ชีวิตที่พอเพียง : ๕๑๓. เรียนรู้ระบบสุขภาพจังหวัด


 

          วันจันทร์ที่ ๑๒ พ.ค. ๕๑ ผมไปร่วมประชุม “กลุ่มสามพราน” ที่เป็นกลไกวิชาการอย่างไม่เป็นทางการของนักปฏิบัติด้านสาธารณสุขมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี    เป็นที่ ลปรร. การทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม    ซึ่งผมมองด้วยแว่น KM ว่าเป็นเวที Knowledge Sharing (KS) นั่นเอง    และเป็น KS ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ    ประธานของที่ประชุมคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี    หน่วยงานที่ทำหน้าที่ secretariat ของการประชุมคือ สวรส.
          หัวข้อของการประชุมในวันนี้คือ “ระบบสุขภาพจังหวัด” นำเรื่องราวของจังหวัดขอนแก่นมาเล่าโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัด ๓ คน คือ นพ. วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผอ. รพศ. ขอนแก่น,  นพ. วิชัย อัศวภาคย์ ผอ. รพ. น้ำพอง,  นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ. รพ. อุบลรัตน์  
          ผมมองว่า เวทีนี้เป็นเวที ลปรร. Systems Thinking   โดยจับที่ระบบสุขภาพ หรือระบบสุขภาวะระดับจังหวัด   มองตัวระบบที่ซับซ้อน หาตัวคานงัดที่จะทำให้เกิดสุขภาวะถ้วนหน้าในจังหวัดขอนแก่น   จุดที่น่าชื่นชมคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้งสามมองเชื่อมโยงออกไปนอกโรงพยาบาลของตน   ออกไปสู่ระบบสุขภาวะภาพใหญ่ของชาวบ้านหรือพลเมืองทั้งมวลภายในจังหวัดขอนแก่น   ในสภาพของคนที่มี “จิตใหญ่” หรือ “จิตสาธารณะ”    การได้ร่วมการประชุมที่มีบรรยากาศแบบนี้ช่วยต่ออายุผม    เพราะทำให้มีความสุข
          ผอ. รพ. ชุมชนทั้ง ๒ คน จบแพทย์รุ่นเดียวกัน เคยไปเป็นอินเทิร์นที่โรงพยาบาลขอนแก่นด้วยกัน   และต่างก็เคยได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นเหมือนกัน (แต่คนละปี)
          มีการนำเสนอปัญหา หรือความทุกข์ยากของคนในวงการสาธารณสุข    ที่ตกอยู่ในสภาพ “งานล้น คนขาด ตกอยู่ในสภาพถูกกดดัน”   แต่เวทีนี้ไม่ใช่เวทีของคนมาคร่ำครวญ หมดหวัง   เป็นเวทีของคนที่เอาปัญหามาเป็นโอกาสทำงานสร้างสรรค์   ภายใต้การริเริ่มของตน ร่วมกับภาคีเครือข่าย  
          นวัตกรรมที่มีการนำมา ลปรร. คือ


๑. ระบบการผลิต ให้ทุน จัดการศึกษาและฝึกอบรม และการดูแลสร้างแรงจูงใจต่อพยาบาลชุมชน   ที่จะทำหน้าที่เป็นด่านหน้าของระบบบริการสุขภาพ    ที่สถานีอนามัย และ PCU   โดยความร่วมมือของฝ่ายผลิต คือวิทยาลัยพยาบาล หรือคณะพยาบาลศาสตร์    ฝ่ายให้ทุนเรียน คือ อบต. ในพื้นที่ หรือมูลนิธิของโรงพยาบาล   และฝ่ายจ้างงานในระบบของรัฐ   เพื่อแก้ปัญหางานล้น คนไม่พอ
๒. สุขภาวะในชุมชน ที่เกิดจากขบวนการเกษตรกรรมพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง  ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน   เป็นการสร้างสุขภาวะจากฐาน
๓. กิจกรรมปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นสินทรัพย์ระยะยาวของชาวบ้าน และของชุมชน   ที่เป็นเสมือนการออมทรัพย์ หรือสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาว

          ผมบอกที่ประชุมว่า ผมเห็นโจทย์วิจัยเชิงระบบมากมาย ที่ สวรส. สามารถไปจับดำเนินการเพื่อสร้างความรู้จากกิจกรรมที่มีการริเริ่มไปแล้ว    สร้างความรู้ที่มี evidence สนับสนุน สำหรับใช้เป็นหลักฐานขับเคลื่อนสังคม และใช้ขับเคลื่อนระบบอย่างเป็นทางการ    หรือที่เรียกว่าขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ    ผมได้สัญญาว่าจะกลับมาเขียนบันทึกให้ข้อเสนอแนะโจทย์วิจัยแก่ สวรส.

    
          ขอส่งการบ้านดังต่อไปนี้


๑) เนื่องจาก อ. อุบลรัตน์ มีกิจกรรมชุมชนเข้มแข็งหลากหลายด้าน   ที่ดำเนินการโดยปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่าย   สวรส. (ร่วมกับ สสส. และ สช.?) น่าจะวิจัยวัด “สุขภาวะ” ด้านต่างๆ และสุขภาวะที่เป็นองค์รวมในระดับอำเภอ    เทียบกับอำเภออื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงของปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่าย 
๒) ทางจังหวัดขอนแก่นมีข้อมูลกำลังคนด้านสุขภาพอยู่พอสมควรแล้ว    และมีการนำมาเสนอในที่ประชุมนี้ แต่ยังเป็นข้อมูลที่เก็บจากมุมของโรงพยาบาล   สวรส. น่าจะสนับสนุนการวิจัยระบบกำลังคนด้านสุขภาพของจังหวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน    เปรียบเทียบกับภาระงาน (work load) และชี้ให้เห็นว่าการมีระบบพยาบาลชุมชนจะเป็นการพัฒนาระบบอย่างไร   อาจวิจัยเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น  
๓) วิจัย Profession Mix ของจังหวัด   ว่าเวลานี้ระบบสุขภาพของจังหวัดมีกำลังคนในวิชาชีพต่างๆ อย่างไร (ต้องรวมทั้งในระบบราชการหลายหน่วยงาน  คือรวมกำลังคนนอกกระทรวงสาธารณสุข และรวมกำลังคนที่อยู่นอกระบบราชการ)   เทียบกับมาตรฐานของทางราชการ  และเทียบกับมาตรฐานสากล เป็นอย่างไร   หาทางเสนอระบบกำลังคนที่มีคุณภาพ ประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ที่เหมาะสมและเป็นไปได้
๔) การวิจัยและพัฒนาระบบการเรียน/ฝึกงานแบบ “สหกิจศึกษา” ใช้ รพช./สอ. เป็นสถานฝึกงานที่ช่วยให้ได้ “ความรู้และทักษะองค์รวม” เพื่อการทำงานในระดับบริการปฐมภูมิอย่างมีความสุขและมีทักษะวิชาชีพ อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ   เพื่อให้สภาการพยาบาลมีความมั่นใจว่าวิชาชีพพยาบาลไม่ได้ถูกทำให้ด้อยมาตรฐานลง    แต่กลับมีมาตรฐานคุณภาพสูงขึ้น   โดยอาจทำวิจัยเปรียบเทียบ competencies กับนักศึกษา/บัณฑิต พยาบาลที่ไม่ผ่านวิชา สหกิจศึกษา ที่ช่วยกันพัฒนาขึ้น
๕) การวิจัย life history ของบัณฑิตพยาบาลในประเทศไทย    เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง    และนำไปสู่การวางแผนกำลังพยาบาลของประเทศ    ที่มองทั้งการผลิต การฝึกอบรม การศึกษาต่อเนื่อง การดูแลให้ความสุขและเส้นทางเติบโตก้าวหน้า ในการปฏิบัติงาน (career path)    โดยแยกแยะเส้นทางอาชีพในแบบต่างๆ   ชี้ให้เห็นข้อดีข้อด้อยของการทำงานในบริบทที่ต่างๆ กัน   เช่นใน รพ. เอกชน  ใน รพ. ของโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่   ในระดับปฐมภูมิ  ฯลฯ 
๖) ระบบสุขภาพระดับจังหวัดที่นำมาเสนอยังมีลักษณะเป็นเพียงส่วนเดียว ยังไม่ครบ    สวรส. (และ สปสช. และ สช.?) น่าจะหาทางสนับสนุนการวิจัยที่นำเสนอภาพของระบบสุขภาพในระดับจังหวัดที่ครบถ้วน   ให้เห็นหลายๆ ระบบซ้อนกันอยู่   ให้เห็นว่าแต่ละอนุระบบทำงานอย่างไร    อนุระบบเหล่านี้ทำหน้าที่เสริมหรือต้านหรือแยกกันอยู่ อย่างไรบ้าง    จะมีทางทำให้เกิด synergy ระหว่างอนุระบบอย่างไร    เพื่อให้ระบบใหญ่มีประสิทธิผล คุณภาพ และประสิทธิภาพ    เกิดจังหวัดที่มีสุขภาวะได้อย่างแท้จริง  น่าจะศึกษาตัวอย่างจังหวัดที่มีลักษณะจำเพาะสักจำนวนหนึ่ง เช่น ๑๐ จังหวัด    แล้วมีการนำเสนอข้อมูลและข้อวิเคราะห์ต่อ steering panel เป็นระยะๆ    มุ่งหวังผลการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ
๗) เวทีของ “กลุ่มสามพราน” มีลักษณะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ (ที่ยิ่งใหญ่)   ที่เกิดจากการทำงานริเริ่มสร้างสรรค์นอกระบบที่เป็นทางการ    หรือกึ่งทางการ   เป็นเสมือนหัวหอกของการเปลี่ยนแปลง   เวทีนี้เป็นเสมือนเวทีจัดการความรู้    ซึ่งควรเสริมด้วยพลังของการวิจัย เพื่อสร้างแนวทางนำเอาความรู้จากการริเริ่มปฏิบัติสเกลเล็ก ไปสู่การประยุกต์ใช้ในระบบที่เป็นทางการ    ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการวิจัยเพื่อหนุนนโยบายสาธารณะ 


วิจารณ์ พานิช
๑๓ พ.ค. ๕๑

 

ต่อไปนี้เป็นคล้ายๆ อนุทินส่วนตัว ที่ไม่ได้ตั้งใจเขียนอย่างประณีต   แต่เป็นบันทึกช่วยความจำระหว่างการประชุม

บันทึกระหว่างประชุม
ตรงที่มีดอกจันทน์ ๒ ดอกคือความคิดปิ๊งแว้บของผมระหว่างร่วมประชุม

ตัวอย่างระบบของจังหวัดขอนแก่น
นพ. วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผอ. รพศ. ขอนแก่น,  นพ. วิชัย อัศวภาคย์ ผอ. รพ. น้ำพอง,  นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ. รพ. อุบลรัตน์

วีระพันธ์  รพ. ขอนแก่น
          • เป็นทั้ง รพ. บริการ   ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง  ฝึกอบรม นศพ.  พยาบาล ฯลฯ
          • ขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถ

วิชัย : โครงการผลิตพยาบาลชุมชน  จ. ขอนแก่น
จบจากเบลเยี่ยมปี ๓๙  มาร่วมกลุ่มสามพราน
          • รพช. งานล้น คนไข้ล้น คนไม่พอ  มีการฟ้องร้อง : หมอไม่พอ  พยาบาลไม่พอ  ย้ายหนี
          • หาข้อมูล บัณฑิตพยาบาล วพ. ขอนแก่น ไปอยู่ สอ. ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่มีคนสมัครใจไปอยู่เลย   ที่ไปอยู่ อยู่ ๑ ปีได้ใบประกอบวิชาชีพ ก็ลาออกไปทำงานเอกชน
          • พยาบาลใน จ. ขอนแก่น ลาออกปีละ ๓๐ – ๔๐% ทั้งที่ รพศ. และ รพช.   มีทั้งหมด ๑,๗๑๖ คนในปี ๒๕๕๐
          • การผลิตพยาบาลทั้งประเทศ ปีละ ๘,๐๐๐ คน
          • คิดแก้โดยหาวิธีจัดการใหม่ ในระดับจังหวัด  ใช้ “สามเหลี่ยมผลิตพยาบาลชุมชน”  คือ อปท./มูลนิธิ, รพช., สถาบันการศึกษา   
          • ให้ทุนคัดเลือกเด็กในท้องถิ่น เรียน/ฝึกในท้องถิ่น เพื่อทำงานในท้องถิ่น  
          • เน้นเลือกความเป็นคนดี มากกว่าความเป็นคนเก่ง    คัดเลือกแบบมีส่วนร่วม   ใช้กิจกรรมจิตอาสาช่วยการคัดเลือก (ได้ไอเดียจากฉือจี้)
          • กิจกรรมเยาวชนจิตอาสา ทำกิจกรรมหากหลาย    รวมทั้งให้ทำความดีในหมู่บ้าน   ให้ชาวบ้านเซ็นรับรอง 
          • อบต./มูลนิธิ ให้ทุน   ทำสัญญาให้ทุนศึกษา   มีการดูแลค่านิยมไม่ให้เปลี่ยนแปรไปรังเกียจชนบท   มีการปฐมนิเทศคุณค่าของการทำงานในชนบทโดย นพ. อภิสิทธิ์  
          • ระหว่างเรียน   มา รพ. ฝึกงาน/ฝึกใจ ภาคฤดูร้อน ๒ สัปดาห์   **ควรประสานงานมหาวิทยาลัยให้เป็นหลักสูตรสหกิจศึกษา    **การยกย่องงานองค์รวม ให้เท่าเทียมงานเฉพาะด้าน**
          • เรียนรู้องค์ ๓ : คน  สภาพแวดล้อม  ระบบ
          • ทำงานองค์ ๓ : บำบัดโรค  ป้องกันโรค/ควบคุมโรค  สร้างเสริมสุขภาพ  
          • เตียง ผป. อยู่ที่บ้าน
          • พยาบาลชุมชนมีบทบาท ๗ : (๑) สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (พม.)  (๒) การเจ็บป่วยที่พบบ่อย  (๓) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  (๔) ผู้สูงอายุ  (๕) ควบคุมโรค  (๖) เศรษฐกิจพอเพียง  (๗) สร้างเสริมสุขภาพ
          • มีเครื่องมือศึกษาชุมชน ๗  ของโกมาตร   มีแฟ้มข้อมูลครอบครัว   รักษาโรคเบื้องต้นและเยี่ยมบ้าน
          • พยาบาลชุมชนได้รับของฝากจากชาวบ้านมากกว่า ผอ. รพ.
          • ช่วยสื่อสารกับชาวบ้านยามมีปัญหา  เพราะได้รับความไว้วางใจ  รู้จักคุ้นเคยสนิทสนม 
          • ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ร่วมงานศพ  น้ำใจแลกน้ำใจ
          • ส่งเสริมเกษตรพอเพียง
          • กลุ่มช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
          • จ. ขอนแก่น มี ๒,๓๓๑ หมู่บ้าน  พยาบาลใน รพช. ๙๘๘ คน   พยาบาลใน สอ. ๗๒๙ คน   เป้าส่งเรียนหลักสูตรพยาบาลชุมชนปีละ ๑๐๐ คน
          • พยาบาลชุมชนอาจมาจากการศึกษาพยาบาลตามปกติก็ได้   **ควรใช้วิชาสหกิจศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างค่านิยมที่ให้คุณค่าต่อชีวิตการทำงานเป็นพยาบาลชุมชน 
          • รายได้ รวม ๒๐,๐๐๐ บาท/เดือน  (เงินเดือน ๑๑,๐๐๐ + 8 OT ๔,๐๐๐ + 6 OT นอกเวลา ๓,๐๐๐ + premium บ่ายดึก 10 เวร ๒,๐๐๐ บาท) 
**วิชัยทำงานโดยใช้ข้อมูล เก็บข้อมูลง่ายๆ เอามาใช้ ดูข้อมูลที่เป็นพลวัต

หมอเบ๊ :


• เมลาโทนิน  พยาบาลอดนอน  เมลาโทนินทำงานขจัดสารก่อมะเร็งตอนกลางคืนไม่ได้  ศึกษาใน สรอ. พยาบาลเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าหญิงทั่วไป ๓๐%
• เบาหวาน  หลอดเลือดเสียก่อนมีอาการ

 

โกมาตร


• การบริหารจัดการกำลังคน ระดับ ปท ล้มเหลว   ไม่สร้างความเป็นธรรม กระจาย ทักษะ
• ได้คำตอบแบบที่วิชัยทำ 
• คำถาม การปฏิรูประบบบริการ เป็นการสร้างความเป็นธรรม  ต้องจัดสรรกำลังคนไปสู่ที่ความต้องการมาก
• วิชัยดิ้นรนให้ อบต ชาวบ้าน ออกเงิน   ไม่เป็นธรรมต่อสังคม
• บ้านนอก เบาหวานตัดขามาก   บริการไม่ทั่วถึง
• ตั้งคำถามต่อระบบระดับ ปท   มองว่า ตำบล  อำเภอ ที่ยากจนถูกเอาเปรียบจากรัฐบาล   กลไกรัฐส่วนกลางจะเข้ามารับผิดชอบร่วมได้อย่างไร   

หมอเบ๊
อยุธยาขาดแคลนหนัก   เอกชนตกเขียว นศ พยาบาลตั้งแต่ปี ๓
สถาบันพระบรมราชชนกน่าจะผลิตผู้ช่วยพยาบาล ๒ ปี ขึ้นมาช่วยรับภาระงาน   อยุธยาจะเริ่มปีนี้   ปีแรกเรียน ปี ๒ ฝึกงานและได้เงินเดือน   อุบลทำมาก่อนแล้ว 

 

อภิสิทธิ์
เป็นอินเทิร์นขอนแก่นมาด้วยกันกับวิชัย   แล้วไปอยู่ที่จุดยุทธศาสตร์ รพช. เป็นจุดคานงัดของระบบ 
ปราชญ์ชาวบ้าน ใช้หลัก ๔ อ   (๑) อริยมรรค   (๒) อัตตาหิอัตโน นาโถ ออมเงินน้ำดินสัตว์ต้นไม้   (๓) อิทธิบาท ๔   (๔) อัปริหานิยธรรม
แม่นิด หนูพ่วง หนี้สินหมดหลังจากไป รร จากปราชญ์ชาวบ้าน   มีเงินออม   จากการทำ บ/ช รับจ่าย  ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก  ลดค่าใช้จ่าย
พ่อจันที  ลูก  หลาน  เหลน ครอบครัวอบอุ่น เข้มแข็ง
ปลูกต้นไม้ปีละ ๑๐๐๐ ต้น   ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ  ดินดี
เห็ดขอนขาว  ไม้มะม่วง  ๒ ปีไม้กลายเป็นปุ๋ย 
เกิดธุรกิจชุมชน  ธนาคารชุมชน  วิถีชีวิตดีขึ้น  จากเกษตรทฤษฎีใหม่  เศรษฐกิจพอเพียง   เกิดสุขภาวะ
สร้างพระเจดีย์จากฐาน ๒ เรื่อง
ฝึกเยาวชนตั้งแต่เด็ก   มีการเพาะกล้าไม้   ปลูกต้นไม้
ชุดความรู้อาหารปลอดภัย ของพ่อจันที   ของชั้นสูง – ไข่มดแดง
รพช. เป็นจุดขยายผล
ปราชญ์ชาวบ้านรุ่นใหม่  : ๕๐ – ๖๐ คน    วีระพันธ์ไปมอบเกียรติบัตร    สร้าง INN
การกระจายอำนาจการใช้เงิน SML ช่วยได้มาก
สร้างพลเมืองและเยาวชนจิตอาสา ทำงานเพื่อสังคมหลากหลายด้าน
หนึ่งอำเภอหนึ่งล้านต้น ปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย   -- **จัดการระบบป่าไม้ชุมชน : การเพาะกล้า การปลูก การดูแลรักษาและใช้ผลประโยชน์จากป่า โรงเลื่อย การเพิ่มมูลค่า  การวิจัย
**ใช้กำลังเหลือใช้ของคน   ทั้งแรงงาน และปัญญา
**อภิสิทธิ์ เป็นนักฝัน คิดแบบบัญญัติไตรยางค์
**วิจัยเปรียบเทียบ สุขภาวะ ของ อ. อุบลรัตน์   กับอำเภอเปรียบเทียบ
**วปอ. ภาคประชาชน ระบาดไปพิจิตร
**เป็นการมากิน เอ็นดอร์ฟิน
**โครงสร้างที่ไม่เป็นทางการ อิงและเสริมระบบทางการ

ประเวศ
      ๓ พี่น้องทำเพื่ออุดมการณ์   เป็นฝันใหญ่ ให้ ขก ทั้ง จว อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน   ควรเขียนออกเผยแพร่   
     ให้เตรียมการณ์ยก ส ไปประชุมที่ ขก   ประชุมระบบสุขภาพชุมชน  เชิญตัวแทนท้องถิ่นมาร่วม   เชิญผู้ตรวจราชการ   สาธารณสุขนิเทศ   ดึงหน่วยงานที่สนใจเข้ามาร่วม  ปตท. ๘๔ ตบ ถวายในหลวง   ธกส. มีเกษตรกร ๒๘๐๐๐๐ กลุ่ม ต้องการสร้างพลังงาน ชช   พลังงานพอเพียง ลดการพึ่งพิงน้ำมัน   ประกาศร่วมกับสมาคม อบต สร้างแหล่งน้ำขนาด เล็ก (คำตอบไม่ใช้แหล่งน้ำขนาดใหญ่)    
     สามเหลี่ยมผลิตพยาบาล ชช   เข้ามาร่วมมากขึ้น   ยุทธศาสตร์ก้าวข้ามข้อจำกัด   transcending = ก้าวข้ามข้อจำกัด   พยาบาลคือกุญแจก้าวข้ามระบบบริการ    เคยพูดว่าต้องการพยาบาล ๓ แสนคน    
     กองทัพธรรมทางสุขภาพ   เข้าไปปราบยุคเข็ญของแผ่นดิน
     ป่าไม้ ได้เงินอำเภอละ ๕๐๐ ล้าน/ปี
     กสธ. เป็นแดนปราบเซียน เคยเอา รมต. เข้าคุก

อุกฤษฏ์
     สช. จัดทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ กับ มข.

สมศักดิ์
     หล่มสัก (ประชากร ๑๖๐,๐๐๐)  นพ. พงศ์พิชญ์ ทำโรงพยาบาลตำบล   ต้องการส่งพยาบาลเข้าเรียนหมอ  
     พลังของการจัดการ   เอาพลังจากจุดเล็กจุดน้อยมารวมกัน
     ศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน  
     Sebastian จักรกฤษณ์ ว่า รพช. ทำแบบอุบลรัตน์จะดี
     ก. เกษตร ควรเข้าไปร่วมกับศูนย์ที่เข้มแข็ง 

ประเวศ
     ชวน รมต. เกษตร – สมศักดิ์ มาร่วมมือกัน
     คข พยาบาลเพื่อ ชช   หลายปีมาแล้ว อุทัย พยาบาลรวมตัวกันช่วย ผป ยาเสพติด เกิดความคึกคัก    ให้เอาใจเป็นตัวตั้ง   พยาบาลไทย หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
     ที่อุบลรัตน์มี คข พระเพื่อ ชช 

กิตตินันทน์
     ความสำเร็จเกิดจาก มีคนเกาะติดใน พท ต่อเนื่องยาวนาน    มีการจัดการที่ดี
     จะเอาสื่อมาร่วมเคลื่อนไหม   สร้างกระแสให้เคลื่อน/ขยายเร็ว เกิดผลกระทบแรง

วีระพันธ์
     เงินไม่ใช่ปัญหา   ปัญหาคือการจัดการในภาพรวม
 
หัวหน้าพยาบาล รพศ. ขก
     ผอ. บอกให้มา    ต้องการความเข้าใจ 

พยาบาล ชช
     ห่วงความมั่นคง    เดิมพยาบาลเป็นฝ่ายรับ   เปลี่ยนเป็นออกไปทำด้วยตนเอง  
     สถาบันพระบรมราชชนก ควรปรับเปลี่ยนหลักสูตร ให้ได้ออกไปฝึกใน ชช   
     สภาการพยาบาล ควรเอื้อให้ฝึกอบรมได้หลากหลาย   multiple std
     ภารกิจหนักมาก
 
ประเวศ
     ต้องการ care giver จำนวนมาก   มีงานทำ ดูแลคนแก่ เด็ก  
     เคารพศักดิ์ศรี คุณค่าของคน
     ต้องเคลื่อนศีลธรรมพื้นฐาน
     วิดีโอของ วพ. ชัยนาท แสดงว่า นศ. พยาบาลไปเรียนรู้จาก ชช ได้ความรู้มาก
 
สถาบันพระบรมราชชนก
     ผลิตพยาบาลเพื่อ ชช มานาน   พยาบาลหนึ่งคนหนึ่งอำเภอ   ๓ จ ชายแดนภาคใต้ ๓,๐๐๐ คน ในปีที่แล้ว
     ต้องปลูกจิตอาสา ในหลักสูตร 
 
ทินกร/สช./IHPP
      Rural recruitment, local training, สุวิทย์/ทินกร   ช่วย retain ในพื้นที่
      ควรจัดการระดับ จว.   ไม่ใช่ระดับส่วนกลาง
      ควรกำหนด competency ที่ต้องการ    ยอมรับ multiple std ในการฝึกอบรมพยาบาล    ทำเป็น pilot project
      การ retain พยาบาลไว้ใน พท สำคัญ ต้องสร้างแรงจูงใจ   จะจัดแรงจูงใจนอกระบบราชการอย่างไร
      ทำความเข้าใจ career path
**ประชุมวิชาการพยาบาลชุมชนในพื้นที่   สร้างความมั่นใจ ภูมิใจ หลายมิติ

 
เยาวมาลย์ พยาบาล รพศ. ขก
      พยาบาลออกเพราะความไม่มั่นคงของตำแหน่งงาน   ความผูกพันน้อย   ต้องการความมั่นคง    **ความมั่นคงแนวใหม่ ที่ดีกว่าระบบเดิม ทำให้ประจักษ์    ใช้การวิจัยระบบเสริม

ภก. สุรสิทธิ์  รพศ. ขก
     หลักสูตรทันสมัย เชื่อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

โกมาตร
     ระบบสุขภาพเข้าไป engage ในมิติของชาวบ้าน   เข้าไปร่วมทุกข์ในเรื่องที่ชาวบ้านต้องการ   
     จะ feed back เข้าสู่ระบบใหญ่อย่างไร    เช่นระบบการเรียนการสอนของพยาบาล   วิดีโอ Salute เปลี่ยนแปลงการเรียนของหมอในคิวบา  ส่งไปทำงานในดินแดนทุรกันดารของ ปท อื่น    หนัง Motorcycle ชีวิตของเช กูวารา การเดินทางของเช ด้วยมอเตอร์ไซคล์ เปลี่ยนความคิดของเช
     Non-financial incentive ต้องทำความชัดเจน   จัดระบบ NFI เชื่อมโยงกับช่วงของชีวิต   เช่นพยาบาล ชช เน้นหาพยาบาลอายุมาก ที่ไม่ต้องการเงินแล้ว    ลูกโตแล้ว
  

บรรยากาศในห้องประชุม

อีกมุมหนึ่ง

น.พ. วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์

น.พ.วิชัย อัศวภาคย์

 

น.พ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร

 

 
   

 

หมายเลขบันทึก: 182397เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากให้ระดับใหญ่ๆๆๆได้มาอ่านเรื่องเล่าของอาจารย์ หรือมีการเผยแพร่หลายๆ รูปแบบ จะได้ให้ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการ(ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่าได้ช่วยกันแบ่งปันทั้งความสุขและความทุกข์ของกันและกัน

ขอขอบพระคุณค่ะ

สอน พยาบาล ใช้ใช้ยาตามฝรั่ง ก็แค่งั้น ต้องเน้น พยาบาล ที่เก่งในการ เสริมพลังชุมชน

ไม่ใช่พยาบาล ที่เก่งในการสอนให้ ชาวบ้านพึ่งพยาบาล ไปทำแผลให้ชาวบ้าน ถึงบ้าน ได้ค่าจ้าง เยี่ยมบ้าน..

ที่ รพ.มีหมอผู้เชี่ยวชาญ ให้ยา คนไข้เบาหวาน ความดัน ที่ดูแข็งแรงดี

เดินไป ช่วยตัวเองได้ดี คนไข้อายุ60 ปี จบป4 เป็นแม่บ้าน มาตลอด กินมาก กินแต่ของทอดๆ ผัด เบิกได้ เพราะลูกรับราชการ

ได้ ยา ราคายาวันละ เกือบ 6-700 บาท หมอให้ ยาใหม่ที่สุดที่มีใน รพ.

ยาลดความดัน ชนิดใหม่สุด แพงสุดๆ

ยาลดเบาหวาน ชนิดใหม่สุด แพงสุดๆ

ยาลดโคเลสเตอรอล ชนิดใหม่สุด แพงสุด ๆ

จึงน่าสงสัยว่า ทัศนคติ ของ แพทย์ พยาบล ทำนองนี้ อันตรายกับ ระบบมากๆ

สอนให้จบ การแพทย์ไทยๆ บ้าง น่าจะดีกว่า

แต่จะสอนได้อย่างไร อาจารย์ยังไม่รู้ พื้นฐาน

บ่อยครั้ง ชาวบ้านจะรวย(ความรู้ดูแลตนเอง)มากขึ้น แต่หมอต้องยอมจน ( ขายยาน้อยลง แจกความรู้เพิ่ม )

หากหมอ อยากรวยรวย ชาวบ้านและประเทศ ก็ต้องจนจน

ผลประโยชน์ขัดแย้ง

ชาวบ้าน ทุกคน อยากได้ยาแพง ยาดี และ ไม่อยากจ่ายเงิน

มี สอง สาม ประเด็น

1 การศึกษาพยาบาลมีกระบวนการที่เรียกว่าสหกิจศึกษามานาน อาจต้องทำความรู้จักกับการศึกษาพยาบาลให้ลึกซึ้งมากกว่าการสรุปจากผู้สังเกตการณ์ เพราะวิชาชีพการพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติกับมนุษย์ การเตรียมคนจึงต้องประณีตและมีมาตรฐาน

2 สนใจเรื่อง multiple standards ของการศึกษา คิดง่ายๆ หากมีพยาบาลที่ดูแลคุณซึ่งขณะนี้อายุเกิน 60 และมีโรคประจำตัว คุณต้องการพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาแบบ multipler standards หรือไม่ การสอนพยาบาลเป็นเรื่องมาตรฐานเดียวซึ่งประเทศไทยจัดการได้มานาน หากอย่างไรอาจนำแนวคิด multiple standards ไปใช้กับทุกวิชาชีพดู รวมทั้งของแพทย์

3 อยากให้คุณหมอทั้ง 3 และ สี่ท่านนี้ หรือที่คุยกันทั้งหมด ไปลองจัดการศึกษาวิชาชีพแพทย์แบบที่คิดจะทำกับวิชาชีพอื่นดู เท่าที่ได้รับทราบมา การสอนแพทย์ให้เข้าใจชุมชนและความเป็นมนุษย์ ยังไมประสบผลเท่าที่ควร หรือแม้กระทั่งการเข้าไปทำให้มีกระบวนการปรับความคิดแพทย์ก็ยังมืดมัว

4 ความเป็นธรรมของคนในวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์มีหรือไม่ ทำไม วิชาชีพเหล่านั้นจึงถูกปิดกั้นโอกาสในการจัดการศึกษาและเตรียมคนของตนเอง

ฝากท่านคุณหมอทั้งหมดพิจารณาด้วย ท่านกำลังทำเรื่องการดูแลสุขภาพที่มีความเป็นชุมชน เป็นมนุษย์ ท่านทำกับวิชาชีพอื่นแบบมนุษย์หรือไม่ เพราะอะไร เพราะคนในวงการพยาบาลเขาก็ทำงานนี้มาแล้ว มานาน หรือนี่เป็นความคิดใหม่จริงๆ

ไม่ตั้งใจเข้ามาแสดงความเห็นหรอก แต่อยากให้ท่านต้นเรื่อง เปิดใจ เปิดข้อมูลให้รอบด้านก่อนแสดงเจตนารมย์สนับสนุน หากลงไปที่ต้นตอและศึกษาเชิงลึก จะเห็นโครงสร้างการพัฒนาที่คมชัดมากกว่าการคิดของงานนี้อย่างนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท