พนักงานดับเพลิง+คนที่หายใจควันเข้าไปบ่อยๆ เสี่ยงมะเร็งอะไรเพิ่มขึ้น


พวกเราที่ดูหนังฝรั่งคงจะเห็นบทบาทของพนักงานดับเพลิงที่บุกจู่โจมบ้านที่ติดไฟอย่างกล้าหาญ นำเด็ก คนเจ็บ หรือสัตว์เลี้ยงออกจากบ้าน แล้วรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญบ้างไม่มากก็น้อย

...

พวกเราที่ดูหนังฝรั่งคงจะเห็นบทบาทของพนักงานดับเพลิงที่บุกจู่โจมบ้านที่ติดไฟอย่างกล้าหาญ นำเด็ก คนเจ็บ หรือสัตว์เลี้ยงออกจากบ้าน แล้วรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญบ้างไม่มากก็น้อย

เหตุการณ์ระเบิดตึกเวิร์ดเทรดเซนเตอร์เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พนักงานดับเพลิงได้รับการยกย่องมาก วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า คนกล้าเหล่านี้เสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นมาฝากครับ

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์เลทิเชีย ดาวิส (Dr. Letitia Davis) และคณะ แห่งหน่วยสาธารณสุขแมสซาชูเซทส์ บอสทัน สหรัฐฯ ทำการศึกษาข้อมูลจากงานทะเบียนมะเร็งในช่วงปี 1986-2003 หรือ พ.ศ. 2529-2546

ผลการศึกษาพบว่า พนักงานดับเพลิงมีความเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นดังตาราง

...

มะเร็ง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
มะเร็งสมอง เกือบ 2 เท่า
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่ม 36%
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's lymphoma) เพิ่มเล็กน้อย

...

อาจารย์ดาวิสกล่าวว่า กลไกที่น่าจะทำให้คนกล้าเหล่านี้เป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นได้แก่ ความร้อนจากการเผาไหม้ทำให้เกิดควัน และไอระเหยที่ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด

ควันและไอระเหยเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางการหายใจ และการซึมเข้าผ่านผิวหนัง

...

ปกติพนักงานดับเพลิงในสหรัฐฯ มีหมวก ชุดป้องกัน และหน้ากากป้องกันสารพิษอยู่แล้ว ทว่า... พนักงานดับเพลิงมักจะถอดออกก่อนจู่โจม(ดับเพลิง) ทำให้มีโอกาสสัมผัสสารพิษเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นการได้รับไอเสียจากรถดับเพลิงที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลอาจเป็นสาเหตุสนับสนุนให้คนเหล่านี้เป็นมะเร็งได้ง่ายขึ้น

...

เรื่องมะเร็งในพนักงานดับเพลิงสหรัฐฯ คงจะสะท้อนให้เห็นพิษภัยของการเผาไหม้ โดยเฉพาะการเผาป่า เผาขยะ เผาใบไม้ ซึ่งทำกันมากในภาคเหนือ

สถิติมะเร็งของประเทศไทยพบว่า มะเร็งปอดพบมากที่สุดบริเวณเชียงใหม่ และลำปาง ซึ่งมีการเผาขยะและเผาป่ามากเป็นพิเศษ

...

พวกเราที่ต้องการลดความเสี่ยงจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้ดังต่อไปนี้

  • เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง หรือขนมปังขาวเป็นขนมปังเติมรำ(โฮลวีท)
  • กินผักผลไม้ทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้กรอง) เพื่อให้ได้เส้นใย (ไฟเบอร์) แร่ธาตุ วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระมากพอทุกวัน

...

  • ไม่กินอาหารไขมันสูงมากเกิน โดยเฉพาะอาหารประเภท "ผัดๆ ทอดๆ"
  • ไม่กินอาหารไขมันอิ่มตัวมากเกิน โดยเฉพาะกะทิ น้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ฯลฯ น้ำมันปาล์ม

...

  • ระวังอย่าให้อ้วน ถ้าอ้วนแล้วควรหาทางลดน้ำหนัก หรืออย่างน้อยก็อย่าให้อ้วนมากกว่าตอนนี้
  • ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ

...

  • ไม่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่สูบบุหรี่

...

การไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้มากกว่ามาตรการอื่นๆ คือ ลดความเสี่ยงมะเร็งได้ถึงประมาณ 30%

นอกจากนั้นยังลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ด้วย เนื่องจากสารพิษส่วนใหญ่จะถูกแปรสภาพให้ละลายน้ำได้ง่ายที่ตับ ขับออกทางไต

...

สารพิษที่ขับออกทางไตในรูปปัสสาวะจะต้องไปรอการขับออกที่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อคนเราสูบบุหรี่ สารพิษจะตกค้าง หรือ "หมัก" ที่กระเพาะปัสสาวะคราวละนานๆ

คนที่สูบบุหรี่ใกล้เวลานอนจะ "หมัก" สารพิษไว้ด้านในกระเพาะปัสสาวะแทบทั้งคืน ทำให้กระเพาะปัสสาวะหมักหมมด้วยสารพิษดุจไหปลาร้าเก่าๆ ผลคือ ความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นในระยะยาว

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดี อยู่รอดปลอดภัยจากสารพิษทั้งหลายไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Firefighters show higher risks of certain cancers > [ Click ] > May 8, 2008. // source > AJ of Industrial Medicine. May 2008.
  • Thank Mayoclinic staff > Colon cancer > Prevention > [ Click ] > May 2, 2008.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 9 พฤษภาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 181445เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท