ที่หนึ่งแห่งการศึกษาโลก


ผลการศึกษานี้จะเป็นตัวชี้บอกทีดีตัวหนึ่งว่าประเทศชาติมีแนวโน้มที่จะพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้เทียมทันประเทศอื่น

 

                                                   ที่หนึ่งแห่งการศึกษาโลก

 

                                                            น.. กมล แสงทองศรีกมล

                                                            กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

                                                    เมื่อเกือบ1-2ปีที่ผ่านมามีข่าวการศึกษาชิ้นเล็กๆที่ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก คือการประเมินผลการศึกษาเปรียบเทียบนานาชาติ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยของวิทยาลัยบอสตัน (Boston College) ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยแนวโน้มการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือทีไอเอ็มเอสเอส (Trends in International Mathematics and Science Study : TIMSS ) ปีพ.. 2546 ผลการศึกษานี้จะเป็นตัวชี้บอกทีดีตัวหนึ่งว่าประเทศชาติมีแนวโน้มที่จะพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้เทียมทันประเทศอื่น ๆ หรือไม่เพียงใด วิชาที่มีการประเมินเปรียบเทียบกัน คือวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยจะมีการประเมินกันทุก 4ปี โดยสมาคมการประเมินผลนานาชาติ IEA (International Association for Education Achievement) TIMSS มีการศึกษาไปแล้ว 3 ครั้งครับ ครั้งแรกในปี ปีพ.. 2538 2542 และล่าสุดเมื่อปี 2546

การศึกษานี้ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของสังคมไทยครับ ตรงกันข้ามกับข่าวการศึกษาที่คนไทยให้ความสนใจมากคือ การแข่งขันวิทยาศาสตร์ โอลิมปิก ซึ่งไม่ใช่การประเมินผลการจัดการการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศ แต่เป็นการแข่งขันระหว่างคนเก่งของประเทศ โดยเลือกคนที่เก่งของประเทศไทยวิชาละ 4 -5 คน มาฝึกฝนแล้วส่งไปแข่งขันกัน เพื่อดูว่าคนเก่งของประเทศใดจะเก่งกว่ากันครับ ส่วนการประเมินผลนานาชาติ TIMSS นั้นมีการประเมินผลการจัดการศึกษาในหลายตัวแปร ตั้งแต่ต้นหลักสูตร การเรียนการสอน การมีทรัพยากรโรงเรียนเพียงพอหรือไม่อย่างไร เวลาเรียนตลอดจนผลสัมฤทธิ์หรือคะแนนของนักเรียน ดังนั้นผลการประเมินผลการศึกษาของ TIMSS แม้ว่าจะประเมินเพียงสองวิชา แต่ในระดับโลกถือว่าเป็นตัวชี้บอกความสำเร็จของการจัดการศึกษาเลยครับ ดูไปแล้วเปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค การที่ประเทศไทยได้เหรียญทอง1-2 เหรียญ ต่างจากการเป็นเจ้าเหรียญทองโดยสิ้นเชิงครับ ดังนั้นทุกประเทศในโลกจะภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าเหรียญทอง และความเป็นที่หนึ่งนี้ต่างหากคือตัวบ่งบอกประสิทธิภาพและความสำเร็จของวงการกีฬาในประเทศนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ผลการศึกษาของ TIMSS จึงมีความหมาย และมักจะนำไปสู่การปรับปรุงหรือการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเราก็กำลังเร่งปฏิรูปการศึกษาอยู่เช่นกัน

 

ใครได้ที่หนึ่ง

น่าเสียดายที่ผมกำลังพูดคุยกับท่านผู้อ่านนี้มันเป็นบทความครับ เลยไม่สามารถให้ท่านผู้อ่านลองทายได้ว่าประเทศไหนได้ที่1 ผมเคยไปบรรยายตามโรงเรียนต่างๆ ปรากฏว่าส่วนใหญ่มักจะทายผิด ทายว่าเป็นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็ญี่ปุ่น คำเฉลยก็คือประเทศสิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆในอาเซี่ยนของเรานี่เอง

โดยจากการสำรวจเด็กกว่า 360,000 คน ใน 49 ประเทศที่ศึกษาระดับเกรด 4 ( ประมาณชั้นประถมปีที่4) และ เกรด8 ( ประมาณชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ) พบว่านักเรียนสิงคโปร์สามารถทำคะแนนได้สูงสุดทั้งในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แซงหน้าประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ นอกจากนี้จากผลสำรวจยังพบว่า เด็กนักเรียนจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ก็ทำคะแนนในวิชาทั้งสองได้ดีมากเช่นกัน รายงานยังระบุว่า เด็กนักเรียนจากประเทศแถบเอเชียเหล่านี้ ทำคะแนนได้ดีในอันดับต้น ๆ โดยในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับเกรด 8 ซึ่งมีอายุประมาณ 13 ปี เด็กนักเรียนจากสิงคโปร์ มีคะแนนเฉลี่ย 605 คะแนน จากคะแนนเต็ม 800 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยของเด็กจาก 46 ประเทศ อยู่ที่ 467 คะแนน ส่วนเด็กญี่ปุ่น ทำได้ 570 คะแนน เด็กรัสเซีย 508 คะแนน และสหรัฐทำได้ 504 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 15 ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนระดับเกรด 4 ซึ่งมีอายุประมาณ 9 ปี จาก 25 ประเทศ ปรากฏว่า เด็กสิงคโปร์ มีคะแนนสูงสุดที่ 594 คะแนน ตามมาด้วยฮ่องกง 575 คะแนน ญี่ปุ่น อยู่ในอันดับ 3 ที่ 565 คะแนน นอกจากนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์ เด็กจากสิงคโปร์ในทั้งสองกลุ่มอายุนี้ก็มีคะแนนนำเช่นกัน ตามมาด้วยเด็กไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายคนอาจนึกถามว่าแล้วอันดับของประเทศไทยล่ะ เป็นอย่างไร บังเอิญการศึกษาครั้งนี้ ไม่ได้รวมประเทศไทยเข้าไปด้วยครับ แต่จากการประเมินผลนานาชาติ TIMSS ครั้งก่อน (ปีพ.. 2542 ) และจากการศึกษาวิจัยของสถาบันอื่น คงต้องยอมรับว่าอันดับของเราไม่สู้ดีนัก โดยเมื่อเทียบกันกับกลุ่มประเทศในอาเซี่ยน ระบบการศึกษาของเรายังตามหลังประเทศมาเลเซีย แต่ก็ดีกว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียครับ

 

อะไรคือปัจจัยความสำเร็จ

ในผลการศึกษายังได้ระบุว่านักเรียนสิงคโปร์มีผลการทดสอบทั้ง 2 วิชาอยู่ในระดับดีตลอดทั้งปี และจากการสำรวจข้อมูลแวดล้อมทำให้เห็นถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ว่า นักเรียนทั้งหลายมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาทั้ง อีกทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการศึกษา และสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาอันนำไปสู่ภาวะแห่งความต้องการเรียนรู้

อย่างไรก็ดี การศึกษาทีไอเอ็มเอสเอส 2003 ครั้งนี้ไม่ได้ระบุแค่คะแนนตัวเลขที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเด็กๆ แต่ละประเทศ แต่ยังได้แสดงถึงข้อมูลความสามารถระหว่างเพศ สิ่งแวดล้อมของนักเรียน การฝึกฝนและการเตรียมตัวของครูอันนำไปสู่ความพร้อมในการเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

สำหรับผู้ที่สนใจรายงานฉบับละเอียดของทีไอเอ็มเอสเอส 2003 สามารถคลิกไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://timss.bc.edu ครับ

 

4 เสือแห่งเอเชีย

ที่ผมประหลาดใจคือประเทศที่ได้4 อันดับต้นคือนักเรียนจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงนั้น ท่านผู้อ่านคุ้นๆเหมือนกับผมไหมครับว่าเมื่อเกือบ10ปีที่แล้ว โลกได้จับตามอง 4 ประเทศที่กำลังเป็นดาวรุ่ง พุ่งแรง มีศักยภาพในการพัฒนาสูงที่เรียกกันว่า 4 เสือแห่งเอเชีย ซึ่งก็คือ4ประเทศนี้นี่เอง ไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่มันน่าจะตรงกันโดยเป็นเหตุเป็นผลกันมากกว่า ทุกวันนี้เราเห็นศักยภาพทางการค้าและธุรกิจการเงินของสิงคโปร์ เราเห็นศักยภาพทางเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ผ่านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มากมายในชีวิตประจำวัน เช่นโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ คงไม่มีบอกได้ครับ แต่ไม่น่าจะเป็นว่าเขาพัฒนาประเทศเสร็จก่อน แล้วจึงค่อยหันมาพัฒนาการศึกษา ที่น่าจะเป็นคือเขาพัฒนาการศึกษาก่อนแล้วจึงเป็นปัจจัยทำให้ประสพความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ หรือไม่ก็ทำไปแทบจะพร้อมๆกันเลยทีเดียว

 

เห็นด้วยกับผมใช่ไหมครับว่าการพัฒนาการศึกษานั้นสำคัญมากมายแค่ไหนทั้งกับลูกหลานและการพัฒนาประเทศไทยของเรา

 

( ข้อความบรรยายใต้ภาพ )

แท่งกราฟแสดงผลการทดสอบวิชาคณิตและวิทย์จากเด็ก 49 ประเทศ โดยสีฟ้าคือวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนสีแดงคือวิชาวิทยาศาสตร์ และความเข้มของสีคือระดับความสามารถสีอ่อนคือสูงและสีเข้มคือต่ำ โดยแท่งคู่ทางซ้ายมือคือผลคะแนนในระดับเกรด 4 และขวาคือระดับเกรด 8 จะเห็นว่า สิงคโปร์อยู่ในตำแหน่งบนสุดของกราฟทั้ง 2 วิชาและ 2 อันดับชั้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 184233เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจมากครับ เขาทำได้ไง 4 เสือ ความเป็นสากลของนคนไทย

ดูเหมือนจะถดถอยไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แม้แต่หลักสูตรการศึกษา(ขั้นพื้นฐาน)อาจารย์หมอคิดว่าน่าจะเริ่มต้นตรงใหนดีครับ เพื่อความทัดเทียม !?

ขอบคุณที่อาจารย์ให้ความสนใจครับ

ผมยังเชื่อทฤษฎี 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ อาจารย์หมอประเวศ ครับ คือความรู้ ภาคประชาชนและที่สำคัญการเมือง แต่ตอนนี้ยังวังเวงครับ

พอดีผมเขียนหนังสือพลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ จะมีรายละเอียดทั้งหมดในหนังสือ ถ้าอาจารย์หาไม่ได้ ยินดีจะจัดส่งไปให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท