดและความสำเร็จ ก้าวผ่านกาลเวลา จากคนสู่คน และจากกาลเวลาสู่กาลเวลา

 

 

วันนั้น เขาอธิบายถึง สถาบันหนังสือแห่งชาติ

ว่าจะเป็นองค์กรระดับชาติที่สำคัญ

เพื่อสร้างสรรค์หนังสือ

สร้างและผลิตบุคลากรด้านหนังสือ ทั้งงานพัฒนาการออกแบบ ขั้นตอนการผลิต การพิมพ์ การพัฒนาต้นฉบับงานเขียน พัฒนานักเขียนนักแปล พัฒนาศักยภาพการบริหารงานด้านธุรกิจหนังสือ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้เข้มแข็งในธุรกิจ วิจัยและพัฒนาศาสตร์ด้านหนังสือ

ด้วยเป้าหมายสูงสุด

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพ

ในการผลิตหนังสือ หนังสือของคนในเมืองไทย

โดยผลักดันให้องค์กรแห่งนี้ เป็นหัวขบวนของหน่วยงานอิสระ เป็นองค์กรอิสระของภาครัฐไทย ที่จะมุ่งมั่นทำงานด้านหนังสือ พัฒนาและผลิตหนังสือ ให้เป็นหัวใจหลักของคนไทย ให้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเจ้าภาพของหน่วยงานรัฐ เพื่อผลักดันสนับสนุนในทุกนโยบายรัฐ

เพื่อเอื้ออำนวยให้ต้นทุนการผลิตลดลง

สนับสนุนเอกชนผลิตหนังสือ

ให้เกิดราคาเหมาะสม

จนกระทั่งสามารถกระจายสู่ผู้อ่านให้มากที่สุด เพื่อให้คนไทยสามารถอ่านหนังสือได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป มีเนื้อหาสาระของเรื่องราวหนังสือที่มากมายต่อการเรียนรู้ มีความเหมาะสมของผลงาน ที่จะทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้มากมาย และเป็นความจริงในความใฝ่ฝัน

หากเรายังปรารถนา

ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน

และก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการอ่านอันยั่งยืน

นับจากวันนั้น มีข่าวสารและการรายงานความเคลื่อนไหว มีการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ จนกระทั่งมีการแปรเปลี่ยนเรื่องราวงบประมาณ มีการจัดทำหน่วยงานใหม่ ด้านการจัดการองค์ความรู้แห่งชาติ ควบคู่กับกรอบของหน่วยงานด้านการคิดสร้างสรรค์

แต่สถาบันหนังสือแห่งชาติ กลับตกหล่นระหว่างทาง

ไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระของรัฐ

ไม่มีสถาบันหนังสือแห่งชาติ

นับจากวันนั้น จนกระทั่งวันนี้ ในปี 2551 ไม่ว่าความใฝ่ฝันจะเดินทางอีกยาวไกลเพียงใด สำหรับความคิดความมุ่งมั่น และการจุดประกายความคิด เพื่ออยากสร้างสรรค์ให้สังคมไทยงดงาม และก้าวย่างอย่างมั่นคง ด้วยปัญญาความคิดและความตั้งใจ ในฐานะคนไทยสามัญชนคนหนึ่ง สำหรับความคิดของผม

ผมให้เกียรติและยกย่อง

ผลงานและความพยายามเพื่อสร้าง

และผลักดันให้ สถาบันหนังสือแห่งชาติ เกิดขึ้น

สำหรับความดีแห่งสามัญชนในสังคมไทย

แด่ความพยายามของ มกุฏ อรดี

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 184234เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ส้งคมไทยให้ความสำคัญกับการอ่านน้อยมากนะคะ
  • เห็นด้วยว่าห้องสมุดเป็นมหาวิหารแห่งปัญญา
  • แม้ว่าตอนนี้จะใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า
  • แต่ก็เลือกที่จะอ่านหนังสือจริงๆ ไปนั่งอ่านตามมุมเล็กๆในห้องสมุดเสมอๆค่ะ

สวัสดีครับ คุณ naree suwan

เป็นหนึ่งในความฝัน

และหนึ่งในความคาดหวังของชีวิตครับ ที่อยากเห็นสังคมไทย มีวัฒนธรรมการอ่าน วัฒนธรรมการเขียนที่เข้มแข็ง ผมเชื่อเช่นนั้นครับ ทุกครั้งเมื่อยามมองเห็น ห้องสมุด ผมถือว่าเป็นมหาวิหารแห่งปัญญา จริงจริงครับ

แต่การมองห้องสมุด

ให้เป็นมหาวิหารทางปัญญา แบบใดนั้น เราคนไทยทุกคน ก็คงต้องช่วยกันมองครับ จะสร้างให้มีสีสัน ให้มีกิจกรรมสนุกสนาน สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่มีความสุข มีความเย็น ทั้งกายและใจ เปิดให้คนไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม ในความช่ำเย็นของชีวิต ความช่ำเย็นของปัญญา เช่นไรนั้น เราคงต้องช่วยช่วยกันครับ

ขับเคลื่อนทีละนิดทีละส่วนครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็น และการเยี่ยมเยือน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท