การเพาะเห็ดตะกร้า


12  พฤษภาคม 2551 ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมอาชีพทางด้านการเกษตรหลักสูตร การเพาะเห็ด

ฟางในตะกร้า ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี (พืชสวน) จำได้ว่าพิธีกรน่ารักมาก (คุณปัญญา ประดิษฐสาร) เป็นกันเองกับเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมทุกท่าน  ซึ่งมาจากทั่วสารทิศ ทั้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน  6  ท่าน  จังหวัดสงขลา 1 ท่าน ส่วนอีก 60 ท่าน มีภูมิลำเนาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลักสูตรนี้ใช้เวลาในการอบรม 1 วันเต็มๆ เลย เพราะเริ่มตั้งแต่ 08.30 น. เลิกเอา 17.00 น. ทีเดียวถือว่าคุ้ม จะคุ้มหรือไม่ก็ตอนที่เห็ดฟางที่เพาะไว้จะงอกออกมาให้เห็นนั้นแหล่ะค่ะถึงว่าคุ้มสุดๆ

          พิธีเปิดโดย ร.ต.ส่งสุข  รตนาภรณ์ หลังจากนั้นเป็นวิชาการ วิทยากรโดยคุณชัยพร  จันทรัตน์ นักวิชาการจากศูนย์ส่งเสริมฯ เป็นวิทยากร ส่วนช่วงบ่ายได้รับเกียรติจากอาจารย์ณรงค์ ทองแท้ อาจารย์จากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจาก อ.พุนพิน ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดศูนย์ในระดับจังหวัด และอีกรางวัลจากเขต 5 จังหวัดสงขลา รู้สึกภูมิใจแทนสำนักงานเกษตรอำเภอพุนพินที่ท่านได้เอ๋ยถึง เพราะทำให้หลายๆ คนได้รู้จักกับท่าน รู้จักศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของท่าน รู้จักการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          คราวนี้มาเริ่มเรื่องการเพาะเห็ดฟางในตะกร้ากันน่ะค่ะ เริ่มช่วงเช้าเป็นการแนะนำตามหลักวิชาการล้วนๆ ในการเพาะ  โดยคุณชัยพร  จันทรัตน์ ซึ่งแนะนำไว้ดังนี้

ปัจจัยที่มีผลต่อการเพาะเห็ดฟาง

1)  วัสดุที่ใช้เพาะเห็ด ต้องเป็นวัสดุที่ย่อยได้ง่าย ปราศจากจุลินทรีย์ วัสดุที่นิยมใช้เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่วต่างๆ ขี้ฝ้าย เศษหญ้าแห้ง ขี้เลื่อย และสภาพความเป็นกรด-ด่าง (ค่าpH)

2)  เชื้อเห็ดฟาง

3)  สภาพแวดล้อม เช่น ความชื้น อุณหภูมิ แสง อากาศ โรค และแมลงศัตรูเห็ด เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกดอกของเห็ด

วัสดุอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดตะกร้า

1)      ตะกร้าผลไม้ทรงกลม

2)      วัสดุสำหรับเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว เปลือกถั่วต่างๆ

3)      อาหารเสริม ช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดี ได้แก่ ผักตบชวา ไส้นุ่น  ต้นกล้วย

4)      เชื้อเห็ดฟาง

5)      พลาสติกคลุมวัสดุเพาะ

6)      วัสดุอื่น     

7)      โครงไม้ไผ่ทรงสุ่มไก่ กระโจมไม้ไผ่

การเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ในการเพาะเห็ดในตะกร้า

          1)  เตรียมพื้นที่ โรงเรือน กระโจม พื้นที่ตั้งตะกร้าให้สูงกว่าพื้นดิน ห้ามสัตว์ทุกชนิดรบกวน ป้องกันโดยการโรยปูนขาว ทิ้งไว้ 2-3 วัน

          2)  วัสดุที่ใช้ต้องสะอาด  เชื้อเห็ดฉีกประมาณ 2-3 ซม.  วัสดุที่ใช้ไม่ถูกสารเคมี

          3)  อาหารเสริม ผักตบชวา หั่นเฉียงๆ ขนาด 1/2 ซม.

          4)  น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำคลอง บึง น้ำบาดาล ห้ามน้ำที่ผสมคลอรีน สารส้ม เกลือ

          5)  ตะกร้าพลาสติก

          6)  เชื้อเห็ดฟางชนิดถุงปอน ใช้อัตรา 1 ถุง/3 ตะกร้า เชื้อแบบอีแปะ 1 ถุงต่อ 1 ตะกร้า

ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟาง

          1) นำวัสดุเพาะในที่นี้ใช้ขี้เลื่อยใส่ลงตะกร้าสูงจากตะกร้าประมาณ 2-3 นิ้ว กดด้วยไม้ให้พอแน่น ให้ชิดขอบตะกร้าให้มากที่สุด

          2) นำอาหารเสริมผักตบชวา โรยบนขี้เลื่อยให้ชิดตะกร้า กว้าง 2-3 นิ้ว สูง 1 นิ้ว

          3) นำเชื้อเห็ดฟางฉีกเป็นชิ้นขนาด 1-2 ซม. คลุกกับแป้งสาลี แบ่งเชื้อเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน นำส่วนที่ 1 วางเป็นจุดๆ ห่างกันประมาณ 5-10 ซม. ทำเช่นนี้จำนวน 3 ชั้น

          4) ชั้นที่ 4 วางอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ของตะกร้า โรยเชื้อเห็ดให้เต็มพื้นที่เช่นกัน โรยขี้เลื่อยให้เต็มตะกร้า

          5) นำน้ำประมาณ 2 ลิตร ลดลงด้านบนให้ชุ่ม วางตะกร้าในโรงเรือน หรือกระโจมที่เตรียมไว้

          6) วางตะกร้าซ้อนกันได้ไม่เกิน 4 ใบ นำพลาสติกมาคลุมกระโจม หรือโครงไม้ไผ่จากบนลงล่าง คลุมให้มิด ด้านล่างควรใช้อิฐหรือไม้ทับเพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก

          7) ช่วงวันที่ 1-4 วันแรก อุณหภูมิจะอยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส

          8) วันที่ 4 ให้เปิดพลาสติกคลุมออก เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ หากวัสดุเพาะแห้งให้รดน้ำได้ แต่เพียงเล็กน้อย

          9) วันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส

          10) การเก็บเกี่ยววันที่ 8-9 เห็ดฟางเริ่มให้ดอกขนาดโตขึ้นจนสามารถเก็บได้ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับดอกแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้น ไม่ควรใช้มีดตัดเพาะส่วนที่เหลือจะเน่าเสียลุกลามไปยังดอกอื่น เก็บเสร็จให้รีบปิดพลาสติกหรือโรงเรือนตามเดิม

ช่วงบ่ายเวลา 12.45 น. เข้าปฏิบัติงานจริงสถานที่ที่ศูนย์ได้จัดเตรียมเอาไว้ แต่บรรยากาศไม่อำนวย เนื่องจากฝนตกตลอดเวลา แต่ทุกคนก็สนใจไม่ลดละ อยู่นั่งฟังการบรรยายและฝึกปฏิบัติตามอาจารย์ณรงค์ด้วยกันทุกคน เริ่มต้นอาจารย์ได้แนะนำเคล็ดลับในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าให้สำเร็จไว้หลายประการด้วยกันคือ

1) ต้องรู้จักอุปนิสัยและวงจรชีวิตของเห็ดฟางเป็นอย่างดี เช่นชอบอากาศร้อนชื้น  วัสดุในการเพาะต้องสะอาด แห้ง ในกรณีใช้วัสดุย่อยสลายยากต้องหมักด้วยจุลินทรีย์(น้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ) ก่อน

2) วัสดุเพาะที่ใช้ได้ดีที่สุดคือขี้เลื่อยยางพารา อาหารเสริมที่ดีที่สุดและราคาถูก คือผักตบชวา ต้องเป็นผักตบที่น้ำไหลผ่านจะดีกว่าอยู่ในน้ำนิ่ง

3) น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำคลอง น้ำบาดาล ห้ามมีคลอรีน สารส้ม

4) การเปิด/ปิดกระโจม ห้ามเปิดบ่อยครั้ง

5) ช่วงเปิดกระโจมเพื่อระบายอากาศ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในวันที่ 4 ของการเพาะ คือ เวลา 16.00-17.00 น. และเป็นไว้ประมาณ 1-3 ชม. ห้ามเกินไปกว่านั้น

6) อาหารเสริมที่ใช้คลุกเป็นแป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว เพื่อให้เส้นในเจริญโตเร็วขึ้น อัตรา 1 ช้อนกาแฟ/1 ถุง (ขนาด 350 กรัม)

7) การโรยผักตบชวา ห้ามโรยหน้าเกินไปเพราะจะทำให้เส้นใยเน่าเสียได้ ใช้ดินร่วนหรือปุ๋ยคอกผสมจะทำให้ดอกมีขนาดโตขึ้น หรือใช้น้ำนมสด(วัวแดง) ชนิดหวานฉีดพ่นก่อนเก็บผลผลิต 1 วัน จะทำให้เพิ่มขนาดของดอกและเพิ่มความน่ากินมากยิ่งขึ้น ไม่ควรหั่นผักตบทิ้งไว้ล่วงหน้า

8) เชื้อเห็ดฟางแบบปอนด์จะดีกว่าอีแปะ เนื่องจากอีแปะเป็นเชื้อต่อมาแล้ว และห้ามเก็บเชื้อเห็ดไว้ในตู้เย็น ให้เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 18-20 องศา เชื้อเห็ดฟางแบบปอนด์สามารถเก็บไว้นานกว่า 10 วัน

9) การคลุมกระโจมควรใช้พลาสติกคลุมสีดำ เพราะจะทำให้ดอกเห็ดมีสีขาว แต่ถ้าคลุมด้วยพลาสติกสีขาว ดอกเห็ดจะมีสีดำ

10) การควบคุมอุณหภูมิมีผลต่อการออกดอกของเห็ด ช่วงวันที่ 1-4 วันแรก อุณหภูมิจะอยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส วันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส

หลังจากนั้นก็เริ่มลงมือปฏิบัติจริง สิ่งที่ได้อย่างที่เห็นค่ะ และก็ต้องรอไปอีก 8-9 วัน ดูว่าดอกจะงอกมากน้อยขนาดไหน                                    

คำสำคัญ (Tags): #เห็ดฟาง
หมายเลขบันทึก: 183860เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับ

  • แวะมาทักทายครับ
  • เป็นความรู้ใหม่ครับ
  • ถือว่าดีเลยทีเดียวครับ
  • ยังไงก็ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ นะครับ
  • แล้วจะแวะเข้ามาใหม่ครับ
  • ขอบคุณครับ

เพิ่งวางสายจากพี่ที่เขานำเห็ดที่เพาะไว้ในตะกร้าไปเลี้ยงต่อที่บ้าน ตอบกลับมาแล้วว่างอกแล้วดอกเท่าหัวไม้ขีด ดีใจค่ะ แต่ออกช้าสักหน่อยเพราะอากาศไม่ค่อยปกติ คืออุณหภูมิชื้นไป เห็ดชอบอากาศร้อนสักหน่อย (ขออภัยไม่มีรูปมาให้ชม)

  • ขอขอบคุณ นายประจักษ์ และครูโย่ง ที่เข้ามาให้กำลังใจค่ะ มีอะไรดีๆ ที่เจอกับตัวเองหรือที่ได้พบเห็นจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกค่ะ

 

แล้วอย่างนี้จะเอาตระกร้าที่ไหนใส่ผ้าที่วักแล้วล่ะครับ :)

แซวเล่นนะครับ

แวะมาอ่านครับ

ตอบ คุณกวินตะกร้าที่นำมาใช้เป็นตะกร้าผลไม้ทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 11 นิ้ว มีตาห่างประมาณ 1 นิ้ว จำนวนช่องเป็นแถวจากล่างขึ้นบน 7 ช่อง ก้นตะกร้าไมทึบช่วยให้ระบายน้ำได้ดี คงไม่มีใครเจาะจงขนาดของตะกร้าที่จะไส่ผ้าได้ขนาดนี้หรอกค่ะ

สวัสดีครับ

  • เห็นโปรแกรม แล้วอยากไปอบรมเหมือนกัน แต่ติดภารกิจอีกแล้ว
  • ได้ไปดู ที่บ้าน อ.ณรงค์ แล้วอยากทำดูบ้าง
  • ว่าแต่.. เดียวนี้เข้าไม่ใช้ช้อนชาแล้วหรือ?? 555..
ศศิรัศมิ์ ทองดอนเกีย

สวัสดีค่ะ หนูสนไจมากๆๆๆๆๆ แต่หนูไม่รู้จะติดคุณยางไรช่วยติดหนูหน่อยนะค่ะ โทร 0845000588 ใด้ทุกเวลาหนูลองรับสายคุณอยู่ค่ะ

ที่สุราษฎร์ธานี จะเปิดอบรมหลักสูตรการเพาะเห็ด เมื่อไหรค่ะ

ใช้ฟางข้าวแทนขี้เลื่อยได้ปะที่บ้านมีเยอะแล้วต้องทำไงต้องสับอะเปล่า

สวัสดีครับ ที่บ้านผมมีอาชีพเพาะเห็ดฟางครับ แต่เป็นเห็ดฟางแบบโรงครับ ก็ถือว่ารายได้ดีพอสมควรครับ ผมอยากจะขอคำแนะนำในเรื่องการแปลรูปผลิตภันฑ์จากเห็ดฟางครับ ไม่ทราบว่ามีอยู่หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น เห็ดหอมนั้น สามารถอบและทำให้แห้งได้ แต่เห็นฟางยังไม่เคยได้ยิน หรือแม้แต่เห็ดฟางกระป๋อง ก็อยากได้ยิน ถ้าทำได้คงส่งไปขาย สหรัฐอเมริกานานแล้ว 555555555555

ขอบคุณสำหรับข้อมูล

จะนำไปสอนนักเรียนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท