การดูแลสุขภาพบุคคลบกพร่องทางสติปัญญาวัยผู้ใหญ่ ตอนที่ 2


บุคคลบกพร่องทางสติปัญญาหลายรายตอบสนองต่ออาการปวดไม่แน่นอน

สุขภาพปากและฟัน

สุขภาพปากและฟันมักถูกละเลย พบโรคปริทันต์ได้บ่อยทำให้มีไข้ ไม่สบาย มีปัญหา

พฤติกรรมได้โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาการสื่อสาร สื่อไม่ได้ว่าเจ็บปวดบริเวณใด บางกรณีจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ควรพาเขาไปพบทันตแพทย์เป็นระยะ และอาจให้ยาช่วยเพื่อให้สงบก่อนพาไปพบทันตแพทย์

การดูแลผิวหนัง

พบปัญหาผิวหนังได้ในรายที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวหรือการควบคุมการขับถ่าย ผู้ดูแลจึงควรระมัดระวัง  ผู้ที่ได้รับการท่อหลอดลมคอ หรือ ให้อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหารทางสายยาง             ( tracheotomy or gastrostomy)  อาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา เช่น methicillin-resistant Staphylococcus aureus colonized อยู่  จึงควรมีแนวทางการดูแลในครอบครัวและชุมชน

ระบบทางเดินหายใจ

บุคคลบกพร่องทางสติปัญญาโดยเฉพาะกลุ่มอาการดาวน์อาจมีภาวะหยุดหายใจในระหว่างการนอน (obstructive sleep apnea) และทนต่อการรักษาที่ให้แรงดันบวกต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure  : CPAP) ไม่ได้ อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขบริเวณลิ้นไก่ เพดานและหลอดอาหาร (uvulopalato – pharyngoplasty)  

ระบบทางเดินอาหารและปัญหาการกิน

หลายรายมีปัญหาการกลืนทำให้สำลัก ขาดอาหารและน้ำได้  การสำลักพบได้บ่อยในรายที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ปอด เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือเสียชีวิตได้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอาหาร หรือจัดท่าเพื่อลดการสำลักระหว่างการกลืน  ถ้ามีภาวะทุโภชนาการ อาจต้องให้อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหารทางสายยาง             

อาการท้องผูกพบได้บ่อยและอาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นผล

จากโรคทางกายหรือผลข้างเคียงจากยา ควรฝึกการควบคุมการขับถ่ายให้เป็นเวลา

สุขภาพของผู้หญิง

อาการปวดประจำเดือนอาจทำให้บุคคลบกพร่องทางสติปัญญามีพฤติกรรมก้าวร้าวและทำร้ายตนเองได้  ถ้ารับประทานยาแก้ปวดแล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องได้รับการผ่าตัด  บุคคลบกพร่องทางสติปัญญาเพศหญิงสามารถตั้งครรภ์และเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ การคุมกำเนิดโดยใช้ยาหรือการผ่าตัดควรคำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมและกฎหมาย

ความผิดปกติทางระบบประสาท

โรคลมชักเกิดได้บ่อย มักรุนแรง ควบคุมยาก  และเพิ่มตามระดับความรุนแรงของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา บุคคลบกพร่องทางสติปัญญาหลายรายตอบสนองต่ออาการปวดไม่แน่นอนโดยเฉพาะในกลุ่มอาการดาวน์  จึงใช้อาการปวดบอกความรุนแรงของความผิดปกติไม่ได้  เพราะจะทำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดเกิดขึ้นใหม่จึงควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียด

ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

พบกระดูกสันหลังคดได้บ่อยโดยเฉพาะในกลุ่มสมองพิการ ( cerebral palsy ) ควรปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกเรื่องการผ่าตัดเพื่อลดการโค้งงอ ปัญหาทางระบบหายใจ และอาการปวด  ในรายที่ไม่ใช้ขา พบการผิดรูปได้บ่อย บรรเทาได้โดยการผ่าตัดเอ็นกล้ามเนื้อ ในผู้ที่มีอาการเกร็ง การให้ยาคลายกล้ามเนื้อ อาจทำให้อาการดีขึ้นบ้างแต่ง่วง การทำกายภาพบำบัด ใส่และเปลี่ยนเฝือกเป็นระยะได้ผลดี แต่บางรายอาจต้องใช้การฉีดโบทอกซ์  botulinum toxin (Botox) หรือให้ยา baclofen (Lioresal) ผ่านทางปั๊ม (pump)

พบกระดูกพรุนหรือบางได้บ่อยถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะในรายที่ไม่ลงน้ำหนักที่เท้า จึงควรได้รับการถ่ายภาพรังสีหรือเอกซเรย์ แม้จะได้รับบาดเจ็บทางกายเล็กน้อย ภาวะกระดูกพรุนและการได้รับยากันชักอาจทำให้ผู้ป่วยมีหมอนรองกระดูกเสื่อมกดไขสันหลังได้

หมายเลขบันทึก: 181977เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท