ออกกำลังให้ฟิต(แข็งแรง)กับเฟิร์ม(หุ่นดี) แบบไหนดีกับหัวใจมากกว่า


พวกเราคงจะได้ยินเรื่อง "ฟิต แอนด์ เฟิร์ม (fit and firm)" มาแล้วไม่มากก็น้อย เป็นที่ทราบกันดีว่า คนเราน่าจะมีทั้งความฟิต(ความแข็งแรง) ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ฯลฯ และความเฟิร์มหรือหุ่นดี ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ออกกำลังในโรงยิม ฯลฯ

...

พวกเราคงจะได้ยินเรื่อง "ฟิต แอนด์ เฟิร์ม (fit and firm)" มาแล้วไม่มากก็น้อย เป็นที่ทราบกันดีว่า คนเราน่าจะมีทั้งความฟิต(ความแข็งแรง) ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ฯลฯ และความเฟิร์มหรือหุ่นดี ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ออกกำลังในโรงยิม ฯลฯ

วันนี้มีผลการศึกษาที่บอกว่า การเลือกวิธีออกกำลังมีผลต่อสุขภาพหัวใจมากกว่าที่คิดมาฝากครับ

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์แอรอน แอล. แบกกิช (Dr. Aaron L. Baggish) และคณะ แห่งโรงพยาบาลทั่วไปแมสซาชูเซทส์ บอสทัน สหรัฐฯ ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างนักกีฬา

กลุ่มตัวอย่างมีการฝึกกีฬาที่ต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักกีฬาพายเรือระยะไกล มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ออกกำลังแบบแอโรบิค หรือออกแรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่ต่อเนื่อง นานพอสมควร

...

กลุ่มที่สองเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลผู้ชาย ซึ่งฝึกหนักทางด้านออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ออกกำลังในโรงยิม ฯลฯ

การศึกษานี้ทำโดยการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ก่อนการฝึก และหลังการฝึก 90 วัน

...

หัวใจคนเรามี 4 ห้อง ทำหน้าที่คล้ายลูกสูบ ห้องบนทำหน้าที่รับเลือดมาพักไว้ และส่งต่อให้ห้องล่าง ส่วนห้องล่างทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

หัวใจห้องล่างขวาทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงปอด ส่วนห้องล่างซ้ายทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย หัวใจห้องที่ทำงานหนักที่สุดคือ ห้องล่างซ้าย

...

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ออกกำลังแบบแอโรบิคมีขนาดของหัวใจใหญ่ขึ้น ทั้งห้องล่างซ้าย (LV) และห้องล่างขวา (RV)

นอกจากนั้นหัวใจยังทำหน้าที่ดีขึ้นอีกหลายอย่างได้แก่ หดตัว (contraction) และคลายตัว (relaxation) ได้ดีขึ้น ซึ่งผลรวมคือ หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น

...

ส่วนกลุ่มที่ออกกำลังต้านแรงพบว่า กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย (LV) หนาตัวขึ้น แถมยังคลายตัวได้น้อยลง ทำให้สุขภาพหัวใจโดยรวมไม่ค่อยดีเท่าไร

การที่กล้ามเนื้อหัวใจมีความหนาเพิ่มขึ้นอาจทำให้หัวใจเสี่ยงต่อการขาดเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น เปรียบคล้ายเมืองที่มีจำนวนคนอยู่อาศัยมากขึ้น ทว่า... ถนนสายหลักมีขนาดเท่าเดิม ซึ่งจะเสี่ยงต่อรถติดมากขึ้น

...

ท่านศาสตราภิชานนายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหาร และเวชศาสตร์การกีฬา แนะนำว่า ถ้าต้องการฝึกออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ออกกำลังในโรงยิม ฯลฯ

ควรฝึกออกแรง-ออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ฯลฯ อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ระบบหัวใจ-การไหลเวียนเลือดแข็งแรง หรือ "ฟิต" ก่อน เมื่อหัวใจแข็งแรงแล้ว จึงจะไปออกกำลังต้านแรงให้หุ่นดี หรือ "เฟิร์ม" ได้

...

นอกจากนั้นก่อนออกกำลังต้านแรง... ควรตรวจวัดความดันเลือดว่า สูงหรือไม่ ถ้าสูงต้องรักษาให้ต่อเนื่อง และปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนว่า ออกกำลังต้านแรงได้หรือไม่

เนื่องจากการออกกำลังต้านแรงอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นชั่วคราวได้ในระหว่างการออกแรงอย่างหนัก

...

การออกกำลังต้านแรงให้ปลอดภัยนั้น... ห้ามกลั้นหายใจพร้อมกับออกแรง เนื่องจากจะทำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก จนอาจเป็นอันตรายได้

ให้หายใจเข้า-ออกช้าๆ พร้อมกับออกแรงไปด้วย เพื่อป้องกันความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นทันที

...

สรุปง่ายๆ คือ การออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ฯลฯ ส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจมากกว่าการออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ดึงสปริง ออกกำลังในโรงยิม ฯลฯ

ถ้าชอบออกกำลัง... ควรฝึกร่างกายทีละน้อยๆ ให้ "ฟิต" ก่อน "ฟิต" ดีแล้วค่อย "เฟิร์ม"

...

การออกกำลังที่พวกเราทำกันได้เกือบทุกคน และทำได้ทุกวันคือ การเดินเร็ว การทำงานบ้าน และเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Workouts sculpt heart as well as muscles > [ Click ] > May 7, 2008. // source > J of Applied Physiology. April 2008.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 8 พฤษภาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 181307เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 05:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบทความนี้แล้ว ผมตกใจจริงๆครับ เพราะผมเป็นคนที่เล่นฟิตเนต(เล่นกล้าม)อยู่เป็นประจำ แต่ผมก็วิ่งวันละ 1 กิโลเมตร หลังวิ่งเสร็จน่ะครับ จะเป็นอะไรหรือเปล่า

ขอขอบคุณ... คุณ aonjung

  • อย่าเพิ่งตกใจเลยครับ

ภาพรวมของการออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ

  • ถ้ามีการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดิน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ขึ้นลงบันไดตามโอกาส ฯลฯ เป็นพื้นอยู่แล้ว มีข้อดีมากกว่าข้อเสียมากมาย

การออกกำลังหลายๆ แบบสลับกันให้ผลดีกว่าการออกกำลังแบบเดียว

  • ประมาณปี 2548-2549 ผมวัดร่างกายด้วยเครื่องตรวจแรงต้านไฟฟ้าของ Tanita พบว่า อะไรๆ ก็ต่ำกว่าเกณฑ์ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ ไขมัน มวลกระดูก
  • ตอนนี้เลยต้องออกกำลังหลายๆ แบบสลับกัน ซึ่งได้ผลดีกับสุขภาพมากๆ ครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท