นาโนเทคโนโลยี


นาโนซิลิกอน

นาโนเทคโนโลยี

นาโนซิลิกอน: อุปกรณ์ใหม่ที่ใช้ช่วยรักษามะเร็งได้
โครงสร้างที่เป็นซิลิกอนนี้ มีกระแสไฟฟ้า มีลักษณะเป็นรูพรุน และปรับตัวได้ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถควบคุมปริมาณยาให้ถูกปล่อยออกมาตามที่ต้องการได้
ขณะนี้คนไข้ 2คนที่เป็นมะเร็งตับ ใน Singapore General Hospital เพิ่งได้รับการรักษาด้วย BrachySil และภายในอีกไม่กี่สัปดาห์คนไข้อีก10 คนก็จะได้ทดลองใช้ด้วย

BrachySil สร้างขึ้นจากการอัด ฟอสฟอรัส ลงไปในรูพรุนของซิลิกอน จากนั้นก็กระตุ้นให้มันเป็นสารรังสี ไอโซโทป P-32 (เพื่อที่จะฆ่ามะเร็ง) มี half-life 14วัน ซึ่งนานกว่าสารรังสีที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบันที่มี half-life เพียง 60 ชม. หลังจากนั้นก็ฉีด BrachySil เข้าร่างกายคนไข้ตรงบริเวณที่มีมะเร็ง
อุปกรณ์ตัวใหม่นี้มีขนาดระดับนาโน และใช้วัสดุที่เรียกว่า ไบโอซิลิกอน (BioSilicon) ซึ่งมีราคาถูก ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และปลอดภัย
เมื่อซิลิกอนถูกย่อส่วนให้อยู่ในระดับนาโน มันจะย่อยสลายได้ง่าย และละลายอยู่ในร่างกายในรูปของกรดซิลิซิก (silicic acid) ซึ่งไม่เป็นอันตราย และเป็นกรดที่พบได้ตามธรรมชาติ โดยเรามักจะได้รับจากอาหารอยู่แล้ว
นอกจากนี้มันยังมีลักษณะเป็นรูพรุน ขนาดประมาณ 10อะตอม ในรูเหล่านี้สามารถบรรจุ ยา โปรตีน ยีน วัคซีน หรือสารที่ใช้ในการรักษาอื่นๆได้ โดยลักษณะที่เป็นรูพรุนนี้ทำให้มันปรับตัวได้ง่าย

ถ้าเราฉีดยาไปที่ก้อนเนื้อร้ายโดยใช้ BioSilicon จะพบว่าหนูทดลองไม่ตายเลย แต่ถ้าเราฉีดยาปริมาณเท่ากันไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง จะพบว่าหนูทดลองเหล่านี้ตาย 100% นี่แสดงให้เห็นว่า BioSilicon คือหัวใจสำคัญในการพายาไปสู่ที่หมายอย่างมีประสิทธิภาพ

อันที่จริง การควบคุมให้ยาออกฤทธิ์ตามเวลาที่ต้องการไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ BioSilicon ต่างจากโพลีเมอร์แบบเดิมๆที่ใช้อยู่ขณะนี้คือ มันมีกระแสไฟฟ้า ทำให้ควบคุมอัตราการสลายตัวได้ เนื่องจากมันเป็น สารกึ่งตัวนำ (semi conductor) เราสามารถพัฒนาให้มันเป็นอุปกรณ์จิ๋วที่มีคุณสมบัติในการตรวจหาโรค แล้วค่อยปล่อยยาออกมาได้

pSivida เชื่อว่า ในอนาคต BrachySil จะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรักษาแบบ brachytherapy (การฆ่ามะเร็งอย่างฉับไว โดยให้ยาในระยะที่ใกล้กับก้อนเนื้อร้ายมาก)

Stephen Lake ผู้อำนวยการด้านการลงทุนของ คิเนติก (QinetiQ) องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นหุ้นส่วนด้านการลงทุนกับ pSivida กล่าวว่า นี่เป็นงานชั้นสูงมาก อุปกรณ์ใหม่นี้เป็น เทคโนโลยีเหนือชั้นที่จะต้องถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอย่างแน่นอน เนื่องจากมันสามารถปรับให้ใช้ได้กับงานหลายๆแบบ ทั้งการขนส่งยา วัคซีน การวินิจฉัยโรค เครื่องตรวจสอบสภาพร่างกาย หรือแม้แต่การตัดต่อเนื้อเยื่อ (tissue engineering)

เท่าที่ผ่านมา ผลการรักษาประสบความสำเร็จอย่างดี BrachySil คงตัวอยู่ในตับได้ดี และแทบจะไม่มีสารรังสีหลุดออกมาในกระแสเลือดหรือเนื้อเยื่อปกติรอบๆ และเนื้อร้ายก็ถูกฆ่าในระดับที่น่าพอใจ โดยผลการรักษาขั้นต่อไปจะรู้ผลภายในเดือน กันยายน หรือตุลาคมนี้

BrachySil ถูกจัดเป็นอุปกรณ์ และน่าจะสามารถผลิตสู่ตลาดได้ในปี 2006 เป็นที่คาดหวังว่าถึงตอนนั้นมันจะสามารถนำมาใช้ในมะเร็งแบบอื่นๆได้ ทั้งมะเร็งสมอง หรือมะเร็งตับอ่อนเป็นต้น
“อีก 5 หรือ10ปี จากนี้ไป อุปกรณ์นาโนเหล่านี้จะเปิดโอกาสที่น่าตื่นเต้นมากทีเดียว” Stephen Lake กล่าว

 

 
 
   

ที่มา
-Nano silicon boosts tumour fight
http://news.bbc.co.uk/go/pr/fr/-/2/hi/science/nature/3812987.stm
-BrachySil: Nanotech Therapy Delivery
http://www.sciscoop.com/story/2004/6/18/113834/143
-www.vcharkarn.com

บัคกี้บอลยามหัศจรรย์แห่งยุคนาโน

บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน (Buckminsterfullerene) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า บัคกี้บอล (Bucky ball) เป็นสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม (C60) เชื่อมต่อกันเป็นรูปทรงกลมคล้ายกับลูกฟุตบอล จัดเป็นสารในกลุ่มฟูลเลอรีนส์ (fullerenes, Cn) ซึ่งเป็นอัญรูป (allotrope) แบบที่สามของคาร์บอนต่อจากเพชรและกราไฟต์ บัคกี้บอลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโมเลกุลประมาณ 1 นาโนเมตร ประกอบด้วยวงหกเหลี่ยมของคาร์บอน (hexagons) จำนวน 20 วง และวงห้าเหลี่ยม (pentagons) จำนวน 12 วง โดยที่บัคกี้บอลถือว่าเป็นโมเลกุลสารอินทรีย์ที่มีรูปทรงสมมาตรที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบจนถึงปัจจุบัน

ในขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังพากันค้นหาแนวทางในการนำเอาบัคกี้บอลมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ กันอย่างมากมาย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าบัคกี้บอลมีคุณสมบัติเชิงฟิสิกส์และเคมีที่แปลกประหลาดหลายประการ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด และใช้เป็นพาหนะนำส่งยาแบบนำวิถี (drug delivery) นอกจากนี้ยังสามารถนำบัคกี้บอลไปใช้ประโยชน์ในด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ (nanoelectronic) ทั้งนี้เนื่องจากบัคกี้บอลมีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) แต่ถ้ามีการเจือกลุ่มโมเลกุลบัคกี้บอลด้วยอะตอมของโลหะอัลคาไลน์ จะทำให้กลุ่มโมเลกุลบัคกี้บอลมีคุณสมบัติเป็นตัวนำยิ่งยวด (superconductor) นอกจากนี้ยังมีการใช้บัคกี้บอลเป็นส่วนประกอบหลักในการพัฒนาเซลล์สุริยะแบบไดแอด (Dyads) รวมทั้งการใช้บัคกี้บอลเป็นตัวบรรจุอะตอมโลหะและโมเลกุลของก๊าซชนิดต่างๆ เช่น ไฮโดรเจน เป็นต้น

หลังจากการค้นพบบัคกี้บอล นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนมากต่างก็พากันศึกษาคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของบัคกี้บอลกันอย่างมโหฬาร หนึ่งในนั้นก็คือการศึกษาสรรพคุณทางยาของบัคกี้บอล ซึ่งมีบริษัทประกอบธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพชื่อ ซี ซิกตี้ (C sixty Inc.) ของสหรัฐฯ เป็นแกนนำในการศึกษาทางด้านนี้ ผลจากการศึกษาที่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ พอจะสรุปสรรพคุณทางยาของบัคกี้บอลได้ดังนี้

1. สรรพคุณในการเป็นยาต่อต้านไวรัส (Antivirals)

ในปี ค.ศ. 1993 นักวิทยาศาสตร์พบว่าอนุพันธ์ของบัคกี้บอลชนิดหนึ่ง (MSAD-C60) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ โปรตีเอส (protease) ของไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือ ไวรัสเอดส์ได้ และจากการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าอนุพันธ์ของบัคกี้บอลชนิดนี้จะมีครึ่งชีวิต (half-life) อยู่ในกระแสเลือด 6.8 ชั่วโมง โดยที่เมื่อเข้าไปในกระแสเลือดแล้วอนุพันธ์ชนิดนี้จะกระจายตัวเข้าไปจับกับโปรตีนในไซโตพลาสซึม และจากการนำเอาเทคนิคสร้างแบบจำลองโดยใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบยารักษาโรคเอดส์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของบัคกี้บอลขึ้นมาใหม่อีกสองชนิดที่มีความเฉพาะเจาะจงในการจับกับบริเวณเร่งปฏิกิริยา (active site) ของเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสเอดส์ได้มากขึ้นเกือบ 50 เท่าตัว

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1998 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอนุพันธ์ของบัคกี้บอลบางชนิดสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้โดยอาศัยปฏิกิริยาแบบใช้แสง(photodynamic reaction) ในการปลดปล่อยซิงเกล็ตออกซิเจน (singlet oxygen, 1O2) ออกมาเพื่อใช้ในการทำลายเปลือกหุ้ม (enveloped) ของไวรัส จากการทดลองเติมอนุพันธ์ของบัคกี้บอลลงในสารละลายบัฟเฟอร์ที่มีไวรัสเอสเอฟวี (Semliki Forest virus, SFV) หรือไวรัสวีเอสวี (vesicular stomatitis virus, VSV) แขวนลอยอยู่ และให้แสงในช่วงวิซิเบิล (visible light) เป็นวลา 5 ชั่วโมง พบว่าไวรัสเอสเอฟวีจะหมดสมรรถภาพในการก่อโรคโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียนยังพบว่าอนุพันธ์ของบัคกี้บอลอีกชนิดหนึ่งคือ ฟูลเลอโรไพโรลิโดน (fulleropyrrolidone) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสโดยใช้ปฏิกิริยาที่เร่งด้วยแสงเช่นเดียวกัน

สารต่อต้านไวรัสเอชไอวีที่เป็นอนุพันธ์ของบัคกี้บอล ชื่อ ซีเอสดีเอฟวัน (CSDF1) ของบริษัทซีซิกตี้ได้ถูกออกแบบให้สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สารชนิดนี้ยังถูกสังเคราะห์ให้ละลายน้ำได้ดีมาก (200 กรัมต่อลิตร) และสามารถถูกขับออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็วโดยการปัสสาวะ ทำให้สารซีเอสดีเอฟวันมีความเป็นพิษกับเซลล์ร่างกายค่อนข้างต่ำกว่ายารักษาโรคเอดส์ที่ใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งจากการทดสอบความเป็นพิษของสารชนิดนี้ในหนูทดลองพบว่ามีความเป็นพิษต่ำ (LD50 เท่ากับ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)

2.สรรพคุณในการเป็นสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterials)

คาร์บอกซีฟูลเลอรีน (carboxyfullerene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของบัคกี้บอลที่ละลายน้ำได้ดี สามารถนำมาใช้รักษาหนูทดลองที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย E. coli ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าหนูที่ได้รับการรักษาโดยใช้สารคาร์บอกซีฟูลเลอรีนจะมีปริมาณของทีเอ็นเอฟ อัลฟา (tumor necrosis factor alpha, TNF-alpha) และปริมาณของอินเตอร์ลิวคิน-วัน เบต้า (interleukin-1beta, IL-1β) น้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้สารคาร์บอกซีฟูลเลอรีนยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มอัตราการซึมผ่านของสารต่างๆ บริเวณทำนบกั้นระหว่างกระแสโลหิตและเซลล์สมอง (blood-brain barrier) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเป็นพิษของเชื้อ E. coli ได้

นอกจากนี้อนุพันธ์ของบัคกี้บอลอีกชนิดหนึ่งคือ ฟูลเลอรีนที่มีประจุบวกและละลายน้ำได้ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นสาเหตุของวัณโรคได้ ส่วนคาร์บอกซีฟูลเลอรีนมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Streptococcus pyogenes จากการทดสอบในระดับหลอดทดลอง และเมื่อทดสอบการออกฤทธิ์ในหนูทดลองพบว่าคาร์บอกซีฟูลเลอรีนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด นิวโทรฟิลส์ (neutrophils) ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกันนี้ได้ และจากงานวิจัยเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าการที่อนุพันธ์ของบัคกี้บอลสามารถยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวก (Gram-positive bacteria) ได้นั้นเนื่องมาจากอนุพันธ์เหล่านี้สามารถแทรกตัวลงไปที่บริเวณผนังเซลล์ของแบคทีเรียซึ่งจะส่งผลให้ผนังเซลล์ของแบคทีเรียเสียสภาพและทำให้แบคทีเรียตายในที่สุด

3.สรรพคุณในการต่อต้านมะเร็งและเนื้องอก (Tumor/Anti-Cancer therapy)

คุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งของบัคกี้บอลคือสารชนิดนี้สามารถถูกเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ให้ในการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกแบบใช้แสง (photodynamic tumor therapy) ได้ อนุพันธ์ของบัคกี้บอลที่มีโมเลกุลเชื่อมติดกับพอลิเอทธิลีนไกลคอล (C60-polyethylene glycol) เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงจะมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยไม่มีผลข้างเคียงกับเซลล์ร่างกายที่ปกติ จากผลการทดลองพบว่าอนุพันธ์ชนิดนี้เข้มข้น 0.424 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยให้พลังงานแสงเท่ากับ 1011 จูลต่อตารางเมตร จะสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งให้ได้อย่างสมบูรณ์ จากการทดสอบในหลอดทดลองพบว่าฟูลเลอรีน-พอลิเอทธิลีนไกลคอล สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์เพาะเลี้ยงชนิดฮีลาเอสสาม (HeLa S3 cell lines) ซึ่งจัดว่าเป็นเซลล์มะเร็งชนิดหนึ่งได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าอนุพันธ์แบบฟูลเลอรีน-พอลิเอทธิลีนไกลคอลยังสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งชนิดไฟโบรซาร์โคมา (fibrosarcoma tumors) ในหนูทดลองและที่เยื่อหุ้มเซลล์ของเม็ดเลือดแดงได้

พอลิไฮดรอกซีฟูลเลอลีน (C60(OH)24) เป็นอนุพันธ์ของบัคกี้บอลที่ละลายน้ำได้ดี และมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งโดย
1.) ยับยั้งการประกอบตัวของไมโครทิวบูล (microtubule) ของเซลล์มะเร็ง
2.) ยับยั้งการสร้างไมโตติกสปินเดิล (mitotic spindle) ของเซลล์มะเร็ง ซึ่งคล้ายกับการออกฤทธิ์ของยาแทกซอล (taxol) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบวิธีการนำส่งยาต่อต้านมะเร็งที่เป็นอนุพันธ์ของบัคกี้บอลไปยังเซลล์มะเร็งแบบนำวิถี (anticancer delivery system) โดยการบรรจุอนุพันธ์ของบัคกี้บอลเอาไว้ภายในแคปซูลแบบไลโปโซม (liposome) โดยที่ทางบริษัทซี ซิกตี้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตได้ตั้งชื่อทางการค้าว่า “บัคกี้โซมส์ (buckysomes)”

4.สรรพคุณในการเป็นสารต่อต้านการตายของเซลล์ (Anti-apoptosis agents)

บัคกี้บอลมีคุณสมบัติในการสะเทินความเป็นพิษของอนุมูลอิสระและสามารถยับยั้งขั้นตอนการตายโดยอัตโนมัติ (apoptosis) ของเซลล์ได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาโดยละเอียดพบว่า คาร์บอกซีฟูลเลอรีน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของบัคกี้บอล สามารถยับยั้งการตายของเซลล์ได้โดยการขัดขวางการส่งสัญญาณของ ทรานสฟอร์มมิ่ง โกรว์ท แฟคเตอร์-เบต้า (Transforming growth factor-beta, TGF-ß) ซึ่งเป็นตัวการในการชักนำให้เซลล์เข้าสู่ระยะการตายแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้คาร์บอกซีฟูลเลอรีนยังสามารถป้องกันเซลล์ผิวหนังไม่ให้ถูกทำลายด้วยรังสียูวีบี(UVB) และจากสภาวะออกซิเดชันต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

โครงสร้างโมเลกุลของอนุพันธ์คาร์บอกซีฟูลเลอรีน (hexacarboxylic acid-C60) ซึ่งมีฤทธิ์ในยับยั้งการตายของเซลล์ Hep3B ได้โดยการขัดขวางการส่งสัญญาณของสาร TGF-ß ได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือ การที่ค้นพบว่าอนุพันธ์ของบัคกี้บอล คือ ฟูลเลอรีนอล (fullerenol) และคาร์บอกซีฟูลเลอรีนสามารถยับยั้งการตายของเซลล์ประสาทที่สัมผัสกับสารพิษหลายชนิดที่นำมาทดสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังในการที่จะนำเอาอนุพันธ์ของบัคกี้บอลเหล่านี้ไปรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทเช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และโรค ALS หรือที่เรียกว่าโรค Lou Gehrig ต่อไปในอนาคต โดยที่บริษัทซีซิกตี้กำลังทดสอบการออกฤทธิ์ของอนุพันธ์ของบัคกี้บอลในการรักษาโรค ALS และโรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) ในมนุษย์อยู่ในขณะนี้

5.สรรพคุณในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)

อนุพันธ์ของบัคกี้บอลหลายชนิดมีคุณสมบัติในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ยกตัวอย่างเช่น ฟูลเลอรีนอลส์ (fullerenols) คาร์บอกซีฟูลเลอรีน พอลิอัลคิลซัลโฟเนตฟูลเลอรีน (polyalkylsulfonated C60 ) เฮกซา(ซัลโฟบิวทิล)ฟูลเลอรีน (hexa(sulphobutyl)fullerene) และกรดฟูลเลอรีน-ไดมาโลนิก (C60-dimalonic acid) โดยที่อนุพันธ์ของบัคกี้บอลเหล่านี้สามารถป้องกันความเป็นพิษของอนุมูลอิสระต่างๆ เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และคูมีนไฮโดรเปอร์ออกไซด์ (cumene hydroperoxide) ซึ่งสามารถทำความเสียหายให้กับเซลล์ปกติได้ และจากการทดสอบประสิทธิภาพในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระพบว่า อนุพันธ์ของบัคกี้บอลมีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่า ไวตามินอี (vitamin E) หลายร้อยเท่าตัวเลยทีเดียว นอกจากนี้อนุพันธ์ชนิด โมโนมาโลเนตฟูลเลอรีน (C60 monomalonate) สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ไนตริกออกไซด์ซินเทส (nitric oxide synthase, nNOS) ของเซลล์ประสาทได้อย่างเฉพาะเจาะจง

อนุพันธ์ของบัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีนมีคุณสมบัติในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถสะเทินความเป็นพิษของอนุมูลอิสระกลุ่ม reactive oxygen species (ROS) ทำให้เซลล์สิ่งมีชีวิตไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น บัคกี้บอลก็หลีกหนีความจริงข้อนี้ไปไม่พ้นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อต้นปี ค.ศ. 2004 ดร. อีวา โอเบอร์ดอสเตอร์ (Eva OberdÖrster) ได้รายงานผลการตรวจสอบความเป็นพิษของบัคกี้บอลไว้ในการประชุมของสมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society) ว่าบัคกี้บอลสามารถชักนำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายเยื่อหุ้มเซลล์สมองของปลาที่ใช้ในการทดลอง นอกจากนี้เขายังพบว่า บัคกี้บอลมีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำขนาดเล็กๆ เช่น ไรน้ำ อีกด้วย ดร. โอเบอร์ดอสเตอร์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่าการที่ บัคกี้บอล เข้าไปสะสมในสัตว์น้ำเล็กๆ เหล่านี้ได้ อาจจะทำให้บัคกี้บอลมีโอกาสเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในน้ำ และมีโอกาสเข้ามาสู่มนุษย์ในท้ายที่สุดได้

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในการนำบัคกี้บอลมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และทางเภสัชกรรม คือ ต้องทำความเข้าใจคุณสมบัติต่างๆ ของบัคกี้บอลให้ถ่องแท้เสียก่อน รวมทั้งต้องตรวจสอบความเป็นพิษของบัคกี้บอลอย่างเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่าอนุพันธ์ต่างๆ ของบัคกี้บอลมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต ก่อนที่จะปล่อยให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
อนุพันธ์ของบัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีนมีคุณสมบัติในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
   
ที่มา
โดย ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา ปัจจุบัน เป็นนักวิชาการประจำศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

(บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีชีวภาพปริทรรศน์ ฉบับที่ 21 เดือน กันยายน 2547 และบางส่วนของบทความได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารนาโนเทค อินโฟ ฉบับที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ 2548)

- J. Am. Chem. Soc. 115(1993):6510-6512.

- Bioorg. Med. Chem. Lett. 6(1996):1253-1256.

- http://aac.asm.org/cgi/reprint/40/10/2262

- J. Med. Chem. 41(18 June 1998):2424-2429.

- http://aac.asm.org/cgi/content/full/43/9/2273

- http://aac.asm.org/cgi/content/full/45/6/1788

- J. Antimicrob. Chemother. 49 (April 2002):641-649.

- Fullerene Sci. Technol. 9 (2001):307-320.

- Langmuir 14(1998):1955-1959.



 
หมายเลขบันทึก: 183264เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2008 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

เป็นการเขียนเล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการต่างๆ โดยเฉพาะวงการแพทย์ ทำให้ผู้อ่านมองเห็นโอกาสในการประยุกต์และนำไปใช้ในแง่มุมอื่นได้

 

ขอชื่นชมครับ

 

  • ห.ม.อ.สุ.ข.

แบ่งปันประสบการณ์ผ่านมิตรภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท