BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

มีบาตรไม่โปรด มีโบสถ์ไม่ลง มีอาบัติไม่ปลง ก็...


มีบาตรไม่โปรด มีโบสถ์ไม่ลง มีอาบัติไม่ปลง

มีสำบัดสำนวนมากมายที่สะท้อนถึงความเป็นไปของสังคมวัด... ผู้เขียนบวชมานานก็เป็นครูพักลักจำมาบ้าง รวมทั้งพยายามสังเกตและขบคิดเพื่อตอบข้อสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับคำพังเพยเปรียบเปรยเหล่านั้น... โอกาสนี้ก็จะนำมาเล่าอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคำอุทานอยู่ในรูปคำถามว่า

  • มีบาตรไม่โปรด ! มีโบสถ์ไม่ลง ! มีอาบัติไม่ปลง ! ก็ไม่รู้จะบวชอยู่ทำไม ?

ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทุกรูปจะต้องมีบาตร แม้จะไม่มีการบัญญัติว่าพระภิกษุจะต้องบิณฑบาตทุกวัน แต่บางรูปก็ไม่บิณฑบาตเป็นเดือนๆ บางรูปก็ไม่บิณฑบาตเป็นปีๆ หรือบางรูปเกินสิบปีแล้วที่ไม่ได้ออกบิณฑบาต.... ใครเข้าข่ายทำนองนี้ จัดว่า มีบาตรไม่โปรด !

..........

ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทุกรูปจะต้องทำอุโปสถทุกกึ่งเดือน โดยถ้ามีรูปเดียวให้อธิษฐาน มี ๒-๓ รูปให้บอกบริสุทธิ์ และถ้ามี ๔ รูปขึ้นไปครบองค์สงฆ์ก็ให้สวดปาฏิโมกข์... สำหรับวัดทั่วไปที่มีพระภิกษุครบองค์สงฆ์นั้น เมื่อถึงวันอุโปสถ พระภิกษุจะร่วมฟังปาฏิโมกข์ในโบสถ์ (โรงอุโบสถ) ซึ่งเรียกกันตามสำนวนในวัดว่า ลงโบสถ์... ส่วนบางวัดที่มีพระภิกษุไม่ครบ ๔ รูป หรือไม่มีพระที่สวดปาฏิโมกข์ได้ ก็อาจไปร่วมฟังปาฏิโมกข์หรือไปลงโบสถ์วัดอื่น... แต่บางรูป หลายเดือน หลายปี ไม่ได้ลงโบสถ์เลย ทั้งๆ ที่ในวัดก็มีกิจกรรมลงโบสถ์สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน.... ใครเข้าข่ายทำนองนี้ จัดว่า มีโบสถ์ไม่ลง !


อีกอย่างหนึ่ง สำหรับบางวัดนั้น อาจมีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นประจำวันในโบสถ์ (แต่บางวัดอาจทำ
ที่อื่น เช่น ศาลาการเปรียญ ลานเจดีย์ หรืออาคารอเนกประสงค์ เป็นต้น)... การลงสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นทำนองนี้ บางวัดจึงเรียกว่า ลงโบสถ์ เหมือนกัน... แต่บางรูป หลายเดือน หลายปี ไม่ได้ลงทำวัตรเช้า-เย็นกับเพื่อนสหธัมมิกเลย.... ทำนองนี้ก็เรียกว่า มีโบสถ์ไม่ลง ! เช่นเดียวกัน

อนึ่ง แม้สังฆกรรมอื่นที่ต้องทำในโบสถ์ เช่น บวชนาค อธิษฐานเข้าพรรษา ปวารณาออกพรรษา เป็นต้น... สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมพิธีกรรมเช่นนี้ก็เรียกว่าไปลงโบสถ์เหมือนกัน แต่ก็มีบางรูป ปีหนึ่งไม่เคยลงโบสถ์ทำสังฆกรรมทำนองนี้ บางรูปอาจลงปีละครั้งหรือสองครั้งในวันเข้าพรรษาและออกพรรษาเท่านั้น.... แม้ทำนองนี้ก็รวมเรียกว่า มีโบสถ์ไม่ลง ! ได้เหมือนกัน

........

ตามพระวินัยบัญญัติ อาการที่ทำผิดวินัยเรียกว่า อาบัติ ซึ่งมีทั้งอาบัติที่แก้ได้ (สเตกิจฉา) และอาบัติที่แก้ไม่ได้ (อเตกิจฉา) หรือจำแนกออกเป็นอาบัติขนาดเบา กลาง และหนัก เป็นต้น... สำหรับอาบัติที่แก้ได้นั้นก็จำแนกแยกย่อยออกไปอีก เฉพาะอาบัติขนาดเบาซึ่งต้องแก้ด้วยเทศนาคามินี ซึ่งเป็นการบอกแจ้งต่อเพื่อนภิกษุด้วยกันนั้น เรียกกันตามสำนวนในวัดว่า ปลงอาบัติ....และแม้แต่อาบัติที่ต้องแก้ด้วยวุฎฐานวิธี ซึ่งเป็นการอยู่กรรมนั้น ก็อาจเรียกว่า ปลงอาบัติิ ได้เหมือนกัน (เพียงแต่ไม่ค่อยมีประจำในวัดทั่วไปเท่านั้น)... แต่บางรูป หลายวัน หลายเดือน หลายปี ก็ไม่ค่อยได้เห็นว่าปลงอาบัติ... ใครเข้าข่ายทำนองนี้เรียกว่า มีอาบัติไม่ปลง !

 

ตามที่เล่ามา ผู้ที่เข้าข่ายทำนองนี้ครบถ้วน ก็ควรตรึกตรองตนเองได้ว่า...

  • มีบาตรไม่โปรด ! มีโบสถ์ไม่ลง ! มีอาบัติไม่ปลง ! ก็ไม่รู้จะบวชอยู่ทำไม ?

 

จากประสบการณ์การอยู่วัดเกินยี่สิบปี... ผู้ที่เข้าข่ายครบถ้วนตามทำนองนี้ มีอยู่ในวัดทั่วไป ทั้งในเมือง บ้านนอก สำนักเรียน สำนักปฏิบัติ หรือสำนักสวด... ซึ่งเมื่อก่อน ผู้เขียนเจอรูปใดเป็นไปทำนองนี้ ก็มักตั้งข้อรังเกียจ และสังเกตความเป็นไปของท่านรูปนั้น... แต่จะแปลกหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ เพื่อนสหธัมมิกที่ผู้เขียนนับถือคุ้นเคยหลายรูป เดียวนี้ก็เป็นไปทำนองนี้... และโดยที่สุด แม้ผู้เขียนเอง บางคราวก็คล้อยตามทำนองนี้เหมือนกัน (5 5 5....)

.............

การเป็นไปทำนองนี้ สาเหตุที่ตอบได้ง่ายที่สุดก็น่าจะเพราะ เบื่อ ! เบื่อ ! เบื่อ ! เบื่อ ! ...ส่วนมูลเหตุที่แท้จริงหรือรายละเอียดนั้น มีหลากหลายเกินกว่าจะเล่าให้ครบถ้วนได้ จะขอยกเพียงบางกรณีที่ผู้เขียนประสบโดยตรง เช่น

พระเถระรูปหนึ่งที่กรุงเทพฯ ตอนผู้เขียนอยู่นั้น ท่านก็เป็นไปทำนองนี้... แต่หลายปีก่อน ผู้เขียนขึ้นไปธุระและไปเยี่ยมท่าน รู้สึกแปลกใจที่ท่านบิณฑบาต และลงโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นทุกวัน

หลวงพี่รูปหนึ่ง สมัยก่อนท่านขยันทำงานช่วยเหลือวัดอย่างยิ่ง เช่น ไปต่อยหินที่เกาะแล้วบรรทุกเรือมาถ่มวัด ตัดต้นไม้แล้วแปรรูปไม้มาสร้างอาคารภายในวัดและป่าช้า ท่านทำงานก่อสร้างในวัดเกือบทุกอย่าง (งานก่อสร้าง สำนวนในวัดเรียก นวกรรม)... แต่เดียวนี้หลวงพี่ท่านก็เป็นไปทำนองนี้

ท่านอาจารย์รูปหนึ่ง เมื่อก่อนท่านสอนหนังสือวันละ ๓ เวลา คือ เช้า บ่าย และค่ำ... ท่านเป็นที่รัก เคารพ และเกรงกลัวของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย แต่เดียวนี้ ท่านก็เป็นไปทำนองนี้

และนานมาแล้วที่สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง ผู้เขียนเคยผ่านไป พบพระเถระรูปหนึ่ง เป็นไปทำนองนี้.... ด้วยความอยากรู้ จึงเข้าไปสัมผัสท่าน ปรากฎว่าท่านจำปาฏิโมกข์  มีภูมิรู้ภูมิธรรมหลายเรื่องที่ควรแก่การยกย่อง ซึ่งค่อนข้างจะหาได้ยาก... ฯลฯ

...........

ท่านที่เป็นไปทำนองนี้ เกือบทั้งหมด จะไม่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ (พระสังฆาธิการ) และไม่ค่อยยุ่งกับกิจการคณะสงฆ์ ไม่รับกิจนิมนต์เป็นปกติ อยู่เฉยๆ ตามประสาท่านไปวันๆ... บางรูปก็ปลูกต้นไม้อยู่กับต้นไม้ บางรูปเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวก็อยู่กับหมากับแมว บางรูปเป็นช่างไม้ก็หาอะไรทำเล่นๆ ตามประสาในงานที่ท่านถนัดไปวันๆ...

บางท่านอาจสงสัยว่า ไม่บิณฑบาตแล้วเอาอะไรฉัน ? ก็ตอบว่า บางท่านก็อาศัยฉันกับกัลยาณมิตร หรือศิษย์รักของท่านบางรูปนำมาถวาย... บางรูปก็อาศัยฉันที่โรงครัวโรงฉัน (บางวัดมีโรงครัวภายใน)... บางรูปก็ซื้อฉันวันละ ๑-๒ ห่อ... หรือบางรูปก็สร้างหม้อสร้างกะทะไว้ประกอบอาหารเป็นการส่วนตัว... แต่ที่เหมือนๆ กัน ก็คือ ท่านเหล่านี้มักจะ ฉันมื้อเดียว เป็นปกติ...

ถามว่า ทำไมท่านเหล่านี้ไม่สึก ?  คงเป็นเพราะท่านเหล่านี้ยังมีศรัทธาที่จะบวชอยู่ต่อไป... ส่วนผู้ที่บวชนานๆ แล้วสึกไปนั้น ก็เป็นอีกนัยหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าในตอนต่อไป...  

 

คำสำคัญ (Tags): #วัด
หมายเลขบันทึก: 183356เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • มาอ่านครับกระผม

นมัสการครับ

              ขออนุญาต ลปรร  ด้วยครับ   ตามมุมมองของผมเองนะครับ  (ซึ่งก็อาจจะผิด)  ผมคิดว่า

มีบาตรไม่โปรด ! มีโบสถ์ไม่ลง ! มีอาบัติไม่ปลง !

        ที่ผมผ่านมาก็เห็นอยู่มาก

        คงเป็นเรื่องปกติไปแล้วกระมังครับ

P

small man

 

  • ประมาณนั้น...

อาตมาคิดว่า เป็นปัญหาที่น่าสนใจทั้งส่วนบุคคลและสังคม แต่พวกที่อวดรู้ทั้งหลาย ทั้งในวัดและนอกวัด ไม่มีใครเข้าไปศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น อาจเป็นเพราะมองไม่เห็นถึงผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับ หรือคิดว่าธุระมิใช่...

 

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

 มีท่านมาคอยชี้แนะและกระตุ้น ถึงหน้าบ้าน แค่เพียงไม่กี่เพลา กระผมก็ย้อนนึกถึงสมัยเป็นเด็กวัด (ผมเรียนโรงเรียนเมตตาศึกษาที่วัดเจดีย์หลวงจังหวัดเชียงใหม่) ผมเริ่มจะกลับมาสวดมนต์ไหว้พระ์อีกครับ หลังจาก สวดแต่พระคาถาชินบัญชรอย่างเดียว...มาแรมปี

                        กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า

                                        รพี กวีเด็กวัด

P

รพี กวีข้างถนน

 

  • สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน

โบราณว่าไว้อย่างนี้... หมายถึง การสวดมนต์ทำให้จิตใจพอจะสงบลงได้บ้าง... ส่วนการภาวนา คือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา นอกจากจะทำจิตใจของเราให้สงบแล้ว ยังช่วยให้เรารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นๆ ได้

เจริญพร

นมัสการค่ะ

เข้ามาอ่านค่ะ ...

กราบ 3 หนค่ะ

นมัสการครับพระคุณเจ้า

ขอแสดงความคิดเห็นครับท่าน

มีบาตรไม่โปรด...อาจจะเพราะเข้าใจว่าการบิณฑบาตมีคุณค่าเพียง...ขอข้าวฉัน

มีโบสถ์ไม่ลง...อาจจะเพราะคิดว่าการลงโบสถ์มีคุณค่าเพียง...การสวดและฟังปาฏิโมกข์

มีอาบัติไม่ปลง...อาจจะเพราะคิดว่าปลงอาบัติมีคุณค่าเพียง...อาบัติเล็กน้อยไม่ปลงก็คงไม่เป็นไร

แล้วจะบวชอยู่ทำไม...อาจจะเพราะคิดว่าสึกไปอาจไม่ได้ดีเท่าที่บวช (นัยทางธรรม คือ ได้เจริญศล นัยทางโลก คือ ได้รับลาภสักการะ)ถ้าได้ดีกว่า เมื่อใจไม่ปรารถนาจะทำกิจสงฆ์ ก็คงออกไปแล้ว...ใช่ไหมครับ..

อันที่จริงกระผมคิดว่าว่า...

ทุกวันนี้ขาดการปลูกจิตสำนึกเรียนคุณค่าแท้ของกิจกรรม พิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ทำให้ทั้งพระทั้งฆราวาส(บางส่วน) เข้าใจผิด ติดแค่เปลือก และเลือกที่จะไม่ทำ

การบิณฑบาต...นอกจากได้ข้าวฉันยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อปฏิบัติธรรมแล้ว...ยังเป็นการอนุเคราะห์ชาวบ้านผู้ประสงค์จะทำบุญและเป็นการสร้างความคุ้นเคยกันในฐานะพุทธบริษัทอีกด้วย...

การลงโบสถ์...นอกจากได้สวดและได้ฟัง..ยังได้แสดงถึงพลังความสามัคคีของสงฆ์และได้พบปะแสดงสาราณียธรรมต่อกัน

การปลงอาบัติ...ไม่ควรคิดว่าอาบัติเล็กน้อยไม่ต้องมาปลงกัน...เพราะอาบัติเล็กน้อยสั่งสมกันทุกวันจนกลายเป็นอาจิณก็อันตรายต่ออบายภูมิเหมือนกัน...การปลงอาบัติจึงเป็นการป้องกันอบายภูมิและเป็นการแสดงจิตสำนึกรู้รับผิดชอบในการปฏิบัติพระธรรมวินัยด้วย

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาที่ท่านได้นำความรู้ดี ๆ มาให้ญาติโยมเสมอ ๆ ครับ

นมัสการครับ

  • นมัสการพระคุณท่าน BM.chaiwut ที่เคารพ
    .
    มีบาตรหากแต่คร้าน    เดินบิณฑ์
    โบสถ์วัตรขาดอาจิณ   ไป่ใกล้
    อาบัติชาติอาจฉิน       สุมอยู่
    บวชอยู่ทำไมไซร้        ไม่รู้เหมือนกัน

 กราบ 3 หนขอรับ  (ได้มาจากครูปู / 659431)

P

ญาณภัทร

 

อันที่จริง คำพังเพยตามหัวข้อนี้ มีจุดประสงค์ในการย้อยถามตนเอง หรือให้ใครบางคนพิจารณาตัวเอง ....

อีกอย่างหนึ่ง ข้อเท็จจริงทำนองนี้ มีสาเหตุอยู่เบื้องหลัง ซึ่งถ้าจะว่าไปก็ยาวและไม่สิ้นสุด ดังนั้น จึงทิ้งไว้ให้ทำความเข้าใจเอาเอง ...

........

P

ทนัน ภิวงศ์งาม

 

อาตมาก็เคยเจอหลายครั้ง ที่ให้ความเห็นในบันทึกของเพื่อนสมาชิกแล้วผิดพลาดบางอย่าง เมื่อไม่อาจแก้ไขได้ก็เลยตามเลย...

สำหรับความเห็นที่เหลือมาของอาจารย์นั้น อาตมาก็เข้าใจและตั้งใจว่าจะลบอยู่แล้ว... และปกติถ้าใครโพสต์ซ้ำมาทำนองนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมือนกัน ก็จะลบทิ้งทุกครั้ง.......

ไม่ได้แต่งร้อยแก้วหลายวันแล้ว ครั้งนี้ขออนุญาตค้างอาจารย์ไว้ก่อน ค่อยไปแต่งแก้ตัวตอนไปเยี่ยมบล็อกอาจารย์...

............

เจริญพร

หนีบวชมาก่อนนั้น       ไม่ถาม

หลบเร้นเรื่องราวโลก    อยู่ได้

บาตรหนักเกินกว่าอุ้ม    เดินเที่ยว

บวชอยู่เพราะสึกไซร์    บ่ได้ กินดี(มีคนมาถวาย...555)

กราบงาม ๆ 3 หน

P

นายขำ

 

ดีใจที่ท่านเลขาฯ มาเยี่ยม หลังจากหายไปนาน...

เข้าไปเยี่ยมที่บล็อกท่านเลขาฯ อยู่เหมือนกัน เห็นยังล็อกอินอยู่ ก็แสดงว่าไม่ได้ไปไหน เพียงแต่อาจยุ่งกับงาน หรือ.... ประมาณนั้น

  • เรื่องกินดีว่านั้น               ขอค้าน
  • เพราะว่าบวชมานาน         ตอบได้
  • ของดีแต่ในจาน              ถูกปาก หรือไม่
  • ความอร่อยหรือไม่ไซร้      จริงแท้ ที่ใจ

เจริญพร

หนีบวชเหมือนเช่นนั้น   ฤๅไฉน
บวชอยู่นานนานไป       ยิ่งเพี้ยน
วัตรกิจไม่สนใจ            หลบอยู่
ดูท่ามาแอบเมี้ยน          เปลี่ยนผร้วดบวชหนี (อะไรมา)

P

ทนัน ภิวงศ์งาม

 

  • บวชเพื่อหนีแต่หนี         ไม่ได้
  • บวชเพื่อเป็นอยู่สบาย     ยากแท้
  • บวชเพียงเพื่อชดใช้       เวรกรรม   จริงฤา
  • บวชเพื่อหลุดเพื่อแก้      เพื่อแพ้    เพื่อตาย

เจริญพร

..ขอบพระคุณและนมัสการครับ.. มีบาตรไม่โปรด..มีอุปกรณ์ที่จะปฏิบัติกิจเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น..แต่ไม่ใช้.. มีโบสถ์ไม่ลง..มีสถานที่ที่เป็นประโยชน์สำหรับเรียนรู้ ปฏิบัติกิจเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น..แต่ไม่ใช้..มีอาบัติไม่ปลง..ประพฤติผิดประพฤติมิควร..รู้ว่าผิดแต่ไม่แสดงอาการพิจารณาว่าไม่สมควรไม่สำนึกในความผิด..ทั้งที่เป็นทางออก/ทางเลือกเพื่อให้รู้สึกตน..เสียดายโอกาส..ไม่ว่าเป็นพระหรือโยม..ดูเหมือนน่าตำหนิ/น่าเวทนา..แต่ทั้งหมดเป็นอาการภายนอก..อาจมิใช่ตัวตนภายใน..คนอื่นอาจไม่เข้าใจ..หรือฉัน(ปลงใจเองแล้ว)ไม่แคร์..ถ้าเป็นลัทธิเต๋า..จะให้ความสำคัญกับเรื่องภายในมากกว่ารูปแบบภายนอก..

P

ลุงรักชาติราชบุรี

 

  • ประมาณนั้น....

อนึ่ง ถ้าเตือนใจแล้วพิจารณาตนเองอยู่ทำนองนี้ ก็อาจไม่เสื่อมถอยเกินไป หรือไม่ปล่อยเลยตามเลย...

เจริญพร

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท