ธรรมชาติทำร้ายมนุษย์ พายุไซโคลนนาร์กีส


พายุไซโคลนนาร์กีส

ในช่วง2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดที่จะสร้างตื่นตระหนกตกใจได้เท่ากับการที่พายุไซโคลน นาร์กีส (Nargis) ที่ซัดถล่มพม่า แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีรวมทั้งเมืองย่างกุ้ง เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 2551 ที่ผ่านมา  ผมเองก็ได้มีโอกาสรับฟังประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ก็รู้สึกเฉยๆ ในตอนแรก ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก ก็เพราะเราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ  เช่น ประกาศเตือนว่า จะมีฝนตกหนักได้ในบางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง  เป็นต้นแต่พอมาถึงการเกิดพายุไซโคลนนากรีส ในคราวนี้ เราคงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับข่าวพยากรณ์อากาศ และเชื่อฟังคำเตือนกันบ้างแล้ว เพราะว่าหลายคนก็โทษรัฐบาลพม่าว่าไม่เตือนประชาชน ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จึงทำให้เกิดความสูญเสียที่ใหญ่หลวงเช่นนี้

รายงานข่าวกล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ของพม่า ได้รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. อ้างคำแถลงของนายเนียน วิน รมว.ต่างประเทศพม่า ที่ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากพายุ นาร์กีสซึ่งมีความรุนแรงระดับ 3 พุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 15,000 คน สูญหายอีกกว่า 30,000 คน เฉพาะเมืองโบกาเลย์แห่งเดียวมีเหยื่อสังเวยไซโคลนกว่า 10,000 คน บ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลองถึง 95% มีพื้นที่ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ 5 รัฐ ซึ่งมีประชากรอยู่รวมกัน 24 ล้านคน ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 6 พ.ค. สถานีโทรทัศน์พม่ารายงานยอดผู้เสียชีวิตว่า เพิ่มขึ้นเป็น 22,464 คนและยอดผู้สูญหายเป็น 41,000 คน ซึ่งนายเนียน วิน เผยว่า รัฐบาลกำลังประเมินความเสียหาย ในหมู่บ้านห่างไกลอีกหลายแห่งและได้ร้องขอความช่วยเหลือเร่งด่วนจากนานาประเทศ ซึ่งหลายคนก็สันนิษฐานกันว่าตัวเลขจริงๆ แล้วจะพุ่งขึ้นสู่หลักแสนหรือไม่ บางคนถึงกับกล่าวว่าตัวเลขความสูญเสียน่าจะใกล้เคียงกับสึนามิเมื่อปี2547 ที่ผ่านมาเลยทีเดียว องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น คาดว่าไซโคลนนาร์กีส ทำให้มีผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยหลายแสนคน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของยูเอ็น รวมทั้ง สำนักงานประสานงานกิจการเพื่อมนุษยธรรมของยูเอ็น (OCHA) และองค์การกองทุนเพื่อเด็กของยูเอ็น (UNICEF) ต่างประสบปัญหาเรื่องการลำเลียงเครื่องบรรเทาทุกข์และการเข้าไปประเมินความเสียหายในพื้นที่ เป็นไปอย่างยากลำบาก ถนนหนทางถูกตัดขาด ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) วิตกว่าอาจเกิดโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ อาทิ มาลาเรีย ในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่างๆด้วย เนื่องจากน้ำอุปโภคบริโภคไม่สะอาดและกำลังรอการอนุมัติจากรัฐบาลพม่า เพื่อส่งทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือต่อไป กระทรวงสาธารณสุขไทยก็เป็นห่วงในปัญหาโรคระบาดในพม่า หลังประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร จากการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดดื่มและใช้ โดย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และทีมควบคุมโรครวม 40 ทีม โดยได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis)  ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เมนิงโกค๊อกไค (Meningcocci) ติดต่อทางเดินหายใจผ่านทางละอองเสมหะน้ำลาย พร้อมเดินทางทันที่เมื่อประเทศพม่าร้องขอ และปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนการทำแบบฟอร์มการเฝ้าระวังโรคติดต่อหลังภัยพิบัติที่ประเทศไทยใช้อยู่ ประมาณ 20 โรค เช่น โรคทางเดินหายใจ การอักเสบบาดแผล โรคระบบทางเดินอาหาร มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่างๆ เป็นภาษาพม่า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ระบุพื้นที่สามเหลี่ยม ปากแม่น้ำอิระวดีแถบชายฝั่งภาคตะวันตกของพม่า มีลักษณะภูมิประเทศที่ลุ่มต่ำ แต่เป็นถิ่นฐานพำนักของประชาชนมากราว 6 ล้านคน พื้นที่ดังกล่าวก่อตัวเป็นลักษณะดินดอนปากแม่น้ำ และมีลำคลองตัดขวางเป็นลักษณะกากบาท นายหม่อง หม่อง สเว รมว.กิจการกู้ภัยและการจัดตั้งถิ่นฐานของพม่า เปิดเผยว่า ในช่วงพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มพื้นที่ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดคลื่นสูงถึงราว 3.5 เมตร ม้วนพัดถล่มชายฝั่งพื้นที่ลุ่ม ทำให้ชาวบ้านหนีไปไหนไม่ได้ จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก ท่ามกลางสภาวะวิกฤติและความทุกข์ยากของประชาชนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ แต่ท่าทีของรัฐบาลพม่าต่อประเด็นดังกล่าวกลับค่อนข้างจะหวาดระแวงกับกระบวนการช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ แต่ก็ไม่นำพา ต่อเสียงคัดค้านของฝ่ายต่างๆ ที่เห็นว่าวาระเร่งด่วนตอนนี้ คือ ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วต่อประชาชนผู้ทุกข์ยากในพื้นที่ประสบภัย เห็นภาพจากสื่อต่างๆ แล้วก็ให้นึกถึงความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้นจากเหตุการณ์ในครั้งนี้นอกจากเรื่องของธรรมชาติแล้ว ยังได้เห็นภาพถึงการเมืองที่ส่งผลถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ถึงแม้หลายชาติ หลายองค์กร อยากจะช่วยเหลือ แต่ผู้นำของพม่า ก็ไม่นำพา  เสียจริง ๆ นะ  แม่สาลี่ เอ้ย !!

 

...........................................................................................................

คำสำคัญ (Tags): #นาร์กีส
หมายเลขบันทึก: 181938เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท